วันศุกร์, กุมภาพันธ์ 26, 2559

ทั่นผู้นำประกาศ รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 คือ "รัฐประหารเพื่อการเปลี่ยนผ่าน"





ประกาศ นี่คือรัฐประหารเพื่อการเปลี่ยนผ่าน
.....................

ไม่ต้องอ้อมค้อมอีกต่อไป จากคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรัฐประหาร

รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557
คือ "รัฐประหารเพื่อการเปลี่ยนผ่าน"

ส่วนจะเปลี่ยนผ่านอะไร ไปคิดเอาเอง

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2559 ตั้งใจพาดหัวข่าวหน้า 1 ไว้อย่างตรงประเด็น

‘บิ๊กตู่’กำหนดชัด
เวลา‘ 5 ปี’
ช่วงเปลี่ยนผ่าน!

ในบทเฉพาะกาล-เพื่อการปฏิรูป ทักษิณอัดคสช.อีกดอก‘อ่อนศก.’ จวกรธน.เลวร้ายที่สุดเท่าที่เคยมี

“บิ๊กตู่” แจงเองข้อเสนอ ครม. 16 ข้อต่อร่าง รธน. ระบุ 2 ช่วง เขียนในบท เฉพาะกาล ช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านมีเงื่อนไขต้องเดินตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นกรอบที่ทุกรัฐบาลต้องมีไว้ในสารบบ เพื่อเป็นไกด์ไลน์ไม่ให้หลงทิศ อึ้งอาจมี คปป.กำกับคัดท้ายห้วงเวลาเปลี่ยนผ่าน 5 ปี ถ้าดีขึ้นค่อยๆผ่อนผันสู่กลไกปกติ “มาร์ค” เหน็บเจ็บข้อเสนอ ครม.สะท้อนความไม่มั่นใจสิ่งที่ทำมาเองกับมือ “ทักษิณ” กระแทกอีกดอก อัดรัฐบาล คสช.อ่อนเชิงเศรษฐกิจ ขาดวิสัยทัศน์อัตคัดฝีมือ ยิ่งอยู่ยาวยิ่งเจ๊ง ย้ำไม่เคยซุ่มซ่อนต่อรองกับทหาร เชื่อสักวันได้กลับประเทศแน่ แต่ไม่ขอกลับไปสู้คดีที่ถูกยัดเยียด ถล่มอีก รธน.ฉบับ กรธ. เลวร้ายสุดเท่าที่เคยมีมา “บิ๊กตู่” โต้นิ่มๆ ขอพูดด้วยกฎหมาย พร้อมสั่งเครือข่ายทีมงานอย่าต่อปากต่อคำ ผบ.ทบ.ก็ยักไหล่ไร้เสียงตวาด พรรคเพื่อไทยฉุนกุข่าวเหลวไหล นายใหญ่เคลื่อนไหวต่อรองแลกยึดทรัพย์ ปชป.ดิ้นจี้บัวแก้วแอ็กชั่นแฉมุมมืดกลับคืนบ้าง

สืบเนื่องจากกรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) ส่งข้อเสนอปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญ 16 ข้อ ไปให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และมีการเผยแพร่สู่สาธารณะจนเป็นที่ฮือฮาในประเด็นการใช้รัฐธรรมนูญ 2 ช่วง ถูกตั้งคำถามว่า เป็นประชาธิปไตยครึ่งใบนั้น ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นคนออกมาเฉลยด้วยตัวเอง ถึงความจำเป็นในการกำหนดเงื่อนไขบางอย่างในแต่ละช่วงเวลา เพื่อให้การขับเคลื่อนประเทศในอนาคต เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ คสช.

--“บิ๊กตู่” ชี้เหตุจำเป็นยัดเงื่อนไขใส่ รธน.

เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 2 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) กรณีที่ ครม.ส่งข้อเสนอปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญไปยังคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) โดยประเด็นที่ต้องการให้แบ่งการบังคับใช้รัฐธรรมนูญเป็น 2ขยักว่า ถ้าใช้คำพูดว่าเป็นขยัก อาจจะผิด อาจจะทำให้งง ไม่ใช่มีรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ รัฐธรรมนูญก็คือ รัฐธรรมนูญ ทั้งหมด คือรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ 200 กว่ามาตรา แต่ความหมายตรงนี้คือบทเฉพาะกาล คือถ้าทุกคนคิดว่าจะต้องมีการปฏิรูปในช่วงระยะเวลาแรกที่เปลี่ยนผ่าน ควรจะต้องมีระยะเวลาหรือไม่ บทนั้นบทนี้ยกเว้นเป็นกาลชั่วคราวได้หรือไม่เพื่อให้เกิดการปฏิรูป ไม่อย่างนั้นก็ทำไม่ได้หมด เพราะในรัฐธรรมนูญก็ต้องพูดถึงกระบวนการทั้งหมดเหมือนที่ผ่านมา แล้วมันก็เกิดปัญหา

- ปรับบางอย่างเฉพาะช่วงเวลาหนึ่ง

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ในช่วงแรกจะสร้างความเข้าใจว่าวาระประเทศชาติจะมั่นคงแข็งแรงภายในรัฐบาลหน้า โดยช่วงนี้ต้องปรับวิธีการบริหารราชการ แต่ไม่ได้ปรับทั้งหมด เช่น เรื่อง ส.ว.จำเป็นหรือไม่เพื่อให้เกิดการคานอำนาจในช่วงนี้ เรื่องยุทธ-ศาสตร์ชาติ 20 ปี 6 ยุทธศาสตร์ ด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน การบริหารทรัพยากรมนุษย์ มันสั่งไม่ได้ อันนี้ เป็นกรอบงานกว้างๆ ส่วนการจะไปทำอย่างไรเพื่อให้ลงไปสู่วิธีการปฏิบัติ โดยเฉพาะการนำเข้าไปอยู่ในแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 5ปีก็มีอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่ได้ทำตามนั้นกัน ต่อไปเป็นเรื่องแผนการปฏิรูป 5 ปีก็ไม่ได้เขียนว่าจะต้องทำนั่นทำนี่

- -ทุกรัฐบาลเดินตามยุทธศาสตร์ 20 ปี

นายกฯกล่าวอีกว่า วันนี้เรามองระยะยาวให้ 20 ปี แผนปฏิรูปครั้งละ 5 ปี แต่ทั้งหมดนั้นเป็นเรื่องของรัฐบาลหน้าจะทำอย่างไรก็ทำไป แต่ต้องทำตามนี้ด้วยส่วนหนึ่งนอกจากนโยบายพรรค เพราะบางทีไม่มีไกด์ ตรงนี้ก็เดินไปซ้ายขวาแล้วแต่สถานการณ์ทางการเมือง และการต่อสู้ทางการเมืองก็วุ่นไปหมด

- -แย้มอาจตั้งคณะกรรมการกำกับ

“ถ้าเดิน 2 ทางเพื่อให้ประเทศเดินไปข้างหน้า การเมืองก็เดินคู่ขนานกันไป แต่ถามว่า มันต้องมีมาตรการอะไรหรือไม่ ก็ต้องมีเพื่อที่จะควบคุมให้ตรงนั้นเป็นไปตามนี้ ซึ่งก็มีหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นคณะอะไรขึ้นมาใหม่หรือจะเป็น ส.ว.หรือใครก็แล้วแต่ ซึ่งทั้งหมดนี้คือกลไกที่จะประเมินเท่านั้นเอง ถ้ามันไม่ได้ขึ้นมาทั้ง 2 สภาก็คุยกัน จะเป็นไปได้หรือไม่ เปิดอภิปรายกันได้หรือไม่ว่าทำไมรัฐบาลไม่ทำแล้วจะแก้ไขกันอย่างไร ก็เป็นเรื่องที่จะต้องตกลงกัน ถ้าได้ก็ได้ไม่ได้ก็ต้องมีคนตัดสินจะไปศาลรัฐธรรมนูญได้หรือเปล่า ตนก็ไม่รู้เข้าใจหรือยัง มันไม่ใช่ 2 ขยัก 3 ขยักหรอก ขยักเดียวนั่นแหละเพียงแต่ช่วงนี้จะยกเว้นบางส่วนก่อนได้หรือไม่ เมื่อถึงเวลาสถานการณ์ปกติก็กลับมาทั้งหมดจะกลับเข้าที่เดิมหมด ส.ว.ก็เลือกตั้งใหม่ทั้งหมดก็ได้ เพียงแต่รัฐบาลหน้ามันต้องเกิดความมั่นใจให้เรา ไม่ใช่เพื่อตนแต่เพื่อทุกคนเข้าใจหรือยัง” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

