วันพฤหัสบดี, สิงหาคม 17, 2560

การตัดสินจำคุก 5 ปีแต่ลดโทษเหลือ 2 ปี 6 เดือนเพราะนายจตุภัทร์รับสารภาพ สะท้อนให้เห็นความจริงมากมายที่สังคมไทยเก็บซ่อนเอาไว้ - บทบรรณาธิการ THE ISAAN RECORD: เมื่อ “ไผ่” จำต้องสารภาพ





บทบรรณาธิการ เมื่อ “ไผ่” จำต้องสารภาพ


15/08/2017
โดยบูรพา เล็กล้วนงาม
THE ISAAN RECORD


หลังจากถูกถอนประกันตัวตั้งแต่วันที่ 22 ธ.ค. 2559 ทำให้นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” ถูกคุมขังในทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่น ต่อเนื่องเป็นเวลา 7 เดือน 25 วัน นับจนถึงวันนี้ (15 ส.ค.) วันที่เขารับสารภาพว่า ทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือ ความผิดฐานหมิ่นเบื้องสูง และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

การตัดสินจำคุก 5 ปีแต่ลดโทษเหลือ 2 ปี 6 เดือนเพราะนายจตุภัทร์รับสารภาพ สะท้อนให้เห็นความจริงมากมายที่สังคมไทยเก็บซ่อนเอาไว้

ความจริงประการแรกคือ เพราะเหตุใดไผ่จึงต้องรับสารภาพทั้งที่ต่อสู้คดีมาโดยตลอดนับตั้งแต่วันที่ 3 ธ.ค. 2559 หลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองขอนแก่น จับกุมตัวไผ่ตามหมายจับของศาลจังหวัดขอนแก่น

เหตุผลที่แท้จริงในเรื่องนี้คงไม่มีใครตอบแทนไผ่ได้ แต่ถ้าพิจารณาถึงปรากฎการณ์โดยภาพรวมที่เกิดขึ้นต่อจำเลยคดี 112 คงจะคาดการณ์กันได้

น.ส.สาวตรี สุขศรี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ และสมาชิกคณะนิติราษฎร์ กล่าวในงานเสวนาคำพิพากษา ช่วงสิทธิในการได้รับการประกันตัวชั่วคราวในคดี 112 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 19 มี.ค. 2560 ว่า

หลังรัฐประหาร ปี 2549 และ ปี 2557 มีผู้ต้องหารับสารภาพคดี 112 เยอะมาก มีน้อยมากที่ตัดสินใจสู้ คดีส่วนน้อยนั้นคือคดีของนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ที่ตัดสินใจสู้จนถึงชั้นฎีกา ไม่สารภาพ และยืนยันว่าไม่ได้ทำผิด แต่สุดท้ายก็พบว่า กระบวนการยุติธรรมไม่ตรงไปตรงมา บิดเบี้ยว นั้นเป็นจริง

นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข อายุ 56 ปี เป็นนักกิจกรรมแรงงาน และบรรณาธิการนิตยสารว๊อยซ์ออฟทักษิณ นายสมยศถูกตั้งข้อหาว่าทำผิดกฎมายอาญามาตรา 112 เมื่อบทความที่เขียนโดยบุคคลอื่นในนิตยสารว๊อยซ์ออฟทักษิณถูกเจ้าหน้าที่ตีความว่าเป็นข้อความที่หมิ่นเบื้องสูง

ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2556 ว่า นายสมยศมีความผิดลงโทษจำคุก 10 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ส่วนศาลฎีกาตัดสินเมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2560 ลดโทษจำคุกจาก 10 ลงเหลือ 6 ปีเนื่องจากเห็นว่านายสมยศมีอายุและรับโทษมาเป็นเวลาพอสมควรแล้ว

“พูดแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าเราตำหนิคนที่ไม่สู้ เราไม่มีสิทธิตำหนิ และห้ามตำหนิด้วย เพราะท่านไม่รู้หรอกว่า เมื่อโดนกระบวนการยุติธรรมเชิงบีบบังคับแบบนี้มันเจ็บปวดขนาดไหน” น.ส.สาวตรีกล่าว

