วันอังคาร, สิงหาคม 29, 2560

นักเขียนออกแถลงการณ์ไม่ยอมรับศิลปินเหยียดเพศ ล่าชื่อถอด 'ไพฑูรย์' จากศิลปินแห่งชาติ-ร่วมงานกวีอาเซียน



Source:
https://news.voicetv.co.th/entertainment/518959.html


นักเขียนออกแถลงการณ์ไม่ยอมรับศิลปินเหยียดเพศ

ที่มา Voice TV

ล่าชื่อถอด 'ไพฑูรย์' จากศิลปินแห่งชาติ-ร่วมงานกวีอาเซียน

จากการที่ ไพฑูรย์ ธัญญา หรือ ธัญญา สังขพันธานนท์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี 2559 โพสต์กลอนคำผวนถึงอดีตนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร บนเฟซบุ๊กโดยตั้งค่าสาธารณะในวันที่ 25 สิงหาคม ล่าสุดได้มีการรวบรวมรายชื่อผ่านเว็บไซต์ Change.org เพื่อยื่นเรื่องให้กระทรวงวัฒนธรรมถอดถอนกวีผู้นี้จากการเป็นศิลปินแห่งชาติ ซึ่งขณะนี้มีผู้ร่วมสนับสนุนแล้วกว่า 2,000 รายชื่อ

โดยผู้เริ่มรณรงค์ ปกาศิต แสงศาตรา ได้ระบุในแคมเปญรณรงค์นี้ว่า "จากการที่ นายธัญญา สังขพันธานนท์ เขียนบทกวีลามกเหยียดสตรีเพศเผยแพร่สู่สาธารณะ ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงเกียรติยศศักดิ์ศรีของตำแหน่งศิลปินแห่งชาติ ตำแหน่งนี้ควรเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติ ไม่ควรถูกเหยียบย่ำทำลายโดยพฤติกรรมส่วนตัวของบุคคลอย่างนาย ธัญญา สังขพันธานนท์"

นอกจากนั้นกวี นักเขียน และนักวิชาการ 100 คน ยังยื่นรายชื่อให้สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย และ The Malaysian Institute of Translation & Books ถอดถอน รศ.ดร.ธัญญา สังขพันธานนท์ จากการเป็นตัวแทนประเทศไทยร่วมงาน ASEAN Poets Forum @ Diversity 2017 ในเทศกาลศิลปะนานาชาติ KL International Arts Festival ครั้งที่ 3 ซึ่งจะจัดระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม ถึง 1 ตุลาคมนี้ ที่ประเทศมาเลเซีย เพราะเป็นการดูถูกทางเพศและละเมิดอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบ (CEDAW)

แถลงการณ์จาก กวี นักเขียน นักวิชาการ คัดค้านการเชิญ รศ.ดร.ธัญญา สังขพันธานนท์ ศิลปินแห่งชาติ / นักเขียนรางวัลซีไรต์ เป็นตัวแทนกวีไทย ในงาน ASEAN Poets Forum@Diversity 2017 KL International Arts Festival ครั้งที่ 3 ในงาน the Literature genre in DiverseCity 2017 ของสถาบันเดวัน บาฮาซา แดนปุสกาตา ในธีม ‘Struggle of Nation’ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย

เนื้อหาในแถลงการณ์มีดังนี้:

ตามที่เป็นข่าวถึงสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไทยเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2017 ที่ผ่านมา กรณีที่รัฐบาลทหารไทยได้ดำเนินคดีต่ออดีตนายกรัฐมนตรีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งที่เป็นที่รู้กันทั่วไปในชื่อคดีว่า “คดีจานำข้าว” ถึงกำหนดที่ศาลนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษา

เหตุการณ์ปรากฏว่านางสาวยิ่งลักษณ์มิได้ปรากฏตัวต่อศาล โดยส่งทนายมาแจ้งว่ามีอาการป่วยเป็นโรคน้ำในหูไม่เท่ากันทำให้มีอาการปวดศีรษะ จึงไม่สามารถมาศาลได้ และศาลได้ออกหมายจับ หลังจากนั้น มีกระแสข่าวว่าอาจจะมีการลี้ภัยไปนอกประเทศจนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กว้างขวางในสื่อสังคมออนไลน์นั้น

