วันเสาร์, ตุลาคม 14, 2560

เศรษฐกิจสวยหรูที่ยังไปไม่ถึง "บ้านเราคงมีผีกระสือเยอะเสียจนเครื่องในสัตว์ขาดแคลน"

ขณะที่แบ๊งค์ชาติพยายามสร้างภาพวิจิตรเศรษฐกิจสวยหรูที่ยังไปไม่ถึง สภาพเป็นจริงที่ปรากฏกลับชี้ชัดอนาคตอันมัวมนและซบเซา

จากกรณีธงฟ้า ๓ เด้ง “คสช.ได้หน้า พ่อค้าได้กำไร ชาวไทยได้แต่ชื่อ” ไปถึง รถถังจีน “ไม่เข็ด” ค่าโง่ จนมาลงที่นำเข้าเครื่องในวัว เพราะกระสือเยอะ

ขณะที่ข้อตำหนิโครงการ ธงฟ้าประชารัฐ ยังกระหึ่มไม่เหือด เหมือนน้ำบากจากฝนชุกเอ่อล้นท่วมถนนหนทางในเมืองภาคเหนือ-อีสานเวลานี้ กระทั่งกรุงเทพฯ เช้านี้ก็ไม่เว้น ทว่ารายงานการจับจ่ายของ คสช. พ่อเจ้าประคุณยังคงสุรุ่ยสุร่ายอย่างน่ากังขา


ดังรายงานควรอ่านของ ประชาชาติธุรกิจ กรณี “คนจนอุ้มเจ้าสัว” ที่ว่า “หากคนจน ๑๔ ล้านคน ซื้อของจากโครงการ (ธงฟ้าฯ) ๓๐๐ บาทต่อคนต่อเดือน จะมีเงินเข้ากระเป๋าเจ้าสัว ,๒๐๐ ล้านบาท

ถ้ารูดบัตร ๑๒ เดือนเงินเข้ากระเป๋าเจ้าสัว ๕๐,๔๐๐ ล้านบาท ซึ่งไม่ต่างจากกระบวนการโยกเงินงบประมาณออกกระเป๋ารัฐ เข้าสู่กระเป๋าเอกชน

นั่นเป็นการสรุปผลงานเบื้องต้นของโครงการ ธงฟ้าประชารัฐ ที่รัฐบาล คสช. เข็นออกมาให้เห็นว่า อยู่มาสามปีกว่าได้ทำอะไรกับเศรษฐกิจของชาติเหมือนกันนะ

หากแต่ข้อน่าเซ็งเกิดจาก “ความบิดเบี้ยวของการดำเนินโครงการลักษณะนี้ กลายเป็นการเปิดช่องให้กับซัพพลายเออร์รายใหญ่หาประโยชน์” ได้

ประโยชน์อันหนึ่งของพวกทุนใหญ่ที่ย้ายตลาดการค้าขึ้นห้างและซูเปอร์มาร์เก็ต กำจัด โชห่วยผู้ค้าย่อยเกือบจะถอนราก แต่ต้องเผชิญค่าธรรมเนียมเนื้อที่วางสินค้าและค่าดูแลบริการ ก็โชคดีได้ประชารัฐ ของ คสช. เข้ามาอุ้มสม เพราะ ธงฟ้า ก็คือโชห่วยปลอด ฟี (fee) รูปแบบใหม่ ที่ผู้ค้าย่อยเข้าไม่ไหว

กลายเป็น “กลยุทธ์ยิงปืนนัดเดียวได้นก ๓ ตัว” ดังที่ประชาชาติธุรกิจชี้ “ผู้ผลิตได้ขาย-ประชาชนได้ของ-รัฐบาลได้จ่าย” ซึ่งจริงๆ แล้วก็คือ “คสช.ได้หน้า พ่อค้าได้กำไร ชาวไทยได้แต่ชื่อ” เสียมากกว่า เพราะอะไร

ปัญหาตามมาคือ ร้านธงฟ้าประชารัฐในบางพื้นที่ฉวยโอกาส ปรับราคา สินค้าทางอ้อม เช่น น้ำปลา ขนาด ๕๐๐ มล. ราคาขวดละ ๑๗ บาท ขายขวดละ ๒๕ บาท น้ำตาลทรายขาว กก.ละ ๒๓.๕๐ บาท ขาย กก.ละ ๓๐ บาท น้ำยาล้างจาน จากขวดละ ๑๐ บาท ขาย ๒๐ บาท และบางร้านที่ยังไม่ได้รับการติดตั้งเครื่อง EDC มีการยึดบัตรคนจนจากชาวบ้านไว้ก่อน เพื่อแลกกับการซื้อสินค้าด้วย