น.ส.สาวตรีกล่าวอีกว่า การไม่ให้ประกันตัวส่งผลต่อผู้ต้องหาหลายประการ อาทิ ถูกบั่นทอนกำลังใจ กระทบความสามารถในการต่อสู้คดี และไม่ได้สิทธิในการปรึกษาทนายความอย่างส่วนตัว แต่การไม่ให้ประกันตัวไม่ใช่กลไกเดียวที่สร้างความหวาดกลัวหรือบีบบังคับ ยังมีกลไกอื่นอีก นั่นคือการพิจารณาคดีโดยลับ สิ่งเหล่านี้บีบให้เกิดการรับสารภาพ

“การรับสารภาพมีปัญหาต่อเนื่องด้วย แง่ดีคือสารภาพแล้วคุณได้ออกเร็ว แต่ผลข้างเคียงที่สำคัญมากๆ ของการรับสารภาพเท่ากับสร้างความชอบธรรมให้กระบวนการยุติธรรมที่บิดเบี้ยว จำเลยรับเองว่าผิด ไม่ต้องอธิบายอะไรมาก” น.ส.สาวตรีกล่าว

สิ่งที่สมาชิกคณะนิติราษฎร์ผู้นี้อธิบายล้วนสอดคล้องกับสิ่งที่นายจตุภัทรได้รับ กลไกแรกคือ นายจตุภัทร์ไม่ได้รับสิทธิการประกันแม้จะมีการยื่นคำร้องขอประกันตัวถึง 10 ครั้ง หลังจากตัวเขาถูกถอนประกันตัวเมื่อวันที่ 23 ธ.ค. สิ่งที่เกิดขึ้นกับนายจตุภัทร์กระทบต่อสิทธิขั้นพื้นฐานที่ผู้ต้องหาและจำเลยต้องได้รับ

นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวในเสวนาเรื่อง “การแก้ปัญหาสิทธิผู้ต้องหาในการได้รับการประกันตัว” ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2556 ว่า เหตุของการจับหรือขังนั้นมีทั้งเหตุหลักและเหตุรอง เหตุหลักคือเหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนี จะไปยุ่งเหยิงกับพยาน และอาจก่ออันตรายประการอื่น ส่วนเหตุรองคือ ความร้ายแรงของความผิด

เหตุที่เป็นเหตุรองคือความร้ายแรงของความผิดนั้น อาจมีการปล่อยชั่วคราวได้ตามสิทธิที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญ โดยตามกฎหมายผู้ต้องหาหรือจำเลยยังเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ดูเหมือนว่ากระบวนการยุติธรรมทั้งระบบจะยกความร้ายแรงของความผิดให้กลายเป็นเหตุหลักในการไม่ปล่อยตัวชั่วคราว

“ความผิดร้ายแรงไม่ใช่ประเด็น แต่ของเรากลับทำให้มันเป็นประเด็น” นายคณิตกล่าว

จึงน่าสงสัยว่า ไผ่ถูกละเมิดสิทธิตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ปี 2560 หรือไม่ รัฐธรรมนูญฯ มาตรา 29 บัญญัติว่า “ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้”

ส่วนกลไกที่สองคือ การพิจารณาคดีโดยลับ เห็นได้ว่าคดีของไผ่ถูกพิจารณาโดยลับตั้งแต่การขอศาลถอนประกันตัว

เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2559 ศาลจังหวัดขอนแก่นไต่สวนคำร้องถอนประกันนายจตุภัทร์เป็นการลับ โดยไม่อนุญาตให้ประชาชนและบุคคลภายนอกที่สนใจเข้าฟัง

ขณะที่เมื่อวันที่ 4 ส.ค. 2560 ศาลจังหวัดขอนแก่นนัดสืบพยานโจทก์คดีนายจตุภัทร์นัดแรก ผู้พิพากษาก็สั่งให้คดีนี้เป็นการพิจารณาลับเนื่องจากเป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคง ไม่อนุญาตให้บุคคลอื่น นอกจากคู่ความและพ่อแม่ของคู่ความร่วมฟังการพิจารณาคดี

