วันศุกร์, ตุลาคม 06, 2560

เปิดชีวิตอดีตนิสิตจุฬาฯ เข้าป่าร่วมกับพคท. หลังเหตุรุนแรง 6 ตุลา 19 ประสบการณ์ 7 ปีในการต่อสู้ และการสูญเสีย 'คนรัก' พร้อมสหายอีก 8 คน



...

เปิดชีวิต ‘สหายโดม’ เข้าป่าจับปืนหลัง 6ตุลา19 หวังชิงอำนาจรัฐ


https://www.facebook.com/VoiceTVonline/posts/10157124450564848?pnref=story.unseen-section





อดีตนิสิตจุฬาฯ เข้าป่าร่วมกับพคท. หลังเหตุรุนแรงล้อมปราบนักศึกษา 6 ตุลา 2519 กับประสบการณ์ 7 ปีจับปืนต่อสู้ หวังสังคมที่เป็นธรรม ก่อนรัฐบาลนิรโทษกรรม ‘66/23’ กลับเมืองขณะที่ ‘คนรัก’ พร้อมสหายอีก 8 คนสาบสูญพบหลักฐานจุดสุดท้ายในด่านเจ้าหน้าที่

เนื่องในวันครบรอบ 41 ปี 6 ตุลา 19 Voice TV สัมภาษณ์ 'สหายโดม' อดีตนิสิตจุฬาฯ ที่เข้าป่าปลายปีดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่ารัฐไทยใช้ความรุนแรงต่อนิสิตนักศึกษาเมื่อวันที่ 6 ตุลา 2519 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และยังมีการบุกบ้านตรวจค้นหนังสือของนักกิจกรรม

อดีตนิสิตจุฬาฯ ผู้นี้จึงตัดสินใจเลือกเส้นทางต่อสู้ด้วยอาวุธ ร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย(พคท.) ซึ่งเป็นแนวคิดในยุคนั้น หวังชิงอำนาจรัฐเพื่อสังคมที่เป็นธรรม

-ชีวิตช่วง 6 ตุลา 2519 ทำอะไรก่อนเข้าป่า

ตอนนั้นเป็นนิสิตจุฬาฯ คณะวิทยาศาสตร์ ปี 2 อยู่ระหว่างสอบเทอม 1 แต่เข้าร่วมการเคลื่อนไหวตั้งแต่ 14 ตุลา 2516 เพราะช่วงนั้นอยู่ในบรรยากาศตื่นตัวทางประชาธิปไตย มีเพื่อนมาชักชวนจึงไปเข้าร่วมเคลื่อนไหว

ตอนเข้าเป็นนิสิตจุฬาฯ ก็ทำกิจกรรมเป็นสมาชิก ‘พรรคจุฬาฯ-ประชาชน’ ซึ่งคนที่เด่นๆ เช่น พี่เกรียงกมล เลาหไพโรจน์, สุรชาติ บำรุงสุข ได้เข้าร่วมทำกิจกรรมการเคลื่อนไหวทั้งหลาย ตอนนั้นก็ออกไปทำงานกับกรรมกร ชาวนาในชนบท แล้วก็มีการประท้วงต่างๆ ก็ได้เข้าร่วม

จนกระทั่งถึงเหตุการณ์ที่จอมพลถนอม กิตติขจร บวชกลับมา เราก็เริ่มชุมนุมประท้วง พี่ก็ชุมนุมด้วย เป็นการชุมนุมที่ต่อเนื่องหลายวันและทุกมหาวิทยาลัยกำลังสอบ

วันที่ 4 ตุลา 19 พี่กลับมาสอบที่จุฬาฯ พอวันที่ 5 ตุลา ก็ไปมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แล้วคืนวันที่ 5 ก็กลับบ้านไปเปลี่ยนเสื้อผ้า เพราะไม่ได้กลับบ้านหลายวันแล้ว

พอเช้าวันที่ 6 ตุลา มีประกาศทางทีวี ก็รู้แล้วว่าเกิดการรัฐประหารแล้ว แต่เป็นการรัฐประหารที่พี่คิดว่าน่ากลัวมาก เพื่อนเราหายไปหมดเลย เราติดต่อเพื่อนไม่ได้เลย สมัยก่อนไม่มีเครื่องมือสื่อสารอะไรทั้งสิ้น เราก็ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ได้แต่ฟังข่าวจากทางรัฐบาลอย่างเดียว เขาห้ามออกจากบ้าน ห้ามเข้ามหาวิทยาลัย ฉะนั้น เราไม่สามารถกลับมาที่จุฬาฯ ได้ ไม่สามารถไปธรรมศาสตร์ได้ มาเห็นแต่ภาพจากหนังสือพิมพ์ แล้วก็หลังจากนั้นไม่กี่วันก็ติดต่อกับเพื่อนได้

เพื่อนส่วนใหญ่ที่มีชีวิตรอดจาก 6 ตุลา ก็คือ ถูกจับหมด ถูกส่งไปโรงเรียนตำรวจบางเขนบ้าง พี่ก็ไปดูรายชื่อเพื่อน ตรงพญาไท กองบังคับการตำรวจดับเพลิงพญาไท แต่ก็ไม่สามารถไปเยี่ยมเพื่อนได้