- -ประกาศห้วงเวลาเปลี่ยนผ่าน 5 ปี

ผู้สื่อข่าวถามว่า หลังการเลือกตั้งรัฐบาลนี้จะยังอยู่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ตอบว่า หลังเลือกตั้ง ตนจะอยู่ได้อย่างไร ก็ไม่รู้เป็นเรื่องที่จะต้องไปพิจารณามา คิดว่าตนก็ทำไว้ให้เยอะแล้ว ไปคิดกันมาบ้าง ช่วงเปลี่ยนผ่านก็ภายใน 5 ปี ถ้ามันดีขึ้นทุกปีๆก็ผ่อนผันลดลงไปเข้ากลไกปกติ ทำไปตามที่เราวางไว้ไม่เห็นจะยาก ถ้ามันดีและถ้าเขียนไว้ในบทเฉพาะกาล จะง่ายกว่าตรงที่จะกลับมาเป็นปกติ เมื่อสถานการณ์พร้อม แต่ถ้าใส่ในรัฐธรรมนูญก็ลำบาก นี่แสดงให้เห็นถึงความจริงใจของตน

- ให้อยู่ต่อหรือไปช่วยคิดด้วย

เมื่อถามอีกว่า ขอความชัดเจนว่าในช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน 4-5 ปีนั้น หมายถึง คสช.จะยังอยู่ใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ตอบว่า ตนจะอยู่ไปทำไม จะมีวิธีการอื่น แต่หากอยู่ด้วยกลไกปกติก็อยู่ไป ถึงได้บอกว่าจะมีคณะ จะไม่มีหรือจะมีวิธีการไหนก็ไปว่ามา ไม่ใช่ว่าตนจะต้องอยู่หรือไม่อยู่ ไม่ต้องมายุ่งสนใจมากนัก ตนมีหน้าที่ทำให้บ้านเมืองสงบเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้ง ก็คิดกันต่อจะเอาอย่างไร และอย่ามาโทษตน ว่าทำไม่เรียบร้อยไม่สำเร็จอย่ามาโทษแบบนั้น อยากให้เป็นอย่างไรอยู่ที่ท่านกำหนดของท่านเองทั้งนั้น

อ่านทั้งหมด

http://www.thairath.co.th/content/581515

ที่มา
Thanapol Eawsakul



ooo

‘จาตุรนต์’ ชี้ ช่วงเปลี่ยนผ่าน5ปี ของ ‘บิ๊กตู่’ จะพาประเทศไทยถอยหลัง40ปี



ที่มา มติชนออนไลน์
25 ก.พ. 59

นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี แสดงความคิดเห็นกรณีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าประเทศน่าจะมีกลไกรับมือกับวิกฤติช่วงเปลี่ยนผ่านเป็นเวลา 5 ปีนั้น

นายจาตุรนต์ระบุว่า ติดตามข่าวพล.อ.ประยุทธ์พูดถึงการเปลี่ยนผ่าน 5 ปีแล้ว ทำให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นว่า คสช.และพล.อ.ประยุทธ์ต้องการอะไร

