วันอาทิตย์, กันยายน 17, 2560

"อิศรา อมันตกุล ฟื้นขึ้นมาแกคงจะบอกว่า เอาชื่อของกูคืนมา"

วันนี้คงต้องตามเก็บเรื่อง บิ๊กสื่อ อีกนิด ไม่เช่นนั้นจะเป็นการ ขี้ไม่สุด ไปได้

เรื่องนี้มีผลกระทบอย่างมากกับความน่านับถือขององค์กร มากกว่าประเด็นละเมิดส่วนบุคคล ไม่เหมือนกับเรื่องในวงนักกิจกรรมรุ่นหนุ่มสาวที่รังสิมันต์ โรม เคยเอามาปูด ซึ่งลงเอยต่างฝ่ายต่างออกมาเผยตัวโดยนัย ว่าเกิดอะไรขึ้นแล้ว ไม่ต้องสาวลงไปลึกกว่าที่เขาเปิดไว้

ประเด็นก็คือ องค์กรอัน น่าเชื่อถือ กำลังสูญเสียความ น่านับถือไปกับการปกป้องหัวหน้า ในลักษณะ กินปูนร้อนท้องเสียจนมีคนคอมเม้นต์ว่า 

“ถ้าคุณอิศรา อมันตกุล ฟื้นขึ้นมาแกคงจะบอกว่า เอาชื่อของกูคืนมา”
 
(จากโพสต์ของ Thanapol Eawsakul https://www.facebook.com/thanapol.eawsakul/posts/1603486289718204)

กับคอมเม้นต์ของสื่อระดับเซเล็บอีกคน Jom Petchpradab แปลกใจว่า ทำไมคนในองค์กร ไม่พยายามแยก ประสงค์ ออกจากสถาบันอิศรา

แถลงการณ์ของสำนักข่าวนี้ออกมาสร้างความผิดหวังอย่างมาก ตัวบุคคลจะผิด จะถูก ก็สอบสวน ตรวจสอบกันให้กระจ่าง ไม่ใช่เอาตัวสถาบันมาปกป้องตัวบุคคลจนน่าเกลียด

ความคืบหน้าล่าสุดหลังจากที่สถาบันอิศราออกแถลงการณ์ขู่จะเอาเรื่องกับผู้ที่นำข่าว “บิ๊กสื่อปล้ำลูกน้องสาว” มาเปิดโปง แล้วก็มีฉบับที่สองตามมา คราวนี้ไม่เพียงขู่ แต่ได้ยื่นฟ้องร้อง “กับผู้ใช้ Facebook ชื่อ  Mr. Andrew MacGregor Marshall ที่ทำให้ผู้อำนวยการบริหารสถาบันได้รับความเสียหาย”

เหตุเพราะนายมาร์แชล ได้ลงข้อความประกอบภาพของนายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ “อดีตนายกสมาคมผู้สื่อข่าวฯ” (ตามถ้อยเขียนของคุณแอนดรูว์) “เขาถูกกล่าวหาว่าล่วงล้ำทางเพศต่อพนักงานลูกน้องคนหนึ่ง และเขาขู่จะฟ้องนักหนังสือพิมพ์ไทยคนไหนที่รายงานเรื่องนี้”


นายมาร์แชลระบุด้วยว่า “เช่นนั้นผมจึงเป็นผู้รายงาน” (เสียเอง) พร้อมทั้งให้ลิ้งค์รายละเอียดของเรื่องจาก ข่าวสดอิงลิช (http://www.khaosodenglish.com/…/journalism-association-inv…/) ซึ่งเป็นข่าวเกี่ยวกับการร้องเรียนให้สมาคมนักข่าวฯ ทำการสอบสวนเรื่องนี้

แถลงการณ์ฉบับที่สองของสถาบันอิศรา โดย น.ส.วิมลพรรณ ปิตธวัชชัย ประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันอิศรา มีลักษณะเป็นการคุ้มกันภัย หรือ ‘damages controlled’ ตามปกติขององค์กรทั่วๆ ไป หากแต่สถาบันอิศราไปไกลกว่านั้นหน่อยหนึ่ง ตรงที่เป็นการตีกลับ หรือ ‘offensive’

เมื่อใช้วิธีการ “ลอบฆ่าทางบุคคลิกภาพ” หรือ ‘character assassination’ ต่อนายแอนดรูว์ แม็คเกรเกอร์ มาร์แชล พร้อมกันไปด้วยในตัว โดยเจาะจงชี้ว่า

“ซึ่งในขณะรับแจ้งความพนักงานสอบสวนได้ตรวจสอบข้อมูลแล้วพบว่า Mr. Andrew MacGregor Marshall เป็นผู้มีพฤติการณ์สร้างความแตกแยกในสังคมไทย ถูกแจ้งความดำเนินคดีไว้แล้วหลายคดี และอยู่ในระหว่างการติดตามตัว”


ตรงนี้เองที่ทำให้แถลงการณ์ฉบับสองของ อิศราล้ำเส้นความพอดี หรือ ‘decency’ ออกไปมากอยู่ ความพยายามปกป้องผู้อำนวยการไม่ใช่เรื่องเสียหาย ไม่ว่าการละเมิดทางเพศที่มีการกล่าวหาจะเป็นความจริงหรือไม่

(ที่จริงแล้วน้ำหนักไปอยู่ที่ผู้ถูกกล่าวหาสามารถแก้ต่างได้ดีแค่ไหน บวกกับผู้เสียหายทำให้สังคมเห็นใจหรือเชื่อว่าได้รับเคราะห์กรรมมากน้อยเพียงไร)

ทว่า น่ามาฟังเสียงของผู้สันทัดกรณีในวงการสื่อไทยคนหนึ่ง (เจ้าเก่าที่เรา ฉกสมอง ของเขาเอามาใช้เป็นประจำ)

อธึกกิต แสวงสุข ชี้ว่าสถาบันอิศราพยายามทำให้นายมาร์แชล “เป็นคนที่มีพฤติกรรมสร้างความแตกแยก เชื่อถือไม่ได้” จนทำให้ “แน่ละ พวกสลิ่มอ่านหนังสือไม่ถึง ๘ บรรทัดก็จะแห่ออกมาปกป้อง” (ตัว ผอ.)

