วันพฤหัสบดี, กรกฎาคม 31, 2557

บีบีซีไทย : ประชาธิปไตยในเอเชีย (1) ข้อคิดจากฟิลิปปินส์ถึงไทย (2) ประสบการณ์ของเนปาลและเกาหลี

ฟิลิปปินส์ล้มลุกคลุกคลานในเรื่องประชาธิปไตยไม่แพ้ไทย นักกิจกรรมที่นั่นเตือนไทยให้เร่งสร้างความยุติธรรม
ประชาธิปไตยในเอเชีย (1) ข้อคิดจากฟิลิปปินส์ถึงไทย

ที่มา บีบีซีไทย

เมื่อการวิเคราะห์วิจารณ์เกี่ยวกับวิกฤติการเมืองไทย ไม่อาจทำได้ในประเทศไทย แวดวงเอ็นจีโอในภูมิภาคอาเซียนจึงไดัเชื้อเชิญกลุ่มคนต่างๆที่เกี่ยวข้องมาพูดคุยแลกเปลี่ยน ให้กำลังใจ และวางแนวทางการขับเคลื่อนเพื่อผลักดันประเด็นประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนกันต่อไป

แกนนำการหารือได้แก่ฟอรั่มเอชียและมูลนิธิศักยภาพชุมชน โดยมีเครือข่ายองค์กรที่ทำเรื่องคนหาย นักโทษการเมือง และสิทธิมนุษยชนทางฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเกาหลี ร่วมสนทนา

ฝั่งไทยมีผู้เข้าร่วมไม่ถึงสิบคน มาจากวงการสื่อมวลชน ทนายสิทธิมนุษยชน และนักเคลื่อนไหวประสานเยาวชนและชาวบ้านในเขตอีสาน

แอน โรซาเลซ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฟิลิปปินส์ กล่าวเปิดสัมนาว่า ประเทศฟิลิปปินส์อยู่ภายใต้กฎอัยการศึกถึงสี่ทศวรรษกว่าจะได้มาซึ่งประชาธิปไตย หลายฝ่ายต้องช่วยกันทั้งทางกฎหมายและการเมืองเพื่อเอาทรัพย์สินที่มาร์กอสได้มาโดยมิชอบ เกือบ 400 ล้านเหรียญสหรัฐกลับคืนมา

มีการร้องเรียนคดีละเมิดสิทธิเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจาก 600 เป็นกว่า 7,000 คดี ทุกวันนี้ยังต้องตามแก้ไขกฎหมายหรือสังคายนาปัญหาตกค้างอีกมากมาย เธอเองก็มีส่วนในการฟ้องคดีละเมิดสิทธิในสมัยท้ายๆของยุคมาร์กอสเช่นกัน จนเพิ่งมาชนะคดีเมื่อสามปีก่อน

สมัยเผด็จการมาร์กอส นักการเมืองและเอ็นจีโอต่างแตกแยกเป็นก๊กเป็นเหล่า มารวมกันได้หลังจากที่อะคิโนผู้พ่อของประธานาธิบดีคนปัจจุบันถูกสังหารเมื่อปี 2529 ก่อนจะมาเป็นการปฏิวัติประชาชนโค่นมาร์กอสได้ในที่สุด

โรซาเลซกล่าวว่า ถ้าหากคณะรัฐทหารไทยฉลาดพอไม่ทำทารุณกรรมต่อประชาชนอย่างมาร์กอส ก็ยังคงหวังได้ว่าประชาชนส่วนต่างๆจะพอหาทางมีสิทธิมีเสียงตกลงใจกันต่อไปว่าอยากจะมีรัฐบาลแบบไหนในอนาคต

ดังนั้น ในระหว่างที่ยังไม่มีเรื่องวุ่นวายนัก ทุกฝ่ายในไทยควรจะได้หารือและหาทางที่จะนำมาซึ่งความยุติธรรมในระบอบสังคมและประชาธิปไตย

รายงานโดย เข็ม อิศรา

(ติดตามตอน 2 ประสบการณ์ของเนปาลและเกาหลี)

ประชาธิปไตยในเอเชีย (2) ประสบการณ์ของเนปาลและเกาหลี

เนปาล ความตื่นตัวเรื่องประชาธิปไตยมาจากรากหญ้า
พัฒนาการประชาธิปไตยในหลายประเทศในเอเชียเต็มไปด้วยความยากลำบาก ฟิฟลิปปินส์เตือนไทยให้หลีกเลี่ยงการปราบปรามประชาชนอย่างสมัยมาร์กอส และให้รวมทุกฝ่ายหารือเพื่อสร้างความยุติธรรม นี่เป็นเวทีการเสวนาของกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนหรือเอ็นจีโอในหลายประเทศของเอเชียที่พิจารณาประเด็นการผลักดันประชาธิปไตย

ประสบการณ์จากเนปาลและเกาหลี

มุคุนดา คัตตัล จาก Informal Sector Services Center พูดถึงประวัติศาสตร์เนปาลจากระบอบกษัตริย์ครองราชย์ 240 ปี จนมาเป็น กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญรูปแบบการต่อสู้กว่าจะได้ประชาธิปไตยมา มีตั้งแต่สงครามกองโจรโดยลัทธิเหมาไปจนถึงสันติวิธี

ขบวนประชาชนเริ่มออกสู่ถนนครั้งแรกปี 2533 เพื่อเรียกร้องระบบกษัตริย์อยู่ใต้รธน. พอปี 2544 เกิดเหตุการณ์มกุฎราชกุมารสังหารครอบครัว นำไปสู่ความเสื่อมของสถาบัน และผู้คนออกสู้บนท้องถนน 19 วันจนในที่สุดกษัตริย์ยอมยกระบอบใหม่ให้ ในปี 2551