พล.อ.ประยุทธ์บอกว่าให้มองแผนระยะยาว 20 ปี แผนปฏิรูปครั้งละ 5 ปี ต้องมีไกด์ตรงนี้ แต่ถามว่าต้องมีมาตรการอะไรหรือไม่ มันก็ต้องมีและต้องมีอะไรซักอย่างควบคุมให้ตรงนั้นเป็นไปตามนี้ ซึ่งมีหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นคณะอะไรขึ้นมาใหม่หรือจะเป็นส.ว.หรือใครก็แล้วแต่ ทั้งหมดนี้ คือกลไกที่จะประเมินเท่านั้นเอง

พล.อ.ประยุทธ์บอกต่อว่าถ้าไม่ได้ขึ้นมาทั้งสองสภาก็คุยกัน จะเป็นไปได้หรือไม่ โดยการเปิดอภิปรายกันได้หรือไม่ว่าทำไมรัฐบาลไม่ทำนี่ทำนู่น แล้วจะแก้ไขกันอย่างไร เป็นเรื่องที่จะต้องตกลงกัน ถ้าได้ก็ได้ ไม่ได้ก็ต้องมีคนตัดสิน จะไปศาลรัฐธรรมนูญได้หรือเปล่าก็ไม่รู้…ช่วงนี้จะยกเว้นบางส่วนก่อนได้หรือไม่ ถึงเวลาสถานการณ์ปกติกลับมา ทั้งหมดจะกลับเข้าที่เดิมหมด ส.ว.ก็เลือกตั้งใหม่ทั้งหมดก็ได้ เพียงแต่รัฐบาลหน้าต้องเกิดความมั่นใจให้เรา

พล.อ.ประยุทธ์ปฏิเสธว่าไม่ใช่สองขยัก แต่ความจริงแล้วพล.อ.ประยุทธ์ได้อธิบายให้เป็นที่เข้าใจกันอย่างชัดเจนว่าที่ว่า 2 ขยักนั้นแปลว่าอย่างไร ฟังทั้งหมดแล้วก็ทำให้นึกถึงรัฐธรรมนูญฉบับปี 2521 ที่เคยทำแบบ 2 ขยักมาแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับนั้น มีเนื้อหาที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอยู่แล้ว เช่น ให้คนนอกเป็นนายกรัฐมนตรีได้และส.ว.มาจากการแต่งตั้งทั้งหมด แต่ก็ห้ามไม่ให้ข้าราชการประจำเป็นรัฐมนตรีและให้ส.ว.มีอำนาจอย่างจำกัด เหมือนกับว่าเมื่อประชาชนไปเลือกตั้งแล้วจะสามารถเลือกรัฐบาลตามที่ต้องการได้

แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าในมาตราท้ายๆ ของรัฐธรรมนูญฉบับนั้น ได้บัญญัติสาระที่แตกต่างอย่างสำคัญ จากที่บัญญัติไว้ในตอนต้น คล้ายกับเป็นบทเฉพาะกาลโดยให้ใช้ไปเป็นเวลา 4 ปีนับตั้งแต่วันที่มีการแต่งตั้งสมาชิกที่วุฒิสภาซึ่งก็คือ วันเดียวกับวันที่มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั่นเอง

เนื้อหาสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับระยะเปลี่ยนผ่าน 4 ปีนั้น ก็คือ การกำหนดให้ข้าราชการประจำเป็นรัฐมนตรีได้ สมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งทั้งหมดนั้นมีอำนาจที่จะประชุมร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในการพิจารณากฎหมายสำคัญสำคัญเช่น ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี ร่างพระราชบัญญัติสำคัญอื่นๆ รวมทั้งร่างพระราชกำหนดและยังสามารถร่วมประชุมในญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ด้วย

การกำหนดไว้อย่างนี้ก็เท่ากับทำให้ส.ว.ซึ่งมาจากการแต่งตั้ง โดยนายกรัฐมนตรีเป็นผู้กำหนด ‘ความเป็นความตาย’ ของรัฐบาล หรือพูดง่ายๆ ใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีได้ย่อมขึ้นกับวุฒิสภานั่นเอง

