วันเสาร์, พฤษภาคม 21, 2559

จับตารัฐบาล “ช็อปกระจาย” อาวุธค่ายจีน-รัสเซีย จัดหนักทั้งรถถังและเฮลิคอปเตอร์!!!





BY BOURNE
ON MAY 18, 2016

Ispace thailand

เป็นข่าวลือกันมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้วสำหรับการจัดซื้ออาวุธล็อตใหม่ของกองทัพไทย ก่อนจะเป็นที่ชัดเจนโดยการยืนยันจาก พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผบ.ทบ. ว่ากองทัพบกได้เสนอโครงการจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์แบบ Mi-17V5 จากรัสเซีย และรถถังแบบ VT-4 จากประเทศจีนมาใช้งาน โดยอยู่ในขั้นตอนการขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี





“ผมเชื่อมั่นกับราคาคุณภาพและประสิทธิภาพของรถถัง vt-4 ของจีนว่ามีความเหมาะสมโดยผ่านคณะกรรมการของกองทัพบก ผมไม่ได้ดูคนเดียว ซึ่งผมส่งเจ้าหน้าที่ไปดูหลายรอบ ทั้งทหารม้าและทุกๆ ส่วนไปร่วมกันพิจารณา” พล.อ.ธีรชัย กล่าว

กองทัพบกได้เสนอความต้องการ ฮ.แบบ Mi-17V5 ไปทั้งหมด 12 ลำ โดยคาดว่าจะมีการสั่งซื้อเป็นงบผูกพัน 3 ปี ปีละ 4 ลำ ด้านรถถัง VT-4 จากจีนนั้น ยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดจำนวน และราคาที่แน่ชัด แต่มีรายงานจากแหล่งข่าวต่างประเทศว่ากองทัพบกมีการสั่งซื้อรถถัง VT-4 ล็อตแรกจำนวน 28 คัน โดยความต้องการรถถังเพื่อทดแทนรถถังรุ่นเก่าของกองทัพไทยนั้นมีประมาณ 150-200 คัน





สำหรับโครงการจัดซื้อรถถัง VT-4 จากจีนนั้น ถือเป็นการสั่งซื้อรถถังหลักครั้งที่สองในรอบ 5 ปี หลังจากที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้อนุมัติการสั่งซื้อรถถัง T-84 Oplot-M จากประเทศยูเครน จำนวน 49 คัน โดยอนุมัติในวันที่ 3 พฤษภาคม 2554 ภายใต้วงเงินงบประมาณ 7,200 ล้านบาท





แต่ประเทศยูเครนก็ประสบปัญหาส่งมอบรถถังดังกล่าวล่าช้ามาโดยตลอด โดยตามสัญญานั้นระบุว่ายูเครนจะต้องส่งมอบรถถังดังกล่าวจำนวน 5 คันให้ไทยในช่วงต้นปี 2557 อีก 5 คันในช่วงปลายปี และอีก 20 คันภายในปี 2558 แต่จนถึงปัจจุบันยูเครนส่งมอบรถถังให้ไทยได้เพียงแค่ 10 คันแรกในปี 2557 เท่านั้น และยังไม่ได้ส่งมอบต่อเลยแม้แต่คันเดียวจนถึงปัจจุบัน!!!

ด้านรถถัง VT-4 ของจีนนั้น มีการระบุว่าจะสามารถส่งมอบให้ได้ทั้งหมดภายใน 2 ปี หรือภายในปี 2561 แต่นักวิเคราะห์ด้านกลาโหมก็มีการตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพของรถถัง VT-4 ของจีนอยู่พอสมควร โดยรถถัง VT-4 นั้นถือเป็นรถถังที่จีนผลิตและพัฒนาขึ้นภายใต้รถถังต้นแบบของโซเวียตรุ่น T-72 โดยจีนได้นำ T-72 มาพัฒนาและผลิตเป็นรถถังรุ่น Type 99 ก่อนที่จะร่วมมือกับปากีสถาน พัฒนาเป็นรถถังรุ่น MBT-2000 และ VT-4 หรืออีกชื่อหนึ่งคือ MBT-3000 นั่นเอง

ทังนี้รถถัง VT-4 หรือ MBT-3000 นั้นยังไม่มีประเทศไหนที่สั่งซื้อแต่อย่างใด ประเทศไทยคือลูกค้ารายแรก เช่นเดียวกับรถถัง T-84 Oplot-M ที่ปัจจุบันยังส่งมอบไม่ครบ ไทยก็เป็นลูกค้าต่างชาติรายแรกเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าเมื่อปีที่ผ่านมากองทัพปากีสถานได้มีการทดสอบประสิทธิภาพของรถถังทั้ง 2 รุ่นกลางทะเลทราย ผลคือ เครื่องยนต์โอเวอร์ฮีท ทั้งสองรุ่น!!??

