วันอังคาร, มิถุนายน 23, 2558

“ชะตากรรม” พลเรือนในศาลทหารต่างจังหวัด



ที่มา เวป Thai Lawyers for Human Rights
21/06/2015

ศาลทหารในต่างจังหวัดไม่เหมือนศาลทหารในกรุงเทพฯ…

ศาลทหารกรุงเทพนั้น ตั้งอยู่ข้างกระทรวงกลาโหม เป็นอาคารเดี่ยวแยกต่างหากจากอาคารอื่น ขณะที่ศาลทหารในต่างจังหวัดทุกศาลตั้งอยู่ภายในค่ายทหารที่กระจายอยู่ในจังหวัดต่างๆ

ศาลทหารกรุงเทพมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาได้ทุกบทกฎหมาย ในภาวะปกติสามารถพิจารณาคดีที่มีจำเลยเป็นทหารได้โดยไม่จำกัดยศของจำเลย

ขณะที่ศาลทหารในต่างจังหวัด แยกเป็นสองประเภท หนึ่ง คือ “ศาลจังหวัดทหาร” เป็นศาลทหารที่มีอำนาจพิพากษาคดีน้อยกว่าศาลทหารชั้นต้นประเภทอื่นๆ โดยไม่สามารถพิจารณาคดีที่จำเลยเป็นนายทหารชั้นสัญญาบัตรขึ้นไปได้ ศาลทหารประเภทนี้พอเทียบเคียงได้กับศาลแขวงของพลเรือน

สอง คือ “ศาลมณฑลทหาร” มีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีมากกว่าศาลจังหวัดทหาร คือพิจารณาคดีที่จำเลยเป็นนายทหารชั้นสัญญาบัตรได้ แต่ไม่สามารถพิจารณาคดีที่จำเลยเป็นชั้นนายพล หรือเทียบเท่าได้ พอเทียบเคียงได้กับศาลจังหวัดของพลเรือน ศาลทหารประเภทนี้จึงตั้งอยู่ในจังหวัดที่มีขนาดใหญ่กว่าจังหวัดที่ศาลจังหวัดทหารตั้งอยู่ แต่ศาลทั้งสองประเภทก็ถูกใช้พิจารณาคดีพลเรือนเช่นเดียวกันในปัจจุบัน

ตามข้อมูลที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนตรวจสอบ พบว่าในภูมิภาคต่างๆ มีจำนวนศาลมณฑลทหารจำนวน 13 ศาล และศาลจังหวัดทหารจำนวน 16 ศาล (ศาลจังหวัดทหารยังเปิดทำการไม่ครบทุกศาลตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตอำนาจศาลจังหวัดทหารและศาลมณฑลทหาร) ทำให้เมื่อรวมกับศาลทหารกรุงเทพ ปัจจุบันศาลทหารชั้นต้นทั่วประเทศมีจำนวนทั้งหมด 30 ศาล

อาคารศาลทหารในต่างจังหวัดมีลักษณะและโครงสร้างคล้ายกันหมดทุกศาล คือเป็นอาคารสองชั้นขนาดไม่ใหญ่นัก ชั้นล่างเป็นโถงกว้างๆ มีบันไดทางขึ้นไปยังชั้นสองตั้งอยู่ตรงกลางโถง ปีกด้านซ้ายมือเป็นห้องที่ทำการของจ่าศาลและเจ้าหน้าที่ศาล ห้องทำงานของอัยการทหาร ห้องน้ำ พร้อมม้านั่งยาวสำหรับผู้มาติดต่อศาล ปีกด้านขวามือมีห้องรับรองสำหรับทนายหรือผู้มาติดต่อ ห้องขังสำหรับผู้ต้องหาที่ถูกนำตัวมาจากเรือนจำ และม้านั่งสำหรับนั่งรอ บริเวณโถงยังมีบอร์ดกำหนดนัดคดีความ ซึ่งยังใช้ระบบเขียนด้วยปากกาไวท์บอร์ดอยู่ ส่วนชั้นบนเป็นห้องพิจารณาคดี และห้องพักของตุลาการศาลทหาร




โดยปกติในศาลทหารต่างจังหวัด คู่ความจะไม่ได้ขึ้นไปรอตุลาการขึ้นนั่งบัลลังก์ในห้องพิจารณาคดีเหมือนศาลพลเรือน แต่ต้องนั่งรออยู่ในโถงด้านล่าง จนเมื่อองค์คณะศาลและคู่ความทั้งสองฝ่ายพร้อมแล้ว เจ้าหน้าที่ศาลจึงจะเชิญขึ้นไปยังห้องพิจารณาด้านบน

