วันจันทร์, มิถุนายน 22, 2558

เนติวิทย์ เผย ไม่เข้าพิธีไหว้ครู ไม่ใช่ไม่รักครู แต่เพราะ…?



ที่มา MThai News

นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ผู้ร่วมขับเคลื่อนเครือข่ายสมาพันธ์นักเรียนไทยเพื่อการปฏิวัติระบบการศึกษาไทย ได้โพสต์ข้อความวิพากษ์วิจารณ์พิธีไหว้ครู โดยระบุว่า ครูอยู่ในฐานะมนุษย์ และก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีการผิดพลาด (ครูได้เคยคิดหรือไม่ การที่ครูชอบอ้างบ่อยๆ ว่าตนสอนนักเรียนคนนั้นคนนี้จนได้ดี ก็ยังมีอีกหลายคนที่เกลียดโรงเรียน และไม่ชอบวิชาความรู้ไปตลอดทั้งชีวิตเพราะมาจากครูเช่นกัน)

การมาสร้างครูให้เป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ด้วยพิธีกรรมต่างๆ นั้นยังสมควรต่อไปหรือไม่ ทำไมไม่ให้วันครู เป็นวันที่ครูจะสัญญาว่า ครูจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ครูก็เป็นมนุษย์เสมอนักเรียนที่ต้องเรียนรู้ไปพร้อมกัน เติบโตไปพร้อมกัน ฟังเสียงคำวิพากษ์วิจารณ์แล้วปรับปรุง

วันไหว้ครูปีนี้ ตนไม่มาโรงเรียน ที่ไม่มาไม่ใช่ไม่รักครู แต่มีเหตุผลการที่รักใครคนหนึ่ง ไม่ต้องไปหมอบคลาน เราหยอกล้อพูดคุยกันสนุกๆ กันได้ตรงไปตรงมา ครูกับนักเรียนเป็นเสมือนมนุษย์ที่มีผิดมีถูกเรียนรู้ไปด้วยกัน แต่พิธีกรรมดังกล่าวทำลายความสัมพันธ์ของคนสองคนให้ยกอีกคนสูงกว่าอีกคน (ทั้งยังบังคับด้วย)

ตนไม่เคยเห็นพิธีกรรมไหว้ครูที่ครูขอโทษนักเรียนว่าตนได้ทำผิดพลาดอะไรไปบ้างและขอให้นักเรียนให้อภัย หรือเป็นการเปิดใจครูต่อนักเรียน ไม่มีที่พิธีกรรมดังกล่าวจะสร้างความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน

“เราต้องการรักแบบกลัวๆ รักแบบสยบยอมหรือ ถ้าเป็นอย่างนั้นผมไม่ทำ ผมรักครูได้โดยที่ผมเท่ากับครู เรียนรู้แบบคนเสมอกัน”

