วันอังคาร, มีนาคม 24, 2558

ไม่น่าเชื่อว่า นี่คืองานวิจัย ของสถาบันอันดับต้นๆของประเทศนี้ ที่ใช้เงินภาษีของประชาชนปีละ 3 - 400 ล้านบาท แล้วจ้าง "นักวิชาการ" ให้เขียนงานออกมาแบบนี้ได้ - 10 เรื่อง เหมือนต่าง"ป๋าเปรม-ลีกวนยู" 8 ปี ผมพอแล้ว - 31 ปีนานที่สุดในโลก




ไม่น่าเชื่อว่า นี่คืองานวิจัย ของสถาบันอันดับต้นๆของประเทศนี้ ที่ใช้เงินภาษีของประชาชนปีละ 3 - 400 ล้านบาท แล้วจ้าง "นักวิชาการ" ให้เขียนงานออกมาแบบนี้ได้

1. แค่เอา 2 คนมาเทียบกัน มันก็ผิดแล้วครับ เป้นงานวิจัยไม่ได้อยู่แล้ว เพราะมันเทียบกันไม่ได้

2. หลีกวนยู ไม่เคยออกมาเจ๊าะแจ๊ะ พูดอย่างทำอย่าง เขาไม่เคยปากกับใจไม่ตรงกัน เขาไม่เคยพูดเลยประเทศของเขาเป็นประชาธิปไตยแบบตะวันตก เขาบอกว่าแต่ละประเทศก็มีลักษณะของตนเอง เขาพูดชัดเจนว่าถ้าเขาเป็นผู้นำจีน เขาจะปราบนศ.เดินขบวนที่เทียนอันเหมิน 

3. ลี เป็นผู้นำของพรรคการเมือง ลงสมัครหาเสียง ให้ประชาชนเลือก เขาได้รับเลือก เขาก็เป็นนายกฯ ลูกชายเขาก็ลงเลือกตั้งจนได้รับเลือกตั้งให้เป็นนายกฯ

สิงคโปร์เป็นประเทศเอกราชมา ครบรอบ 50 ปีในวันที่ 9 สิงหาคมที่จะถึงนี้ เขาไม่เคยมีรปห. แม้แต่ครั้งเดียว เขาเข้มงวดกับการบังคับใช้กฎหมาย ทุกคนเท่าเที่ยมกัน ต้องเคารพกฎหมายเหมือนกันทุกคน ไม่มีใครได้รับการยกเว้น คนทำผิดกฎจราจร เจอโทษรุนแรงและจริงจังมาก เช่น ขับรถเร็วเกินกำหนด หรือขับเข้าวันเวย์ หรือดื่มแล้วขับ หรือทิ้งขยะในที่สาธารณะ บ้วนน้ำลายในที่สาธารณะ จนประเทศของเขาสะอาดมาก ฆ่ากันตาย หรือข่มขืน หรือมียาเสพติด มีโทษรุนแรงมากที่สุด กลายเป็นวิถีชีวิตของคนสิงคโปร์ไปแล้วในปัจจุบัน 

เพื่อนผมบอกว่าขับรถที่นั่นสบายใจ บ้านเมืองสะอาดปลอดภัย ผู้หญิงไม่ถูกข่มเหงทำร้าย รังแก แต่งกายอย่างไร ดึกดื่นแค่ไหน ไม่มีห่วง ไม่มีใครมองผู้หญิง ด้วยสายตาแทะโลม หรือใช้วาจาลวนลามผู้หญิงของเขา เพราะมันเป็นสิทธิของเขา ร่างกายของเขา ทุกคนเท่าเทียมกัน เคารพกัน ไม่ทำร้ายกัน เป็นดินแดนที่อาชญากรรมมีน้อยมากๆ

เพียงแค่นี้ แล้วเอาอะไรมาเทียบกับคนเป็นนายกฯที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ที่ชอบออกมาพูดยกย่องระบบอำมาตยาธิปไตยหลายหน ว่าดีอยางนั้นอย่างนี้ ภูมิใจ -มีความสุขอย่างนั้นอย่างนี้

สถาบันวิจัยที่ผิดพลาดขนาดนั้น อนุมัติให้ทำวิจัยหัวข้อแบบนี้ และยังปล่อยให้งานห่วยๆผ่าน ออกมาตอแหล หลุดโลกแบบนั้นออกมาได้อย่างไร สุดท้าย แทนที่จะเอาไปซ่อน ยังเอามาโอ้อวดความงี่เง่าได้อีก

...

