วันพุธ, ธันวาคม 21, 2559

มาแล้ว! (มีลิงค์) #พรบคอม ฉบับที่สนช.ผ่านวาระ 3 และจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป (มีผลบังคับใช้ใน 120 วันหลังจากนั้น) + ก้าวต่อไปของแคมเปญ #พรบคอม เวทีประกาศกระทรวง ศุกร์ 23 จุฬา และ อาทิตย์ 25 ธรรมศาสตร์





ooo

PETITION UPDATE






DEC 21, 2016 — ## ร่างผ่านแล้ว จะเกิดอะไรขึ้นกับร่างต่อ

- 16 ธ.ค. 2559 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ลงมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่..) พ.ศ. ...
- สมาชิกสนช.ร่วมลงคะแนน 172 คน เห็นชอบ 168, ไม่เห็นชอบ 0, งดออกเสียง 4
- รอประกาศในราชกิจจานุเบกษา และจะมีผลบังคับใช้ใน 120 วันหลังจากนั้น
- ระหว่างนั้น กระทรวงดิจิทัลจะเร่งออกประกาศกระทรวงทั้งหมด ภายในมี.ค. 2560

## ร่างถูกแก้ไขเพิ่มเติมอะไรบ้างจากร่างวันที่ 18 พ.ย. 2559
- ในร่างที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เสนอต่อสนช. เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2559 ได้เพิ่มคำว่า "ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน" ลงในมาตรา 14 (1) ซึ่งน่าจะทำให้มาตรานี้ถูกใช้ "ฟ้องปิดปาก" ได้ง่ายขึ้น
- ระหว่างการอภิปรายวาระ 2 ในสนช.เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2559 มีการแก้ไขในรายละเอียดจำนวนหนึ่ง ซึ่งเท่าที่บันทึกได้ถึงขณะนี้ มีดังนี้
- ตัดคำว่า "การบริการสาธารณะ" ออกจากมาตรา 12 และ 14 (2)
- ยุบรวมมาตรา 20 กับมาตรา 20/1 เข้าด้วยกัน
- เปลี่ยนสัดส่วน "คณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลกลาง" ในมาตรา 20/1 [เดิม] จาก 5 คน (รัฐ 3 เอกชน 2) เป็น 9 คน (รัฐ 6 เอกชน 3)
- สนช.ยังไม่เผยแพร่ร่างสุดท้ายที่ได้แก้ไขให้ประชาชนได้รับทราบ

## การรณรงค์หลังจากนี้ - 370,000 ชื่อนี้มีความหมายอย่างไร

- การรณรงค์นี้เป็นส่วนหนึ่งของการติดตามตรวจสอบกฎหมายและมาตรการการควบคุมข้อมูลข่าวสาร อันเนื่องมาจากการเสนอร่างกฎหมาย “เศรษฐกิจ/ความมั่นคงดิจิทัล” 10 ฉบับ เมื่อปลายปี 2557/ต้นปี 2558 หลังจากร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ผ่านไปแล้ว เรายังมีกฎหมายอีกหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับสิทธิในข้อมูลข่าวสารของพวกเราเองต้องติดตามต่อไป

- ระยะสั้น 1: ติดตามตรวจสอบ “กฎหมายลูก” หรือประกาศกระทรวงดิจิทัล ที่จะใช้กับมาตรา 11, 15, 17/1, และ 20 โดยเฉพาะประกาศตามมาตรา 15 และ 20 ที่จะเกี่ยวกับการตรวจสอบ ระงับ และลบข้อมูลโดยตรง

- ระยะสั้น 2: ติดตามตรวจสอบ ร่างพ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ คือ ร่างพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งใกล้จะเข้าสู่สนช.ในเดือนมกราคม และอีกฉบับคือ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ที่ข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการพ.ร.บ.คอม ให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาแก้ไขให้สอดคล้องกับมาตรา 20 (3) ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ใหม่

- ระยะกลาง 1: หลังรัฐธรรมนูญใหม่ประกาศใช้และประกาศให้มีการเลือกตั้งทั่วไปแล้ว ติดตามว่าในระหว่างให้มีการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ประชาชนจะมีเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเรื่องนโยบายของพรรคการเมืองมากน้อยเพียงใด จะมีการใช้กฎหมายเช่นมาตรา 14 (1) ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์หรือกฎหมายอื่นๆ มากดดันหรือปิดกั้นข้อมูลจนทำให้ประชาชนไม่สามารถมีข้อมูลที่รอบด้านในการตัดสินใจลงคะแนนหรือไม่

