วันเสาร์, ตุลาคม 29, 2559

“เด็กไทยไม่ใช่คิดไม่ได้ แต่เด็กไทยไม่ได้รับอนุญาตให้คิด” คุยการเมืองแบบเข้มข้นกับเด็ก ม. 5 เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์





“เด็กไทยไม่ใช่คิดไม่ได้ แต่เด็กไทยไม่ได้รับอนุญาตให้คิด” คุยการเมืองแบบเข้มข้นกับเด็ก ม. 5 เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์


08-10-2016
Momentum,com


HIGHLIGHTS:

- เด็กไทยไม่สนใจการเมือง หรือสังคมไม่เปิดโอกาสให้เด็กได้คิดกันแน่?
- คุณทิ้งการเมืองได้ แต่การเมืองจะไม่ทิ้งคุณ เพราะการเมืองเป็นเรื่องของทุกคน
- เริ่มสนใจการเมืองด้วยวิธีง่ายๆ แค่คิดว่าคุณก็เป็นเจ้าของสังคม 


ไม่ใช่เรื่องปกติสำหรับเราที่จะมานั่งสนทนาเรื่องการเมืองกับเด็ก ม.5 ที่เพิ่งจะได้รับสิทธิ์เลือกตั้งไปหมาดๆ แต่สำหรับ เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ อดีตเลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท นี่คงเป็นเหตุการณ์ปกติที่เกิดขึ้นเป็นประจำนับตั้งแต่วันที่เขาออกไปชูป้ายถามนายกรัฐมนตรีเรื่องการศึกษาของเด็กไทย ซึ่งถ้าไม่นับทรงผมที่สั้นเกรียน และหน้าตาที่แสดงออกถึงความอ่อนวัย เราคงเผลอนึกไปว่ากำลังคุยอยู่กับนักเคลื่อนไหววัยกลางคนที่มีประสบการณ์ทางการเมืองอย่างโชกโชน

เพราะนอกจากคำพูดจาที่ฉะฉานเกินกว่าวัยแล้ว คำตอบแต่ละประโยคของเขายังแหลมคมและชวนให้เราคล้อยตามได้ไม่ยากอีกด้วย

ว่ากันว่าการเมืองเป็นเรื่องของทุกคน ถ้าเป็นอย่างนั้นก็คงไม่ใช่เรื่องเสียหายที่เราจะลองรับฟังความคิดของเด็ก ม.5 คนนี้ดู ถึงแม้ว่ามันจะไม่ใช่เรื่องปกติของคุณก็เถอะ

ทำไมเด็กม.ปลาย อย่างคุณต้องออกมาเรียกร้องหรือประท้วงอยู่บ่อยๆ 

 ผมไม่พอใจกับระบบการศึกษาที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เช่น ทำไมผมจะต้องตัดผมทรงนักเรียน หรือใส่ชุดนักเรียน ซึ่งเรื่องเหล่านี้ก็เป็นปัญหาที่นักเรียนอย่างผมต้องผจญอยู่ทุกวัน แล้วก็ไม่มีทีท่าว่ามันจะเลือนหายไปเสียที ทั้งๆ ที่เรื่องเหล่านี้ในสายตาผู้ใหญ่อาจดูเป็นเรื่องเล็กๆ แต่ถ้าวิเคราะห์และถอดประเด็นออกมามันกลับมีความสำคัญมากๆ อย่างเรื่องการตัดผม หรือการแต่งชุดนักเรียน เรื่องเหล่านี้ไม่ได้ออกมาในเชิงการสร้างข้อตกลงร่วมกัน แต่เป็นการออกคำสั่งเชิงบังคับ

สุดท้ายกฎระเบียบเหล่านี้ก็ไม่ได้มีไว้เพื่อรักษาความสงบสุข แต่มีไว้เพื่อรักษาอำนาจของผู้ปกครอง นั่นก็คือครู ท้ายที่สุดจึงกลายเป็นข้ออ้างที่ทำให้ครูสามารถกดนักเรียนได้โดยมีความเชื่อว่าครูมีอำนาจในด้านนี้ ซึ่งจะทำให้ครูสามารถควบคุมนักเรียนในด้านอื่นๆ ได้ง่ายขึ้นด้วย