รศ.ดร.ธัญญา สังขพันธานนท์ (นามปากกา “ไพฑูรย์ ธัญญา”) ซึ่งมีชื่อเป็นตัวแทนจากประเทศไทยร่วมงาน ASEAN Poets Forum @ Diversity 2017 KL International Arts Festival ครั้งที่ 3 จากการคัดเลือกของสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ได้แต่งกวีบทหนึ่งถึงอดีตนายกรัฐมนตรีหญิงในลักษณะที่เหยียดหยามและส่อถึงการดูถูกสตรีเพศโดยใช้ “หู” เป็นอุปลักษณ์ในการสื่อถึงอวัยวะเพศของผู้หญิงในลักษณะที่ขบขัน พร้อมทั้งโพสต์ลงในสื่อสังคมออนไลน์โดยตั้งค่าเข้าถึงเป็น “สาธารณะ”

เสรีภาพในการแสดงออกนั้น จะต้องไม่ละเมิดทางเชื้อชาติ เพศ สีผิว ในฐานะที่ไทยเป็นรัฐภาคีของ “อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบ” (CEDAW) ตั้งแต่ปี ค.ศ.1985 หนึ่งในเนื้อหาของอนุสัญญานี้ได้ระบุว่ารัฐภาคีนั้นต้องคุ้มครองผู้หญิงจากความรุนแรงทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น ร่างกาย เพศ อารมณ์ สติปัญญา โดยระบุว่ารัฐภาคีจะต้องใช้มาตรการที่เหมาะสมทั้งปวงปรับปรุงแบบแผนความประพฤติทางสังคมและวัฒนธรรมระหว่างบุรุษและสตรี “โดยมุ่งที่จะให้ได้ขจัดความเดียดฉันท์และวิธีปฏิบัติอันเป็นประเพณีอื่น ๆ ทั้งปวง ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของความคิดเกี่ยวกับความต่ำต้อยหรือความสูงส่งของอีกเพศหนึ่ง หรือที่อยู่บนพื้นฐานของบทบาทแบบเก่าสำหรับบุรุษและสตรี” (อนุสัญญาฯ ข้อ 5)

ทว่า รศ.ดร.ธัญญา สังขพันธานนท์ กลับมิได้คำนึงถึงหลักการดังกล่าว และแม้จะเป็นบุคคลที่ได้รับรางวัลทางวรรณกรรมมากมาย รวมถึงการถูกยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ และได้รับเลือกจากสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ให้เป็นตัวแทนไปนำเสนอผลงานในเวที ASEAN Poets Forum ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ในปลายเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ แต่ รศ.ดร.ธัญญา สังขพันธานนท์ กลับแต่งบทกลอนที่มีลักษณะเหยียดเพศดังกล่าว กลุ่มกวี นักเขียน และนักวิชาการ จึงขอประณาม รศ.ดร. ธัญญา สังขพันธานนท์ และขอไม่ยอมรับการเป็นตัวแทนของวงการกวีไทยไปร่วมงานดังกล่าว และเห็นว่าหากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพิกเฉยก็เท่ากับเป็นการสร้างมาตรฐานที่ผิดให้วงการนักเขียนในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ

ผู้มีรายนามต่อท้ายแถลงการณ์ข้างล่างนี้ จึงขอเรียกร้องให้สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยและ The Malaysian Institute of Translation & Books (ITBM) ผู้จัดงานดังกล่าว ถอนชื่อและยุติการเชิญ รศ.ดร.ธัญญา สังขพันธานนท์ ในฐานะตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมงาน ด้วยเขาได้ละเมิดหลักการสากลอย่างชัดแจ้งและยังมิได้มีการแสดงการรับรู้ถึงการกระทำที่ผิดพลาดของตนมาจนปัจจุบัน

แถลง ณ วันที่ 26 สิงหาคม 2017


ooo




(https://news.voicetv.co.th/entertainment/519256.html)