-หลัง 6 ตุลา 2519 มีเพื่อน 2 ส่วนคือ เสียชีวิตในวันที่ 6 ตุลา กับ คนที่รอดชีวิต

ถ้าคนที่อยู่ในเหตุการณ์ที่รอดชีวิต ส่วนใหญ่คือถูกจับขึ้นรถไปอยู่โรงเรียนตำรวจบางเขน หรือว่าอาจจะถูกส่งไปที่อื่น อย่างคนที่สำคัญๆ ในเหตุการณ์ อย่าง ธงชัย วินิจจะกูล, สุรชาติ บำรุงสุข, สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล หรือหลายๆ คน เขาจะถูกจับแยกไปอยู่คนละที่

-เส้นทางการเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

นักศึกษาแต่ละมหาวิทยาลัยมีความตื่นตัวหลัง 14 ตุลา 2516 ว่าประเทศต้องเป็นประชาธิปไตย จะมีกิจกรรมหลายอย่างออกชนบทไปเผยแพร่ประชาธิปไตย อย่างที่ธรรมศาสตร์(ยุค 14 ตุลา 2516) ก็จะมีกลุ่มสภาหน้าโดม หลังจากนั้น นักศึกษายุค 6 ตุลา 2519 มีสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ธงชัย วินิจจะกูล ก็มีพรรคพลังธรรมเป็นพรรคการเมืองของนักศึกษา

ขณะจุฬาฯ มีพรรคจุฬาฯ-ประชาชน โดยมีพรรคอีกฝ่ายเป็นขวาจัด แต่ก็มีการเลือกตั้งประธานสภานิสิตเหมือนที่ ‘เนติวิทย์’ ได้รับการเลือกตั้งในยุคนี้

ปีสุดท้ายก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ก็คือ ‘พรรคจุฬา-ประชาชน’ ชนะการเลือกตั้ง มีการเคลื่อนไหวกว้างๆ แบบเปิดเผย ขณะที่มีการเคลื่อนไหวกว้างๆ แบบเปิดเผย แต่ละคนก็จะมีสายของพรรคคอมมิวนิสต์มาติดต่อ โดยที่เราแทบไม่รู้ตัวในตอนแรก เขาชวนไปศึกษากลุ่มย่อย เช่น 3 คนบ้าง 2 คนบ้าง มีสถานที่นัดไปนอกมหาวิทยาลัย อ่านหนังสือประธานเหมา

จริงๆ แล้วคือหน่วยย่อยๆ ของพรรคคอมมิวนิสต์ที่แทรกเข้ามา คนที่แทรกเข้ามามีนักศึกษาด้วย อย่างหัวหน้าหน่วยของพี่ก็เป็นรุ่นพี่คณะวิทยาศาสตร์ ตอนนั้นเขาอยู่ปี4 ซึ่งสายตระกูลเขาเป็นคอมมิวนิสต์ทั้งนั้น คือเป็นสายใหญ่ๆ

ดังนั้น ก่อนหน้า 6 ตุลา 2519 มีการเคลื่อนไหวลับๆ ของพรรคคอมมิวนิสต์ ในท่ามกลางการเคลื่อนไหวใหญ่ของนิสิตนักศึกษา เราจะมีการเข้าร่วมกับกลุ่มศึกษาย่อย ซึ่งเรามองว่าการต่อสู้กลางเมือง ไม่มีทางชนะ แล้วตอนนั้น เราได้รับแนวคิดการเมือง เรื่องลัทธิคอมมิวนิสต์ สังคมนิยมมาบ้างแล้ว มีความเชื่อว่าเราต้องจับอาวุธขึ้นสู้ มีความเชื่อว่า การที่จะได้อำนาจรัฐ เราต้องเข้าร่วมกับการต่อสู้แบบที่ต้องจับอาวุธ

ตัวพี่ไม่ได้เป็นคนสำคัญถึงขนาดถูกหมายหัว แต่ว่า เหตุการณ์หลัง 6 ตุลา มันน่ากลัวมาก เพราะว่า รัฐบาลจะส่งคน บุกเข้าไปตามบ้านนักศึกษา เพื่อที่จะไปค้นบ้านค้นหนังสือ ของพี่เองพี่ก็ยังต้องใช้เวลาเผาหนังสืออยู่ 2-3 วัน เผาหนังสือที่เกี่ยวกับ ลัทธิคอมมิวนิสต์อะไรต่างๆ

มันน่ากลัวมาก เพราะฉะนั้น เราก็ตัดสินใจว่า เราจะเลือกแนวทางนี้ จึงตัดสินใจเข้าร่วม แต่ว่าเราจะไปวันไหน เราไม่สามารถกำหนดเองได้ เพราะจะมีหน่วยใต้ดินที่เป็นหัวหน้าหน่วยของเรามาติดต่อ และนัดเจอตามสถานที่นัดหมายจะมีการเช่าแฟลตอยู่ นัดกันว่าจะไปวันไหน

-ออกจากเมืองเข้าป่า

เข้าป่าวันที่ 10 ธันวา 2519 เพิ่งรู้วันที่เดินทางว่าจะได้ไปไหน เขาให้ไปซื้อตั๋วจากหมอชิตไปจังหวัดอุดร แล้วตอนนั้นที่อุดรเป็นช่วงมีงานประจำปีของจังหวัดคืองานทุ่งศรีเมืองจะมีคนพลุกพล่าน

