วันเสาร์, สิงหาคม 23, 2557

การยาง การเมือง ศึกษา ชะอวด โมเดล ในยุค "คสช."


ที่มา มติชนออนไลน์

กรณีราคายางพาราที่ "ดิ่งลง" เป็นลำดับ กระทั่งทำท่าว่าอาจหลุดจาก 50 บาท/กิโลกรัม กำลังกลายเป็น"กรณีศึกษา"

เป็น Case Study อันแหลมคม

ไม่เพียงแต่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ จะออกมาแสดงความห่วงใย ไม่เพียงแต่ นายอภิชาต ศักดิเศรษฐ์ จะออกมาแสดงความกังวล

หาก "ชาวสวนยาง" ก็เริ่ม "ขยับ"

ภายในวันสองวันนี้จะมีการประชุมของชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (ชยสท.) ที่สงขลา มีการประชุมเครือข่าวชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (คสยท.) ที่จันทบุรี

ทั้งภาคีเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางพารา 16 จังหวัดภาคใต้ ก็ไม่อยู่นิ่งเฉย

หากตรวจสอบจากตลาดกลางยางพารา ไม่ว่าที่หาดใหญ่ ไม่ว่าที่นครศรีธรรมราช ไม่ว่าที่สุราษฎร์ธานี ก็เห็นตรงกัน

ตรงกันในราคาที่มีแต่ "ลด" ไม่มี "ขึ้น"

น่าเศร้าที่ไม่มีความเห็นจาก นายชวน หลีกภัย น่าเศร้าที่ไม่มีความเห็นจาก นายบัญญัติ บรรทัดฐาน

ชะตากรรม "ชาวสวนยาง" จึง "วังเวง" หวังเหวิดยิ่ง

หากย้อนกลับไปศึกษาสภาพการเคลื่อนไหวเมื่อเดือนสิงหาคม 2556 เปรียบเทียบกับสภาพงันชะงักที่เห็นและเป็นอยู่ในเดือนสิงหาคม 2557

มีความ "ต่าง" เหมือนหน้ามือกับหลังตีน

เมื่อเดือนสิงหาคม 2556 มีการเคลื่อนไหวทั้ง "ใน" และ "นอก" เวทีรัฐสภาสะท้อนความหงุดหงิด ไม่พอใจต่อราคายางพารา

ไม่พอใจราคา 80 บาท/กิโลกรัม

ในพื้นที่ภาคใต้มีการชุมนุมย่อยและขยายตัวเป็นขนาดใหญ่เป็นลำดับกระทั่งนำไปสู่ปรากฏการณ์อันเรียกว่า"ชะอวด โมเดล"

และปะทุใหญ่โดยการปิดถนนในเดือนกันยายน 2556

เป็นการปิดถนนโดยหวังที่จะให้เกิดขึ้นในขอบเขตทั่วประเทศ แต่ในที่สุดก็เห็นได้เพียงบริเวณหน้าโค-ออป สุราษฎร์ธานี

ข้อเรียกร้องคือ ต้องได้ 120 บาท/กิโลกรัม

ความรุนแรง แข็งกร้าว แผ่ลามไปถึงจังหวัดตรัง ไปยังจังหวัดสงขลา กระทั่งแกนนำบางคน ประกาศจะปิด "ด่าน" ชายแดน และแม้รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพียรอย่างเต็มกำลังในการแก้ปัญหา การปิดถนนยังขยายมายังชุมพร ประจวบคีรีขันธ์

และยก "กำลัง" มาร่วมกับ "กปปส." ในกาลต่อมา

การย้อนไปศึกษา "อดีต" ทำให้เกิดความเข้าใจมากยิ่งขึ้นว่า แท้จริงแล้ว "ชะอวดโมเดล" กับ "บางสะแก โมเดล" สัมพันธ์อย่างไรกับ "ชัตดาวน์" กทม.

ทั้งหมดเป็นผลพวงจากเวที "ผ่าความจริง"

ทั้งหมดเป็นผลจากการแปรและขยายความเดือดร้อนในทาง "เศรษฐกิจ" ให้กลายเป็นประเด็นในทาง "การเมือง"

รวมศูนย์ในการบ่อนเซาะ "รัฐบาล"

เท่ากับเป็นการสะท้อนพลังอย่างที่เรียกว่า "วิริยภาพ" ของเหล่า "ขุนพล" แห่งพรรคประชาธิปัตย์ในการประสานแต่ละ "ยุทธวิธี" ของตน เพื่อบรรลุเป้าหมายใหญ่ของ "ยุทธศาสตร์" ในการโค่นล้ม

โค่นล้มรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ขณะที่เมื่อผ่านกระบวนการ "รัฐประหาร" ในเดือนพฤษภาคม 2557 มาแล้วกระทั่ง ณ วันนี้สภาพการทางการเมืองอาจ "คลี่คลาย" บรรลุเป้าหมายครบถ้วน

แต่สถานการณ์ "เศรษฐกิจ" กลับต้องชะงักงัน

ที่เห็นอย่างเด่นชัดอย่างยิ่งก็คือ สถานการณ์ราคายางพารามีแต่ "ดิ่งลง" จากที่เคย 80 บาท/กิโลกรัม มาอยู่ที่ 50 บาทต้น/กิโลกรัม

แปรเปลี่ยนมากถึง 30 บาท/กิโลกรัม

ในสภาพที่ "คสช." อยู่ในฐานะแห่ง "รัฏฐาธิปัตย์" เต็มรูปแบบโอกาสของ"ชะอวดโมเดล" จึงยาก

เพราะท่าทีของ "คสช." แตกต่างจากรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขณะเดียวกัน กฎอัยการศึกก็ดึงแข้งดึงขาไม่เพียงแต่กับ "ชาวสวนยาง" หากแต่พรรคประชาธิปัตย์ก็ถูกตรึง

พลันที่เลขาธิการ "กปปส." หันหน้าเข้า "วัด"
ooo
เรื่องเกี่ยวข้อง...