Taan Zonn กินข้าว หรือ กินหญ้า ธัญญาเอ๋ย
จึงเปิดเผย ล่อนจ้อน กลอนบัดสี
ใต้สำนึก คิดได้ กระไรมี
สระอี ต่ำลึก มิตรึกตรอง
สะใจ เขียนไป ให้โลกรู้
กวีเกี่ยว จึงพรั่งพรู รูสมอง
เหยียบย่ำ ทำล่าย ด้วยหมายปอง
เพื่อสนอง ตัณหา หรือบ้ากาม
เคยติดตาม ศรัทธา ประสาทก
เคยยอยก ธัญญา น่าเกรงขาม
คมปากกา คมคำ กลอนคำราม
ว่าเป็นหนึ่ง ในสยาม นามธัญญา
พ้นสันดอน เห็นสันดาน ขยะแขยง
เอาอารมณ์ เข้าทิ่มแทง แสวงหา
สตรีเพศ นั้นนะหรือ คือมารดา
ของ ไพทูรย์ ธัญญา หรือว่าไร
ปิดบัญชี คนดี ที่ชั่วช้า
ปิดตำรา อาจารย์ อย่าขานไข
โยนทุกเล่ม ทุกคำ ที่เขียนไป
ไว้อาลัย แด่..ไพทูรย์ ธัญญา เอย....

กวีศรีราษฎร
อดิศร เพียงเกษ
28 สิงหาคม 2560

ooo



ooo


เก่งแต่กับหมา ซ่าแต่กับเด็ก สตรี และคนชรา
(แต่พอเจอทหารแล้ว "เยี่ยวเล็ด"--สำนวนคนใต้)
คือข้อสรุปต่อ จรูญ หยูทอง หรือนามปากกา ‘รูญ ระโนด ผู้กว้างขวางในดินแดนปักษ์ใต้

.............

หากอาจารย์จรูญ ยังยืนยันว่าระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของไทยยังอยู่ในสภาวะที่น่าเชื่อถือได้ ผมก็อยากเตือนความจำซึ่งอาจเลือนหายไปบ้างว่าเมื่อ พ.ศ. 2558 อาจารย์จรูญ และนักวิชาการอีก 7 คน ได้ถูกแจ้งข้อกล่าวว่าฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า “คดีมหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร” ซึ่งเป็นผลมาจากการแถลงการณ์ร่วมกันของนักวิชาการที่มีไม่เห็นด้วยกับแนวความคิดของผู้มีอำนาจ ในตอนแรกผู้ต้องหาทั้งหมด 8 คน ต่างยืนยันว่ามิได้เป็นการกระทำที่ขัดต่อคำสั่ง คสช. แต่อย่างใด

แต่ต่อมาภายหลังก็เป็นที่รับรู้กันว่าอาจารย์จรูญ และผู้ต้องหากลุ่มหนึ่ง “สมัครใจ” เข้ารับการปรับทัศนคติจากฝ่ายทหารอันเป็นเงื่อนไขให้มีการยุติคดี ผมเข้าใจดีว่าการตัดสินใจนี้ไม่ได้เกิดจากความยินยอมพร้อมใจอย่างสิ้นเชิงของทุกท่าน เพราะเท่าที่ได้รับทราบมาการถูกปรับทัศนคติครั้งนี้ได้มีการ “อบรม” แบบไม่อาจโต้แย้ง แต่ละคนต่างต้องก้มหน้ารับฟังแบบขมขื่นเพียงเพื่อให้คดีความทั้งหมดได้จบลง แน่นอนว่าการปรับทัศนคติไม่ใช่การหนีคดีในทางกฎหมาย แต่ในทางพฤตินัยจะสามารถอธิบายเป็นอื่นได้อย่างไร

สำหรับผมแล้ว การตัดสินใจในครั้งนี้ของอาจารย์จรูญ และกลุ่ม ก็ขึ้นอยู่เงื่อนไขและความพร้อมของแต่ละคน ภายใต้สถานการณ์ที่ไม่ปกติ เราทั้งหมดก็คาดเดาไม่ได้ว่าผลจะปรากฏออกมาในลักษณะเช่นใด ผมคิดว่าถ้าคดีที่เกิดขึ้นไม่ได้อยู่ในอำนาจการตัดสินของศาลทหาร ก็เชื่อว่าหลายคนอาจตัดสินใจไปในทิศทางที่แตกต่าง ดังนั้น การเหลือเพียงผมและอาจารย์อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อีกหนึ่งคนในคดีก็ไม่ใช่เรื่องที่เราจะไปตัดพ้อต่อว่าคนอื่นแต่อย่างใด แต่ละคนต่างคนต่างมีเงื่อนไขและความจำเป็นที่แตกต่างกัน

สมชาย ปรีชาศิลปกุล: จดหมายเปิดผนึกจากผู้ต้องหาที่ 2 ถึงจรูญ หยูทอง
https://prachatai.com/journal/2017/08/72999


Thanapol Eawsakul