วันพฤหัสบดี, กรกฎาคม 13, 2560

เค้าจะปฏิรูปกฎหมายกันละนะ ไม่รู้ว่านั่นจะเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ

เค้าจะปฏิรูปกฎหมายกันละนะ แต่ไม่รู้ทำไมต้องให้เอกชนลงขันจ้างฝรั่งผู้ชำนาญที่เคยให้การปรึกษารัฐบาลเกาหลีใต้มาช่วยด้วยล่ะ ในเมื่อระบบกฎหมายฝรั่งกับไทยต่างกันราวหัวเข่ากับท้ายทอย (ความหมายคือทนทานกับเปราะบาง)

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมเตรียมการปฏิรูปว่า ปยป. หรือคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปที่ คสช. ตั้งขึ้นนั้นจะอยู่ยาวจนกระทั่งหลังจาก พรบ.ยุทธศาสตร์ชาติประกาสใช้แล้ว และจะประชุมใหญ่กันวันที่ ๒๔ กรกฎานี้

ในส่วนของการปฏิรูปกฎหมายที่ ล้าสมัย ภาคเอกชนได้ลงขันจัดจ้างนายสก๊อต จาค็อบ (Scott Jacobs) ประธานที่ปรึกษากฎหมายบริษัท Jacobs,Cordova & Associates ผู้ “เคยปฏิรูปกฎหมายให้เกาหลีใต้จนมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ มาทำเรื่องนี้


ไม่รู้ว่านั่นจะเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ เหมือนเมื่อครั้ง กกต. พากันไปดูงานระบบเลือกตั้ง ทั้งสวิสเซอร์แลนด์และสก็อตแลนด์ เสร็จแล้วอิเหนาเป็นเอง กกต. ไม่เอาเลือกตั้ง ๒ กุมภา ๕๗ ซะงั้น

ถ้าพูดถึงความล้าหลังกฎหมายไทยมีอยู่ไม่น้อย แต่ทว่าการปฏิรูปเฉพาะตัวบทไม่น่าจะช่วยทำให้กฎหมายไทยทันสมัยเทียบทันประเทศอารยะตะวันตกได้ เพราะกระบวนการยุติธรรมไทยนับวันยิ่งเหลวไหล พิพากษาและตุลาการเอาตนเป็นที่ตั้งในการพิจารณาวินิจฉัยคดีความ

แค่คดีการเมืองตัดสิน เหลือง หลุดหมด แดง ผิดทุกประตู แก้ตรงนั้นให้ได้เสียก่อนค่อยลงลึกรายละเอียดตัวบท

อีกอย่างระบบตุลาการไทยผูกกระบวนการยุติธรรมไว้กับระบบราชการ มีสายการบังคับบัญชาซึ่งเข้าไปยุ่งเหยิงกับการพิจารณาคดีความ

การจองล้างระหว่างสีนับแต่หลังรัฐประหาร ๒๕๔๙ เป็นต้นมา ยังได้เข้าไปเพิ่มมิติให้กับกระบวนการตัดสินคดีของศาลไทยอีกด้วย นอกเหนือจากการติดยึดเกินธรรมชาติแห่งกฎหมายกับข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์

เมื่อวันวาน (๑๒ กรกฎา) นี่เอง มีราชกิจจานุเบกษาใหม่ออกมา กำหนดตำแหน่งใหม่ ที่ปรึกษาประธานศาลฎีกา เทียบเท่า ประธานศาลอุทธรณ์

นัยว่าเป็นตำแหน่งปลอบใจอดีตประธานศาลอุทธรณ์ที่เพิ่ง ปิ๋ว ตำแหน่งประธานศาลฎีกา หลังจากเกิดการแหวกม่านประเพณี ที่ประชุม กต. ไม่อนุมัติให้เขาได้รับแต่งตั้ง ทั้งที่ประธานศาลอุทธรณ์เป็นตำแหน่งอันดับสองจ่อคิวประธานศาลฎีกา

จึงเป็นที่เข้าใจว่า ในการประชุม กต. วันที่ ๑๗ ก.ค.นี้ นายศิริชัย วัฒนโยธิน ซึ่งหลุดจากตำแหน่งประธานศาลอุทธรณ์เมื่อ กต. พิจารณาเห็นว่าเขาไม่ควรแก่ตำแหน่งประธานศาลฎีกา เนื่องเพราะมีประวัติความผิดพลาดในรูปคดี จะได้เข้าไปรับตำแหน่งใหม่ ที่ปรึกษาประธานศาลฎีกา เป็นคนแรก


นี่คือการเมืองในแวดวงตุลาการ ที่จะมีผลต่อการวินิจฉัยคดีความอย่างแน่นอน เฉกเช่นที่เห็นเด่นชัดในช่วงสามปีที่ผ่านมา เมื่อการเมืองในประเทศถูกผูกขาดด้วยเผด็จการทหาร นับประสาอะไรกับการปฏิรูปทั้งหลายที่ คสช. และลิ่วล้อกล่าวอ้าง

กระทั่งการปฏิรูปตำรวจซึ่งมีการตั้งคณะกรรมการ ๓๖ คนอันเต็มไปด้วยทหาร และมอบให้อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธานคุมบังเหียน เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักมาตลอดอาทิตย์เพิ่งจะซา

แต่ที่ไหนได้ไฟติดใหม่เมื่อ พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์มติชน ยอมรับว่า “รู้สึกว่าเราไม่คุ้นกับตำรวจ...ผมบอกกับคนที่ชวนว่าผมไม่รู้เรื่องอะไรมาก แต่เขาบอกไม่มีตัวแล้ว”

พล.อ.บุญสร้างยังเล่าความไม่พร้อมด้วยว่า “ผมรู้ตัวล่วงหน้าแค่สองวัน ถูกทาบทามให้ทำหน้าที่ประธาน ไม่มีใครบอกใบ้ล่วงหน้าเลย” เขายังเผยต่อมาว่า “มีสองคนทาบทามในวันเดียวกัน”


การนี้ Thanapol Eawsakul วิจารณ์ว่าเป็น “ความอับจนของการปฏิรูปภายใตัระบอบรัฐประหาร” ในเมื่อ คสช. “ไม่ไว้ใจคนนอก แม้จะมีพวก กปปส. อาสามามาก...แต่ก็ไม่มีใครให้ใช้แล้ว

การไปกระโดดคว้าตัวบุญสร้าง มานั่งประธานปฏิรูปตำรวจคือการซื้อเวลาไปเรื่อย ๆ นึกถึงพวกปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง เห็นอย่างนี้น่าจะกระอักเลือดตาย”

เชื่อว่าพวกนั้นได้เห็นกันตำตาอยู่ แต่ดูเหมือนจะไม่มีใครกระอักอะไร นอกจากความยะโสโอหังทำให้พยายามกลืนเลือดกันอยู่ขณะนี้แล้ว ความหลงตัวไม่ยินดีสำนึกผิด จะทำให้การปฏิรูปแท้จริงไม่มีทางเกิดขึ้น ตราบเท่าที่คณะทหารยังครองอำนาจอยู่ต่อไป