- ระยะกลาง 2: หลังรัฐธรรมนูญใหม่ประกาศใช้และมีรัฐบาลใหม่แล้ว หากต้องการจะเสนอแก้ไขกฎหมาย เราสามารถทำได้ตามสิทธิในรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะต้องมีการขอเอกสารแสดงตัวตนอย่างเป็นทางการอีกครั้ง โดยร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2559 ฉบับลงประชามติ มาตรา 133 บัญญัติไว้ว่า "มาตรา 133 ร่างพระราชบัญญัติให้เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรก่อน และจะเสนอได้ ก็แต่โดย
(1) คณะรัฐมนตรี
(2) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจ านวนไม่น้อยกว่ายี่สิบคน
(3) ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคนเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ตามหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย หรือหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ ทั้งนี้ ตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย
ในกรณีที่ร่างพระราชบัญญัติซึ่งมีผู้เสนอตาม (2) หรือ (3) เป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน จะเสนอได้ก็ต่อเมื่อมีคำรับรองของนายกรัฐมนตรี"

- ระยะยาว ร่วมปฏิรูปกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพทางข้อมูลข่าวสารของประชาชน เช่น กฎหมายเกี่ยวกับการจัดสรรคลื่นความถี่วิทยุโทรศัพท์และโทรคมนาคม กฎหมายเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการ กฎหมายคุ้มครองนักข่าวและผู้เปิดเผยความไม่ชอบมาพากล (whistleblower)

## กิจกรรม

- กิจกรรมหลักของเครือข่ายพลเมืองเน็ตในขณะนี้ คือการติดตามตรวจสอบกฎหมาย และเผยแพร่ข่าวสารให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมทางการเมืองผ่านการแสดงความคิดเห็นต่อกฎหมายได้อย่างเต็มที่
- เราสนับสนุนการแสดงออกออนไลน์ในวิธีต่างๆ ตราบเท่าที่วิธีการดังกล่าวมีเป้าหมายที่ชัดเจน ไม่กระทบกับผู้ไม่เกี่ยวข้องจนเกินพอดี และไม่ยุ่งเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชน
- สัปดาห์นี้ จะมีเวที 2 เวที ที่จะพูดถึงการร่างประกาศกระทรวงและสิ่งที่จะตามมา โดยตัวแทนของเครือข่ายพลเมืองเน็ตจะไปร่วมทั้ง 2 เวที

- วันศุกร์ที่ 23 ธ.ค. 9:00-12:00 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวที “ก้าวต่อไปของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต หลังพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2559” มีผู้ประกอบการอย่าง LINE และ Lazada และที่ปรึกษาของคณะกรรมาธิการฯพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เข้าร่วม เนื้อหาจะเน้นมาตรา 15, 16/2 และ 20 และการออกร่างประกาศกระทรวงหลังจากนี้เพื่อมาบังคับใช้กับผู้ประกอบการ
https://www.facebook.com/thainetizen/photos/pb.116319678129.-2207520000.1482314477./10154900507973130/?type=3&theater
ที่หอประชุมใหญ่จุฬาฯ

- วันอาทิตย์ที่ 25 ธ.ค. 13:30-17:00 คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเวที “ประเทศไทย หลังพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2559” โดยเนื้อหาจะเน้นถึงการทำงานของสื่อสารมวลชน โซเชียลมีเดีย และบรรยากาศเสรีภาพในการแสดงออกหลังจากนี้ โดยมีวิทยากรจากสมาคมสื่อระดับประเทศและระดับภูมิภาคเอเชียตัวออกเฉียงใต้ร่วมแลกเปลี่ยน

- ทั้งสองงานเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าได้ มีข้อเป็นห่วงและข้อเสนออะไร ไปที่สองงานนี้ได้

## ก่อนจะจากกันไปสำหรับจดหมายฉบับนี้
- ขอบคุณทุกคนที่ร่วมกันลงชื่อ กระจายข่าว และพูดคุยเกี่ยวกับกฎหมายนี้ ไม่ว่าจะในประเด็นใด มุมมองใดก็ตาม เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ก็สำคัญทั้งสิ้น เพราะนี่คือการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน ที่พื้นที่ออนไลน์น่าจะเป็นพื้นที่ไม่กี่พื้นที่ที่เหลือพอจะทำได้ การแสดงออกของพวกเราทุกคนมีความหมาย และจากนี้เรายังมีงานที่จะได้ทำร่วมกันอีกมาก

- ขอต้อนรับ ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัล ที่ทำหน้าที่อย่างเป็นทางการในวันนี้เป็นวันแรก ติดตามรัฐมนตรีของเราได้ทางทวิตเตอร์ @DrPichet มีอะไรก็สื่อสารกับท่านได้ตรงเลย โลกทุกวันนี้รวดเร็วขึ้นมาก ระยะห่างระหว่างรัฐมนตรีกับประชาชนมีน้อยลง เราจะได้สื่อสารเข้าใจตรงกันมากขึ้น

- ขอเรียกร้องสภานิติบัญญัติแห่งชาติ รีบเผยแพร่พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับที่สนช.ลงมติเห็นชอบโดยด่วน เพื่อให้ประชาชนและผู้ประกอบการได้เห็นร่างที่ได้แก้ไขเพิ่มเมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2559 ทั้งฉบับ และสามารถใช้เพื่อติดตามประกาศกระทรวงและเตรียมตัวระบบในความดูแลของตนต่อไป


สวัสดีครับ



เครือข่ายพลเมืองเน็ต