วันอาทิตย์, มีนาคม 22, 2558

นงนุช สิงหเดชะ: รัฐบาลท่าจะ "ทุบเศรษฐกิจ" เสียเอง "เครื่องยนต์" ดับหมดเกือบทุกตัว



ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2558

บทความพิเศษ

มติชนสุดสัปดาห์ 13-19 มีนาคม 2558

ถ้าภายในไตรมาสแรกนี้เศรษฐกิจไม่กระเตื้องมากอย่างที่ภาคเอกชนคาดหวัง ก็เป็นไปได้สูงที่ความเชื่อมั่นของภาคเอกชนและต่างชาติที่มีต่อเศรษฐกิจไทยจะหดหายไปเรื่อยๆ

ซึ่งตัวสะท้อนความไม่เชื่อมั่นได้อย่างรวดเร็วและเด่นชัดก็คือตลาดหุ้น

โดยสัปดาห์สุดท้ายของเดือนกุมภาพันธ์ ต่างชาติเทขายหุ้นอย่างรุนแรงหนักหน่วงและต่อเนื่อง ภายหลังจากมีข่าวว่ารัฐบาลจะเลื่อนการประมูลคลื่น 4G ไปอีกครั้ง

ข่าวที่ออกมาในตอนแรกนั้นไม่มีความชัดเจนเสียด้วยซ้ำว่าการประมูลจะเกิดขึ้นในปีนี้หรือไม่ ส่งผลให้ต่างชาติเทขายหุ้นกลุ่มสื่อสารออกมาอย่างรุนแรง ทำให้ราคาหุ้นกลุ่มสื่อสารที่มีมูลค่าตามราคาตลาดหรือมาร์เก็ตแคปสูง ราคาร่วงอย่างหนัก

ทำให้ดัชนีตลาดหุ้นติดลบ

แม้คนในรัฐบาล เช่น ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจ จะออกมาพูดว่าจะเร่งประมูลให้ได้ภายในปีนี้ แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นมากนัก

เพราะเป็นการพูดแบบเลื่อนลอย ไม่มีน้ำหนัก

แม้แต่ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไปเยือนตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบ 26 ปีที่นายกฯ ไปเยือนตลาดหุ้น ดัชนีหุ้นก็ติดลบลึกไปถึง 20 จุด ก่อนจะพลิกฟื้นบวกมา 4 จุดตอนปิดตลาด

เนื่องจากในวันนั้นมีรายงานเศรษฐกิจเดือนมกราคมจากทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาว่า เศรษฐกิจอ่อนแอกว่าที่คาดอย่างมาก

เนื่องจากเครื่องยนต์เศรษฐกิจหลัก คือการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยภาครัฐ ทำได้แย่ เพราะการเบิกจ่ายของภาครัฐต่ำกว่าที่ประเมินไว้ โดย 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558 (ตุลาคม 2557-มกราคม 2558) การเบิกจ่ายทำได้เพียง 13.1 เปอร์เซ็นต์ ต่ำกว่าสถิติในอดีต ที่ปกติแล้วไตรมาสแรกของทุกปีงบประมาณ การเบิกจ่ายจะทำได้เกิน 20 เปอร์เซ็นต์

ตลาดหุ้นไทย ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจได้เร็วราวกับปรอทวัดไข้ เจอข่าวร้ายทุบน่วมหลายเด้ง

เด้งแรกถูกทุบน่วมไปด้วยราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ดิ่งลงฮวบฮาบเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้หุ้นกลุ่มพลังงาน (หุ้นกลุ่ม ปตท. ทั้งหมด) ซึ่งมีน้ำหนักในตลาดหุ้นไทยมากที่สุด ราคาร่วงลงอย่างแรง

แต่เมื่อราคาน้ำมันเริ่มจะอยู่ตัว ไม่ปรับลงไปลึกกว่าเดิม ก็ทำให้บรรยากาศในตลาดหุ้นผ่อนคลายลง นักลงทุนเริ่มมีความมั่นใจ แต่ก็มาถูกทุบน่วมเด้งที่สองด้วยข่าวการเลื่อนประมูลคลื่น 4G

และตามด้วยเด้งที่สาม จากข่าวร้ายทางเศรษฐกิจที่เดือนแรกของปี 2558 ที่หลายคนคาดหวังว่าจะพลิกฟื้นอย่างแรงและชัดเจนนั้น กลับเป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม

ตลอดครึ่งหลังของปีที่แล้ว นับจาก คสช. เข้ามาบริหารนั้น หลายคนยังให้โอกาสว่าเป็นช่วงใหม่อยู่ ไม่ทันตั้งตัว หลายอย่างจะล่าช้าขลุกขลักอยู่บ้างก็พอทำใจยอมรับและทนรอได้ และต่างก็พากันไปตั้งความหวังว่าในช่วงต้นปี 2558 เป็นต้นไปทุกอย่างน่าจะชัดเจนและกระบวนการต่างๆ จะกระชับรวดเร็วขึ้น

แต่ผลลัพธ์ที่ออกมาในเดือนมกราคม ทำให้ความคาดหวังนั้นแทบจะหายไป และไม่รู้ว่าจะหวังอะไรได้อีกหรือไม่

ที่ผ่านมาเศรษฐกิจโลกอ่อนแอ ทำให้ส่งออกของไทยขยายตัวน้อยหรือไม่ก็ติดลบ แถมราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกก็ตกต่ำ เศรษฐกิจจีนก็ไม่แข็งแกร่งเหมือนเดิม เรียกได้ว่าปัจจัยภายนอกไม่เป็นใจ ทุกภาคส่วนจึงฝากความหวังไว้กับปัจจัยภายในประเทศคือการกระตุ้นจากภาครัฐ ที่หลายคนเชื่อว่ารัฐบาล คสช. น่าจะทำอะไรได้รวดเร็วกว่ารัฐบาลปกติ

แต่เมื่อผลออกมาว่าการเบิกจ่ายของภาครัฐทำได้ต่ำมาก จึงเท่ากับว่าในตอนนี้เครื่องยนต์เศรษฐกิจแทบจะดับหมดทุกตัว เหลือเพียงภาคการท่องเที่ยวเท่านั้น

ความไม่เชื่อมั่น ทำให้ไทยชวดโอกาสที่จะได้ประโยชน์ 2 เด้ง คือจากปัจจัยภายนอกในตอนนี้ที่เริ่มดีขึ้น เช่น ยุโรปเริ่มใช้มาตรการคิวอีในเดือนนี้ ที่หวังว่าจะทำให้เริ่มมีเงินทุนต่างชาติไหลเข้าลงทุนในไทยผ่านตลาดทุน

รวมทั้งการที่จีนลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เสริมเข้ากับปัจจัยภายในของไทย ที่การเมืองมีเสถียรภาพและมีรัฐบาลพิเศษบริหารที่จะทำให้การทำงานมีความรวดเร็ว

แต่กลับกลายเป็นว่าตอนนี้ปัจจัยภายในกลับเป็นตัวถ่วงและกดดันตลาดหุ้นและทำลายบรรยากาศทางเศรษฐกิจ จากปัญหาการเลื่อนประมูล 4G ซ้ำซาก รวมทั้งการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจล่าช้า

สุดท้ายเศรษฐกิจไทยก็อาจจะชวดไม่ได้อานิสงส์อะไรเลยจากทั้งปัจจัยภายในและภายนอก

นโยบายสำคัญประการหนึ่งของรัฐบาลนี้ในการเพิ่มจีดีพีให้กับประเทศ ก็คือนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอล หรือดิจิตอลอีโคโนมี เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกิจ

แต่การจะเลื่อนประมูลคลื่น 4G ไปเป็นปลายปีก็เท่ากับสวนทางนโยบายนี้เสียเอง

เพราะเดือนกันยายนนี้คลื่นเก่าของผู้ให้บริการรายใหญ่ก็จะหมดอายุสัมปทานแล้ว และการใช้งานก็หนาแน่นแทบจะไม่มีคลื่นพอใช้กันอยู่แล้ว แม้แต่เปิดประมูลกลางปีนี้ ก็อาจจะช้าไปเสียด้วยซ้ำ

จะเป็นเศรษฐกิจดิจิตอล แต่ไม่มีคลื่นรองรับเพียงพอ จะเรียกว่าเศรษฐกิจดิจิตอลได้อย่างไร

ก็เลยไม่รู้ว่าผู้เกี่ยวข้องในนโยบายนี้ตระหนักถึงเรื่องนี้กันบ้างหรือไม่ ว่าถ้ายังชักช้าอยู่อย่างนี้เราจะตักตวงประโยชน์จากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ทันคนอื่นได้อย่างไร

นโยบายนี้จะมีประโยชน์ต่อเมื่อรัฐบาลลงมือปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรมภายในเดือนแรกของไตรมาส 4 ปีนี้ เพื่อให้ทันเออีซีและเพื่อให้รัฐบาลใหม่มาต่อยอดสานต่อได้ทันที

