วันพุธ, มกราคม 25, 2560

ปมประชามติไม่โปร่งใสฉุดไทยร่วง 25 อันดับจากปีก่อน ดัชนีคอร์รัปชันโลก 2016 - ข่าวประชาไท






ปมประชามติไม่โปร่งใสฉุดไทยร่วงอันดับที่ 101 ดัชนีคอร์รัปชันโลก 2016

Wed, 2017-01-25 16:42
ที่มา ประชาไท

องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติเปิดรายงานดัชนีคอร์รัปชัน 2016 ไทยได้ 35 เต็ม 100 อยู่อันดับ 101 ร่วง 25 อันดับจากปีก่อน ระบุถดถอยเพราะปัญหาการเมือง การปราบปรามของรัฐบาล รัฐธรรมนูญใหม่อ้างว่ามุ่ง 'ปราบโกง' แต่เนื้อหาปกป้องอำนาจกองทัพ-รัฐบาล บ่อนเซาะการคืนอำนาจไปสู่พลเรือน ประชามติไม่โปร่งใส ห้ามสังเกตการณ์ การดีเบต-รณรงค์ทำไม่ได้ มีคนหลายสิบถูกดำเนินคดี

25 ม.ค. 2017 องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) ได้เปิดเผย ดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันโลกปี 2016 จัดอันดับ 176 ประเทศทั่วโลก

ปีนี้เดนมาร์กได้อันดับ 1 ด้วยคะแนน 90 คะแนน คะแนนลดลงจากปีที่แล้ว 1 คะแนน ขณะที่นิวซีแลนด์ได้อันดับ 1 ร่วมเช่นกัน ด้วยคะแนน 90 คะแนน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 2 คะแนน

สำหรับประเทศไทยได้อันดับ 101 ด้วยคะแนน 35 คะแนน คะแนนลดลง 3 คะแนนเมื่อเทียบกับปีก่อน และเมื่อเทียบ 5 ปีย้อนหลัง ประเทศไทยได้อันดับและคะแนนดังนี้

ปี 2016 ได้ 35 คะแนน อันดับ 101
ปี 2015 ได้ 38 คะแนน อันดับ 76
ปี 2014 ได้ 38 คะแนน อันดับ 85
ปี 2013 ได้ 35 คะแนน อันดับ 102
ปี 2012 ได้ 37 คะแนน อันดับ 88

ทั้งนี้ในรายงานขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ระบุว่า ปีนี้ไม่มีประเทศไหนที่เข้าใกล้คะแนนเต็มของดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันปี 2016 และ 2 ใน 3 ของ 176 ประเทศและดินแดนที่ถูกจัดอันดับ ได้คะแนนต่ำกว่าครึ่งหนึ่ง คะแนนเฉลี่ยของโลกอยู่ที่ 43 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน ชี้ให้เห็นถึงคอร์รัปชันเรื้อรังในภาคสาธารณะ ประเทศที่ได้คะแนนสูง (สีเหลืองในแผนที่) มีจำนวนน้อยกว่าประเทศกลุ่มสีส้มและสีแดงที่ได้คะแนนน้อย ที่ซึ่งพลเมืองของประเทศและดินแดนเหล่านั้น ในชีวิตประจำวันต้องเผชิญกับผลกระทบที่จับต้องได้จากการคอร์รัปชัน

โดยในเอเชียแปซิฟิก ซึ่งมี 30 ประเทศที่ถูกจัดอันดับ มีจำนวน 19 ประเทศที่ได้คะแนนน้อยกว่า 40 คะแนน โดยคะแนนที่น้อยเกิดขึ้นจาก รัฐบาลทีไม่มีความรับผิดชอบ ขาดการตรวจสอบ ความไม่ปลอดภัยและพื้นที่หดแคบลงของประชาสังคม การผลักมาตรการต่อต้านคอร์รัปชันเข้าสู่ชายขอบของประเทศเหล่านั้น เหตุคอร์รัปชันอื้อฉาว ยังคงมีเหตุการณ์บ่อนเซาะความเชื่อมั่นรัฐบาล ประชาธิปไตย และหลักนิติธรรม