คัตตัลกล่าวว่าปัจจัยสำคัญของการเปลี่ยนผ่านคือความตื่นตัวในเรื่องประชาธิปไตย ทุกหย่อมหญ้าในชนบทไม่ใช่เฉพาะผ่านระบบพรรคการเมือง

องค์กรทางสังคมทำงานทั้งระดับชาติและกับชุมชนที่เข้มแข็ง และสถานีวิทยุชุมชนที่ระดมคนให้ร่วมชุมนุมโดยสงบ อีกทั้งสื่อมวลชนโดยรวม เหล่านี้คือรากฐานที่มั่นคงอุนจี กัง แห่ง Korea House for International Solidarity กล่าวว่าเกาหลีอยู่มา 39 ปีโดยไม่มีปฏิวัติ

จาก 2503 ที่มีปฏิวัติเมื่อ 19 เมษา มาสู่ระบอบยูชิน อีก 12 ปีถัดมา จนกระทั่งเกิดการสังหารปาค จุง ฮี ในปี 2522 ปลายปีนั้นก็เกิดปฏิวัติโดยประธานาธิบดีชุนดูฮวาน18 May 2533 เกิดความเคลื่อนไหวใหญ่ มีการลุกฮือของประชาชนและนักศึกษาที่ถูกล้อมปราบอย่างโหดเหี้ยม ทารุณ

กว่าคนเกาหลีจะขับไล่เผด็จการชุนได้ก็ใช้เวลาอีก 7 ปี แต่ก็เจอเผด็จการรายใหม่อีก

กัง กล่าวว่า สิ่งที่เป็นบทเรียนสำคัญต่อขบวนประชาธิปไตยโดยทั่วไปคือการที่สังคมสามารถเอาผิดกับผู้นำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนได้

อดีตประธานาธิบดีชุนดูฮวาน และโรแตวู ต้องถูกดำเนินคดี ขึ้นศาลในปี 2538 และแม้ว่าจะได้รับอภัยโทษหลังคุมขังได้เพียงหนึ่งปี แต่บรรทัดฐานนี้ได้สร้างความมั่นใจแก่นักขับเคลื่อนสังคมทั้งหลายได้

เกาหลีได้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในระบอบประชาธิปไตยก็เมื่อปี 2541 และ 2547 จนมาถึง 2553 ที่ได้ลูกสาวอดีตประธานาธิบดีปาค มาเป็นผู้นำอีก

ยัพ สวี เซ็ง กรรมการอำนวยการ SUARAM มาเลเซีย เล่าถึงหมุดหมายที่รวมพลังฝ่ายประชาธิปไตย เข้าด้วยกันคือ การก่อตั้ง เบอเซห์ The Coalition for Clean and Fair Elections หรือ Bersih ในปี 2548 เพื่อเรียกร้องการปฏิรูประบบเลือกตั้งให้เป็นประชาธิปไตยและเป็นธรรม

ในปี 2550 การประท้วงสามารถระดมคนได้ครึ่งแสน ก่อนหน้ามีการเลือกตั้ง 2551ซึ่งเป็นสัญญาณสำคัญต่อรัฐบาลอุมโน

ปี 2552 ขบวนการเบอเซห์ ก็ขยับตัวใหม่โดยไม่อาศัยการนำจากพรรคการเมืองแต่อย่างใด โดยเรียกร้องให้มีการจัดเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม และสามารถจัดชุมนุมใหญ่ได้ทุกปี ตลอดสามปีที่ผ่านมา

เซ็ง กล่าวว่า ในบรรยากาศแห่งความหวาดกลัว และ กดดันจากฝ่ายรัฐบาลนั้น สิ่งสำคัญคือภาคประชาสังคมต้องสามารถเข้ามารวมตัวกัน เกื้อหนุนกันและค่อยๆสร้างเครือข่ายพลังขยับกิจกรรมกันต่อไปเป็นการสร้างภูมิคุ้มกัน ซึ่งกันและกัน

นอกจากนั้น การสร้างแนวร่วมกับกลุ่มองค์กรอื่นๆเช่นพรรคการเมืองก็มีความสำคัญ ด้วยการที่ก้าวออกมาจากความหวาดหวั่น และขยายฐานภาคประชาชนให้เป็นขบวน และร่วมมือกับฝ่ายค้านในสภา ในที่สุดก็สามารถกดดันให้มีการยกเลิกกฎหมายความมั่นคง ได้ในปี 2555

อีกปัจจัยแห่งการร้อยรัดของขบวนการประชาชนคือสื่อทางสังคมออนไลน์. การถ่ายและส่งต่อวิดีโอ บทละครล้อเลียนตลอดจนการ์ตูนไปในหมู่คนที่คิดคล้ายๆกันจนก่อกระแสวงกว้างขึ้นมาจนนำไปสู่การประท้วงใหญ่ในที่สุด

เครือข่ายภาคประชาสังคมในภูมิภาคให้คำมั่นว่าจะช่วยกดดันรัฐบาลของไทยในทุกเวทีภูมิภาค เวทีโลก และวงประชุมต่างๆ เช่น ที่ทำไปแล้วคือ การออกแถลงการณ์ของหลายองค์กร การจัดขบวนประท้วงหน้าสถานทูตไทยที่กัวลาลัมเปอร์ มะนิลา โซล เป็นต้น

เข็ม อิศรา รายงาน

ประชาธิปไตยในเอเชีย (1) ข้อคิดจากฟิลิปปินส์ถึงไทย อ่านได้ที่นี่ http://on.fb.me/1o5SuAd