จากข้อเท็จจริงที่กล่าวมาจึงพอเข้าใจได้ว่าเหตุใดไผ่ถึงเลือกที่จะไม่ต่อสู้คดีต่อไป สิ่งที่เกิดขึ้นกับไผ่ไม่ได้ส่งผลต่อตัวไผ่และครอบครัวเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อความน่าเชื่อของกระบวนการยุติธรรม และนี่คือความจริงอีกด้านที่สังคมไทยไม่ยอมพูดถึง

เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2560 “เจ้ย” อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ผู้กำกับภาพยนตร์ เจ้าของรางวัลปาล์มทองคำ เข้าเยี่ยมนายจตุภัทร์และออกมาบอกสั้นๆ ว่า “การไปเยี่ยมไผ่มันเพื่อตัวเอง เพื่อที่จะย้ำบอกว่ามันมีความจริงแบบนี้อยู่ และมันเตือนเราว่าเราสบายขนาดไหน”

ความจริงแบบไหนกันเล่าที่มันมีอยู่ในสังคมไทย

ความจริงประการที่สองที่สังคมไทยเก็บซ่อนเอาไว้คือ นายจตุภัทร์ถูกกล่าวหาว่าโพสท์ข้อความดังกล่าวเอง แต่นายจตุภัทร์เป็นผู้แบ่งปันรายงานข่าวของเว็บไซต์บีบีซีไทย เรื่อง “พระราชประวัติกษัตริย์พระองค์ใหม่ของไทย” พร้อมคัดลอกข้อความบางส่วนมาโพสท์เท่านั้น ขณะที่มีผู้แบ่งปันรายงานดังกล่าวอีกประมาณ 2,800 ครั้ง และเว็บไซต์บีบีซีไทยที่ผลิตและเผยแพร่รายงานดังกล่าวกลับไม่มีผู้ใดถูกดำเนินคดี

ในเมื่อไม่มีผู้ใดถูกดำเนินคดีจากรายงานดังกล่าว ไผ่ก็ไม่สมควรถูกดำเนินคดีด้วยเช่นกัน สังคมไทยเคยตั้งคำถามหรือไม่ว่า การที่พ.ท.พิทักษ์พล ชูศรี หรือ เสธ.พีท รักษาการหัวหน้ากองกิจการพลเรือนมณฑลทหารบกที่ 23 แจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สภ.เมืองขอนแก่น เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2559 อันเป็นต้นเหตุให้ไผ่ถูกดำเนินคดี เป็นเรื่องทางกฎหมายหรือเป็นเหตุผลทางการเมืองกันแน่

แต่นั่นไม่เท่ากับข้อกังขาว่า เพราะเหตุใดผู้ที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมซึ่งควรต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงและพิจารณาข้อกฎหมายถึงปล่อยให้มีการดำเนินคดีไผ่ส่งต่อไปเรื่อยๆ จากพนักงานสอบสวนสู่อัยการ จากอัยการไปสู่ศาล จนนำมาสู่การตัดสินคดีในวันนี้ (15 ส.ค.)

ความจริงประการที่สาม ได้แก่ความจริงที่ว่าไผ่ถูกดำเนินคดีมาแล้ว 4 คดี ซึ่งเป็นไปได้หรือไม่ว่า คดีทั้งหมดเกิดจากความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่าง ดังนี้

คดีชูป้ายต่อต้านรัฐประหาร ที่อนุสารีย์ประชาธิปไตย จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2558 นายจตุภัทร์ และสมาชิกกลุ่มดาวดิน รวม 7 คน ถูกตั้งข้อหาชุมนุมตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ที่ 3/2558

คดีทำกิจกรรมที่หน้าสน.ปทุมวัน ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.2558 ไผ่และสมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ รวม 14 คน ถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/2558 และผิดกฎหมายความมั่นคงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ 83

คดีจัดงานพูดเพื่อเสรีภาพฯ ที่ม.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2559 นายจตุภัทร์กับพวกรวม 11 คน ถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/2558