ช่วงปลายปีที่ผ่านมา บรรดานักวิเคราะห์ต่างพากันวาดหวังสวยหรูว่าดัชนีหุ้นไทยจะทะยานไปไกล 1650-1700 จุดภายในไตรมาสแรกของปีนี้ และอาจถึง 1800 จุดในสิ้นปี ด้วยเหตุผลหลักคือ 1.การเปิดเออีซี 2.การลงทุนในเมกะโปรเจ็กต์ โดยเฉพาะระบบขนส่ง ระบบรางของภาครัฐ

แต่พอผลออกมาว่าสภาพเศรษฐกิจเดือนมกราคม อ่อนแอกว่าที่คาด

รวมทั้งผลประกอบการของบริษัทที่อยู่ในตลาดหุ้นไตรมาส 4 ปี 2557 หดตัวลง 65 เปอร์เซ็นต์เพราะเศรษฐกิจแย่ และซ้ำด้วยการเลื่อนประมูล 4G ซึ่งทำให้ต่างชาติเทขายทิ้งหุ้นที่มีมาร์เก็ตแคปใหญ่ ทั้งกลุ่มสื่อสารพ่วงด้วยกลุ่มแบงก์ ก็รู้สึกว่าความหวังที่จะเห็นดัชนียืนเหนือ 1600 จุดริบหรี่ลง เพราะดัชนีตลาดหุ้น วนเวียนอยู่แถว 1600 จุดมาหลายเดือนแล้ว ขึ้น-ลงได้แคบๆ เพียง 20-30 จุด พอแตะ 1600 ปุ๊บ ก็ร่วงลงทันที เผลอๆ อาจได้เห็นการถอยรูดไปที่ 1500 จุด

สภาพตลาดหุ้นไทยนับจากเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ ต่างจากช่วงหลังจาก คสช. เข้ามาบริหารใหม่ๆ

เพราะช่วงนั้นตลาดหุ้นเริ่มมีความมั่นใจ นักลงทุนต่างชาติเริ่มกลับมาซื้อสุทธิ แต่พอปลายเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ต่างชาติขายแบบหนักหน่วงมากวันละหลายพันล้านบาทติดต่อกันหลายวัน สวนทางตลาดในภูมิภาค

แม้ต่างชาติจะยังพักเงินไว้ที่ตลาดตราสารหนี้ ยังไม่ได้นำเงินออก แต่นั่นก็น่ากังวลอยู่ดี เพราะสะท้อนว่าต่างชาติเริ่มไม่มั่นใจในนโยบายเศรษฐกิจใหญ่ๆ ของไทยที่มีความไม่แน่นอน

แม้รัฐบาลอาจจะไม่สนใจเรื่องดัชนีตลาดหุ้นเพราะมองว่าเป็นเรื่องของคนมีเงินหรือคนชั้นกลางขึ้นไป แต่อย่าลืมว่าตลาดหุ้นเป็นส่วนสำคัญในการสร้างบรรยากาศให้คนรู้สึกว่าเศรษฐกิจดีหรือไม่ดี และในอีกทางหนึ่งคนเหล่านี้เองที่จะมีส่วนในการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการจับจ่ายใช้สอยต่างๆ เมื่อพวกเขารู้สึกว่าบรรยากาศเศรษฐกิจดี

ถ้าจบไตรมาสแรกปีนี้ เศรษฐกิจยังอ่อนแอ ไม่เป็นไปอย่างที่คาดหวัง โดยปัญหาวนเวียนที่เดิมคือการเบิกจ่ายของรัฐล่าช้าและต่ำกว่าเป้า เชื่อว่าหลายฝ่ายอาจจะถอดใจ ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจลงไปเรื่อยๆ

และนั่นจะยิ่งเพิ่มความเศร้าหมองให้กับอารมณ์ทางเศรษฐกิจ คนไม่อยากใช้จ่ายแม้จะมีเงิน

สุดท้ายความเชื่อมั่นในภาพใหญ่ของนักลงทุนก็จะหายไปเรื่อยๆ นี่เป็นประเด็นท้าทายสำหรับรัฐบาลว่าทำอย่างไรจะรักษาความเชื่อมั่นเอาไว้ได้

ทำอย่างไรจึงจะทำให้นักลงทุนมั่นใจว่า จีดีพีจะโต 4 เปอร์เซ็นต์ตามเป้า ไม่ซ้ำรอยปีที่แล้วที่รัฐบาลเชื่อว่าจะโต 1.5-2 เปอร์เซ็นต์ แต่ของจริงกลับโตแค่ 0.7 เปอร์เซ็นต์


คลิกอ่านข่าว คกก.ดิจิตอล ไฟเขียวเปิดประมูล4จี ให้เสร็จภายในส.ค.นี้-ปี60 มีเน็ตใช้ทุกบ้าน