วันศุกร์, ตุลาคม 24, 2557

5เดือน คสช. เครียด กับ เครียด...แซมเปิ้ล... เครียดแรก ภาวะเครียดตึง ณ กระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรี ทหาร... เครียดสอง หนี้เน่าแบงก์พาณิชย์ทะลัก เศรษฐกิจวูบคนไทยหมดแรงผ่อนบ้าน-รถ


ภาวะเครียดตึง ณ กระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรี ทหาร

วันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2557

บรรยากาศการประชุมระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กับสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม

สรุปสั้นๆ ว่า "เครียด"

ประหนึ่งว่า ความเครียดสืบเนื่องจากรัฐมนตรี คือ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ เป็น "ทหาร" ขณะที่บรรดาทูตพาณิชย์เป็น "พลเรือน"

อาจใช่ แต่มิได้เป็นสาเหตุ "หลัก"

รายงานข่าวอันปรากฏตรงกันใน "สื่อ" หนังสือพิมพ์หลายฉบับ ไฮไลต์อยู่ตรงการสรุปอันมาจากรัฐมนตรี

1 รัฐมนตรีสอบถามทูตโดยเจาะลึกเป็นรายสินค้า

ว่าตลาดนี้จะทำอะไร จะผลักดันให้ยอดการส่งออกเพิ่มขึ้นได้อย่างไร "โดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับกลยุทธ์และแผนงานที่ทูตแต่ละภูมิภาคกำลังนำเสนอ"

1 ผลอันตามมาเป็นอย่างไร

รายงานระบุว่า บรรยากาศเป็นไปด้วยความตึงเครียด บางครั้งถึงกับเงียบ ไม่มีใครกล้าพูด ทูตหลายรายระบุว่า "ไม่เคยเห็นการประชุมที่เป็นแบบนี้"

เป็นภาวะ "เครียด" จาก "รัฐมนตรี" อย่างนั้นหรือ

หากเริ่มต้นจากกระทรวงพาณิชย์ หากเริ่มต้นจากสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (ทูตพาณิชย์)

คำตอบอาจใช่

แต่หากเริ่มต้นจากสภาพเศรษฐกิจ อย่างที่ น.พ.ประเวศ วะสี ชมชอบในการใช้อยู่เสมอ นั่นก็คือ มองอย่างเป็น "องค์รวม"

ก็มิได้อยู่ที่กระทรวงพาณิชย์อย่างเดียว

เป็นความจริงที่เมื่อแนวโน้มการส่งออกส่อเค้าว่าถดถอยและหดตัวกระทั่งอาจอยู่ในภาวะ "ติดลบ" ถือว่าเป็นความรับผิดชอบของกระทรวงพาณิชย์

จำเป็นต้อง "เครียด"

ไม่ว่ารัฐมนตรี ไม่ว่าทูตพาณิชย์อันอยู่ในสังกัดสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ย่อมเกิดความรู้สึกรับผิดชอบร่วมกัน

แต่จะโทษเฉพาะกระทรวงพาณิชย์เท่านั้นหรือ

ในเมื่อภาวะถดถอยและหดตัวในทางการค้ามีมูลเชื้อมาจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ประกอบเข้าด้วยกัน เมื่อประสานเข้ากับปัญหาภายในของประเทศไทยซึ่งก่อรูปมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2556 ตามด้วย "ชัตดาวน์" เดือนพฤษภาคม "รัฐประหาร" เดือนพฤษภาคม 2557

ก็หนักหนาและสาหัส

มีความจำเป็นต้อง "ล้างหู" น้อมรับฟังบทสรุปจากนายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ว่า

"เศรษฐกิจตอนนี้อยู่ในภาวะชะงักงันหรือซบเซา"

ท่านใช้คำภาษาอังกฤษว่า Stagnation พร้อมกับอธิบาย "คนจนหางานทำไม่ได้ ไม่มีเงินใช้จ่าย คนมีเงินมากหรือมีเครดิตกู้เงินได้ แต่ไม่รู้จะนำเงินหรือกู้เงินไปลงทุนอะไร"

สรุปง่ายๆ จากธนาคารซีไอเอ็มบีไทย

คือ "ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคแม้จะดีขึ้น แต่ยังไม่มีเงินมาจับจ่ายใช้สอย เศรษฐกิจเติบโตใกล้ร้อยละ 0"

เป็นไปอย่างที่เจ้าสัวสหพัฒน์บอกว่า "ไม่มีอารมณ์จับจ่ายใช้สอย"

อารมณ์อย่างนี้ปะทุขึ้นในขอบเขตทั่วโลก และก็แพร่ระบาดเข้ามายังสังคมประเทศไทยราวกับเป็นโรคระบาด ก่อตัวยาวนานตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2556 กระทั่งตกอยู่ใต้กฎอัยการศึกตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2557

ท่องเที่ยวก็หงอยเหงา ส่งออกก็หดตัว สินค้าเกษตรหล่นรูด

ผลก็คือ ทั้งคนในเมืองใหญ่ ทั้งคนในต่างจังหวัด ได้รับผลสะเทือนจากสถานการณ์ทางการเมืองกันอย่างถ้วนหน้า

ตัวอย่างคือ กรณี "เผาตัว" ของ "ชาวนา"

ความเครียดจึงกลายเป็นลักษณะพิเศษ และปรากฏขึ้นในที่ประชุมของกระทรวงพาณิชย์

เมื่อ "รัฐมนตรี" เครียด "ทูตพาณิชย์" ก็เครียด คำถามอยู่ที่ว่า ความเครียดจะเป็นกลยุทธ์สำคัญทำให้ตัวเลขการส่งออกดีขึ้นหรือไม่