ในบางนัดคดี สารวัตรทหารที่ดูแลบริเวณอาคารศาลยังมีการขอบัตรประจำตัวประชาชนไปจดชื่อผู้ที่ต้องการขึ้นไปยังห้องพิจารณาด้านบนด้วย รวมทั้งมีการตรวจสิ่งของในกระเป๋าในบางครั้ง ส่วนคดีที่มีการพิจารณาเป็นการลับ ญาติผู้ต้องหาหรือประชาชนทั่วไปก็ไม่สามารถขึ้นไปยังห้องพิจารณาด้านบนได้

การเข้าถึงกระบวนการในศาลทหารต่างจังหวัดยังเป็นปัญหาสำคัญ ศาลทหารในกรุงเทพเข้าออกตัวอาคารศาลได้ทันที แต่ศาลทหารต่างจังหวัดต้องเข้าออกค่ายทหารเพื่อไปยังศาลอีกชั้นหนึ่ง ก่อนเข้าไปยังค่ายทหาร เจ้าหน้าที่ทหารที่ทางเข้าค่ายก็มักจะสอบถามว่ามีธุระอะไร รวมถึงให้มีการแลกบัตรประจำตัวประชาชนเอาไว้ด้วย พื้นที่ศาลทหารจึงกลายเป็นพื้นที่ค่อนข้างปิดต่อสาธารณชนอย่างมาก

ในช่วงแรกๆ ภายหลังรัฐประหาร เมื่อเริ่มมีคดีของพลเรือนขึ้นสู่ศาล เห็นได้ชัดว่าศาลและเจ้าหน้าที่ทหารไม่ได้เตรียมการรับมือกับการเป็นที่จับตาของสาธารณชนมาก่อน ด้วยปกติแทบไม่มีใครเคยเดินทางเข้าไปยังศาลทหาร และไม่มีการนำเสนอข่าวสารใดเกี่ยวกับศาลทหารในภาวะปกติ

ในคดี “กินแมคโดนัลด์ต้านรัฐประหาร” ที่จังหวัดเชียงราย ซึ่งจำเลยถูกกล่าวหาว่าฝ่าฝืนประกาศคสช. เรื่องการชุมนุมทางการเมือง กรณีนี้เป็นคดีพลเรือนที่เกี่ยวกับการเมืองคดีแรกๆ ที่มีคำพิพากษาในศาลทหารตั้งแต่กลางปีที่แล้ว เมื่อเริ่มมีการรายงานข่าวการดำเนินคดีนี้ในศาลนัดแรกๆ ในนัดต่อมาทางผู้บัญชาการค่ายกลับมีคำสั่งไม่อนุญาตให้คนที่ไม่เกี่ยวข้องกับคดีเข้าไปในค่ายทหารตั้งแต่ต้น ทำให้เจ้าหน้าที่ทหารที่ทางเข้าออกค่ายมีการตรวจสอบอย่างเข้มงวด ทั้งมีการให้สารวัตรทหารเกือบสิบนายเข้าไปดูแลความเรียบร้อยบริเวณศาล ก่อให้เกิดภาพที่นายทหารในเครื่องแบบจำนวนมากยืนกันเต็มโถงอาคารศาล ซึ่งในเวลาต่อมาก็มีการยกเลิกมาตรการเหล่านี้

นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่องค์กรระหว่างประเทศหรือเจ้าหน้าที่สถานทูตต่างๆ ยังไม่สามารถเข้าสังเกตการณ์คดีในศาลทหารต่างจังหวัดได้อีกด้วย เนื่องจากเขตค่ายทหาร ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่ความมั่นคง และเกี่ยวข้องกับความลับราชการ จึงไม่อนุญาตให้ชาวต่างชาติเข้าไปในค่ายทหาร นอกจากจะมีการทำหนังสือแจ้งเรื่อง และได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการเสียก่อน ทำให้เจ้าหน้าที่องค์กรต่างๆ ไม่สามารถเข้าไปยังศาลทหารได้โดยปริยาย แตกต่างจากศาลทหารในกรุงเทพที่เจ้าหน้าที่ชาวต่างชาติยังพอเข้าสังเกตการณ์คดีได้บ้าง ในคดีที่ไม่ถูกสั่งพิจารณาเป็นการลับ




ขณะเดียวกัน การดำเนินคดีในศาลทหาร ก็ไม่ได้มีความรวดเร็วอย่างที่คสช. มีการกล่าวอ้างเป็นเหตุผลหนึ่งในการนำพลเรือนขึ้นสู่ศาลทหาร นอกจากตุลาการจะใช้วิธีการจดบันทึกคำเบิกความต่างๆ ด้วยมือ ทำให้ใช้เวลาค่อนข้างนานในการสืบพยานนัดหนึ่งๆ แล้ว รูปแบบการสืบพยานยังเป็นลักษณะการนัดเดือนละครั้ง โดยนัดหนึ่งมีการสืบพยานราวหนึ่งหรือสองปากในช่วงครึ่งเช้า แตกต่างจากศาลพลเรือนที่ใช้รูปแบบวิธีนัดสืบพยานโจทก์และจำเลยต่อเนื่องกันหลายวันให้เสร็จสิ้นและมีการสืบพยานในช่วงบ่ายได้ ทำให้ในศาลทหารมีแนวโน้มที่การสืบพยานจะไม่ต่อเนื่องและใช้เวลาค่อนข้างนาน

