วันพุธ, กันยายน 30, 2558

วิสัยทัศน์พอเพียง... ประยุทธ์เน้นหารือทวีภาคีประเทศไร้ชื่อเสียงขนาดเล็ก (บีบีซีไทย)




ที่มา 
บีบีซีไทย - BBC Thai

ประยุทธ์เน้นหารือทวีภาคีประเทศไร้ชื่อเสียงขนาดเล็ก

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทยใช้เวลาส่วนหนึ่งระหว่างการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติในการพบปะหารือแบบทวิภาคีกับประเทศที่มีขนาดเล็กและไม่เป็นที่รู้จักในประเทศไทยเป็นส่วนใหญ่ โดยมีเป้าหมายสำคัญในการขอเสียงสนับสนุนการสมัครเข้าเป็นสมาชิกแบบไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ

พลเอกประยุทธ์ได้พบกับแกสตัน บราวน์ นายกรัฐมนตรีแอนติกาและบาร์บูดา ในช่วงก่อนอาหารกลางวันของวันที่ 27 กันยายน ที่ห้องล็อบบี้ของอาคารสำนักงานองค์การสหประชาชาติ การหารือเป็นเวลา 20 นาทีเป็นไปในลักษณะการแนะนำตัวและแจ้งให้ทราบว่าประเทศไทยกำลังสมัครชิงตำแหน่งในคณะมนตรีความมั่นคง

แอนติกาและบาร์บูดา เป็นชื่อประเทศเดียวที่มีเกาะสองเกาะและหมู่เกาะอีกจำนวนหนึ่ง ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ซึ่งทะเลแคริบเบียนและมหาสมุทรแอตแลนติกมาเจอกัน มีพื้นที่ 440 ตารางกิโลเมตร มีประชากร 90,000 คนเศษ ๆ เคยเป็นประเทศในอาณานิคมอังกฤษ ได้รับเอกราชเมื่อปี พ.ศ. 2524 การปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบมีพระราชินีเป็นประมุข

ในวันที่ 28 กันยายน พลเอกประยุทธ์ได้พบปะหารือทวิภาคีกับโจเซเอีย โวเรเก ไบนิมารามา หรือที่รู้จักกันดีในนาม แฟรงค์ ไบนิมารามา นายกรัฐมนตรีฟิจิ ที่ห้องล็อบบี้อาคารสำนักงานใหญ่สหประชาชาติเป็นเวลา 20 นาที ซึ่งการหารือเป็นไปในลักษณะของการแนะนำตัวและทำความรู้จักกันเช่นกัน

ฟิจิเป็นประเทศหมู่เกาะในแปซิฟิกใต้ เป็นประเทศที่ทำรัฐประหารบ่อยและเป็นที่รู้จักในหมู่คนไทยเพราะการรัฐประหารในปี 2549 นั้นเกิดขึ้นหลังจากประเทศไทยเพียง 2 เดือนเศษ ๆ เท่านั้น จากนั้นคณะทหารของ ไบนิมารามา ใช้เวลาร่างรัฐธรรมนูญซึ่งถูกยกเลิกในปี 2552 จนกระทั่งปี 2556 จึงได้ประกาศใช้ก่อนที่จะจัดการเลือกตั้งในเดือนกันยายนปี 2557 โดยพรรคของไบนิมารามา ชนะการเลือกตั้งเขาดำรง
ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาจนปัจจุบันและมีโอกาสได้พบกับพลเอกประยุทธ์ซึ่งเป็นผู้นำการยึดอำนาจในประเทศไทยระหว่างการประชุมสหประชาชาติในปีนี้

ในตอนเย็นของวันที่ 28 กันยายน พลเอกประยุทธ์ได้พบกับมิลอช เซมัน ประธานาธิบดีสาธารณรัฐเช็ก ที่ห้องล็อบบี้ในอาคารสหประชาชาติเป็นเวลา 20 นาที ก่อนจะได้หารือกับเอมอมาลี เราะห์มาน ประธานาธิบดี ทาจิกิสถาน ในห้องเดิมในเวลาถัดกันมาเป็นเวลา 20 นาทีเช่นกัน

สาธารณรัฐเช็กเป็นประเทศอดีตสังคมนิยมในยุโรปตะวันออกส่วนทาจิสถานนั้นเป็นประเทศในเอเชียกลางมีพรมแดนติดอัฟกานิสถานและจีน

เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศอธิบายว่า แม้ว่าประเทศเหล่านั้นจะเป็นประเทศเล็กและไม่เป็นที่รู้จักหรือมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจการเมืองร่วมกับไทยมากนัก แต่ในฐานะสมาชิกสหประชาชาติประเทศเหล่านั้นมี 1 คะแนนเสียงเท่ากัน การที่นายกรัฐมนตรีของไทยขอพบปะหาหรือกับผู้นำประเทศเหล่านั้นย่อมสร้างความประทับใจแก่พวกเขาที่ได้รับเกียรติและทำให้ประเทศเหล่านั้นรู้จักและเข้าใจประเทศไทยมากขึ้น

ประเทศไทยสมัครเข้าชิงตำแหน่งว่างของสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติในห้วงปี 2560-2561 การเข้าสู่ตำแหน่งนี้ใช้วิธีเลือกตั้งโดยการลงคะแนนของประเทศสมาชิก คาดกว่าการลงคะแนนจะเกิดขึ้นในกลางปีหน้า

อย่างไรก็ตาม พลเอกประยุทธ์ได้พบปะหารือกับผู้นำของประเทศสำคัญอยู่บ้างคือ พบปะริมระเบียง (corridor meeting) กับประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ที่บริเวณห้องประชุม 6 ในอาคารที่ประชุมสมัชชาใหญ่เป็นเวลาประมาณ 20 นาทีเช่นกัน เจ้าหน้าที่รัฐบาลไม่เปิดเผยเนื้อหาการหารือของผู้นำทั้งสอง เพียงแต่กล่าวว่า การประชุมมีเนื้อหาสาระพอสมควร #UN70 #UNGA

(ภาพจากสำนักโฆษก)

ความเห็นบางส่วน...

วิสัยทัศนของนายกไทย มองข้ามกลุมEu และเมกามองหาประเทศที่ไม่มีใครรู้จัก อีกหน่อยจะไปดาวอังคารละมั้ง

ฮาๆๆๆ สมัครเข้าสู่ตำแหน่งสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UN) "โดยการเลือกตั้ง" นะจ๊ะโยมมมม

ทำไมอ่านข่าว BBC แล้ว การใช้ภาษามันดูเอียงๆ ไม่กลางเท่าไหร่เลย ประเทศไร้ชื่อเสียงขนาดเล็กอย่างงี้ การประชุมมีเนื้อหาสาระพอสมควร อย่างงี้ อ่านเนื้อข่าวก็ดูกระแนะกระแหน ยังไงไม่รู้

ในเมื่อสังคมโลกเขาไม่อยากคบกับรัฐบาลที่มาจากรัฐประหารก็ต้องยอมรับสภาพโดดเดี่ยวหาเพื่อนยากแบบนี้แหละ

ปอดแหก ใจไม่กล้า ภาษาไม่แข็งแรง หาที่ยืนลำบาก ไม่แปลกหลอกที่จะไปคุยกับประเทศเล็กๆพูดชื่อมาประเทศแรกผมยังไม่รู้จักเลย แกะดำ หลงยุคหลงสมัย รีบกลับมาเป็นราชาในกะลาดีกว่า อยู่ข้างนอกก้อเหมือนมดปลวก อายเค้า

เลือกตั้งจะสู้เค้าได้รึ เอาปืนไปบังคับเค้าง่ายกว่าไหม

ประเทศใหญ่ คุยกับเขาไม่รู้เรื่อง และเขาไม่ลดตัวลงมาคุยให้เสียเวลา 555

ถ้าอ่านข่าว bbc แล้วมันไม่ระรื่นหู แนะนำกลับไปในกะลาฟัง อ่าน แต่ข่าวเนชั่น เอเอสทีวีเหมือนเดิมนะ จะไม่ไม่สติแตกตาย เข้าใจว่าออกนอกกะลามาแล้วมันใจสั่นก็กลับไปได้นะ เห็นใจๆ

จะไปเอาเสียงจากกลุ่ม EU ก็คงไม่ง่ายอยู่แล้ว เหตุผลก็รู้ๆ กันอยู่ มาหาเสียงจากประเทศเล็กๆ บนเงื่อนไข 1 เสียงเท่ากัน ผมว่าคุ้มกว่าเยอะ ส่วนพวก 5 บิ๊กของ มนตรีความมั่นคง จีน รัสเซีย ก็เอียงมาทางเรา คิดว่าลุงตู่ เลือกถูกทางละ