ลี กวน ยู มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนทุกครั้ง วิธีการจัดการกับพรรคการเมืองคู่แข่งเรื่องความเห็นแตกต่าง เรายังต้องค้นคว้าต่อไป ว่ารายละเอียดเป็นอย่างไร ผิดตรงไหนบ้าง ตรงไหนเป็นสิ่งที่เขาทำผิดพลาดไป 

แต่ที่ผ่านมาเรารู้จักประเทศเพื่อนบ้านของเราแต่ละประเทศน้อยมากครับ เรามีแต่ภาพใหญ่ๆ ที่สรุปแบบง่ายๆ เผด็จการ คือมันมีประเด็นใหญ่ กับประเด็นเล็กๆ ที่ต้องไปเข้าใจและแก้ไข

ที่สำคัญ 2 เรื่อง เราไม่ควรลืม 1. จะอย่างไร กติกาหลักของบ้านเมืองต้องเคารพและรักษาไว้ ไม่ใช่ล้มล้างกันด้วยคนไม่กี่คนตัดสินใจ ตรงนี้ ผมคิดว่าสิงคโปร์เป็นแบบอย่างได้ และ 2. เท่าที่ได้ฟังจากเพื่อนๆหรือคนสิงคโปร์ และหนังสือของเขา คนสิงคโปร์ตื่นตัวทางการเมืองมาก มีบทบาทมากในการแสดงความคิดเห็น มีปัญหาอะไรในการบริหารจัดการไม่ถูกต้อง ร้องเรียนทันที เสนอปัญหากันมาก ให้ฝ่ายที่รับผิดชอบออกมาแก้ไขด่วน

ผิดกับของเรา ที่บ่น แล้วก็เงียบไป ไม่ได้ทำอะไร หมอกควันช่วงนี้ ชัดเจนมากครับ ว่านาโต้เพียงไหน บนแผ่นดินเรา.

Tanet C. Chiang Mai...



10 เรื่อง เหมือนต่าง"ป๋าเปรม-ลีกวนยู" 8 ปี ผมพอแล้ว - 31 ปีนานที่สุดในโลก

ประชาชาติธุรกิจ

ooo

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ : เมืองไทยในสายตาของผู้ใหญ่ลี ...


ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2558

พ.ศ.2556 ผู้ใหญ่ลีแห่งหมู่บ้านสิงโตพ่นน้ำ เขียนหนังสือเล่มล่าสุดออกมา ซึ่งน่าจะแปลว่า "มุมมองของอั๊วต่อโลกใบนี้" (Lee Kuan Yew. One Man′s View of the World. Straits Times Press. 2013)

ผู้ใหญ่ลีเป็นคนที่ก่อร่างสร้างหมู่บ้านสิงโตพ่นน้ำจนเป็นเอกราช และเป็นต้นแบบในหลายๆ ด้าน แม้ว่าในวันนี้ผู้ใหญ่ลีจะไม่ได้มีตำแหน่งเป็นผู้ใหญ่บ้านอีกต่อไป (เพราะลูกชายแกเป็นผู้ใหญ่บ้านแทน) แต่ใครๆ ก็รู้ว่าผู้ใหญ่ลีเป็นจิตวิญญาณของหมู่บ้านสิงโตพ่นน้ำ และที่สำคัญหนังสือเล่มนี้น่าจะเป็นมุมมองที่สำคัญสำหรับผู้คนและคณะผู้บริหารของหมู่บ้านสิงโตพ่นน้ำในวันนี้

ผู้ใหญ่ลีน่าจะเป็นหนึ่งในนักการเมืองระดับลายครามของภูมิภาคนี้ เขาเขียนไว้ในคำนำว่าเขาได้เฝ้าสังเกตและพบปะผู้นำของหมู่บ้านอื่นๆ ทั้งในภูมิภาคและนอกภูมิภาคมาในเวลา 50 ปี ซึ่งแม้ว่าผู้ใหญ่ลีจะยอมรับว่าหมู่บ้านที่มีอิทธิพลต่อโลกมากที่สุดทั้งในแง่การกระทำและการตัดสินใจก็คือหมู่บ้านคาวบอยและหมู่บ้านมังกร แต่เขาเห็นว่าหมู่บ้านสิงโตพ่นน้ำของเขาก็ต้องมีการผูกพันกับหมู่บ้านอื่นๆ ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ด้วยไม่ว่าจะเป็นหมู่บ้านฝรั่งหมู่บ้านซามูไร หมู่บ้านกิมจิ หมู่บ้านโรตี และกลุ่มหมู่บ้านอูฐ ส่วนหมู่บ้านของเรานั้นจัดเป็นหนึ่งในหมู่บ้านรอบบ้านของเขาที่จะต้องสนใจเช่นกัน ซึ่งในหนังสือเล่มนี้ ผู้ใหญ่ลีได้เขียนถึงประเด็นหลักๆ ที่แต่ละหมู่บ้านจะต้องเผชิญ และอะไรคืออนาคตของแต่ละหมู่บ้าน

