วันเสาร์, กันยายน 16, 2560

มองดูเขตเศรษฐกิจพิเศษในลาวเพื่อแสวงหานักลงทุน... ร้าง... ซากความหวังที่ไปไม่ถึง... บทเรียนของการให้อำนาจและความไว้ใจแก่กลุ่มบริษัทสัญชาติใดสัญชาติหนึ่งเกินไป





เขตเศรษฐกิจพิเศษร้าง ซากความหวังที่ไปไม่ถึง : คอลัมน์ เดือนหงายที่ชายโขง


วันที่ 13 กันยายน 2560
ที่มา มติชนออนไลน์
โดย ธีรภัทร เจริญสุข


เขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone: SEZ) คือเขตพื้นที่ปกครองพิเศษที่แยกใช้ระบบบริหารจัดการออกจากพื้นที่อื่นในประเทศเพื่อการพัฒนา ประเทศจีนได้ริเริ่มสร้างแนวคิดเขตเศรษฐกิจพิเศษมาเพื่อยกเว้นข้อกำหนดที่เป็นอุปสรรคกับการค้าการลงทุนเนื่องจากในอดีตระบบกฎหมายคอมมิวนิสต์จีนไม่เอื้ออำนวย โดยเขตเศรษฐกิจแรกที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่งคือ เขตเศรษฐกิจพิเศษเสิ่นเจิ้น จูไห่ ซานโถว (ซัวเถา) และเซี่ยเหมิน (เอ้หมึง) ความสำเร็จดังกล่าวทำให้จีนขยายเขตเศรษฐกิจพิเศษออกไปอีกและประเทศอื่นๆ ที่กำลังพัฒนาก็เลียนแบบตามเพื่อดึงดูดนักลงทุน อุตสาหกรรมและแหล่งเงินทุนเข้ามาในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศในเขตอินโดจีนลุ่มน้ำโขง

สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวก็พยายามเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อแสวงหานักลงทุน โดยได้กำหนดให้พื้นที่ 10 แห่ง เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ และดึงนักลงทุนจากจีน เวียดนาม และญี่ปุ่น เข้ามาก่อสร้างโรงงานและแหล่งที่พักอาศัย โดยเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง คือ เขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน-เซโน ที่แขวงสะหวันนะเขต ซึ่งมีโรงงานอุตสาหกรรมสัญชาติญี่ปุ่นเช่น โตโยต้า นิคอน แคนนอน ย้ายฐานการผลิตไปภายหลังมหาอุทกภัย 2014 ในขณะที่เขตเศรษฐกิจพิเศษอื่นของลาวยังล้มลุกคลุกคลานไปไม่ถึงไหน

ถ้าเข้าไปในพื้นที่ที่ประกาศว่าเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยเฉพาะที่บริษัทจากสาธารณรัฐประชาชนจีนเข้ารับสัมปทานพัฒนา จะได้พบกับพื้นที่ว่างเปล่า อาคารร้าง และซากวัสดุก่อสร้างกองระเกะระกะโดยไม่เห็นว่าจะมีการพัฒนาต่อ เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษบ่อเต็นแดนคำในแขวงหลวงน้ำทาและเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำในแขวงบ่อแก้ว ซึ่งถูกแปรรูปให้กลายเป็นดินแดนกาสิโน และถูกทิ้งร้างไปบางส่วนเนื่องจากนโยบายปราบปรามการพนันของรัฐจีน ส่วนเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ตั้งอยู่ในแขวงเวียงจันทน์ และนครหลวงเวียงจันทน์อย่างเขตเศรษฐกิจพิเศษบึงทาดหลวง ซึ่งเคยตีข่าวใหญ่โตว่าจะเป็นเมืองใหม่อลังการ ก็ถูกทิ้งไปหลังจากพัฒนาได้เพียงส่วนเดียว

ในระยะแรกของการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษบึงทาดหลวงนั้น พื้นที่พัฒนาถูกปิดกั้นอย่างสิ้นเชิงจากภายนอกรอบข้าง หากคนลาวจะเข้าไปก็จะถูกเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของจีนขับไล่ออกมา ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์สะท้อนไปถึงรัฐบาลลาวอย่างรุนแรงว่า เหตุใดคนลาวจึงไม่มีสิทธิเข้าไปบนแผ่นดินลาวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตเดียวกับพระธาตุหลวงที่เป็นสักการะปูชนียสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของนครหลวงเวียงจันทน์ รัฐบาลลาวจึงต้องเข้าเจรจาต่อรองและเปลี่ยนแปลงการปฏิบัติงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษบึงทาดหลวง แต่กระนั้น การพัฒนาของบริษัทจีนก็เป็นไปอย่างล่าช้าเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายของทั้งทางจีนและทางลาว ในที่สุดการพัฒนาก็สะดุดหยุดลง ปล่อยให้คอนโดมิเนียมสูงร้างคนอยู่กลางบึงและทุ่งกว้าง ถนนดินแดง และต้นไม้ที่ตายซาก เปิดพื้นที่ให้กลายเป็นตลาดนัดยามเย็นของชาวเมืองโดยไม่ทราบว่าจะเกิดการพัฒนาต่อให้เต็มรูปแบบตามแผนเมื่อใด

เขตเศรษฐกิจพิเศษร้างเช่นนี้มิได้เกิดเฉพาะใน สปป.ลาวเท่านั้น ยังสามารถพบได้ในอีกหลายประเทศที่พยายามเปิดให้จีนเข้าไปลงทุน ไม่ว่าจะเป็น เวียดนาม กัมพูชา ศรีลังกา หรือประเทศในแอฟริกา

การตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษจึงไม่ใช่ยาวิเศษที่จะช่วยให้เศรษฐกิจพัฒนาก้าวหน้าได้ ตราบใดที่ระบบการบริหารจัดการ ระบบกฎหมาย ระบบขนส่งคมนาคมโลจิสติกส์ และการหาตลาดทั้งภายในและภายนอกประเทศยังมีปัญหา

เขตเศรษฐกิจพิเศษต้องการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาอย่างจริงจังและจริงใจ ระบบปฏิบัติต้องไปในแนวทางเดียวกันและสร้างพันธกิจตามวิสัยทัศน์ที่ตั้งไว้ให้สำเร็จ

การให้อำนาจและความไว้ใจแก่กลุ่มบริษัทสัญชาติใดสัญชาติหนึ่งเกินไปโดยปราศจากการกำกับดูแล จะส่งผลร้ายทั้งกับการพัฒนาและสภาพสังคมซึ่งแก้ไขได้ยากในภายหลัง