พอเราลงรถที่อุดร เราก็ไปเดินในที่คนพลุกพล่าน ก็จะมีคนเดินมาประชิดตัวเรา พี่จำไม่ได้ว่าเขารู้ได้ยังไง แต่ที่ไปด้วยกันมีเพื่อนนิสิตจุฬาฯ ทั้งหมด 4 คน มีคนเรียนเภสัช, หมอ และวิทยาศาสตร์ 2 คนรวมพี่ด้วย

เขาพาเดินเที่ยวงาน พอกลางดึกก็มีรถสองแถวรถแดงพาออกนอกเมือง ไปที่หมูบ้านโนนทัน ซึ่งตอนนี้คือ จ.หนองบัวลำภู จากนั้น มีคนในป่ามารับเรา เราใช้เวลาเดินจากจุดนั้น ไปถึงจุดที่ปลอดภัยและสามารถพักได้ 1 คืน

ตอนเข้าไปอุดร ตอนนั้นเขาให้อบรมแบบสั้นๆ เรียก ‘โรงเรียนการเมืองการทหาร’ แต่เป็นช่วงเวลาสั้นๆ หลังจากนั้นจะมีนิสิตนักศึกษาที่มาจากในเมือง อบรมแล้วแยกกัน กระจายกันไปทำงาน ตามที่ต่างๆ งานหลักๆ จะมีพลาธิการ เพาะปลูก ทำไร่ ทำสวน เพื่อเตรียมสเบียงอาหาร และพยาบาลดูแลคนเจ็บคนไข้ และออกไปทำงานมวลชน

พี่ทำ 2 อย่าง คือเขาจะส่งไปอบรมพยาบาลอยู่ 2 สัปดาห์ หลังจากนั้น เขาจะส่งเราไปทำงานมวลชน เหมือนเราไปขยายความคิดตรงนั้นซึ่งไม่ใช่เขตพื้นที่ของพรรคคอมมิวนิสต์ แต่เป็นชายป่าที่ติดต่อกัน ฉะนั้น มวลชนส่วนใหญ่ก็สนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์อยู่แล้ว ขยายเพื่อระดมกำลังให้เพิ่มขึ้น อยู่ที่นี่ 1 ปี

แล้วเขาก็ส่งไปโรงเรียนการเมืองการทหาร ต้องผ่านประเทศลาว จากประเทศลาวข้ามชายแดนไปอีกฝั่งหนึ่ง ไปที่ จ.น่าน ชื่อโรงเรียนการเมืองการทหาร 61 ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ใหญ่ที่สุดของพรรคคอมมิวนิสต์ มีพี่จรัล ดิษฐาอภิชัย ทำหน้าที่รับผิดชอบเรื่องหลักสูตรการเมืองและดูแลนักเรียน

เราต้องอบรมด้านการทหารด้วย วิธีจับปืน ยิงปืน ถือปืน แล้วที่โรงเรียน 61 พี่มีโอกาสเจอคนสำคัญหลายคน เพราะเป็นที่ตั้งศูนย์กลางนักศึกษาแห่งประเทศไทย คนที่เจอ เช่น จาตุรนต์ ฉายแสง พี่สิตา การย์เกรียงไกร(ตา เพียรอธิธรรม) และอีกหลายๆ คนที่ต่อมามีชื่อเสียง เช่น เสถียร จันทิมาธร

พออบรมการเมืองเสร็จเขาก็ส่งพี่ไปที่ลาว เป็นโรงพยาบาลใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ตอนนั้น ตั้งอยู่ลาว คือโรงพยาบาลอาร์1 มีหมอ 3 - 4 คนที่เรียนจบแล้ว มาจากศิริราช รามา และมีพยาบาลวิชาชีพอยู่ที่นี่น่าจะปีกว่าๆ ถึง 2523 – 2524 กระทั่งมีปัญหาระหวว่างจีนกับเวียดนาม

ตอนนั้นกัมพูชาปลดปล่อยแล้ว รัฐบาลเขมรแดงเข้ามาปกครองกัมพูชาแล้ว แล้วเกิดเหตุการณ์สังหารที่เราทราบกัน ซึ่งตอนนั้นพวกเราไม่รู้เรื่องความโหดร้ายของเขมรแดงเลย มารู้เมื่อออกจากป่าแล้ว

ตอนนั้น เวียดนามส่งกองทัพเข้ามาช่วยกัมพูชา ซึ่งจีนไม่เห็นด้วย จีนจึงบุกเวียดนาม แล้วพรรคคอมมิวนิสต์ต้องเลือกข้างว่าจะอยู่ข้างไหนระหว่างจีน กับ เวียดนามและลาวซึ่งอยู่ข้างเดียวกัน ตอนนั้นพรรคคอมมิวนิสต์เลือกอยู่ข้างเดียวกับจีน และไม่ยอมรับความช่วยเหลือจากเวียดนามและลาว

จริงๆ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยมีสำนักงานที่อยู่ในเขตลาวเยอะ ไม่เพียงแต่โรงพยาบาล มีหน่วยงานสำคัญก็อยู่ในลาว แต่ตอนนั้นก็ย้ายออกหมด ไปอยู่ จ.น่าน พี่ไปอยู่น่าน 5 ปี อยู่ในโรงพยาบาลของพรรค ที่ จ.น่าน