รัฐธรรมนูญฉบับปี 2521 มีผลตามที่มีการออกแบบไว้ คือ ทำให้ผู้ที่ได้รับการสนับสนุนจากวุฒิสภาได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อเนื่องกันมาอีกมากกว่า 4 ปี ตามที่บัญญัติไว้ เพราะก่อนจะครบกำหนด 4 ปีก็มีการยุบสภาเสียก่อน ทำให้กติกาในการเลือกตั้งและอำนาจของวุฒิสภาที่มีผลต่อการตั้งรัฐบาลยังคงใช้บังคับอยู่
นี่เอง คือ ระบบที่เรียกกันว่า ‘ประชาธิปไตยครึ่งใบ’

ความจริงระบบอย่างนั้นไม่ควรเรียกว่าประชาธิปไตยครึ่งใบด้วยซ้ำ เพราะมีความเป็นเผด็จการอยู่มาก แต่สาเหตุที่ระบบอย่างนั้นสามารถดำรงอยู่ได้เป็นเวลานานโดยไม่มีการต่อต้านคัดค้านที่รุนแรงเท่าใดนัก เป็นเพราะสังคมไทยในด้านหนึ่ง เพิ่งผ่านการเผชิญกับความคิดที่จะปกครองแบบเผด็จการสุดโต่งเป็นเวลานานถึง 12 ปี อีกด้านหนึ่งก็เพิ่งผ่านความขัดแย้งรุนแรงของคนในชาติ และอยู่ท่ามกลางความหวาดกลัวว่าประเทศไทยจะล้มไปตามทฤษฎีโดมิโนด้วย

แต่ถึงกระนั้น ‘ระบบประชาธิปไตยครึ่งใบ’ ก็ไม่อาจอยู่ยงคงกระพันตลอดไป ในที่สุดประเทศไทยก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงความเป็นประชาธิปไตยโดยเฉพาะระบบรัฐสภาและบทบาทของพรรคการเมืองไปได้ เมื่อนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งในเวลาต่อมาถูกรัฐประหาร รัฐบาลที่สืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร ก็ถูกประชาชนต่อต้านคัดค้าน จนในที่สุดบ้านเมืองก็ต้องเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และพัฒนาต่อเนื่องมาอีกเป็นเวลานานหลายปี

จากปี 2521 ถึงวันนี้ โลกได้เปลี่ยนไปมากแล้ว สังคมไทยเองก็มีพัฒนาการมามาก ไม่น่าเชื่อว่าจะมีคนพยายามทำให้ประเทศต้องถอยหลังไปเกือบครึ่งศตวรรษ
แต่ก็อย่าแปลกใจ ถ้าคณะกรรมการร่างชุดปัจจุบันจะไปเปิดกรุเอาแนวความคิดที่เคยใช้กันเมื่อ 40 ปีก่อน มาใช้อีกครั้งหนึ่ง เพราะผู้ที่เข้าใจกระบวนการที่ทำให้เกิดรัฐธรรมนูญระยะเปลี่ยนผ่าน ที่ละเอียดลึกซึ้งที่สุดคนหนึ่ง ก็คือ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญคนปัจจุบัน เนื่องจากท่านเป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2521 มากับมือ ทั้งยังเป็นผู้ได้ประโยชน์โดยตรงจากรัฐธรรมนูญช่วงเปลี่ยนผ่านนั้นมากที่สุดคนหนึ่งด้วย

มาวันนี้ เป็นข่าวว่า ท่านประธานคนเดียวกับที่ถามท่านรองวิษณุ ‘บังคับใช้รัฐธรรมนูญเป็น 2 ช่วงเวลา ทำยังไง’ มาจับเข่านั่งคุยกัน 2 ชั่วโมง จนเข้าใจตรงกัน
เพื่อพาประเทศ ‘ถอยหลัง’ ไป 40 ปี ???