ผู้ใหญ่ลีเห็นว่าหมู่บ้านสิงโตพ่นน้ำของเขานั้นเล็กเกินไปที่จะเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ แต่พวกเขาก็จะพยายามอย่างถึงที่สุดที่จะขยายพื้นที่ทางอิทธิพลที่พวกเขาจะทำได้ท่ามกลางบรรดาหมู่บ้านใหญ่ๆ ทั้งหลาย โดยเฉพาะในภูมิภาคเดียวกันซึ่งสิ่งที่พวกเขาจะทำได้ก็คือการที่จะต้องแคล่วคล่องว่องไวและมีไหวพริบ (ภาษาวัยรุ่นแปลตรงๆว่า "มีของ") ในการดำเนินชีวิตทางการเมืองระหว่างหมู่บ้านต่อไป

ในอีกด้านหนึ่ง ผู้ใหญ่ลีเห็นว่าความสำเร็จของหมู่บ้านสิงโตพ่นน้ำในวันนี้นั้นเกิดขึ้นจากคุณภาพสำคัญสามประการ นั่นคือ 1.การทำให้หมู่บ้านของเขามีความปลอดภัยที่จะใช้ชีวิตและทำมาหากิน 2.การดูแลพลเมืองทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน และ 3.การให้หลักประกันว่าความสำเร็จที่มีอยู่ในวันนี้จะต้องถูกส่งต่อให้ชาวบ้านของเขาจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งความสำเร็จสามด้านนี้จะทำให้นักลงทุนนั้นรู้สึกมั่นใจในหมู่บ้านของเขา และทำให้หมู่บ้านเขามีความสำคัญและเชื่อมโยงกับโลกได้ และมีความกินดีอยู่ดี

สำหรับผมแล้ว เรื่องแบบนี้แม้ว่าจะดูเป็นการโฆษณาชวนเชื่อของหมู่บ้านของเขา แต่อย่างน้อยเขาก็มีเรื่องราวที่พูดแล้วคนในโลกนี้เขาเข้าใจนั่นแหละครับ

มาเข้าเรื่องมุมมองของผู้ใหญ่ลีที่มีต่อบ้านเราดีกว่า ซึ่งจะว่าไปผู้ใหญ่ลีอาจจะไม่ถูกไปทุกเรื่องแต่น่าสนใจมิใช่เล่น ซึ่งผมว่าเราก็อย่าไปโกรธแค้นอะไรแกนักเลยหรือถึงกับต้องเรียกผู้ใหญ่แกมารายงานตัว (ส่วนตัวกระผมนั้นได้รับหนังสือเล่มนี้มาจากตัวแทนคนหนึ่งของสำนักงานหมู่บ้านแกครับ ผมไม่ได้ไปสั่งซื้อหรือพยายามเสาะแสวงหาอะไร และหนังสือเล่มนี้ก็วางขายตามร้านหนังสือชั้นนำของบ้านเราอยู่แล้ว)

บทที่ว่าด้วยเรื่องของบ้านเรานั้นอยู่ในหมวดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งประกอบด้วยหมู่บ้านสะเต๊ะ หมู่บ้านอิเหนา หมู่บ้านของเรา หมู่บ้านหมูยอ และหมู่บ้านเมงกาละบาเท่านั้น แต่ที่สำคัญคือแกนหลักของเรื่องในหมู่บ้านเราจากมุมมองของผู้ใหญ่ลีก็คือเรื่องของการที่คนรากหญ้านั้นกำลังรุก/ลุกขึ้นมา ซึ่งผมแปลมาจากคำว่า "an underclass stirs" หรือถ้าจะแปลตรงๆเลยก็คือ การที่คนยากคนจนที่ไม่เคยได้รับการเหลียวแลได้เริ่มลุกขึ้นสู้ (คือคนกลุ่มนี้มีสถานะที่ต่ำกว่า "ชนชั้น" ในแง่ที่ชนชั้นอย่างน้อยก็สามารถจะรวมตัวกันต่อสู้ต่อรองได้ ซึ่งแนวคิดนี้เป็นหนึ่งในข้อถกเถียงของนโยบายสังคมของประเทศตะวันตก เช่นพวกที่ไม่ได้เป็นกรรมกร หรือไม่เป็นสหภาพ อาจจะเป็นคนสีผิว หรือยังไม่ได้รับการมองว่าเป็นพลเมืองที่เท่ากับคนอื่นๆ)