หากทำได้จริง ฟิลิปส์ ค็อตเลอร์ คงต้องขอน้อม "คารวะ"
ooo


หนี้เน่าแบงก์พาณิชย์ทะลัก เศรษฐกิจวูบคนไทยหมดแรงผ่อนบ้าน-รถ

ที่มา ไทยรัฐออนไลน์

ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย เผย 9 เดือนแรก เอ็นพีแอลสินเชื่อรถยนต์–บ้านพุ่งพรวด ดันเอ็นพีแอลรวมจากสิ้นปีก่อน 2.5% ขึ้นมาอยู่ที่ 3.3% ขณะที่แบงก์กรุงไทยมึน 9 เดือนแรก เอ็นพีแอลเพิ่ม 11,000 ล้านบาท หรือ 19.5% ส่วนใหญ่มาจากลูกค้าเอสเอ็มอี

นายณรงค์ชัย ว่องธนะวิโมกษ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายกลยุทธ์และการเงิน ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในงวด 9 เดือนแรกปีนี้ ยอดสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) อยู่ที่ 6,000 ล้านบาท หรือ 3.3% ของสินเชื่อรวม ซึ่งได้เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 56 ที่ตัวเลขเอ็นพีแอลอยู่ที่ 2.5% สาเหตุมาจากการชะงักของเศรษฐกิจ และปัญหาการเมือง ที่กระทบความสามารถการชำระหนี้ของลูกค้า โดยเฉพาะกลุ่มสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ และสินเชื่อที่อยู่อาศัย ขณะเดียวกันก็ยังมีสินเชื่อรายใหญ่ 1-2 รายที่ประสบกับปัญหาเศรษฐกิจไม่สามารถชำระหนี้ได้

“เอ็นพีแอลที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อรายเดิม ส่วนลูกค้ารายใหม่ที่ปล่อยกู้ในช่วง 6 เดือน ที่ผ่านมา ยังไม่มีปัญหา อย่างไรก็ตาม สัญญาณของการเพิ่มขึ้นของเอ็นพีแอลเช่าซื้อรถยนต์ และสินเชื่อบ้านเริ่มชะลอตัวมาแล้ว 2-3 เดือน อัตราการเรียกเก็บหนี้ใหม่ไม่มีปัญหา ดังนั้น เชื่อว่าสิ้นปีหากสามารถแก้ไขเอ็นพีแอลสินเชื่อรายใหญ่ 1-2 รายได้ หนี้เอ็นพีแอลจะลดลงเหลือ 3% ของสินเชื่อรวม

นายณรงค์ชัยกล่าวอีกว่า ในช่วง 9 เดือนแรก ยอดสินเชื่อเพิ่มขึ้นสุทธิ 6.9% มียอดสินเชื่อรวมที่ 183,900 ล้านบาท ดังนั้น ในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ การปล่อยสินเชื่อให้เติบโตตามเป้าหมายที่ 15% จึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้แน่นอน ส่วนระยะเวลาที่เหลือของปีนี้ ยอดสินเชื่อปีนี้ยังเติบโตอยู่แต่ชะลอตัว โดยสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและย่อม หรือเอสเอ็มอี เริ่มแผ่ว สินเชื่อบ้าน รถยนต์ และสินเชื่อรายใหญ่เติบโตได้อยู่

สำหรับผลประกอบการ 9 เดือนแรก มีกำไรสุทธิจำนวน 900 ล้านบาท ลดลง 60.6 ล้านบาท หรือ 6.3% เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักเกิดจากค่าใช้จ่ายการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 16.8% และค่าเผื่อหนี้สูญเพิ่มขึ้น 67.4% ซึ่งเป็นผลจากความไม่แน่นอนของสภาวะเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นในอดีตตั้งแต่ช่วงปลายปี 2556

นางกิตติยา โตธนะเกษม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายงานบริหารการเงิน ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในช่วง 9 เดือนแรก ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อ 1,800,967 ล้านบาท เพิ่มขึ้น จากสิ้นปี 2556 จำนวน 89,877 ล้านบาท คิดเป็น 5.25% โดยเพิ่มขึ้นจากลูกค้ารายย่อยและลูกค้าภาครัฐเป็นหลัก ขณะที่เอ็นพีแอล อยู่ที่ 67,467 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11,009 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 19.50% ซึ่งส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นจากลูกค้าเอสเอ็มอี ขนาดเล็ก และลูกค้ารายย่อยบางส่วน ซึ่งเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่

“ธนาคารได้รักษาอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพในระดับที่เหมาะสม คือ 107.92% และไตรมาสที่ 2 ปี 57 เป็นต้นมา ได้ปรับการกันสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญรายเดือนเพิ่มขึ้นจากเดือนละ 500 ล้านบาท เป็น 700 ล้านบาท ให้เหมาะสมกับจำนวนสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งได้กันสำรองเพิ่มเติมในไตรมาส 2 อีก 3,000 ล้านบาท ทำให้ งวด 9 เดือน ธนาคารตั้งสำรองรวม 9,965 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.62% จากงวดเดียวกันของปีก่อน”

สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ธนาคารมีกำไรสุทธิ 9,255 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.23% ส่วนผลประกอบการงวด 9 เดือน มีกำไรสุทธิรวม 25,172 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.49% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน.
ooo

I've fallen, and I can't get up! http://www.youtube.com/watch?v=daysCqmqd2Y