ooo



ศาสดา

วันนี้ผมจะมาชวนคิดเรื่อง
.
"เนติวิทย์ ประกาศไม่เข้าไหว้ครู"
.
แน่นอนที่สุด ไม่ได้ชวนคิดว่า ดี-เลว/ผิด-ถูก
แต่ผมคิดว่าสิ่งที่น่าสนใจของเรื่องนี้
คือ การปะทะกันระหว่างค่านิยม 2 ชุด
.
ค่านิยมแรก คือ ค่านิยมแบบอดีตที่ผูกพันธ์กับระบบอุปถัมภ์
กรอบความคิดนี้ เริ่มต้นมาจากฐานคิดที่ว่า ตัวคุณไม่มีอะไรเป็นของตัวเอง
ทุกอย่างเกิดขึ้นเพราะมี "ผู้ให้" ตั้งแต่ให้ที่อยู่อาศัย ให้อาชีพ ให้ความรู้
ให้โอกาส ให้ความสะดวกสบาย คุณก็เป็นเพียงแต่ "ผู้รับ" เท่านั้น
ในระบบแบบนี้ ทุกอย่างที่อยู่รอบตัวคุณจึงมี "บุญคุณ" กับคุณแทบทั้งสิ้น
ไม่ว่าจะแผ่นดิน นายจ้าง ครูอาจารย์ หรือแม้แต่ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ
ฉะนั้นอย่าแปลกใจที่ในระบบนี้เราจะเจอวลีหรือคำพูด"ทวงบุญคุณ"อยู่ร่ำไป
.
ในขณะที่ค่านิยมอีกชุดหนึ่ง เป็นค่านิยมสมัยใหม่ จะเรียกว่าแบบฝรั่งก็ได้
ค่านิยมชุดนี้ มาพร้อมกับความคิดเรื่อง "ความเท่าเทียมกัน/คนเท่ากัน"
ทุกคนในสังคมนั้น สัมพันธ์กันบนฐานของผลประโยชน์แทบทั้งสิ้น
และไม่ได้มีเรื่อง "บุญคุณ" เข้ามาเกี่ยวข้องแต่อย่างใด
ในกรอบคิดแบบนี้คนที่เป็นครู "ครู" ไม่ได้อยู่ในฐานะของ "ผู้ให้"
แต่เป็นคนที่ทำหน้าที่สอนหนังสือแลกกับเงินเดือนเพื่อยังชีพ
เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่รัฐ/ตำรวจ/ทหาร ก็ประกอบอาชีพแลกกับเงินเดือน
ไม่ใช่เรื่องความเสียสละ และไม่สามารถอ้างบุญคุณกับเราได้แต่อย่างใด
.
ผมไม่ได้บอกว่าค่านิยมแบบไหนถูกต้อง หรือ ค่านิยมแบบไหนดีกว่ากัน
แต่แค่อยากชวนให้มองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นโดยเข้าในฐานคิดเบื้องหลัง
ทั้งของคนที่สนับสนุน และ คัดค้าน การทำความเข้าใจประเด็นเหล่านี้
ในที่สุดแล้วคุณจะไม่ใช่แค่เข้าใจเรื่องที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าเท่านั้น
แต่คุณจะเห็นเลยว่าสิ่งที่ Drive สังคมเราลึกๆมันคือกรอบคิดแบบไหน
และเวลาคนๆหนึ่งพูดอะไรออกมา เขาคิดเขาเชื่ออยู่บนฐานคิดแบบใด
.
เชื่อว่าในอนาคต สังคมคงจะเดินไปสู่กรอบคิดแบบที่สองมากขึ้น
(ในหลายๆสังคมก็เป็นกัน) เพราะฐานคิดเรื่องความเท่าเทียมขยายตัว
.
ส่วนจะดีหรือไม่ ผมไม่รู้ มันก็อยู่ที่ว่าคุณเป็นใคร หรือมองตัวเองเป็นใคร
ถ้าคุณเป็นชนชั้นนำ หรือเป็นผู้ที่ได้ประโยชน์จากระบบ คุณคงชอบแบบแรก
เพราะมันเป็นโอกาสให้คุณได้เก็บเกี่ยว advantages/benefits ได้ง่ายๆ
แต่ถ้าคุณเป็นคนตัวเล็กตัวน้อย เป็นผู้ที่ไม่มีส่วนได้เสียอะไรในเกมอำนาจ
คุณก็คงชอบแบบที่สองมากกว่า เพราะมันทำให้คุณ"จ่าย"ให้ระบบน้อยกว่า
.
ลองสังเกตดูนะว่าสังคมไทยชอบปลูกฝังค่านิยมแบบแรก ผ่านสื่อต่างๆมากๆ นั่นก็เพราะมันง่ายที่พวกเขาจะได้เก็บเกี่ยวผลประโยชน์ และเรียกร้องให้คนตัวเล็กตัวน้อยต้องเสียสละ
.
อ่านมาถึงตรงนี้ เห็นแล้วรึยังว่า ถ้าคุณใช้แค่กรอบคิด ดี-ชั่ว แบบละครหลังข่าวเข้าไปตัดสิน ไปรุมด่า รุมเชียร์ แบบไม่ลองคิดกับมันดีๆ คุณจะไม่เห็นความซับซ้อนอะไรของสังคมนี้เลย
.
ชีวิต มนุษย์ และโลก มันไม่ได้ซิมเปิ้ลขนาดนั้น
.
ศาสดา