อีกทั้ง แม้โดยปกติศาลจะกำหนดนัดหมายการพิจารณาในเวลา 8.30 น. แต่กว่าที่จะรอคู่ความและรอให้ศาลนั่งบัลลังก์อย่างน้อยก็เป็นเวลากว่า 9.30 น.ไปแล้ว และส่วนใหญ่จะให้มีการพิจารณาถึงราว 12.00 น.เท่านั้น

ยกตัวอย่างเช่น ในคดีมาตรา 112 คดีหนึ่งในศาลทหารเชียงราย พบว่าเกิดปัญหาพยานโจทก์ไม่มาศาลติดต่อกันถึงสามนัด ด้วยปัญหาเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้ดำเนินการส่งหมายเรียกให้พยาน ทำให้ทั้งทนายความและจำเลยที่ถูกคุมขังในเรือนจำ ต้องเดินทางไปศาลเปล่าๆ โดยคดีไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใดถึงกว่าสามเดือน

จำนวนบุคลากรในศาลทหารก็มีแนวโน้มจะไม่สามารถรองรับคดีพลเรือนจำนวนมากที่ถูกส่งมาดำเนินคดีในศาลทหาร โดยจากการสังเกตการณ์ในบางศาลในต่างจังหวัด พบว่าเฉลี่ยเดือนหนึ่งในแต่ละศาล จะมีคดีที่มีจำเลยเป็นทหารขึ้นพิจารณาจำนวนราว 3-4 คดี ซึ่งอาจพอใช้อนุมานถึงจำนวนคดีในศาลทหารในช่วงเวลาปกติได้ แตกต่างจากในปัจจุบันที่มีคดีพลเรือนขึ้นสู่การพิจารณาเพิ่มเข้าไปอีกเป็นเท่าตัว โดยเดือนหนึ่งมีการพิจารณาราว 10 คดีขึ้นไปในศาลหนึ่งๆ

อีกทั้ง ยังพบว่าในศาลจังหวัดทหารมีอัยการทหารประจำอยู่เพียงหนึ่งนาย และเจ้าหน้าที่ธุรการศาลประจำอยู่สองนาย โดยเจ้าหน้าที่ศาลเองยังต้องขึ้นไปทำหน้าที่เป็นเสมียนหน้าบัลลังก์ในระหว่างการพิจารณาอีกด้วย

กรณีจำเลยที่ถูกควบคุมตัวระหว่างการพิจารณาเอง เมื่อถูกนำตัวมายังศาล ทางเรือนจำหรือทัณฑสถานในแต่ละพื้นที่ยังต้องนำรถราชทัณฑ์เดินทางมาโดยเฉพาะที่ศาลทหาร โดยมีเจ้าหน้าที่ควบคุมมาด้วยราว 2-3 คน แม้ว่าจำเลยจะถูกส่งตัวมาเพียงคนเดียวก็ตาม ทำให้มีแนวโน้มจะทำให้เกิดความสิ้นเปลืองบุคลากรของทางเรือนจำเองในแต่ละวัน ที่ต้องแยกมาส่งตัวผู้ต้องขังที่ศาลทหาร แทนที่จะเป็นศาลพลเรือนพร้อมๆ กันทั้งหมด

ในส่วนขององค์คณะผู้พิพากษา นอกจากตุลาการพระธรรมนูญ ซึ่งเป็นนายทหารชั้นสัญญาบัตรที่สำเร็จการศึกษาทางด้านกฎหมายแล้ว ตุลาการที่ร่วมเป็นองค์คณะอีกสองท่านยังเป็นนายทหารชั้นสัญญาบัตรที่แต่งตั้งจากผู้บังคับบัญชาทหารของหน่วยต่างๆ ในพื้นที่ของศาลทหารนั้น โดยไม่ได้จบการศึกษาด้านกฎหมายแต่อย่างใด กระบวนการพิจารณาโดยส่วนใหญ่จึงถูกดำเนินการโดยตุลาการพระธรรมนูญเพียงคนเดียว องค์คณะซึ่งไม่ได้อยู่ในชุดครุยของตุลาการ แต่อยู่ในชุดนายทหารเต็มยศ จึงเพียงแต่นั่งให้ครบองค์ประกอบการพิจารณาเท่านั้น