ที่ จ.น่าน ถือว่าเป็นฐานที่มั่นใหญ่ที่สุดของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ฉะนั้นศูนย์กลางพรรคเคยมาตั้งอยู่ที่นี่ สหายคนสำคัญหลายคน ที่เคยเป็นเลขาธิการพรรค ก็เคยอยู่ที่นี่ ผ่านที่นี่ เช่น ลุงธง แจ่มศรี และวิรัช อังคถาวร หรือ จ่างหย่วน อดีตเลขาธิการพรรคก็อยู่ที่นี่

คำว่าฐานที่มั่นก็คือที่ที่รัฐบาลไทยเข้าไปไม่ได้ และเป็นอาณาเขตของคอมมิวนิสต์ พื้นที่ตรงนั้น จะมีหมู่บ้าน ของชนชาติกลุ่มน้อย กลุ่มที่ใหญ่ๆ คือ ลั๊ว กับ ม้ง มีการบริหารจัดการที่เรียกว่าเขตอำนาจรัฐของพรรคคอมมิวนิสต์ เทียบสมัยนี้เหมือน อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป้าหมายตอนนั้นคือ ชิงอำนาจรัฐ

-ปีที่ออกจากป่า

ออกจากป่าเดือน ม.ค ปี 27 วันที่พี่ชายมาหาที่น่าน เป็นวันเด็ก วันที่ออกจากป่า ก็ต้องเดินเหมือนวันที่เข้าป่า แต่พี่เดินออกจากป่า 5 วัน ถึงชายป่า เรียกรถสองแถวเข้าเมืองเหมือนกัน

ระหว่างซื้อตั๋ว ก็มีคนที่แต่งตัวแบบชาวบ้าน ไม่ติดอาวุธอะไรเลย 3 คน เดินเข้ามาประกบตัวพี่กับเพื่อนอีก 2 คน กำลังซื้อตั๋วที่จะเข้ากรุงเทพฯ อยู่ๆ ก็มาประกบตัวขอดูบัตรประชาชน ซึ่งเราไม่มีเพราะเราฉีกทิ้งตั้งแต่เราตัดสินใจเข้าป่าแล้ว

เขาก็รู้แล้วล่ะ ก็พาเราไปขึ้นรถไปที่สถานีตำรวจ จากนั้น ก็พาเราไป กอ.รมน. แล้วก็สอบสวน 1 วัน

พี่ถูกกักตัวอยู่ในเขตทหารอีกประมาณ 2 อาทิตย์

-ตอนตัดสินใจออกจากป่า

อยู่ป่าท่ามกลางเทือกเขาสูงยากลำบาก การรับรู้ข่าวสารเรื่องราวว่า เกิดอะไรขึ้นในเมือง มันช้ามาก จนกระทั่ง ช่วงสุดท้ายรู้ว่าเพื่อนๆ นักศึกษากลับมาเรียนแล้ว พี่ได้รับรู้ข่าวนี้ประมาณปี 2525 หลังจากมีเพื่อนกลุ่มหนึ่งไปเล่าให้ฟังว่าใครกลับมาเรียน ใครแต่งงาน

พอปลายปี 2525 ตอนนั้น สมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี มี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็น ผบ.ทบ. ซึ่ง พล.อ.ชวลิต เป็นคนเสนอรัฐบาลพล.อ.เปรม ให้มีนโยบายนิรโทษกรรมสุดซอย(66/23) ก็คือ คนที่อยู่ในคุกก็ปล่อยออกจากคุก คนที่อยู่ป่าก็ให้อภัยโทษให้กลับมาเรียน

ฉะนั้น ส่วนใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ก็เริ่มแพ้แล้ว แต่ว่าความแพ้ของพรรคคอมมิวนิสต์มีปัจจัยอย่างอื่นด้วย ปัจจัยในทางสากล เช่น จีนกับรัสเซียไม่ถูกกัน แต่พรรคคอมมิวนิสต์ในพื้นที่ต่างๆ เริ่มแพ้แล้วเมื่อนักศึกษาเริ่มทยอยออกมา

แต่เนื่องจากที่น่าน เป็นฐานที่มั่นใหญ่ เขามีความคิดว่าเขาไม่ยอมแพ้ ดังนั้น ช่วงปลายปี 2525 จึงเกิดยุทธการใหญ่ ซึ่งเรียกว่า ‘สุริยพงษ์ 4’ ก็คือฝ่ายทหารรัฐบาลเปิดศึกขึ้นปราบ คำว่าปราบคือ เอากองกำลังมาลง แล้วต่อสู้ปะทะกัน

ขณะที่น่าน เป็นเขตที่เข้าไปยากมาก แต่เขาใช้วิธีเอาทหารลอบขึ้นมาก่อน แล้วเอาเลื่อยไฟฟ้าตัดต้นไม้ แล้วเอาเฮลิคอร์ปเตอร์ลงกลางป่า คือ เอากำลังทหารลง แล้วยึดพื้นที่ของพรรคคอมมิวนิสต์ ได้เป็นจุดๆ โดยเริ่มยึดจุดที่อ่อนที่สุดก่อน แล้วค่อยๆ คืบเข้ามาเรื่อยๆ

ตอนนั้นพี่อยู่โรงพยาบาล ฉะนั้น ต้องมีอาสาว่าใครจะไปอยู่แนวหน้า ซึ่งพี่คิดว่าช่วงนั้น เป็นช่วงที่ลำบากที่สุด ด้วยความที่พี่ไม่เคยไปอยู่แนวหน้า จึงอาสากับเพื่อนอีกคนหนึ่งไปอยู่แนวหน้า คืออยู่กับกองทหารที่ออกไปสู้รบทุกวัน ถ้าเกิดมีใครบาดเจ็บมา เราจะได้ช่วยในขั้นต้นก่อน แล้วค่อยส่งเข้าโรงพยาบาลถ้าจำเป็นต้องผ่าตัด

เป็นปลายปี 2525 จำได้วันที่ 31 ธ.ค. นอกจากจะไม่ได้ฉลองปีใหม่แล้ว คืนนั้น ไม่สามารถจะนอนได้เลย เพราะทหารของฝ่ายรัฐบาลยิงปืนใหญ่ข้ามหัว วี๊ดบึ้มตลอด ได้ยินเสียงปืนทีเราก็ลุกขึ้นมาที เหมือนข้ามหัวเราใกล้ๆ เลย จนต้องลุกขึ้นมาคุยกับเพื่อนว่าปีนี้เราฉลองปีใหม่ด้วยวิธีนี้เหรอ เป็นปีที่ยากที่สุด แล้วในที่สุดทหารก็ยึดพื้นที่ได้

เราก็ต้องหนี คือเราก็ต้องหนีทุกวัน กองกำลังแตกมาก อย่างที่บอก ทำไมเขาให้มีลูกช้า เพราะ คนที่มีภาระมีลูกอ่อน เขาต้องส่งให้ไปมอบตัวเลย ยอมให้ทหารจับไป แต่ตอนนั้น ก็ภายใน 66/23 แล้ว เขาไม่ได้ทำอะไรรุนแรงแล้ว

เขาก็คืบเข้ามาทุกวันเคลื่อนที่ทุกวันจนกระทั่งเราหนีเข้าไปในเขตลาว ซึ่งตรงนั้นเป็นชายแดนนน่านต่อกับลาว ปรากฏเราไปอยู่ลาวได้อาทิตยน์หนึ่ง คนสำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์ที่เป็นผู้นำ เป็นแกนนำ เข้าไปเจรจากับรัฐบาลลาว ปรากฏว่าโดนรัฐบาลลาวหักหลัง คือจับพวกนั้นไปหมดเลย

ฉะนั้น นายผี อัศนี พลจันทร์ ก็โดนจับในตอนนั้นด้วย แล้วอัศนี พลจันทร์ ก็ไปเสียชีวิตที่ลาวในอีกหลายปีต่อมา ที่มีการเอากระดูกกลับมา

ส่วนพวกพี่แตกกระจายเป็นกลุ่มย่อย มี 20 คน ต้องหนีออกจากที่ที่ถูกยึด ไม่รู้ตัวเองไปไหนแต่มีคนนำขบวนคนเดียวที่รู้ว่าเราต้องเดินไปทางใต้ มีการกางแผนที่ทหารกับใช้เข็มทิศ บางช่วงผ่านป่าทึบ มองไม่ออกว่าทิศไหน สหายชนชาติ (ชนกลุ่มน้อย) เขาจะดูออกว่าต้องไปทิศไหน ต้องเดิน 10 วัน เสบียงติดตัวเกือบหมด แต่ละวันมีข้าว 2 กระป๋องเลี้ยงคน 20 คน อาหารอย่างอื่นไม่มี ต้องกินหยวกกล้วยเอามาต้ม บดใส่เกลือ ใส่ผงชูรส พริกยังไม่มีเลย

กระทั่งเกือบวันสุดท้าย เข้าไปอยู่เขตลาว ซึ่งเจ้าหน้าที่ลาวเข้าไม่ถึง ประชาชนก็ยากจนเหมือนกัน เราต้องเอาสิ่งที่ติดตัวไปแลกเอาข้าว แม้แต่กระดุมเสื้อ และเข็มที่ใช้ฝังเข็มที่ได้มาจากจีน ยาที่ติดตัวมา เอาไปแลกข้าวเตรียมเดินทางต่อ

เพื่อนผู้ชาย 2-3 คนต้องปลอมตัวใส่ชุดเป็นทหารรัฐบาลไทย เพื่อซื้อข้าวจากประชาชน ในเขตรัฐบาล เดินทางแบบนี้ 10 วัน

ตอนพี่ออกจากป่าก็อยู่ภายใต้ 66/23 ถึงแม้พี่จะถูกจับพี่ก็ถูกจับแบบละมุนละม่อม อย่างวันแรกที่เราโดนจับ เขาส่งเข้า กอ.รมน. เป็นมื้อแรกที่ได้กินอาหารอร่อย คือเขาสั่งอาหารที่เป็นอาหารอย่างดีมาจากจังหวัดน่าน มีแกงเขียวหวาน มีขนมจีน เยอะแยะไปหมดเลยอย่างดี

-เข้าป่า 7 ปี แต่ไม่ได้เป็น ‘สมาชิก’ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