สำหรับประเทศที่มีการปรับปรุงนั้น ในรายงานขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ระบุว่า อัฟกานิสถานซึ่งปีนี้ อยู่อันดับที่ 169 ได้ 15 คะแนน แม้จะยังอยู่ใน 10 อันดับรั้งท้าย แต่คะแนนก็เพิ่มขึ้นเท่าตัว เมื่อเทียบกับปี 2013 ที่ได้ 8 คะแนน

ทั้งนี้รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติของอัฟกานิสถานได้ให้คำมั่นว่าจะขจัดคอร์รัปชัน ให้สัญญาว่าเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาชน และมีความก้าวหน้าหลายเรื่อง โดยศูนย์ยุติธรรมเพื่อต่อต้านคอร์รัปชันกำลังพิจารณาคดีแรกที่เป็นการคอร์รัปชันขนานใหญ่ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องก็เพิ่งบังคับใช้ โดยองค์กรเพื่อความโปร่งใส่นานาชาติหวังว่าอัฟกานิสถานจะยึดมั่นในแผนนี้

ส่วนติมอร์ตะวันออก ลาว และพม่า มีคะแนนที่ดีขึ้นในปี 2016 นี้ โดยติมอร์ตะวันออกได้ 35 คะแนน เมื่อปี 2015 ได้ 28 คะแนน ลาวได้ 30 คะแนน จากเมื่อปี 2015 ได้ 25 คะแนน พม่าได้ 28 คะแนน จากเมื่อปี 2015 ได้ 22 คะแนน

โดยกรณีของพม่านับตั้งแต่พรรคเอ็นแอลดีเป็นรัฐบาลในเดือนมีนาคมปี 2016 ได้สร้างความหวังแห่งการเปลี่ยนแปลงว่าจะนำประเทศไปสู่การปกครองแบบพลเรือน พรรคเอ็นแอลดีนำเสนอแผนปฏิบัติการเพื่อลดการคอร์รัปชัน อย่างไรก็ตามกระบวนการนี้ก็ยังมีข้อถดถอย เนื่องจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่ โดยสิ่งที่ถูกเน้นย้ำก็คือ ยังขาดการตรวจสอบกองทัพพม่า ซึ่งมักลอยนวลพ้นผิดจากการกระทำละเมิด

สำหรับประเทศเอเชียแปซิฟิกที่คะแนนถดถอยนั้น กัมพูชาได้ 21 คะแนน และอยู่อันดับที่ 156 โดยคะแนนเท่ากับปี 2015 และกลายเป็นประเทศที่ได้คะแนนน้อยที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในขณะที่พื้นที่ของภาคประชาสังคมกำลังถูกจำกัดอย่างยิ่งยวด

สำหรับประเทศไทย ซึ่งคะแนนลดลงเหลือ 35 คะแนน ปัจจัยเสริมมาจากผลสืบเนื่องจากความยุ่งเหยิงทางการเมือง การปราบปรามของรัฐบาล การขาดการกำกับดูแลจากองค์กรที่เป็นอิสระ และสิทธิที่ถดถอย ซึ่งกัดกร่อนความมั่นใจของสาธารณชนในประเทศ

สำหรับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของไทย ซึ่งมุ่งโฟกัสในเรื่องปราบคอร์รัปชัน แต่ก็ปกป้องอำนาจของกองทัพและรัฐบาลที่ไม่อาจตรวจสอบได้ นอกจากนี้ยังกร่อนเซาะกระบวนการคืนอำนาจไปสู่รัฐบาลพลเรือนประชาธิปไตย

รายงานขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ระบุถึงช่วงก่อนลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 7 สิงหาคม ปีที่แล้วด้วยว่า การถกเถียงอย่างเสรีในเรื่องรัฐธรรมนูญนั้นเป็นไปไม่ได้ การณรงค์เพื่อต่อต้านนั้นถูกห้าม และมีคนหลายสิบถูกจับกุม รัฐบาลทหารก็ห้ามไม่ให้มีการสังเกตการณ์ลงประชามติ สิ่งนี้แสดงให้เห็นชัดเจนถึงการขาดแคลนอิสระ การตรวจสอบ และการดีเบตถกเถียงอย่างจริงจัง