คดีแจกเอกสารร่างรัฐธรรมนูญ ที่ตลาดอ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2559 ไผ่และเพื่อนอีกหนึ่งคน ถูกตั้งข้อหาทำผิด พ.ร.บ.ประชามติฯ

แล้วคดีที่ไผ่ถูกตัดสินว่ามีความผิดคดีนี้ล่ะ เป็นคดีที่เริ่มต้นจากการที่ไผ่ออกมาต่อต้านการรัฐประหารหรือไม่

ความจริงทั้ง 3 ประการที่เกิดขึ้นกับไผ่คงมีน้ำหนักไม่มากก็น้อยที่ทำให้สมาชิกกลุ่มดาวดินผู้นี้จำต้องรับสารภาพ สิ่งที่ไผ่ได้รับไม่ได้กระทบกระเทือนต่อสิทธิเสรีภาพของไผ่เท่านั้น แต่ยังกระทบกระเทือนต่อสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนไทยทั้งสังคม จะเกิดอะไรขึ้นบ้างกับผู้ที่คิดเห็นต่างจากผู้มีอำนาจ

มีคำถามว่า แล้วประชาชนจะอยู่อย่างไรในสังคมเช่นนี้ แล้วใครจะเป็นผู้ตัดสินว่าคำพิพากษาลงโทษไผ่มีความยุติธรรมหรือไม่

หมายเหตุ นายจตุภัทร์ถูกถอนประกันเมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2559 ทำให้จนถึงวันที่ 15 ส.ค. 2560 ไผ่ถูกคุมขังเป็นเวลา 7 เดือน 25 วัน

ooo

ทนายให้สัมภาษณ์ คดีไผ่


https://www.facebook.com/okiokijung/videos/1639802919413293/

ooo

การสารภาพของไผ่ ดาวดิน ในสายตาของผม

ที่มา FB
Krisadang-Pawadee Nutcharus

อันที่จริงไม่คิดจะพูดหรือเขียนเกี่ยวกับเรื่องคดีของไผ่อีกแล้ว เพราะเมื่อวานนี้(15 สค. 60) ศาลจังหวัดขอนแก่นได้พิพากษาจำคุกไผ่ไปแล้ว 2 ปี 6 เดือน

แต่หลังจากที่ศาลตัดสินแล้ว มีผู้คนมากมายทั้งสื่อมวลชนไทยและเทศรวมทั้งญาติสนิทมิตรสหายถามไถ่ผมในฐานะที่เป็นทนายความ(คนหนึ่ง)ของไผ่ว่า “ทำไมไผ่มันรับสารภาพ” จึงเป็นเหตุให้ผมตัดสินใจพูดถึงเรื่องนี้อีกครั้ง

ต้องบอกก่อนว่า ความคิดเห็นของผมในเรื่องนี้เป็นความคิดเห็นของผมเพียงคนเดียว ไม่เกี่ยวข้องกับไผ่และครอบครัวของไผ่หรือทนายความคนอื่น ๆ ทั้งสิ้น และผมเขียนเรื่องนี้ขึ้นมาโดยไม่ได้รับฉันทานุมัติจากใครเลย

ประการแรกในเรื่องนี้คือ “ผมรู้มาก่อนมั้ยว่าไผ่จะรับสารภาพไม่ต่อสู้คดีนี้”
ตอบได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า “ไม่รู้” อธิบายความไว้อย่างนี้ว่า ข้อเสนอที่จะให้ไผ่รับสารภาพไม่ต่อสู้คดีนี้นั้นความจริงมันมีมาก่อนหน้านี้นานแล้วตั้งแต่ที่ไผ่ถูกจับใหม่ ๆ ทั้งจากผู้ปรารถนาดีจากญาติมิตรบางส่วนและแม้จากผู้มีอำนาจที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับไผ่

ผมและเพื่อนทนายความเองไม่เคยซักไซ้หรือเสนอความเห็นเรื่องนี้แต่อย่างใด เพราะไผ่ก็ไม่มีท่าทีกับเรื่องนี้เลย แถมดูท่าทางไม่สนใจเสียด้วยซ้ำ
จนกระทั่งเช้าวันที่ 15 สค. 60 ซึ่งมีนัดสืบพยานฝ่ายโจทก์ในคดีนี้ ก่อนเริ่มพิจารณาคดีผู้พิพากษาเจ้าของคดีได้เชิญผมกับทนายจำเลยคนอื่นไปถามที่หน้าบัลลังก์ของศาลว่า เรื่องนี้ทางฝ่ายจำเลยมีความเห็นอย่างไร หมายถึงยังยืนยันจะต่อสู้คดีหรือจะพิจารณาในทางอื่น (ซึ่งหมายความถึงการรับสารภาพ) 

ผมจำได้ว่า ผมเรียนท่านผู้พิพากษาไปอย่างชัดเจนว่า ผมขอให้ไผ่และครอบครัวเป็นผู้ตัดสินใจดีกว่า แล้วในที่สุดผมก็ปล่อยให้ไผ่กับพ่อแม่อยู่ในห้องพิจารณาคดีที่ 8 กับผู้พิพากษาเพื่อใคร่ครวญเอง
ประมาณเกือบชั่วโมงพ่อกับแม่ของไผ่เดินออกมาจากห้องพิจารณาและขอให้ผมกับทนายแสงชัยเข้าไปคุยกับไผ่

ไผ่นั่งอยู่บนม้านั่งยาวในห้องพิจารณาคดีเพียงลำพัง เราสบตากันอยู่นาน ไผ่ยังคงทรนงองอาจอย่างที่เขาเคยเป็น

ผมพูดกับไผ่อยู่สามประโยคทั้งที่เขาไม่ได้ถามอะไร
ผมบอกเขาว่า ผมเชื่อว่าคุณไม่มีวันชนะในการตัดสินคดีนี้อย่างแน่นอน ส่วนการตัดสินใจใด ๆ ของคุณในวันนี้นอกจากเพื่อตัวเองแล้วคงต้องคิดเพื่อพ่อกับแม่ที่รักคุณสุดหัวใจด้วย และสุดท้ายอย่าหวังว่าการต่อสู้เพื่อความถูกต้องและเป็นธรรมจะได้รับชัยชนะได้ในเร็ววัน แต่ที่สำคัญกว่าคือประสบการณ์ความเจ็บปวดที่คุณได้รับเพื่อความถูกต้องและเป็นธรรมทุก ๆ ครั้งที่ผ่านมาจะสอนให้คุณรู้คุณค่าของความถูกต้องเป็นธรรมที่คุณใฝ่ฝันหา

ไผ่มองหน้าเราสองคนและพยักหน้า

ผมเดินกลับไปหาผู้พิพากษาและบอกว่า จำเลยจะรับสารภาพ

คำถามสุดท้ายของผู้คนที่มีต่อผมคือ “ทำไม่ไผ่จึงรับสารภาพ”
ขอตอบว่า ผมไม่รู้และไม่อยากรู้
ผมเข้าใจว่าคำตอบมีอยู่ในสิ่งที่เกิดขึ้นในคดีนี้แล้วนับแต่วันที่ไผ่แชร์ข้อความจากบีบีซีไทยในเฟซบุ๊คของเขาจนกระทั่งถึงวันที่ศาลตัดสิน
สิ่งที่ผมแถลงต่อสังคมไปถึงเหตุที่ไผ่รับสารภาพนั้นเป็นสิ่งที่ไผ่บอกกับผมในฐานะทนายความของเขาเพื่อแจ้งให้สังคมรับทราบ

แต่สิ่งที่เราทั้งคู่เข้าใจดีคือ การถูกพิพากษาตัดสินว่าผิดในคดีนี้ก็เป็นเพียงไปตามที่ตัวบทกฎหมายของสังคมในวันนี้กำหนดไว้เท่านั้น

ความเป็นธรรมและความถูกต้องในหัวใจของเราเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
สิ่งที่เราได้รับในวันนี้ก็เป็นเพราะเราได้ทำมันในวันเวลาที่ผ่านมา
และสิ่งที่เราจะได้รับในอนาคตก็จะได้จากสิ่งที่เราจะทำต่อไปจากวันนี้ต่างหาก


Krisadang-Pawadee Nutcharus