ผู้ใหญ่ลีเริ่มต้นบทนี้ที่ตีพิมพ์เมื่อปีที่แล้วว่าการเข้าสู่อำนาจของผู้ใหญ่แม้วนั้น ได้เปลี่ยนแปลงการเมืองของบ้านเราอย่างถาวร ขณะที่ก่อนผู้ใหญ่แม้วจะเข้าสู่อำนาจนั้นบรรดาชนชั้นนำในกรุงเทพฯ( Bangkok establishment) ได้ครอบงำการแข่งขันทางการเมืองของทุกฝ่าย และได้ปกครองบ้านเมืองเพื่อประโยชน์ของคนในเมืองหลวงของหมู่บ้านนี้ ซึ่งแม้ว่าอาจจะมีการทำเลาะเบาะแว้งกันบ้างแต่ก็ไม่เคยมีครั้งไหนที่รุนแรงเท่ากับที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่ยุคผู้ใหญ่แม้วและนับจากหลังยุคผู้ใหญ่แม้ว

สิ่งที่ผู้ใหญ่แม้วนั้นทำให้พวกผู้ที่ได้ประโยชน์จากระบบการเมืองที่เป็นอยู่นั้นเคืองก็เพราะไปทำให้ตระกร้าผลไม้ที่พวกนี้เคยเก็บผลไม้ที่ได้มานั้นจะต้องถูกกระจายไปยังพื้นที่ส่วนยากจนของบ้านเมือง ซึ่งเดิมทีตะกร้าเหล่านี้เคยถูกเก็บกินอย่างตะกละตะกลาม (ราวกับหมู-hogged) โดยคนชั้นกลางและชั้นสูงในกรุงเทพฯ ซึ่งเมื่อผู้ใหญ่แม้วได้นำ "ยี่ห้อทางการเมือง" แบบใหม่เข้ามา ยี่ห้อใหม่นี้มีลักษณะที่เข้าถึงชาวนาจากภาคเหนือและอีสาน เพื่อให้เข้าถึงส่วนแบ่งอันเนื่องมาจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของหมู่บ้านมากขึ้น โดยผู้ใหญ่ลีเห็นว่าช่องว่างระหว่างความยากจนและการเข้าถึงทรัพยากรและส่วนแบ่งเหล่านี้มีมาตั้งแต่ก่อนผู้ใหญ่แม้วจะเข้ามาเล่นการเมือง และเป็นสิ่งที่เกิดมาจากนโยบายที่เน้นให้กรุงเทพฯได้ทุกอย่างก่อนคนอื่นซึ่งมีมาอย่างยาวนาน

ดังนั้นสิ่งที่ผู้ใหญ่แม้วทำก็คือแค่ปลุกให้ผู้คนเห็นช่องว่างนี้และความไม่เป็นธรรมของช่องว่างนี้ จากนั้นก็นำเสนอการแก้ปัญหาเพื่อลดช่องว่างดังกล่าว ซึ่งผู้ใหญ่ลีเชื่อว่าถ้าผู้ใหญ่แม้วไม่ทำคนอื่นที่เข้ามาอีกไม่นานก็จะต้องทำสิ่งเดียวกันนี้อยู่ดี

หลังจากที่ผู้ใหญ่ลีได้ยกตัวอย่างนโยบายต่างๆ ของผู้ใหญ่แม้วแล้ว (ขอไม่เขียนเพราะเราก็รู้กันอยู่) ผู้ใหญ่ลีชี้ว่าสำหรับพวกที่ไม่เอาผู้ใหญ่แม้ว สิ่งที่ผู้ใหญ่แม้วทำเป็นการทำให้ทุกอย่างกลับตาลปัตรจากที่เคยเป็นมา (จะแปลว่าพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน จากคำว่า turning the country upside down ก็น่าจะได้อยู่) แต่พวกนี้ย่อมจะไม่ปล่อยให้ผู้ใหญ่แม้วลอยนวลอย่างแน่นอน และยังกล่าวหาว่าผู้ใหญ่แม้วเป็นพวกประชานิยมและนโยบายของผู้ใหญ่แม้วจะทำให้บ้านเมืองล้มละลาย