แต่แล้วพอมาถึงโครงการจัดซื้อรถถังอีก ๒๘ คันจากจีน ที่พบว่าเป็นรุ่น วีที ๑๔ ที่จีนดัดแปลงจากรถถังรัสเซียรุ่น ที-๗๒ ซึ่งบริษัทนอรินโคผู้ผลิต “พัฒนาป้อมปืนขึ้นใหม่ให้มีลักษณะเป็นรูปลิ่ม ซึ่งว่ากันว่าสะท้อนการตรวจจับด้วยเรดาร์ของฝ่ายข้าศึกได้ดีกว่า และยังสะท้อนการตกกระทบของหัวระเบิดชนิดต่างๆ ได้ดีกว่า”

รายงานโดยสื่อ ผู้จัดการไม่ได้ระบุราคาของรถถังจีนชุดนี้ เพียงแต่เอ่ยถึงงบประมาณรวมๆ สำหรับรถถังที่ ครม. คสช. อนุมัติเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๘,๙๐๐ ล้านบาท และสนนราคาว่า ถูกกว่ารถถังผลิตในประเทศอื่นที่อยู่ในสายตาของ คสช.ไม่ว่าจะเป็นยูเครนหรือรัสเซีย อย่างน้อยๆ ๓ ล้านบาทต่อคัน ดังที่บิ๊กตือเคยแย้มต้องซื้อเพราะถูกกว่า

เฉพาะรถถังยูเครนตัดออกไปได้ในคราวนี้ ด้วยเรื่องเก่ายังคาราคาซังอยู่ในโครงการจัดซื้อรถถังแบบ ที-๘๔ รุ่น  Oplot-M ๔๙ คัน ตั้งแต่ปลายปี ๒๕๕๔ วงเงินงบประมาณ ๗,๒๐๐ ล้านบาท แต่ได้มาเพียง ๕ คันเมื่อต้นปี ๒๕๕๗

อีก ๒๐ คันควรส่งมอบตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่เงียบหายต๋อมไป เลยเกิดปัญหางบประมาณไม่ได้ใช้ คสช.ต้องขวนขวายไปหาซื้อที่ใหม่ จนมาลงที่จีนดังกล่าว

อย่างไรก็ดีประเด็นของเรื่องไม่เพียงซื้อมาทำไมนักหนา วันเด็กไทยคราวหน้ากลัวเด็กต่อว่ารถถังชุดเก่าขึ้นสนิมงั้นหรือ ไม่อย่างนั้นเตรียมไว้จะต้องทำรัฐประหารกันใหม่อีกมั้ง

รายงานโดย ผู้จัดการ เช่นกันระบุว่า กองทัพไทยมองหารถถังรุ่นใหม่เพราะชุดเก่าแบบ เอ็ม-๔๑ รุ่น ว้อคเกอร์ บูลด็อก นั้นประจำการมาตั้งแต่ยุคสงครามเวียดนาม และออกใช้งานหลักครั้งล่าสุดก็ตอนยึดอำนาจรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ๒๕๔๙ โน่นแน่ะ


ไม่เพียงเท่านั้น ทีเด็ดของรถถังจีนอยู่ที่ไทยเคยซื้อมาแล้ว (คงถูกคอกันพอดู คราวนี้เลยซื้ออีก) ราว ๒๐ ปีก่อนซื้อมา ๑๐๐ คัน ตอนนั้นรุ่น ‘Type 69’ ขนาด ๕๒ ตัน

ซื้อมาแล้วไม่ได้ใช้งานหรือใช้งานไม่ได้ไม่รู้ละ มั่วๆ กันอยู่ในสองเหตุนี้ ก็เลยเก็บไว้ในโกดัง (ไม่อยากให้เด็กดู เขิน) จนกระทั่งต้องทำการกำจัดของเสีย เอาไปหย่อนทะเลเมื่อไม่นานมานี้ บริการปลาทำเป็นปะการังเทียม

มาถึงการคุยโวคำโต ทีมงานลิ่วล้อ คสช. คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารชาติ “ปรับประมาณการจีดีพีปีนี้เพิ่มขึ้นจาก .% เป็น .%” อ้างว่าเพราะเสถียรภาพเศรษฐกิจดีขึ้น โดยทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ที่ . เท่า เทียบกับหนี้ต่างประเทศระยะสั้น ดุลบัญชีเดินสะพัดก็เกินดุล % ต่อจีดีพี