ความทันสมัยของรถถัง VT-4 นั้น ภายนอกถือว่ามีการออกแบบป้อมปืนและเกราะที่ดูทันสมัยขึ้น โดยยังคงติดอาวุธปืนใหญ่ขนาด 125 มม. ปืนต่อสู้อากาศยานขนาด 12.7 มม. และปืนกลขนาด 7.62 มม. มีน้ำหนักราว 50 ตัน โดยระบบการยิง ระบบคอมพิวเตอร์ต่างๆน่าจะมีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับ T-90 ของรัสเซียบางรุ่น ซึ่งผู้เชี่ยวชาญยังค่อนข้างให้น้ำหนักกับรถถังรัสเซีย และยูเครนถึงความทันสมัยและเทคโนโลยีมากกว่ารถถังจากจีนซึ่งพัฒนาจากต้นแบบของรัสเซีย

สำหรับประเทศไทยนั้นการซื้อรถถังจากประเทศจีน ไม่ใช่ครั้งแรก หากแต่มีบทเรียนกันมาแล้ว จากรถถัง Type 69IIซึ่งรัฐบาลไทยสั่งซื้อมาในช่วงปี 2530 ซึ่งช่วงเวลานั้นไทยกำลังเผชิญกับภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์เวียดนาม ซึ่งมีความต้องการสถาปนาคอมมิวนิสต์อินโดจีน ในเวลาเดียวกันนั้นจีนซึ่งเป็นคอมมิวนิสต์ต่างขั้วกับเวียดนาม ได้เจริญสัมพันธไมตรีกับไทย และขายรถถังดังกล่าวให้แก่ไทยในราคาที่ถูกมากๆ จำนวนถึง 100 คัน โดยมีการส่งมอบให้ในทันที





โดยรถถัง Type 69II นั้นก็เป็นรถถังที่จีนก็อปปี้มาจากรถถังแบบ T-59 ของโซเวียตอีกทีหนึ่ง และหลังจากที่ได้รับของราคาถูก Made in China มาแล้ว ก็ทำให้กองทัพไทยรู้ว่าของถูกและดีมันไม่ได้มีเสมอไป เพราะรถถังจีนรุ่นดังกล่าวประสบปัญหาการซ่อมบำรุงทั้งเครื่องยนต์ และอะไหล่อย่างมาก ถึงขนาดเคยจอดพังยกกองพันกันมาแล้ว แม้ว่าต่อมาจีนจะมีการซ่อมบำรุงให้โดยไม่คิดมูลค่า ทำให้กลับมาใช้งานได้จำนวนหนึ่ง แต่สุดท้ายก็ต้องปลดประจำการไปอยู่ดี โดยภารกิจสุดท้ายของรถถัง Type 69II ของไทยก็คือ การส่งมอบรถถังดังกล่าวจำนวน 25 คันให้แก่กรมประมงเพื่อใช้ทิ้งลงใต้ทะเลเป็นแนวปะการังเทียม!!!





ในขณะที่รถถัง T-59 ของโซเวียตต้นแบบนั้นมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน แม้จะต้องซ่อมบำรุงแต่ก็ยังมีความพร้อมรบที่สูงกว่า ยกตัวอย่างเช่น รถถัง T-59 ของกัมพูชา ที่ยังคงประจำการและมีความพร้อมรบอยู่ในปัจจุบัน





นอกเหนือจากรถถังและเฮลิคอปเตอร์แล้ว กองทัพอากาศไทยก็ยังมีแผนการจะจัดหาเครื่องบินรบเพิ่มเติม โดยสำนักข่าวซินหัว(Xinhua) รายงานว่ากองทัพอากาศไทยอาจมีการสั่งซื้อเครื่องบินรบแบบ JAS 39 Gripen เพิ่มอีก 4 ลำ ซึ่งเรื่องดังกล่าวได้ถูกปฏิเสธจากคณะทูตสวีเดนประจำประเทศไทย และยังถูกต่อต้านจาก NGO ภายในประเทศของสวีเดนอีกด้วย โดยเฉพาะประเด็นการขายอาวุธให้แก่ประเทศที่ไม่ได้ปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งรายได้จากการขายอาวุธก็คือเงินภาษีจากประชาชน ซึ่งกำลังถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย





อย่างไรก็ตามในขณะนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็กำลังอยู่ในระหว่างการเยือนประเทศรัสเซีย โดยพล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่าการซื้ออาวุธ เป็นหนึ่งในประเด็นที่จะมีการพูดคุยกับรัสเซีย





แน่นอนว่าการซื้ออาวุธให้กับกองทัพเพื่อทดแทนอาวุธเก่าที่เสื่อมสภาพ ย่อมเป็นสิ่งที่มีความจำเป็น แต่ความโปร่งใสตรวจสอบได้ ประสิทธิภาพ ใช้งานได้จริงก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องพิจารณาเช่นกัน นอกจากนี้การใช้งบประมาณเพื่อการซื้ออาวุธในช่วงที่ประเทศกำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจเช่นนี้ ก็ยิ่งต้องพิจาณาถึงความจำเป็นด้วย เพราะภัยที่ประเทศกำลังประสบคือปัญหาเศรษฐกิจ และปากท้องของประชาชน ซึ่งปัญหาดังกล่าวไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยอาวุธ!!!


Reference
http://www.thairath.co.th/content/621634
http://www.thairath.co.th/content/621285
https://en.wikipedia.org/wiki/VT-4_Main_Battle_Tank
https://en.wikipedia.org/wiki/Al-Khalid_tank
http://defence-blog.com/army/royal-thai-army-signed-signed-the-contract-for-norinco-vt-4.html
http://defence-blog.com/news/thailand-may-buy-four-more-saab-gripen-jas-39-multirole-combat-aircrafts.html
http://www.khaosodenglish.com/detail.php?newsid=1463050111
http://www.manager.co.th/IndoChina/ViewNews.aspx?NewsID=9590000049839