ไม่ได้เป็นสมาชิก พี่ถูกถามแบบนี้ตอนพี่ถูกสอบสวน โดยทหาร กอ.รมน. ถามว่าทำไมยังไม่เป็นสมาชิก, คือคนที่จะเป็นสมาชิก ต้องมีคุณสมบัติที่เหมาะสมสำหรับพรรค ซึ่งพี่ไม่ถึงขนาดนั้น และพี่เชื่อว่า อ.ยิ้ม(ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ) ก็ไม่ถึงขนาดนั้น (หัวเราะ) เพราะในมาตรฐานพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย อย่าง ‘สุขุม เลาหพูลรังสี’ เพื่อนของ อ.ยิ้ม ก็คงไม่ได้เป็น เพราะ พรรคก็จะมองว่า เป็นพวกที่มีแนวคิดเสรีนิยม

พรรคคอมมิวนิสต์ มีลุงธง แจ่มศรีเป็นเลขาธิการคนสุดท้าย หลังจากนั้น พคท. ก็ไม่มีแล้ว วันแรกที่เราเข้าป่าจะได้รับเสื้อ 2 ชุดสีเขียวแบบชุดทหาร เพื่อพรางตัวเข้ากับป่าและมีหมวกดาวแดง เป็นชุดเดียวกับที่มอบให้อาจารย์ยิ้ม มีเป้ใส่ของ ซึ่งของที่จะใส่ในเป้ มีผ้าห่มเสื้อผ้า นอกจากนั้นมีกระติกน้ำเลียนแบบของเวียดนาม แล้วก็ปืน ถ้าผู้หญิงไม่ได้สู้มากก็ปืนสั้น ผู้ชายก็ปืนยาวเป็นอาก้า ปืนกล นี่คืออุปกรณ์ที่ทุกคนจะต้องมี

-การมอบชุดทหาร จากอดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ให้แก่ อ.ยิ้ม ผ่านครอบครัว ในพิธีฌาปนกิจศพ

การมอบในวันนั้น มีความหมายว่า อาจารย์ยิ้มคือทหารปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นกองทัพของพรรคคอมมิวนิสต์ คนใส่ชุดนี้คือคนของพรรคคอมมิวนิสต์ แต่พี่ไม่ใช้คำว่า ‘สมาชิกพรรค’ นะเพราะภายในพรรคจะมีระดับว่า คนนี้เป็นชาวบ้านเข้ามาร่วมงานกับพรรค หรือเป็นสมาชิกก็ขึ้นมาอีกระดับ ไม่ใช่ทุกคนเป็นได้ อย่างพี่ก็ไม่ถือเป็นสมาชิกพรรค และพี่เข้าใจว่า อาจารย์ยิ้มอยู่ป่า 1 ปี ก็คงไม่ได้เป็น

ทหารปลดแอกคือคนที่จะร่วมต่อสู้เพื่อปลดปล่อยประเทศไทย ตอนนั้นเราเชื่อว่าอย่างนั้น การที่เราจะได้อำนาจรัฐมาเพื่อเปลี่ยนประเทศชาติ เพื่อจะได้สังคมที่ดีกว่า คือ ต้องต่อสู้ด้วยอาวุธ เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ ถือว่าทุกคนเป็นทหารปลดแอกแห่งประเทศไทย ซึ่งพรรคคอมมิวนิสต์มีกองทัพที่มีการจัดตั้งเหมือนกองทัพไทย

-ความเป็นผู้หญิงเป็นอุปสรรคหรือไม่ เมื่อต้องอยู่ในป่า

ผู้หญิงจะมีความลำบากบ้างตามธรรมชาติของผู้หญิงเวลามีประจำเดือน เราไม่สามารถซื้อผ้าอนามัยได้ ต้องหาเศษผ้าเหมือนผ้าอ้อมเด็ก คงได้มาจากจีน เอามาตัดเป็นชิ้นๆ ใช้แทนผ้าอนามัย หลังใช้แล้วไปซักล้างแล้วตาก ช่วงนั้นก็ลำบาก
แต่ในที่ที่ไม่ปลอดภัย ผู้หญิงอาจจะได้ทำงานปลอดภัยกว่าผู้ชาย เช่นไม่ได้ไปรบ

อย่างไรก็ตาม พรรคถือว่าชายหญิงเท่ากัน ฉะนั้นทำงานหลายอย่างเหมือนกัน เช่น ไปลำเลียงข้าวในเขตที่ไม่ใช่ฐานที่มั่น ก็คือขนข้าวใส่ถุงสะพายข้างหลังทำเหมือนกัน

ตอนหนึ่งที่ลำบากมาก คือตอนไปเอาเกลือ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญ เดินไปเอาเกลือที่ อ.บ่อเกลือ ปัจจุบันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวใน จ.น่าน ต้องเดินข้ามเขาสูงสุดในจังหวัด พี่เดินเป็นคนสุดท้ายใน 200 คน เราจำเป็นต้องไป ต้องสะพายกระเป๋ายาไป

ถามว่าอยากไปไหม? ไม่อยากไป เพราะเหนื่อยมาก พูดแบบนี้ไงถึงไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค (หัวเราะ)

ระหว่างทางนอนค้างบ้านชาวบ้านก็มีคนตามไปทำคลอด เราไม่มีอุปกรณ์อะไรมีแต่กรรไกรตัดสายสะดือ อันเดียว ต้องไปทำคลอดตอนกลางคืน