ถึงจะเลขสวยอย่างไร พอไปดูเรื่องปากท้องของประชาชนคนทำมาหากินหน้าใส ไม่ใช่ข้าราชการ บริพารหน้าบานทั้งหลาย พบว่าตัวเลขการว่างงานในปีนี้ เทียบกับเมื่อกว่าสามปีที่แล้วก่อน คสช. จะยึดอำนาจ “สูงกว่าไตรมาสเดียวกันของปี ๒๕๕๗”

แม้จะวัดอัตราว่างงานโดยรวมอยู่ที่ ๑.๒ เปอร์เซ็นต์ ไม่ได้มากเกินไปสำหรับเศรษฐกิจขนาดกลางๆ อย่างไทย แต่ถ้าพิจารณากับ ความฝันอันลอยเฟื่องจะสร้างไตแลนเดีย ๔.๐ ละก็ หมดท่า

เพราะว่าพลังในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลที่ฝันนั้นอยู่ที่ แรงงานอันมีทักษะที่ใครๆ ในโลก (สหประชาชาติ) เน้นว่าไทยขาดแคลน ซึ่งไม่ได้หมายถึงผลิตไม่ได้ หรือไม่ได้ผลิต แต่ผลิตออกมาแล้วใช้การไม่ได้เสียละมาก

ดูจากสถิติว่างงานตามระดับการศึกษา ปริญญาตรีว่างงานมากกว่าเพื่อน ถึง ๓.๒-๓.๓ เปอร์เซ็นต์ เหล่านี้ตามรายงานวิจัยของ ทีดีอาร์ไอ


อย่างนี้แล้วยังจะนำเข้าเนื้อหมู ไก่งวง และเครื่องในวัว จากสหรัฐอีก ให้การจ้างงานในอุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์และแล่เนื้อสัตว์ (butcher) ต้องย่ำแย่ไปด้วย

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ออกมานั่งยันเมื่อวันก่อน (๑๒ ต.ค.) ว่าเรื่องทรั้มพ์ขายหมูให้นายพลจันทร์โอชานั้นไม่ได้มีการคุยกันที่ทำเนียบขาวอย่างที่ชาวบ้านนินทา แต่นายกฯ ลุงตูบสั่งการไว้ก่อนเดินทาง ให้กรมปศุสัตว์ไปเจรจาดำเนินการร่วมกับผู้แทนการค้าสหรัฐ (ยูเอสทีอาร์) ในเรื่องนี้ไว้แล้ว

มิใย บิ๊กฉัตรรมว.เกษตร คสช. คงตกข่าว ออกมาค้านไม่รู้อิโหน่อิเหน่ “หากมีการนำเข้าจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูในประเทศ” แถมในแง่ของการบริโภค “ในสหรัฐยังคงใช้สารเร่งเนื้อแดงอยู่ แตกต่างจากไทย”

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ แจงด้วยว่า ตั้งข้อสังเกตุไปยังกระทรวงพาณิชย์แล้วว่า ให้คิดดีๆ จะนำเข้าต้องแก้กฎหมาย ใช้เวลา ๑-๒ ปี ไม่ใช่เรื่องง่าย มิหนำซ้ำนายอภัย สุทธิสังข์ อธิบดีปศุสัตว์ ก็ออกมาแสดงปฏิกิริยาเหมือนกัน บอกว่ากรมฯ ไม่ได้ไปร่วมเจรจากับสหรัฐตอนนายกฯ ไปเยือนทำเนียบขาว

“สำหรับกรมปศุสัตว์ยอมรับว่าไม่อยากให้มีการนำเข้า เพราะหวั่นกระทบต่อผู้เลี้ยงหมูในประเทศไทย”


อ้าว ฉิหายละสิทีนี้ รัฐมนตรีพูดอย่างอธิบดีบอกอีกอย่าง ลิ่วล้อ คสช. สะดุดขากันเองวุ่นเสียแล้วมัง หยั่งงี้ถึงได้มีคนเอาไปจิกบนโซเชียล ว่าที่ รมว. พาณิชย์ออกมายันเรื่องนายกฯ สั่งนำเข้าเนื้อสัตว์จากสหรัฐ รวมทั้งเครื่องในวัวนั่น

บ้านเราคงมีผีกระสือเยอะเสียจนเครื่องในสัตว์ขาดแคลน