นอกจากนั้น ยังพบว่าตุลาการศาลทหารยังขาดความเป็นอิสระในการพิพากษาหรือใช้ดุลยพินิจในคดี โดยพบกรณีตัวอย่างว่าในการขอประกันตัวจำเลยในคดีเกี่ยวกับอาวุธปืนหลายหนึ่ง ตุลาการได้มีการโทรศัพท์ไปสอบถามหน่วยงานในส่วนกลางตามลำดับชั้นบังคับบัญชา ก่อนจะแจ้งผลการขอประกันตัวกับญาติจำเลย โดยผู้ตัดสินใจที่ส่วนกลางก็ไม่เคยพบเห็นหน้าจำเลยและรับทราบสภาพของจำเลยเลย




จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีการเปิดเผยตัวเลขจำนวนคดีที่พลเรือนต้องขึ้นสู่ศาลทหารอย่างเป็นทางการ ศาลทหารเองก็ไม่มีระบบข้อมูลที่เปิดให้สาธารณะสามารถเข้าถึงได้ นอกจากบอร์ดนัดคดีในศาล ซึ่งจะแจ้งกำหนดนัดคดีในแต่ละเดือนของเฉพาะศาลทหารนั้นๆ เอาไว้ โดยข้อมูลสรุปในรายงานสถานการณ์ 1 ปี หลังการรัฐประหารของศูนย์ทนายความฯ พบว่ามีพลเรือนถูกดำเนินคดีในศาลทหารอย่างน้อย 700 คน และยังคงเพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ

ส่วนประเภทคดีของพลเรือนที่ถูกนำขึ้นสู่ศาลทหารในต่างจังหวัดนั้น ส่วนมากไม่ใช่คดีที่เกี่ยวข้องกับการเมืองโดยตรง แม้จะมีคดีมาตรา 112, มาตรา 116 หรือคดีความผิดจากการฝ่าฝืนประกาศ-คำสั่งคสช. อยู่บ้างจำนวนหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่แล้วเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน ซึ่งตามประกาศคสช.ฉบับที่ 50/2557 กำหนดให้ขึ้นศาลทหาร

คดีอาวุธเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองหรือความมั่นคงแต่อย่างใด จำนวนมากเป็นชาวบ้านที่ถูกจับกุมจากการครอบครองอาวุธปืนแก๊ปซึ่งไม่มีทะเบียน ส่วนใหญ่พกพาไว้ล่าสัตว์ ดูแลไร่นา หรือใช้ทำมาหากินในชีวิตประจำวันตามวิถีชีวิตชนบท

ศาลทหารในพื้นที่ภาคเหนือ ยังพบรายชื่อจำเลยที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ บนพื้นที่สูงถูกดำเนินคดีหลายคดี คดีลักษณะนี้เท่าที่พบบางกรณี เป็นชาวบ้านยากจนที่ถูกดำเนินคดีโดยไม่มีทนายความ หรือบางคดีก็เกี่ยวข้องกับเรื่องอื่นๆ เช่น ยาเสพติด หรือการบุกรุกป่า ที่มีการจับกุมพร้อมกับพบอาวุธปืนที่ผิดกฎหมาย ก็ถูกส่งมาดำเนินคดีในศาลทหารด้วยเช่นกัน

กล่าวได้ว่าการประกาศให้พลเรือนขึ้นศาลทหารนั้น ส่งผลกระทบต่อประชาชนทั่วไปโดยรวมด้วย ไม่ใช่เพียงแต่พลเรือนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องทางการเมืองเท่านั้น

ทั้งมีแนวโน้มว่าในคดีที่เกี่ยวพันกับการแสดงออกทางการเมืองในพื้นที่ต่างจังหวัด จะยังมีกรณีพลเรือนอีกหลายกรณีถูกดำเนินคดีในศาลทหาร โดยที่ยังไม่เป็นที่รับรู้ของสาธารณชน หรือแม้แต่หน่วยงานที่ติดตามสถานการณ์สิทธิมนุษยชนต่างๆ เอง เนื่องจากความยากลำบากในการเข้าถึงข้อมูลในแต่ละพื้นที่

กว่าหนึ่งปีเศษผ่านไปหลังรัฐประหาร ภายใต้ข้อกล่าวอ้างเรื่อง “สถานการณ์พิเศษ” ของคสช.ที่ยังดำเนินไปไม่สิ้นสุด ชีวิตพลเรือนในประเทศนี้จำนวนมากถูกนำขึ้นไปวางเดิมพันอยู่ภายใต้ห้องพิจารณาในศาลทหาร จนราวกับเป็นเรื่องปกติธรรมดา ทั้งที่มันหาใช่เรื่อง “ปกติ” ในสังคมโลกทุกวันนี้

————————————————————————————-

ดูเพิ่มเติมปัญหาการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหาร ได้ใน “รายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชน หนึ่งปีหลังการรัฐประหาร 2557: กระบวนการยุติธรรมลายพราง ภายใต้ คสช.” โดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน