วันพุธ, กรกฎาคม 26, 2560

“วาทกรรมนกแก้วนกขุนทอง” ยุค คสช.สุดแย้งย้อน สร้าง 'ความหวังในความลวง' นักวิชาการชี้...



รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ จ.สงขลา


วิชาการชี้ชัด “วาทกรรมนกแก้วนกขุนทอง” ยุค คสช.สุดแย้งย้อน / “คืนความสุข” ทำให้เชื่องและเซื่องซึม / “คนดี” ต้องมีอำนาจพิเศษ 20 ปี / “ประชาธิปไตย” ไม่เห็นหัวประชาชน (ชมคลิป)


โดย MGR Online
26 กรกฎาคม 2560





ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ทักษิณสงขลา แถลงในประเด็น การใช้ภาษาไทยกับการเมือง : การอุปลักษณ์และความแย้งย้อน ยุคประเทศไทย 4.0 เนื่องในวันภาษาไทย ชี้ชัด “วาทกรรมนกแก้วนกขุนทอง” ยุค คสช.สุดแย้งย้อน / “คืนความสุข” ทำให้เชื่องและเซื่องซึม / “คนดี” ต้องมีอำนาจพิเศษ 20 ปี / “ประชาธิปไตย” ไม่เห็นหัวประชาชน

รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ จ.สงขลา แถลงในประเด็น การใช้ภาษาไทยกับการเมือง : การอุปลักษณ์และความแย้งย้อน ยุคประเทศไทย 4.0 หรือ Thailand 4.0 เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2560 เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ (29 กันยายน 2560) โดยระบุว่า

ในท่ามกลางกระแส และการตื่นตัวอย่างขนานใหญ่ของสังคม และประชาชนทั่วไปต่อการดำเนินนโยบายทางการเมือง และการริเริ่มนโยบายพัฒนาประเทศเพื่อพัฒนา/เปลี่ยนผ่านประเทศไทย จากวิกฤตการทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ไปสู่ “ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ภายใต้รูปแบบการขับเคลื่อนที่เรียกว่า ประเทศไทย 4.0 หรือ Thailand 4.0 นั้น ภาษาไทยมีบทบาทสำคัญในการ “สื่อสาร” สร้างอุดมการณ์ และการขับเคลื่อนเชิงนโยบายประเทศไทย 4.0 และนโยบายอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่อง ซ่อนเงื่อนโยงใยไม่สิ้นสุด ผ่านการสร้าง “อุปลักษณ์” (Metaphor) ที่ไม่เป็นเพียง “ถ้อยคำเปรียบเทียบที่แล่นวูบ” เท่านั้น

แต่เต็มไปด้วยศิลปะ/ชั้นเชิงของการประดิดประดอยภาษา ที่เกิดจากสร้าง “ความคิดเชิงอุปลักษณ์” (Conceptual Metaphor) อันหลายหลาก ภายใต้วิธีคิด วิธีการ กระบวนการ และการปฏิบัติการทางการเมืองที่ลึกซึ้ง และแยบยล กระทั่งกลายเป็น “คำอุปลักษณ์” ที่ดำรง-ผลึกแน่นในการรับรู้ และสามัญวิถีของผู้คนในสังคมนั้น โดยกลไกรัฐเชิงสถาบัน และโครงสร้างอำนาจที่ทำให้ปราศจากการตั้งคำถาม การปิดกั้นสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การแสดงออก การรับรู้ข้อมูล/ข้อเท็จจริง รวมทั้งการข่มขู่ คุกคาม จับกุม คุมขัง จ้องจับ ทำให้หวาดกลัวด้วยกลไกอำนาจรัฐ ทั้งที่เปิดเผยและปิดเร้นอำพราง ดังเช่น คำอุปลักษณ์ว่าด้วยการคืนความสุข จากการเสียสละเข้ามาเพื่อปฏิรูปประเทศ การร่างรัฐธรรมนูญเพื่อปราบโกง กวาดล้างการคอร์รัปชัน การสร้างความสามัคคีปรองดอง ยุทธศาสตร์ชาติ และอนาคตประเทศไทย เป็นต้น

โดยที่การใช้ภาษาเพื่อประกอบสร้างความคิดเชิงเชิงอุปลักษณ์ มีแนวโน้มจะถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรมทางการเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ ในหลายรูปแบบ และวิธีการ โดยไม่ได้คำนึงถึงความถูกต้อง ชอบธรรม ทำให้หลุดจากกรอบความรับผิดชอบทางจริยธรรม ผลประโยชน์ส่วนรวม และความเป็นประชาธิปไตย

การอุปลักษณ์ “ความสุขและการคืนความสุข” ให้ประเทศไทย ที่เป็นการหยิบยื่นความสุขฝ่ายเดียวในนามของความมั่นคง ความสงบเรียบร้อย และการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ พร้อมๆ กับการดึงประชาชนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการสร้าง/หยิบยื่นความสุขเพื่อสถาปนาอำนาจนำ และทำให้ “ประชาชน” กลุ่มต่างๆ ในสังคม “เชื่องและเซื่องซึม” อยู่ในความสุขที่ตายตัว ทั้งที่ความสุขนั้นมีความหมายที่ซับซ้อน หลายหลากมิติ ทั้งในแง่ความสุขจากการสรรค์สร้างของปัจเจกบุคคล และประชาชน พลเมือง ในกิจการสร้างสุข ท่ามกลางการมีชีวิตสาธารณะที่ผูกพัน เป็นส่วนหนึ่งของการร่วมสร้างสังคมส่วนรวม

การอุปลักษณ์รัฐธรรมนูญให้เท่ากับ “เป็นประชาธิปไตย” ทว่า รัฐธรรมนูญที่ถือเป็นกฎหมายสูงสุดในการจัดโครงสร้างความสัมพันธ์ทางอำนาจของผู้คน การรับรองสิทธิเสรีภาพ การจัดสรรทรัพยากร และการกำหนดทิศทางการบริหารราชการแผ่นดิน ให้บรรลุเป้าหมายอันตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนอย่างเท่าเทียม เป็นธรรม ธำรงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ในหลักการประชาธิปไตย ความเป็นนิติธรรม และนิติรัฐ กลับมีเนื้อหาที่ไม่สะท้อนความเป็นประชาธิปไตย ขาดการยึดโยงกับประชาชน การเปิดช่องให้อำนาจรัฐราชการเข้ามามีบทบาทในระบบรัฐสภา การลิดรอนระบบการตรวจสอบ ควบคุม และถ่วงดุลอำนาจระหว่างสถาบันในระบอบประชาธิปไตย

พร้อมเชิดชูความโดดเด่นด้วยมายาภาพอันเก่าก่อนคือ “การต้านโกง” อันเป็นการตอกตรึง และย้ำความทรงจำอันเลวร้ายของผู้คนที่มีต่อนักการเมืองเพียงกลุ่มเดียว ทั้งที่การทุจริตคอร์รัปชันเกิดขึ้นในแทบทุกอณูของสังคม การใช้ “มาตรฐานจริยธรรมที่คลุมเครือ” การปฏิรูปในนามของ “คนดี” ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างอนาคต 20 ปี และคงไว้ซึ่ง “อำนาจพิเศษ” ตามมาตรา 44

ประเทศไทย 4.0 หรือ Thailand 4.0 ที่กำลังเดินไปตามการทิศทางพัฒนา สู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ได้กลายมาเป็นคำอุปลักษณ์ที่ติดหูติดตาประชาชนมากที่สุดในรอบปีที่ผ่านมา ด้วยภาษา และถ้อยคำใหม่ๆ เช่น นวัตกรรม เทคโนโลยีดิจิทัล เศรษฐกิจสร้างสรรค์ เกษตรอุตสาหกรรม ฯลฯ ที่ถูกนำมาใช้เพื่อปลุกปลอบ สร้างระบบปฏิบัติการให้สังคมยินยอมพร้อมใจเปล่ง “คำ” ดั่ง “นกแก้วนกขุนทอง”

เพราะการพัฒนาภายใต้วิสัยทัศน์ และยุทธศาสตร์ดังกล่าว แม้กำหนดเป้าหมายไว้ที่การขับเคลื่อนสู่ความ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” แต่กลับให้ความสำคัญต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่เชื่อมโยงเป็นส่วนหนึ่งของระบบทุนนิยมโลก และอุตสาหกรรมข้ามชาติ โดยละเลย/ไม่ให้ความสำคัญต่อปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความเป็นธรรม ความเสมอภาค สิทธิเสรีภาพแต่อย่างใด ดังสะท้อนจากการริเริ่มโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ และระเบียงเศรษฐกิจ การสร้างโครงสร้างพื้นฐานสมัยใหม่ นโยบายทวงคืนผืนป่า นโยบายประชารัฐ เป็นต้น

ขณะที่เส้นทางสู่การเลือกตั้ง หรือโรดแมป (Road Map) ที่ได้ประกาศต่อสาธารณชนมาอย่างต่อเนื่อง กลับไม่มีความแน่นอนมากนัก ในแง่ระยะเวลาที่นำไปสู่การจัดการเลือกตั้ง แต่มีความชัดเจนในแง่การใช้คำเป็นเกมภาษา (Language Game) เพื่อปักหลักรักษาพื้นที่อำนาจทางการเมือง บนฐานความชอบธรรมจากการทับถมซากปรักหัก โดยผู้ร้ายตลอดกาลอย่างนักเลือกตั้ง และการตั้งคำถามอันชาญฉลาด 4 ข้อ เชิญชวนประชาชนส่งความคิดเห็นยังศูนย์ดำรงธรรม เพื่อรวบรวมให้กระทรวงมหาดไทย เพื่อส่งต่อให้นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นตั้งคำถามแบบไม่ประสงค์คำตอบ หรือมีคำตอบในใจอยู่แล้ว ภายใต้ฐานคติ ความคิด ความเชื่อที่ฝังจำต่อนักการเมือง/นักเลือกตั้ง

ที่สำคัญคือ การดูแคลนประชาชน พลเมือง จะไม่สามารถใช้เจตจำนงได้อิสรเสรี และเข้ามามีส่วนร่วมในทางการเมืองได้อย่างมีคุณภาพในพื้นที่ และปริมณฑลทางการเมือง จึงเป็นความชอบธรรมที่จะเข้ามา “ยึดกลับคืน” ขณะถือไพ่เหนือกว่าของรัฐ-ชนชั้นนำ โดยที่เส้นทาง-ตารางเวลา หรือโรดแมป ที่กำหนดและเลื่อนเปลี่ยนไปมา ทำหน้าที่เสมือนเครื่องมือในการ “สะกด” และ “ควบคุม” ให้ประชาชน “เชื่อ” และมี “ความหวังในความลวง”

โดยสรุปในแง่การใช้ภาษาไทยกับการเมือง กล่าวได้ว่า ภาษาไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือในการสื่อสารอย่างผิวเผินเท่านั้น แต่คืออำนาจในการสร้าง กำกับ ตอก ตรึง ควบคุม อำพราง ความคิด ความเชื่อ อุดมการณ์ ความรู้ ความจริง โดยเฉพาะการปฏิบัติการ และการโฆษณาทางการเมือง ด้วยวิธีการที่เรียกว่าการอุปลักษณ์ถ้อยคำ จากการประกอบสร้างความคิดเชิงอุปลักษณ์ ที่มีความหลากวิธีการมากขึ้นไปเรื่อยๆ ผ่านการโฆษณาชวนเชื่อ บทเพลง บทกวี ภาพยนตร์บันเทิง วาไรตี เป็นต้น

ในอีกด้านหนึ่งนับวันความคิด และการประกอบสร้างความคิดเชิงอุปลักษณ์ ยิ่งทวีสร้างความย้อนแย้งให้แก่สังคมมากขึ้นไปเป็นเงาตามตัว เพราะคำเหล่านี้ไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกับการปฏิบัติ ทำให้เกิดการผลิตซ้ำความสัมพันธ์แบบคู่ตรงข้าม ระหว่างภาษากับการปฏิบัติของผู้พูดหลายกรณี เช่น พอเพียง-ซื้ออาวุธ ประชาธิปไตย-วุฒิสมาชิกแต่งตั้งเลือกนายกรัฐมนตรี ฯลฯ

การมุ่งสร้างอุปลักษณ์ทางการเมือง แม้จะเป็นการ “รุก” กรุยทาง-สร้างความชอบธรรมในการดำรงอยู่ การละเมิดสิทธิ บิดประชาธิปไตย และประชาชนให้อยู่ในปกครองแบบกระชับ/กำกับแน่น ด้วยกฎหมายอันชอบ/มิชอบ กระนั้นในทางกลับกันประชาชน พลเมือง ก็ไม่ได้นิ่งงัน หรือยอมจำนนโดยเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่จะมีปฏิบัติการ สร้างการเคลื่อนไหวตอบโต้ด้วยการสร้างชุดคำ และการประกอบสร้างความคิดอุปลักษณ์ เพื่อขจัดความแย้งย้อนด้วยไปพร้อมๆ กัน

เพราะในด้านหนึ่งประเทศไทย 4.0 หรือ Thailand 4.0 อันเกิดจากการมุ่งสร้างอุปลักษณ์ทางการเมืองจะถูกบันทึกไว้ และประชาชนก็พร้อมที่จะรื้อค้น ถอดถอน นำกลับมาตรวจสอบ โต้ตอบ และเทียบเคียงกับพฤติกรรมและการปฏิบัติของผู้สร้างอุปลักษณ์ได้อย่างทันท่วงที และไม่สามารถเกิดขึ้นได้ง่ายๆ อีกต่อไป การนี้จึงสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความขัดแย้ง และการเผชิญหน้ารอบใหม่ในอนาคตอันใกล้

ข้อเสนอและทางออกในวันนี้ จึงอยู่ที่การเปิดพื้นที่ให้ประชาชน พลเมือง และกลุ่มองค์กรต่างๆ ในสังคมมีสิทธิ เสรีภาพในการปฏิบัติการสร้างคำ-ความคิดเชิงอุปลักษณ์ ได้อย่างอิสระ เสรี มีหลักประกันคุ้มครอง ปกป้องที่เพียงพอ ปราศจากการละเมิดใดๆ ต่อผู้ปรารถนา “ร่วมสร้าง” อนาคตประเทศไทย และแสดงออกบนหลักการพื้นฐาน และสิทธิมนุษยชนสากล ที่สำคัญที่สุดคือ การทำให้ “การเลือกตั้ง” ในฐานะคำอุปลักษณ์ และความคิดเชิงอุปลักษณ์ที่ถึงพร้อมการยอมรับของอารยะสังคม “กลับคืน” สังคมไทยโดยเร็วที่สุด