วันอาทิตย์, มีนาคม 29, 2558

หั่นจีดีพี 58 โตไม่ถึง 3% สำนักวิจัยฯปรับเป้า/หลังน้ำมันกระทบ/ส่งออกหดตัว


ภาพจาก Saook.com

ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันพุธที่ 25 มีนาคม 2015

ดร.เชาว์ เก่งชน
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ จ่อปรับประมาณการจีดีพีลง หลังธปท.ลดปรับเหลือ 3.8% จาก 4% นำร่อง "กสิกรไทย" หั่นเหลือ 2.8% จาก 4% เหตุส่งออกหดตัวฉุดการเติบโต ให้แค่ 0% จาก 3.5% ย้ำจับตาน้ำมันไม่ขึ้น ส่งออกเกษตรอย่าหวังฟื้น ด้าน "กรุงไทย-ไทยพาณิชย์" เตรียมลดต้นเดือนเมษายน ลั่นขอดูตัวเลขเศรษฐกิจละเอียด ชี้ปรับดัชนีไส้ในลงทุกตัว แม้ลงทุนภาครัฐเริ่มขยับ แต่ยังไม่เป็นไปตามคาดการณ์

ดร.เชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้ศูนย์วิจัยฯ ปรับประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจลงจากเดิมอยู่ที่ 4% ในเดือนธันวาคม 2557 ลดมาอยู่ที่ระดับ 2.8% โดยมีกรอบอยู่ที่ 2.3-3.3% มาจากแนวโน้มเศรษฐกิจในช่วง 1-2 เดือนแรกไม่ฟื้นตัวไปตามที่คาดไว้ ซึ่งตัวหลักมาจากภาคการส่งออกในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์หดตัว และคาดว่าในไตรมาสที่ 1 การส่งออกจะหดตัวติดลบจากเดิมที่ 2% เป็น 3.9% เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง ส่งผลเชื่อมโยงไปยังสินค้าโภคภัณฑ์และสินค้าเกษตรลดลง เช่น ยางพารา น้ำมันดิบ เม็ดพลาสติก ซึ่งสะท้อนผ่านตัวเลขการส่งออกสินค้าเกษตรที่ติดลบสูงถึง 13% ในเดือนมกราคม
 
ดังนั้น ปัจจัยการส่งออกจะคงอัตราการเติบโตติดลบยืดเยื้อไม่ใช่เพียง 1-2 ไตรมาสเพราะราคาน้ำมันซึ่งจะส่งผลไปยังราคาสินค้าเกษตรและโภคภัณฑ์ให้ปรับลดลงอยู่ ทางศูนย์วิจัยฯ จึงปรับประมาณการตัวเลขส่งออกลดลงเหลือ 0% จากเดิมอยู่ที่ 3.5% โดยภาคการส่งออกจะมีผลต่อจีดีพีที่ปรับลดลงประมาณ 1% ส่วนการบริโภคด้วยกำลังซื้อยังมีความอ่อนแอจึงปรับเหลือ 2% จากเดิม 3.1% โดยมีผลให้จีดีพีปรับลดลง 0.6% ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนมีสัดส่วนต่อจีดีพี 20% แต่ในช่วงที่ผ่านมาภาคเอกชนยังลังเลที่จะลงทุนใหม่ เพื่อรอดูความชัดเจนจากภาครัฐ ทำให้การลงทุนไม่ได้ขยายตัวไปตามคาด จึงปรับประมาณการเหลือ 4.5% จากเดิมอยู่ที่ 5.5%

สำหรับการลงทุนภาครัฐ แม้มีสัดส่วนต่อจีดีพีเพียง 5% น้อยกว่าภาคการท่องเที่ยวที่อยู่ 10% แต่ภาคการลงทุนภาครัฐจะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และชักจูงให้เกิดการลงทุนภาคเอกชน เกิดการจ้างงาน และภาคบริโภคตามมา แต่ภาพรวมการลงทุนยังล่าช้าจึงปรับประมาณการเหลือ 6.8% จากเดิม 7.9%
นายรชตพงศ์ สุขสงวน ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยความเสี่ยงธุรกิจ บมจ.ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจตัวที่จะนำไปสู่การปรับประมาณการเติบโตเศรษฐกิจที่มองกรอบอยู่ที่ 3.4-4.4% เฉลี่ยอยู่ที่ 3.9% อาจจะขยายตัวไม่ถึงนั้น จะเป็นจากการส่งออกเป็นหลัก เนื่องจากหากดูตัวเลขการนำเข้าจะพบว่าหดตัว สะท้อนไปยังการส่งออกที่ไม่ได้ขยายตัวมาก ตลอดจนประเด็นการส่งสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่คาดว่าจะเร็วขึ้น แต่หลังมีการประชุมสัญญาณคาดการณ์เปลี่ยนไป ซึ่งส่งผลไปยังค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง ทำให้เงินบาทจะไม่ได้อ่อนอย่างที่คิด จึงเป็นผลพ่วงไปยังการส่งออก ซึ่งยังไม่นับรวมปัญหาการถูกตัด GSP และปัญหาเชิงโครงสร้าง และการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ปัจจัยเหล่านี้กดดันการส่งออกให้ขยายตัวไม่เป็นไปตามคาดการณ์ โดยจากเดิมที่มองว่าจะขยายตัว 3.8% อาจจะทำได้ลำบากมากขึ้น ส่วนจะปรับอัตราการเติบโตอยู่ในระดับใดอาจจะพิจารณาก่อน