ยางใต้ขู่ม็อบใหญ่-ขีดเส้น 7วัน จี้ คสช.แก้ราคาดิ่งเจ๊งจริงไม่การเมือง-"ชวน"แนะเลี้ยงโคขุน เสริม

ชาวสวนยางสุราษฎร์ ยื่นหนังสือถึงนายกฯคนใหม่ และหัวหน้า คสช.เร่งแก้ราคาตกให้ 7 วันก่อนเคลื่อนไหวใหญ่


วันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2557 เวลา 08:11:25 น.

เมื่อเวลา 15.00 น.วันที่ 21 สิงหาคม ได้มีตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยางพาราในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี ในนามแนวร่วมเกษตรกรชาวสวนยางพาราบ้านส้องและพันธมิตร นำโดยนายไพโรจน์ ฤกษ์ดี มีอาชีพเป็นเกษตรกรและทนายความกับพวกรวม 6 คนได้เดินทางมายื่นหนังสือเปิดผนึกผ่านศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ศาลากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานีถึง พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะ คสช.และว่าที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ เรียกร้องให้แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวนยางอันเนื่องมาจากราคาตกต่ำอย่างต่อเนื่อง

นายไพโรจน์ กล่าวว่า อยากให้เร่งช่วยเหลือแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำเป็นวาระเร่งด่วนที่สุด พร้อมจะรอคำตอบภายใน 7 วันหากไม่ได้รับการเหลียวแล จะรวมตัวเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ ซึ่งขอยืนยันการออกมาเคลื่อนไหวครั้งนี้มาด้วยความบริสุทธิ์ใจเนื่องจากเป็นความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรจริงๆไม่มีเกมการเมืองใดๆแอบแฝงอยู่เบื้องหลังหรือพรรคการเมืองใดมาหนุนหลัง

“ ตอนนี้ยางพาราแพร่กระจายไปภาคอีสาน ภาคตะวันออกและภาคเหนือ หากแก้ปัญหาทำได้จะเป็นการช่วยเหลือเกษตรได้ทั้งประเทศ หากไม่ทำอะไรเกษตรกรและมวลชนจะพากันออกมาโดยไม่เกรงกลัวอำนาจของ คสช.หรืออำนาจของรัฐบาลอีกต่อไปแล้ว ” นายไพโรจน์ กล่าว

ในการนี้นายพิชิต ตู้บรรเทิง หัวหน้าศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้เป็นผู้รับหนังสือดังกล่าวโดยรับจะว่าจะนำเสนอไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยเหนือที่เกี่ยวข้องได้รับทราบเพื่อให้ความช่วยเหลือแก้ไขปัญหาตามลำดับขั้นตอนต่อไป

วันเดียวกันที่ตลาดกลางยางพาราสุราษฎร์ธานีที่สหกรณ์สุราษฎร์ธานี(โคออป) อ.พุนพิน มีการประมูลซื้อขายยางพารา ปรากฎว่า ยางแผ่นดิบ เพิ่มขึ้น 18 สตางค์ ได้ราคา ก.ก.ละ 53.25 บาท ตลาดท้องถิ่น ก.ก.ละ 51 บาท น้ำยางสด 49 บาท เศษยาง 21.50 บาท ส่วนที่ตลาดกลางหาดใหญ่ จ.สงขลา ยางแผ่นดิบชั้น 3 ขึ้น 62 สตางค์ ได้ราคา ก.ก.ละ 52.57 บาทและตลาดกลางนครศรีธรรมราช ได้ราคา 52.41 บาท

นายชวน หลีกภัย ประธานที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวในพิธีเปิดงานวิชาการมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(ม.อ.) วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี ว่า พืชผลสินค้าเกษตรในภาคใต้มีราคาตกต่ำมาก ซึ่งควรที่จะหาวิธีการช่วยเหลือเกษตรกรด้วยให้มีอาชีพเสริม เช่น การเลี้ยงโคขุน ซึ่งจากที่เคยไปพบคนไทยในมาเลเซียแนะนำว่าพื้นที่ภาคใต้มีโอกาสมากการเลี้ยงโคขุนจะง่ายกว่าและทางมาเลเซียรับไม่อั้น

“ที่มาเลเซียเคยเจอปัญหามาก่อนจึงลดพื้นที่การปลูกยาง เพราะไม่มีคนกรีดยาง หลังเริ่มจากมะพร้าวไปปลูกยางพาราแล้วจึงหันไปปลูกปาล์ม วันนี้เขาพัฒนาเรื่องอื่นๆไปเรื่อยๆ เราจึงจำเป็นจะต้องมาไล่ปัญหาเพราะจะต้องทำงานแบบสร้างสรร สำหรับมหาวิทยาลัยอย่าง ม.อ.สุราษฎร์ที่ทำงานวิจัยยางอยู่อาจจะจับมือกับ ม.อ.หาดใหญ่ มาทำเรื่องยางร่วมกัน ใช้ความหลากหลายในทุกวิทยาเขตที่มีอยู่มาช่วยกัน ” นายชวน กล่าว