“ซึ่งความจริงไม่ใช่เลย คนกล่าวหา บิ๊กสื่อ คือกรรมการสมาคมนักข่าว คนที่ตั้งกรรมการสอบ บิีกสื่อ คือสมาคมนักข่าว แอนดรูว์เป็นเพียงผู้ที่บอกว่า บิ๊กสื่อ คือประสงค์

ว่าตามจริง แอนดรูว์ไม่ได้หมิ่นประมาทด้วยซ้ำ เพราะแอนดรูว์ไม่ได้บอกว่าประสงค์ผิด แอนดรูว์เพียงแต่บอกว่าประสงค์คือผู้ถูกกล่าวหา (Accused) ถูกสมาคมนักข่าวตั้งกรรมการสอบ

แล้วหลังจากแอนดรูว์เปิดเผย ประสงค์และสถาบันอิศราก็ออกมายอมรับว่า ตัวเองคือผู้ถูกกล่าวหา


ใช่เลยเชียวละว่า การละเมิดส่วนตัวของหัวหน้าต่อลูกน้อง โดยเฉพาะในมิติทางเพศ ที่เกิด อื้อฉาว ในประเทศตะวันตก มักลงเอยด้วยการลาออกของคู่กรณีที่อยู่ในตำแหน่งสูง ไม่ว่าจะเป็นเหตุจากการลักลอบสัมพันธ์ฉัน ชู้สาวหรือเข้าข่ายบังคับล่วงล้ำทางเพศ

จริยธรรมในเรื่องเพศสัมพันธ์มักจะยึดมั่นถือมั่นกันในที่แจ้งมากกว่าที่ลับ ในกรณีลอบสัมพันธ์ มันจะไม่มีปัญหาตราบเท่าที่ต่างพร้อมใจและสามารถเก็บงำไว้ในที่ลับได้ (ไม่ถูกใครขุดเอามาแฉ) ดูเหมือนนี่เป็นทางปฏิบัติอันสากล เมืองไทยหรือเมืองนอกไม่ต่างกัน ในสหรัฐระดับประธานาธิบดียังโดนมาแล้ว
แต่สำหรับการล่วงละเมิดที่เกิดขึ้นโดยฝ่าย ผู้น้อยจำยอมและฝืนทนเพราะยำเกรงในอำนาจบารมี เป็นประเด็นใหญ่ที่นักกิจกรรมพยายามเปิดโปงและเอาผิดต่อผู้ที่กระทำผิด เพื่อไม่ให้เรื่องอย่างนี้เป็น ของธรรมดาอีกต่อไป

โดยเฉพาะในสังคมไทย ที่ช่องว่างระหว่างจริยธรรมในที่แจ้งสูงส่ง ห่างไกลลิบจากทางปฏิบัติจริงในทางลับ

เรื่องส่วนตัวที่กระทบส่วนรวมของผู้อำนวยการสถาบันอิศรานี้ จะเข้าข่ายกรณีใดกรณีหนึ่งที่กล่าวถึงข้างต้นเพียงใด หรือไม่ ตอนนี้ยังไม่มีใครรู้แน่ (เว้นแต่เจ้าตัวและผู้ใกล้ชิดมากๆ) จนกว่าการสอบสวนจะปรากฏผลออกมา

ทำไมผู้ถูกกล่าวหา (ก่อนหน้านี้แค่ถูกพาดพิง) จึงต้องเป็นคนร้องแรกแหกกระเชอเสียเอง เพราะมั่นใจในความบริสุทธิ์ เชื่อว่าการใช้วิธี รุกโจมตีจะทำให้การกล่าวหาสยบไปได้ แต่อาจคิดไม่ถึงว่าการรุกเช่นนี้มิได้กระทำต่อคู่กรณีตัวจริง

นักข่าวสาวที่ลือกันว่า ถูกปล้ำ จนต้องลาออกไปนั้น ยังไม่ได้แสดงตัวออกมาว่าเป็นผู้เสียหาย เธออาจพร้อมใจให้คนรอบข้างและผู้รู้จักมักจี่ที่เห็นอกเห็นใจตีวงกันออกมาทะลวงฟันไว้ก่อน เพื่อเป็นกำแพงปกป้องก็ได้ มิฉะนั้นคงไม่มีคนในแวดวงสื่อแสดงตนเข้าข้างเธอขนาดนี้

เกือบลืมพูดไปว่าเท่าที่เคยเห็นคดีความอย่างนี้ มีเงียบสงบไปในเวลาไม่นานเหมือนกัน เมื่อผู้ถูกกล่าวหายอมรับสภาพว่า ถ้าลากไปอื้อฉาวยาวกว่าควรแล้วละก็ การลาออกหนีไม่พ้น

การประนีประนอมยอมความจึงเกิดขึ้นโดยไม่เนิ่นช้า นั่นหมายถึงว่าฝ่ายผู้เสียหายยอมเล่นด้วยนะ