ส่วนตัวเลขการบริโภค แม้ว่าจะฟื้นตัวดีขึ้น แต่ไม่ได้ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ เพราะเป็นการฟื้นตัวจากฐานที่ต่ำในปีก่อน ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง การบริโภคสินค้าคงทนยังไม่ขยายตัว ซึ่งหากการบริโภคไม่สามารถเติบโตได้จะมีผลต่ออัตราการเติบโตจีดีพี เนื่องจากสัดส่วนการบริโภคมีผลต่อจีดีพีประมาณ 50-60% โดยทั้งปีธนาคารประเมินการบริโภคอยู่ที่ 1.6% อาจจะมีการปรับประมาณการลงเล็กน้อย ส่วนการเบิกจ่ายภาครัฐ แม้จะมีการเดินหน้าโครงการต่อเนื่องจากปีก่อน ทำให้ภาพรวมการเบิกจ่ายดีขึ้นแต่ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งธนาคารประเมินการลงทุนภาครัฐอยู่ที่ 5% จากปีก่อนติดลบอยู่ที่ 1.6% ดังนั้น ธนาคารอาจจะยังไม่มีการปรับตัวเลขนี้ เพราะคาดว่าภาครัฐสามารถเร่งรัดการลงทุนได้ดีขึ้นในไตรมาสที่ 2 และ 3 ซึ่งจะเป็นตัวผลักดันการลงทุนภาคเอกชนให้ตามมา

"เครื่องชี้วัดทุกตัวดีขึ้นหมด เพราะดีขึ้นจากฐานที่ต่ำ แต่ไม่ดีกว่าที่คาดหวังไว้ แต่ตัวที่จะนำไปสู่การปรับลดจีดีพี เพราะดึงจีดีพีไม่ให้โต จะเป็นการส่งออกที่ทำไม่ได้ดี โดยเดิมเรามองอยู่ที่ 3.8% จากปีก่อนติดลบ 0.3% ซึ่งในภาวะนี้ 3.8% ทำได้ลำบาก ดังนั้น ในต้นเดือนเมษายนจะมีการปรับตัวเลขจีดีพีอีกครั้ง" 

ดร.สุทธาภา อมรวิวัฒน์ Chief Economist และผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโส ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ธนาคารจะมีการปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจอีกครั้งภายในเดือนเมษายนนี้ โดยจะพิจารณาตัวเลขรายงานจากธปท.ก่อน แต่คาดว่าจะมีการปรับอัตราการเติบโตของจีดีพีลดลง รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจอื่นๆ ทั้งในส่วนของการปรับกรอบอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยน โดยปัจจุบันธนาคารประมาณตัวเลขจีดีพีอยู่ที่ 3-3.5% ส่วนการส่งออกอยู่ที่ 0.8% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างต่ำอยู่แล้ว ดังนั้น อาจจะมีการปรับเพียงเล็กน้อย อย่างไรก็ดี สัญญาณตัวเลขเศรษฐกิจบางตัวเริ่มดีขึ้นจากปีก่อน เช่น การเบิกจ่ายที่เร่งตัวดีขึ้น และการบริโภคที่ฟื้นตัว จะเห็นได้จากการซื้อสินค้ากึ่งคงทน และสินค้าคงทนเริ่มอยู่ในระดับทรงตัวจากก่อนหน้าที่ยอดตกลงไป แต่ก็ยังมีสินค้าบางรายการที่สะท้อนถึงปัญหารายได้ภาคเกษตรที่ลดลงและหนี้ครัวเรือนที่สูงยังไม่ฟื้นตัว

"เราจะมีการรีวิวประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจในเดือนหน้า อาจจะมีการปรับลงแต่คงไม่มาก เพราะเรามองอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ และสัญญาณบางตัวดีขึ้น เช่นการบริโภคตัวเลขกราฟเริ่มกระดกตัวขึ้นและการเบิกจ่ายก็ดีขึ้น" 
 
ขณะเดียวกันธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย(เอดีบี)แถลงรายงานวิเคราะห์เศรษฐกิจเอเชียปี 2558 (24 มี.ค. 58)ได้ปรับประมาณการจีดีพีไทยลดลงอยู่ที่ 3.6% จากเดิมอยู่ที่ 3.9% ถือเป็นระดับต่ำสุดในอาเซียน เนื่องจากการส่งออกและการใช้จ่ายภายในประเทศฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด โดยระบุ 3 ปัจจัยเสี่ยงต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจคือ การใช้จ่ายภาครัฐไม่เป็นไปตามกำหนด, ความผันผวนเงินทุนเคลื่อนย้ายและและภาคการส่งออกไม่ขยายตัวอย่างคาด เนื่องจากการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักไม่เป็นไปตามคาด

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3,038 วันที่ 26 - 28 มีนาคม พ.ศ. 2558