ที่สุดแล้วคำถามนี้ก็เหมือนจะถามว่า ‘เมื่อคุณเห็นบ้านข้างๆ ไฟไหม้ คุณจำเป็นจะต้องเดือดร้อนด้วยไหม’ ซึ่งต่อให้เราเอาตัวรอดจากระบบการศึกษานี้ไปได้ แต่คนส่วนมากของประเทศที่ไม่น่าจะเอาตัวรอดได้ล่ะ ท้ายที่สุดเขาก็จะกลับมาเป็นเพื่อนร่วมสังคมของเราอยู่ดีหรือเปล่า ก็เหมือนเวลาที่มีไฟไหม้บ้านข้างๆ ถ้าเราไม่ทำอะไรเลยวันหนึ่งมันก็จะลุกลามมาไหม้บ้านเราอยู่ดี เว้นเสียแต่ว่าเราจะย้ายบ้านออกไป

คุณไม่กลัวการชูป้ายประท้วงหรือการถกเถียงกับผู้ใหญ่เลยหรือ

จริงๆ การเลือกจะไปชูป้ายก็มีความเสี่ยงอยู่เหมือนกัน แต่ผมเชื่อว่าปีศาจไม่สามารถอยู่ร่วมกับชาวเมืองได้ ยกเว้นชาวเมืองจะยอมรับปีศาจ ดังนั้นในสถานการณ์เช่นนี้การมีความเสี่ยงในการออกมาเคลื่อนไหวเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เราคงต้องยอมรับความเสี่ยงนั้นให้ได้ เพราะจะเป็นการยืนยันว่าสิ่งที่เราแสดงออกนั้นไม่ใช่สิ่งที่ผิด สิ่งที่เราทำไม่ใช่สิ่งที่ควรจะมีความเสี่ยงด้วยซ้ำ ถ้าเราหลบทางให้เขา นั่นแสดงว่าเราให้ความชอบธรรมว่าสิ่งที่เราทำนั้นเสี่ยงจริงๆ และสิ่งที่เขาทำมันถูกต้องแล้ว ถ้าทุกคนไม่กล้าขยับ สิ่งที่จะตามมาก็คือความกลัว ในสภาพที่มืดมนเช่นนี้เราควรต้องจุดเทียน ไม่เช่นนั้นก็จะหลงเหลือแต่ความว่างเปล่า

คุณมองว่าการเข้าถึงในเรื่องการเมืองของเด็กไทยยังจำกัดอยู่แค่ไหน

ถ้ามองลึกไปถึงวัฒนธรรม ถามว่าเด็กมีพื้นที่ไหม ก็ต้องบอกว่าเด็กมีพื้นที่พอสมควร แต่ไม่ใช่ในฐานะกระบอกเสียงของตัวเอง แต่เป็นกระบอกเสียงของผู้ใหญ่ ในที่นี้อาจแปลความหมายได้ว่า เสียงของเด็กอาจจะถูกรับฟังก็ได้ แต่เสียงนั้นต้องเป็นเสียงที่ผู้ใหญ่อยากฟังเท่านั้น ซึ่งเอาเข้าจริงในเชิงโครงสร้างทุกคนต่างก็ทราบดี อย่าว่าแต่เด็กเลย ผู้ใหญ่ทั่วๆ ไปก็ตกอยู่ในสภาพเดียวกันคือ ระบบการต่อรอง การมีส่วนร่วม การเข้าถึงการเมืองยังไม่เป็นธรรม เพราะถูกผูกขาดไว้กับกลุ่มคนแค่บางกลุ่ม

แต่ถ้าพูดถึงสังคมในเชิงวัฒนธรรม เราไม่ได้มองว่าเด็กเป็นเจ้าของสังคมเท่าเทียมกับผู้ใหญ่อยู่แล้ว กลายเป็นว่าความเป็นเจ้าของสังคมจึงตกอยู่กับคนที่มีอายุ หรือตกอยู่กับคนที่มีสถานะพิเศษบางอย่างเท่านั้น ทำให้เด็กมีข้อจำกัดในการเข้าไปร่วมตัดสินใจกับสิ่งที่อาจจะมีผลกระทบต่อตัวเอง

ตอนนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่เราเริ่มขยับ เพราะถึงแม้ว่าตัวผมเองจะมีพื้นที่สื่อในระดับหนึ่ง แต่กับเด็กทั่วๆ ไปที่ไม่ได้ทำกิจกรรม พวกเขาก็เป็นเจ้าของประเทศนี้เหมือนกัน แล้วทำไมเสียงของพวกเขาถึงต้องเปล่งออกมาผ่านปากของคนอื่นด้วย ผมว่านี่คือความบิดเบี้ยวตั้งแต่รากฐานของวัฒนธรรม แล้ววัฒนธรรมนี้เองที่จะไปบิดรูปแบบกลไกเชิงระบบที่ทำให้เสียงของเด็กเบาบางลง

แล้วจริงไหมที่เด็กไทยคิดไม่ได้ และไม่สนใจเรื่องการเมือง 

 เด็กไทยไม่ใช่คิดไม่ได้ แต่เด็กไทยไม่ได้รับอนุญาตให้คิด โดยเฉพาะในสังคมที่มองว่าการคิดต่างเป็นเรื่องผิด เป็นเรื่องที่พูดออกมาไม่ได้ ถ้าอย่างนั้นจะคิดไปทำไมในเมื่อคิดไปก็ทำอะไรไม่ได้อยู่ดี ผมมองว่ากำแพงอายุก็เป็นกำแพงที่ใหญ่มากในสังคมไทย แต่ถ้าพูดถึงเรื่องของความเฉื่อยชาที่เกิดขึ้น มันอาจไม่ใช่เรื่องของกำแพงอายุอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องของการไม่อนุญาตให้มีพื้นที่ของความแตกต่างทางความคิด ซึ่งปรากฏการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นแต่เฉพาะกับเด็ก แต่เกิดขึ้นทั่วไปในสังคมที่คิดต่างไม่ได้ ทำให้เรามีความต้องการที่จะขยายกรอบความคิดแคบลง เพราะเราไม่สามารถเรียนรู้ความคิดของผู้อื่นได้มากนัก

คุณมีเหตุผลดีๆ สักข้อไหมว่า ทำไมคนรุ่นใหม่ต้องสนใจการเมือง

ตราบใดที่คุณยังใช้ชีวิตอยู่ในประเทศนี้ การเมืองมันก็จะวนเวียนอยู่รอบตัวคุณตลอดเวลา คุณอาจจะไม่ได้เป็น ส.ส. หรือคุณอาจจะไม่ได้ใช้สิทธิ์เลือกตั้ง หรือใช้สิทธิ์ลงประชามติ แต่ท้ายที่สุดการเมืองก็เป็นสิ่งที่จะบอกได้ถึงความเป็นไป และช่วยสะท้อนปัญหาของสังคม เช่น นโยบายแบบนี้ส่งผลให้รถติดหรือไม่ เด็กม.ปลายจะได้เรียนฟรีไหม หรืออีกหลายๆ เรื่องที่คุณอาจจะคาดไม่ถึง

ทุกอย่างล้วนแต่ถูกควบคุมด้วยการเมือง คุณสามารถทิ้งการเมืองได้ แต่การเมืองจะไม่ทิ้งคุณ ซึ่งสิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อคนไม่สนใจการเมืองคือ ไม่ใช่ว่าเขาจะหลุดพ้นจากการเมือง แต่เขาจะถูกการเมืองตลบหลังโดยไม่รู้ตัว และไม่มีโอกาสต่อรองอะไรได้ทั้งสิ้น เพราะเขาได้เลือกแล้วที่จะไม่ต่อรองตั้งแต่แรก

คนไทยเป็นโรคเกลียดกลัวการเมือง เวลาที่พูดถึงการเมือง คนก็มักจะนึกถึงการทะเลาะเบาะแว้ง การขัดแย้ง การโต้เถียงกันในสภา แต่เราไม่ค่อยได้มองเรื่องการวางนโยบาย เช่น ทำอย่างไรให้รถในกรุงเทพฯ ไม่ติด ทำอย่างไรให้เด็กยากจนมีโอกาสเรียนหนังสือ หรือทำอย่างไรให้มีประกันสุขภาพสำหรับทุกคน เราไม่ได้มองเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องของการเมือง แต่จริงๆ แล้วมันคือเรื่องการเมืองโดยตรงเลย