แต่สิ่งที่ผู้ใหญ่ลีชี้ต่อไปก็คือ พวกที่ด่าผู้ใหญ่แม้วก็ยังดำเนินนโยบายของผู้ใหญ่แม้วต่อไป ในช่วงที่ตนเองถือครองอำนาจในช่วงปี 2551-2554 อยู่ดี และผู้ใหญ่แม้วและพรรคพวกก็ชนะการเลือกตั้ง 5 ครั้งติดต่อกันนับตั้งแต่แกขึ้นสู่อำนาจ และชาวนาทั้งเหนือทั้งอีสานก็ได้ลิ้มลองว่ารสชาติของการเข้าถึงแหล่งทุนนั้นเป็นอย่างไร และพวกเขาจะไม่ยอมเสียมันไปง่ายๆ ท่ามกลางความผันผวนทางการเมืองนับตั้งแต่ผู้ใหญ่แม้วได้รับเลือกตั้งครั้งที่สอง ซึ่งทำให้ชนชั้นนำในกรุงเทพฯไม่สามารถจะรับผู้ใหญ่แม้วได้อีกต่อไป และทำให้เกิดการทำรัฐประหารเมื่อ 2549

และจากนั้นมากรุงเทพฯก็มีแต่ความวุ่นวาย ไม่ว่าจะจากเสื้อเหลืองที่ต่อต้านผู้ใหญ่แม้วและอ้างว่า (... ขอไม่แปล) หรือเสื้อแดงที่มาจากพวกที่สนับสนุนผู้ใหญ่แม้วอย่างกระตือรือล้น ซึ่งผู้ใหญ่ลีแกมองว่าสำหรับผู้ที่ต่อต้านผู้ใหญ่แม้ว ถ้าจะหยุดยั้งหรือย้อนเวลากลับไปคงเป็นเรื่องไร้ประโยชน์

นอกจากนั้นแล้ว ผู้ใหญ่ลีมองว่าหากมองโลกในแง่บวกแล้วสำหรับบ้านเมืองเรานั้น พวกเสื้อแดงในระยะยาวๆ จะมีจำนวนมากกว่าพวกเสื้อเหลือง เพราะพวกเสื้อเหลืองเป็นกลุ่มที่ดึงมาจากพื้นที่ทางการเมืองที่หดตัวลงทุกวัน รวมทั้งคนรุ่นใหม่ก็อาจจะไม่มีมุมมองบางอย่างเหมือนกับคนรุ่นเก่า รวมทั้งเรื่องบางเรื่องก็อาจเปลี่ยนแปลงและเลือนหายไป (ขอแปลส่วนนี้กว้างๆ นะครับ)

เรื่องที่สำคัญที่ผู้ใหญ่ลีแกตั้งข้อสังเกตอีกเรื่องหนึ่งก็คือ บทบาทของกองกำลังป้องกันหมู่บ้าน ซึ่งผู้ใหญ่แกมองออกว่ามีบทบาทสำคัญมากในการเมืองไทย และที่ผ่านมาก็ได้พยายามทำให้การเคลื่อนไหวอะไรก็ตามที่ขัดแย้งกับสิ่งที่พวกเขาเชื่อมโยงตัวเองเข้าไปเพื่อให้มีกำลังอำนาจนั้นจะไม่สามารถโงหัวขึ้นมาได้ แต่สุดท้ายพวกกองกำลังป้องกันหมู่บ้านนี้ก็จะไม่มีทางเลือกมากไปกว่าการต้องยอมรับและปรับตัวเองเข้ากับสถานการณ์ที่ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว โดยเฉพาะการที่จะแข็งขืนต่อเจตจำนงของผู้เลือกตั้งเป็นเวลายาวนานนั้นจะเป็นสิ่งที่ไม่เกิดผลดี โดยเฉพาะเมื่อสุดท้ายตำแหน่งต่างๆของกองกำลังนี้ก็จะต้องแต่งตั้ง "คนรุ่นใหม่" เข้าไปอยู่ดี