ตอนอยู่ป่าพี่เคยผ่าตัดไส้ติ่ง ผ่านิ่วในกระเพาะปัสสวะ แต่ยังตัดต่อลำไส้ไม่ได้

-ไปต่อสู้ในป่าแล้วมีความรักได้หรือเปล่า

พรรคจะมีคำขวัญ ‘3 ช้า’ มี ‘คนรักช้า แต่งงานช้า มีลูกช้า’ แต่จริงๆ ก็เห็นคนมีคนรักเกิดขึ้นในป่าตั้งหลายคู่ คือแม้แต่พี่เอง พี่ก็มี เพราะขบวนการปฏิวัติยากลำบาก เช่น คนรุ่นลุงธง แจ่มศรี ต้องทิ้งบ้านทิ้งครอบครัว บางคนก็ทิ้งลูกเมียอยู่ข้างหลัง อยู่ที่บ้าน แล้วตัวเองก็เข้าป่า หรืออย่างลุงคำตัน ซึ่งเป็นพ่อ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ก็ไม่ได้บอกลูกว่าไปไหน คือมันเป็นเรื่องที่ยากลำบากที่จะเอาครอบครัวไปด้วย แล้วระหว่างใช้ชีวิตอยู่ในป่า ถ้ามีการสู้รบมา มันยากลำบากมาก

-เล่าเรื่อง ‘คนรัก’ ได้ไหม

เจอกันที่โน่น รักกันที่โน่น แต่วินัยอย่างหนึ่งถ้าเราจะรักใคร ก็จะต้องรายงานจัดตั้ง คือคนที่อยู่สูงกว่า รายงานว่าเรารักกันแล้วนะ ขอให้อนุมัติด้วย พี่บอกให้แฟนพี่เขียนบอกจัดตั้ง แล้วเราก็คบกัน

จนถึงช่วงท้าย คือในระหว่างเดินทาง 10 วัน เขาก็ยังร่วมเดินทางกับพี่ แต่พอมาอยู่ในเขตงานที่ปลอดภัยแล้วทางบ้านเขาส่งข่าวมาตลอดว่าพ่อไม่สบายต้องกลับบ้าน เขาก็เตรียมตัวกลับบ้าน แต่เนื่องจากเกิดยุทธการสุริยพงษ์ 4 ก็กลับไม่ได้ทันที จนกระทั่งกลับถึงที่ปลอดภัยแล้ว พรรคก็ให้เขากลับ

ในขบวนนั้น มีคนที่ลงมาทั้งหมด 7 คนแต่ในนั้นมีเขาเป็นนักศึกษาคนเดียว ที่เหลือเป็นกรรมกร เดินทางออกจากป่า จนถึงชายป่าเขายังเขียนจดหมายฝากคนที่ไปส่งเขามาให้พี่ หลังจากนั้นพี่ก็ไม่ได้ข่าวเลย ในขบวน 7 คนจะมาเจอ 2 คนที่มาจากกรุงเทพฯ ขับรถมารับ แต่ปรากฏว่า หลังจากรับมาแล้ว ขบวนที่มารับเขาไปถึงด่านห้วยน้ำอุ่น จ.น่าน รถคันนี้ถูกทหารกัก แล้วก็หายไปเลย คนที่ขับรถมารับเป็นน้องของอาจารย์สุชาย ตรีรัตน์ รวมคนในรถทั้งหมด 9 คน หายไปหมด

รถคันนี้หายไปไม่ได้กลับกรุงเทพฯ ทางครอบครัวอาจารย์สุชาย กว่าจะรู้ก็ผ่านไป 1 เดือน ส่วนของพี่ ผ่านไป 3 เดือน ถึงมีผู้ใหญ่มาบอกว่า เค้าถูกจับ ตอนที่พี่ได้ยินว่า เขาถูกจับ พี่ก็ยังมีความหวัง เพราะตอนนั้นอยู่ภายใต้ 66/23 แต่หลังจากนั้น ทางครอบครัวอาจารย์สุชาย ก็ขึ้นมาตามหาที่พิษณุโลกทาง กอ.รมน. เพราะไม่ได้ข่าว ไม่มีใครได้ข่าว และไม่มีใครให้ข้อมูลเป็นปี

จนพี่กลับมาเจอเพื่อนที่กลับมาจากสุราษฎร์ อยู่เขตเดียวกับ อ.ยิ้ม เขาโดนจับกลางป่าแบบนี้เหมือนกัน แต่ว่าพี่ชายเขาเป็นทหารอยู่ภาคใต้ พอเขาสอบสวนเจอนามสกุลเดียวกัน ก็รอดปลอดภัยกลับมาเรียนต่อได้ แล้วเขาพาพี่ไปหาแม่ทัพภาค แต่ทุกคนปฏิเสธหมดว่าไม่รู้เรื่องนี้เลย แล้วก็ตอนนั้นครอบครัว อ.สุชาย ติดต่อคุณศราวุฒิ ประทุมราช* กลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคม (กศส.) ทำงานติดตามคนหาย ได้ข้อมูลสรุปว่า ทั้ง 9 คนนี้หายตัวไปหลังผ่านด่านห้วยน้ำอุ่น