คุณมีมุมสนุกๆ เหมือนเด็กทั่วไปบ้างไหม 

 สนุกนะครับ เพราะมีเรื่องเชิงอารมณ์หลายๆ อย่างเกิดขึ้น อย่างน้อยก็ต้องรู้สึกภูมิใจบ้างแหละที่เสียงของเราทำให้ผู้มีอำนาจต้องปรับตัวหรือลงมารับฟัง อีกด้านก็ทำให้รู้จักคนหลายกลุ่ม หลายประเภท ถ้านั่งเรียนอยู่เฉยๆ ก็คงจะได้เจอแต่เพื่อน ครู พ่อแม่เพื่อน แต่พอมาทำงานด้านนี้ผมได้รู้จักอาจารย์มหาวิทยาลัย นักวิชาการ นักเคลื่อนไหวคนอื่นๆ หรือเอ็นจีโอ ได้ลองทำในสิ่งที่ถ้าอยู่เฉยๆ ในห้องเรียนคงไม่มีทางได้ทำ แล้วผมว่าในแวดวงของนักเคลื่อนไหวด้วยกันจะค่อนข้างมีบรรยากาศที่เป็นมิตร คือจะมีแวดวงไหนที่ผมจะสามารถเป็นเพื่อนกับคนอายุ 25 หรือ 30 ได้แล้ว

ผมว่าการทำงานด้านนี้ก็ส่งผลต่อความคิดของผมพอสมควร มันทำให้ผมโตขึ้นนะ เพราะทุกๆ ครั้งที่จะเคลื่อนไหวอะไรสักอย่าง เราต้องเตรียมคอนเทนต์ หรือต้องมีอะไรในหัวก่อนจะพูด เพราะสิ่งสำคัญหลังจากได้กระแสความสนใจแล้ว คือเราจะใช้ประเด็นไหนในการเคลื่อนไหวต่อ ใช้หลักการอะไรมาอธิบายประเด็นนั้นอย่างไร เพื่อทำให้คนเข้าใจว่าประเด็นนี้สำคัญยังไง ถ้าไม่มีคอนเทนต์ในหัว ถึงเวลามีไมค์มาจ่อปากแล้วพูดอะไรไม่ออก ก็จะตายกลางอากาศ

ถ้าต้องแนะนำเพื่อนรุ่นเดียวกันให้สนใจการเมืองมากขึ้น คุณจะบอกว่า...

ผมว่าวิธีการที่ง่ายที่สุดในการเข้าถึงการเมืองคือการมองเชิงระบบ คือการจะเข้าถึงการเมืองได้ คุณต้องเชื่อก่อนว่าคุณเป็นเจ้าของสังคม และเชื่อว่าตัวเองมีคุณค่า เชื่อว่าคุณมีสิทธิ์ที่จะพูดในสิ่งที่ตัวเองอยากพูด พยายามมองปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับตัวเองให้เป็นภาพรวมมากขึ้น เดี๋ยวที่เหลือก็จะตามมาเอง
การเมืองไม่มีปลายทาง ตราบใดที่มนุษย์ยังมีชีวิตอยู่ การเมืองจะพัฒนาหรือเคลื่อนที่ไปเรื่อยๆ แต่ในระหว่างทางนั้นการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการเมือง คือการตื่นรู้ในปัญหาที่ตัวเองเจออยู่ การตั้งคำถาม ผมว่าทักษะเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้จะเริ่มต้นจากตรงไหนก็ได้ สุดท้ายมันจะพัฒนาเราให้เป็นผู้ที่รู้เท่าทันทางการเมืองคุณอาจจะไม่จำเป็นต้องเป็นนักเคลื่อนไหว ทุกคนไม่จำเป็นต้องเข้าไปนั่งในสภา แต่ทุกคนควรจะเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นในประเทศนี้ สิ่งนั้นจะกระทบกับเรายังไง แล้วเราจะทำอะไรได้บ้าง