อย่างไรก็ตาม ผู้ใหญ่ลีแกทำนายว่าบรรดาผู้นำกองกำลังป้องกันหมู่บ้านก็จะพยายามจนถึงที่สุดที่จะยืนยันเอกสิทธิของพวกเขาและจะไม่ยอมที่จะถูกลดชั้นให้เป็นเพียงกองกำลังธรรมดาๆ แต่ในขณะเดียวกันผู้ใหญ่ลีแกเชื่อว่าในอีกด้านหนึ่งกองกำลังป้องกันหมู่บ้านนี้ก็จะเรียนรู้ที่จะอยู่กับรัฐบาลที่เป็นพันธมิตรกับผู้ใหญ่แม้วและอาจจะยอมรับให้ผู้ใหญ่แม้วแกกลับบ้านหากผู้ใหญ่แม้วจะไม่แก้แค้น (หุหุ ผู้ใหญ่ลีก็ยังรู้พลั้งนะครับ)

มุมมองโลกสวยของผู้ใหญ่ลียังมองต่อไปว่าการเมืองไทยนั้นไม่สามารถย้อนกลับไปก่อนยุคผู้ใหญ่แม้วได้อีก ซึ่งหมายถึงการที่ชนชั้นนำในกรุงเทพฯ ผูกขาดอำนาจ และผู้ใหญ่เชื่อว่าช่องว่างทางความมั่งคั่งก็จะลดลงหากเป็นไปตามที่ผู้ใหญ่แม้วแกวางไว้ และชาวนาก็จะกลายเป็นชนชั้นกลางและทำให้การบริโภคภายในประเทศสูงขึ้นและบ้านเมืองเราก็จะดีขึ้นในไม่ช้า

ทีนี้ในส่วนสุดท้ายของบทที่ว่าถึงบ้านเราเป็นลักษณะของการถามตอบ ซึ่งผู้ใหญ่ลีก็โดนจัดหนักอยู่หลายคำถาม แต่ผู้ใหญ่ลีแกก็มีมุมที่น่าสนใจ ซึ่งผมขอย้ำว่าเราอาจจะไม่ต้องมองว่าใครถูกใครผิด หรือหนังสือนี้มีความมุ่งหมายที่จะเขียนอะไรให้ใครอ่าน (คือให้คนในบ้านเขาอ่าน หรือให้ผู้มีอำนาจในบ้านเรา "เมื่อปีที่แล้ว" อ่าน) แต่เราควรจะตั้งสติและพิจารณาอย่างรอบด้าน

คำถามแรกก็คือเรื่องข้อวิจารณ์ที่มีต่อนโยบายประชานิยมของผู้ใหญ่แม้ว ซึ่งผู้ใหญ่ลีโดนยิงคำถามใส่ว่า "ผู้ใหญ่ฮะนักวิเคราะห์เรื่องไทยอาจจะไม่ได้มองโลกสวยในแง่ของความเปลี่ยนแปลงของการเมืองไทย หลังการเข้ามาของผู้ใหญ่แม้วแบบที่ผู้ใหญ่มองโดยมองว่าในช่วงทศวรรษที่ 1990 คือสิบปีก่อนที่ผู้ใหญ่แม้วจะขึ้นสู่อำนาจนั้นนายกรัฐมนตรีต่างๆของไทยสามารถที่จะพัฒนาเศรษฐกิจของไทยในแบบ ′ระยะยาว′ แต่เมื่อผู้ใหญ่แม้วมาถึง รัฐบาลใหม่ๆ ก็เน้นแต่มาตรการประชานิยมซึ่งเป็นมาตรการระยะสั้น และการ ′แจกของฟรี′ ให้กับคนจน"

ผู้้ใหญ่ลีโต้ว่า "นั่นคือการมองด้านเดียว เพราะว่าผู้ใหญ่แม้วแหลมคมและฉลาดกว่าพวกที่วิจารณ์แก และนั่นคือเหตุผลว่าทำไมเขาถึงสามารถเจาะภาคอีสานได้ การได้รับคะแนนนิยมจากภาคอีสานไม่ใช่เรื่องของการซื้อแบบที่เราเข้าใจ แต่หมายถึงการเอาชนะการต่อต้านจากคนเหล่านั้นต่างหาก"

"คนเขาก็กังวลว่าการไปแข่งเอาคะแนนเสียงจากคนระดับล่างด้วยการไปเอาคะแนนเสียงจากชนบทให้ได้มากที่สุด ด้วยการแจกนั้นจะดีเหรอฮะผู้ใหญ่?"

"ลื้อคิดว่าเงินที่เอาไปแจกของฟรีเหล่านั้นมาจากไหน?"