วันที่ไปงานศพอ.ยิ้ม พี่ได้เข้าไปคุยกับป้าน้ำ (ภรรยาลุงธง แจ่มศรี) พี่บอกว่าได้ยินพี่จิ้น กรรมาชน ร้องเพลงแล้วรู้สึกว่าน้ำตาไหลเลยนะ จริงๆ พี่คิดถึงทุกคนที่เสียชีวิตในระหว่างเส้นทางการต่อสู้อันนี้ ป้าน้ำพูดมาคำนึงว่า คิดถึง ‘สุภาพ’ นะ คือแฟนพี่ชื่อ ‘สุภาพ’

จริงๆ มีคนอื่นเสียชีวิตเยอะ ตอนสู้รบกันอย่างหนักมีทหารที่รู้จัก 2คน ขาขาดต้องตัดขาระหว่างสู้รบ แต่เนื่องจากอุปกรณ์เครื่องมืออาจจะไม่ดี หรือสภาพแวดล้อมไม่ดี ตอนหลังก็ติดเชื้อและเสียชีวิต 2 คน แล้วก็มีพี่อีกคนท้องแก่ ต้องคลอดลูกระหว่างทางที่หนี ขณะที่สามีโดนจับไปประเทศลาว แล้วต้องอุ้มลูกไปตลอด 10 กว่าวันจนไปถึงเขตที่ปลอดภัย บางครั้งต้องข้ามน้ำข้ามห้วย มีครั้งหนึ่งทหารที่ไปด้วยอาสาจะช่วยอุ้มลูก แต่เด็กลื่นตกลงไปแต่ปลอดภัย หลังจากนั้นแกไม่ให้ใครอุ้มอีกเลย แกผูกลูกไว้ ตอนนั้นแกจากสามี 4-5 ปี กระทั่งเพื่อนๆ อยู่ลาวช่วยกลับมาได้

-คิดจากประสบการณ์ตอนนี้ ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ จะเข้าป่าอยู่ไหม

เป็นเรื่องที่พูดยาก ถ้าคิดแบบวันนี้เราเห็นแล้วว่าพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยมีปัญหาเยอะแยะ พอเราเข้าไปอยู่สักปีคงรู้แล้วล่ะว่าโอกาสที่จะชนะคงยาก แต่วันที่เราตัดสินใจ เราไม่รู้ไงคะ แล้วเหตุการณ์ที่เราโดนตอน 6 ตุลา 19 มันเป็นอะไรที่ทำให้เราตัดสินใจเด็ดขาดว่า ทางสู้ด้วยวิธีนี้คงไม่ได้แล้ว มันรุนแรงมาก

พี่คิดว่าการปราบ ถ้าเทียบกับพฤษภา 35 หรือปี 53 เหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ก็โหดร้ายมาก อย่างพฤษภา 53 ก็โหดร้ายแต่ทำเป็นจุดๆ ส่วน 6 ตุลา เหมือนปิดล้อมเลย ทุกทิศทางแล้วยิงปืนกลลงกลางสนามฟุตบอล ไม่ว่าใครจะหนีออกทางไหน ทางน้ำทางบกทางวัด ถูกจับหมด ทางท่าพระจันทร์ไปร้านอาหารร้านไหนก็ถูกจับหมด ตัดสินใจจับอาวุธต่อสู้เพราะเชื่อว่าความคิดนี้ถูกต้อง

-มองการต่อสู้ในยุคนี้อย่างไร

การต่อสู้ยุคนี้กระจัดกระจาย ไม่มีแกนนำที่เป็นหลัก พี่คิดว่าการต่อสู้จำเป็นต้องมีคนนำเป็นหลักและเป็นขบวน ตอนนี้อาจจะสู้กันอยู่บนเฟซบุค ไม่ได้คิดเหมือนในยุคนั้น คือการยึดอำนาจรัฐ ตอนนี้อาจจะต่อสู้แบบเสรีนิยม ต่างคนต่างสู้อยู่บนเฟซบุค ไม่ได้คิดถึงขั้นจะยึดอำนาจรัฐด้วยวิธีไหน


*คุณศราวุฒิ ประทุมราช ให้สัมภาษณ์ Voice TV ว่า ขณะนั้นทำงานอยู่กลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคม (กศส.) ซึ่งตั้งขึ้นหลัง 6 ตุลา 19 เพื่อช่วยเหลือนักโทษการเมืองและทำงานรณรงค์ทั้งในและต่างประเทศมีเป้าหมายเพื่อลดการใช้ความรุนแรงในสังคม หลังเกิดเหตุฆ่ากันกลางเมืองที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำหรับการตามหาคนหายนั้นเกิดขึ้นเมื่อได้รับการร้องเรียนจากญาติของคนที่หายตัวไปรายหนึ่ง ที่ขับรถไปจังหวัดน่าน และไม่ทราบชะตากรรม ซึ่งเมื่อสืบหาข้อเท็จจริงแล้วได้ความว่า ญาติของผู้ร้องเรียนนั้นอยู่ในกลุ่มคนจำนวน 9 คนที่สูญหายไปพร้อมกัน โดย 1 ในนั้นคือ ‘คนรัก’ ของ ‘สหายโดม’ ส่วนการหาหลักฐาน พบหลักฐานจุดสุดท้ายคือลายเซ็นของคนที่ขับรถคันดังกล่าวที่ด่านห้วยน้ำอุ่น จ.น่าน

ที่มา FB

Fahroong Srikhao ฟ้ารุ่ง ศรีขาว