"นั่นแหละฮะปัญหา"

"ลื้อเข้าใจผิดแล้วเพราะก่อนที่เราจะแจกของฟรีได้ เราต้องมีทรัพยากรซึ่งก็หมายถึงว่าจะต้องมีรายได้ และถ้าเราต้องการจะแจกมากขึ้นแต่รายรับเรานั้นใช้ไปหมดแล้วเราก็จะต้องเพิ่มภาษี"

"หรือเราก็ไปกู้เขามาใช่ไหมฮะ"

ผู้ใหญ่ลีจอมเก๋าเกมส์ก็ตอบต่อว่า "ใครเขาจะให้ยืม ถ้าลื้อไม่มีสินทรัพย์พอ?"

"ผู้ใหญ่ฮะ ผู้ใหญ่ไม่คิดว่าพวกเมืองไทยจะเกิดปัญหาในระยะยาวจากการเมืองแบบประชานิยมหรือฮะ เมื่อก่อนก็ดูจะเป็นการเมืองแบบเรียบๆ ร้อยๆ ดีอยู่"

"อั๊วไม่คิดเช่นนั้น เขาจะเอาของไปแจกคนไม่มีได้มากมายขนาดนั้นทำไม"

คำถามชุดที่สองที่ยิงใส่ผู้ใหญ่ลีก็คือ "ผู้ใหญ่ลีคิดอย่างไรกับผู้ใหญ่แม้วฮะ?"

ผู้ใหญ่ลีแกก็ตอบทันใดว่า "ผู้ใหญ่แม้วนั้นไซร้เป็นผู้นำประเภทขาลุยมากกว่าพวกทฤษฎี และเป็นพวกที่ทำงานหนักเพื่อให้ได้ผลลัพธ์เร็วๆ ผู้ใหญ่แม้วเป็นคนที่เชื่อในประสบการณ์ธุรกิจและสัญชาตญาณของตนเองมากกว่าทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ ครั้งหนึ่งผู้ใหญ่แม้วเคยบอกอั๊วว่า เขานั่งรถบัสจากกรุงเทพฯ มาถึงหมู่บ้านสิงโตพ่นน้ำของเรา และเขาได้เห็นว่าทำไมหมู่บ้านเราถึงได้เจริญ และเขาก็จะทำในแบบเดียวกับเรา แต่อั๊วก็ไม่รู้นะว่ามาเที่ยวเดียวนี้จะมาเข้าใจความเร้นลับของพวกเราได้ ซึ่งมันเป็นเรื่องของการศึกษา การพัฒนาทักษะ และการสร้างสังคมที่ผนึกประสานกันโดยให้โอกาสอย่างเท่าเทียมกันกับทุกคน และที่สำคัญลื้อต้องไม่ลืมว่าในภาคอีสานมีคนเชื้อสายลาวมากกว่าไทยด้วยซ้ำ"

คำถามชุดที่สามที่ผู้ใหญ่ลีโดนต่อก็คือ "ผู้ใหญ่ฮะ ในสมัยหนึ่งผู้นำเราเคยมองว่าไทยเป็นคู่แข่งที่สำคัญของเรา ไม่ว่าจะในฐานะศูนย์กลางการคมนาคมการผลิตอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวเชิงสาธารณสุข ผู้ใหญ่ว่าตอนนี้ยังเป็นเช่นนั้นไหมฮะ"

"ลื้อดูภูมิศาสตร์ของพวกเขาสิ ลื้อจะเห็นว่าเราสามารถข้ามหัวกรุงเทพฯได้ แต่ข้ามหัวพวกเราไม่ได้หรอกในการเดินทางทางทะล"

"แล้วทางอากาศล่ะฮะผู้ใหญ่"

"ลื้อดูเอาแล้วกันว่าพวกเขามีทักษะความชำนาญและการศึกษาสูงแค่ไหน พวกเขาต้องเหนือกว่าเราถึงจะชนะเราได้"

"แล้วพวกเขาจะมีโอกาสไหมฮะ"

"เรื่องแรกคือพวกเราได้เปรียบในแง่ภาษาอังกฤษ เรื่องที่สอง พวกเรามีโครงสร้างพื้นฐานทางการศึกษาที่ผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพสูงและยังรวมพวกอาชีวะและพวกที่ฝึกอบรมพิเศษให้สถานประกอบการต่างๆ ลื้อว่าพวกเขาจะสามารถพัฒนาการศึกษาให้คน 60 ล้านคน ที่กระจายในชนบทได้เหรอ?" (แหม แปลมาถึงตรงนี้อยากจะจัดหนักผู้ใหญ่ลีซะจริงๆ ผู้ใหญ่ลีแกไม่เข้าใจเรื่องคนดีสำคัญกว่าคนเก่ง หรือพวกสมุดพกความดีอะไรบ้างเลยเหรอ มันน่าน้ากกกก)

คำถามชุดสุดท้ายคือมุมมองของผู้ใหญ่ลีต่อเมืองไทยในบริบทการเมืองระหว่างประเทศที่พวกคาวบอยและพวกมังกรเป็นใหญ่ "ผู้ใหญ่ฮะพวกเมืองไทยจะเป็นพันธมิตรกับพวกคาวบอยต่อไหม? เห็นเป็นมาตั้งนานและเป็นฐานทัพให้เขาด้วยสมัยสงครามเวียดนามอะฮะ?"

"ลื้ออย่าไปสนใจเรื่องอดีต คำถามจริงๆ มันอยู่ที่ว่าผลประโยชน์ของทั้งสองฝ่ายมันตรงกันไหม การจะเป็นพันธมิตรกับใครนั้นมันก็ต่อเมื่อผลประโยชน์มันไปทางเดียวกัน ก็เหมือนนาโต้นั่นแหละถ้าไม่มีรัสเซียไว้ต้าน มันก็ไม่มีสาระสำคัญอะไร และในวันนี้ไทยก็ไม่ได้มีมูลค่ามากมายอะไรในสายตาพวกคาวบอยหลังสงครามเวียดนาม ก็อย่างที่ลื้อเข้าใจนั่นแหละว่าพวกคาวบอยมันไม่ได้ช่วยไทยจากวิกฤตต้มยำกุ้ง ดังนั้น พวกเมืองไทยก็หันไปหามังกรมากขึ้น"

"และถ้าลื้อเข้าใจประวัติศาสตร์ของไทย ลื้อจะเห็นว่าเมื่อพวกซามูไรแข็งแกร่งและพยายามมายึดครองภูมิภาคเรา พวกเขาก็ยอมให้ทัพซามูไรบุกผ่าน และทำให้พวกซามูไรมายึดหมู่บ้านสะเต๊ะและสิงโตพ่นน้ำของเราได้ง่ายขึ้น ดังนั้น คำถามของลื้อที่ว่าพวกไทยจะทำอย่างไรกับอิทธิพลของจีนในละแวกบ้านเรานั้น อั๊วจะตอบลื้อว่า ใครชนะ ใครมีกำลังมาก พวกเมืองไทยก็เข้ากับเขาหมดนั่นแหละ"

ผมขอจบคอลัมน์ครั้งนี้ด้วยการอวยพรหมู่บ้านสิงโตพ่นน้ำที่จะครบรอบวันได้รับเอกราชในวันที่ 9 สิงหาคมนี้นะครับ บางทีเราก็ต้องรู้เขารู้เราและรู้ว่าเขาคิดยังไงกับเราด้วยครับ...

............

(ที่มา:มติชนรายวัน5สิงหาคม2557)

ooo

Lee Kuan Yew Meninggal Dunia Mar.22 [Singaporeans Mourn Death of Founding Father 1st Prime Minister]

https://www.youtube.com/watch?v=hCKcZNCceBI

Published on Mar 22, 2015
PM Lee addressed the nation this morning at 8am, following the passing of Mr Lee Kuan Yew, the founding Prime Minister of Singapore. Here is his address in Malay, Chinese and English.

สังคมที่เคารพกติกา เคารพสิทธิของคนทุกคนเท่าเทียมกัน เพราะเห้นต่างในศาสนา ก็ยอมรับความหลากหลายนั้น มีภาษาต่างกัน ก็ยอมรับความแตกต่างกันนั้น ผู้นำของประเทศถึงต้องพูดได้ ที่เห็นอยู่นี้ ก็พูด 3 ภาษาละครับ ขอคารวะเพื่อนร่วมโลกที่มีสิ่งดีๆให้เราได้เรียนรู้ ส่วนเราจะทำตามไหม มันก็อยู่ที่เรา มันขึ้นอยู่กับเรา ว่าเรายังอยากจะเป็นแบบนี้ต่อไปอีกไหม

Tanet C. Chiang Mai...

...


เสียงจากเวป...

นายกฯ สิงคโปร์ พูด 3 ภาษาได้ชัดเจน 
แต่ผู้นำไทย พูดไทยยังไม่ชัด 
พูดเป็น แต่ ภาษา พ่อขุนราม 
ด่าคน รายวัน