วันพฤหัสบดี, เมษายน 21, 2559

อุณหภูมิพุ่งปรี๊ด-คนในครอบครัวนามสกุลบิ๊กทำสังคมเสียความรู้สึก!!





ที่มา ผู้จัดการออนไลน์
20 เมษายน 2559

เมืองไทย 360 องศา

ถึงอย่างไรก็ถือว่าเป็นไปตามคาดหมายอยู่แล้วว่านับจากนี้ไปอุณหภูมิทางการเมืองพุ่งสูงตามอุณหภูมิอากาศรอบข้าง โดยเฉพาะหลังจากสงกรานต์เป็นต้นไป เนื่องจากหลายเรื่องเริ่มเดินเข้าสู่ช่วงสำคัญ ซึ่งแน่นอนว่าในเรื่องสำคัญก็ต้องรวมเอาเรื่องการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่รวมอยู่ด้วยแน่นอน เพราะมีการกำหนดเอาไว้แล้วว่าจะมีขึ้นในวันที่ 7 สิงหาคมนี้

ดังนั้นเมื่อเวลาดังกล่าวกระชั้นเข้ามาก็เริ่มตึงเครียดมากขึ้น เพราะหากพิจารณากันอย่างตรงไปตรงมาไม่ว่าฝ่ายที่สนับสนุนหรือคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญต่างก็มีการเคลื่อนไหวกันในหลายรูปแบบ แม้ว่าในความเป็นจริงแล้วจะมีข้อจำกัดในเรื่องคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คุมเข้มอยู่ก็ตาม แต่ถึงอย่างไรโดยธรรมชาติแล้วเชื่อว่าจะต้องมีรายการ “ลองของ” ตามออกมาเป็นระยะ

ที่สำคัญหากห้ามไม่ให้ฝ่ายต้านห้ามเคลื่อนไหว ขณะเดียวกัน ฝ่ายหนุนหรือฝ่ายทางการจะรณรงค์ให้สนับสนุนอยู่ฝ่ายเดียวมันก็ดูกระไรอยู่ ทำนองตัวเองพูดไม่หยุดแต่ปิดปากอีกฝ่ายห้ามพูดมันก็ไม่แฟร์เท่าไหร่นัก แต่เอาเป็นว่าถึงจะเข้มอย่างไรก็ตามมันก็ต้องมีรายการป่วนเกิดขึ้นอยู่แล้ว

อย่างไรก็ดี นาทีนี้หากมีการให้ลงประชามติกันในวันนี้พรุ่งนี้ก็ยังมั่นใจว่า “ต้องผ่าน” เพราะประเมินจากสถานการณ์ วัดจากความนิยมของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยเฉพาะในตัวของผู้นำคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ถ้าวัดกันในตอนนี้ถือว่าความนิยมในตัวเขายังแรง แม้ว่าในช่วงหลังจะแผ่วลงไปเยอะ แต่ก็ยังถือเป็นตัวดึงให้ทั้งรัฐบาล ทั้ง คสช. รวมไปถึงส่งผลบวกไปถึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มั่นใจว่าต้องผ่าน ไม่เช่นนั้นคงไม่ท้าทาย แบบไม่แคร์ของพรรคการเมืองใหญ่อย่างพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ ที่ประกาศท่าทีว่า “คว่ำร่าง” กันไปแล้ว ทำนองว่า “ผมก็มีมวลชนของผมหนุนอยู่เหมือนกัน” ความหมายก็คือแม้สองพรรคจะขวางแต่ก็มั่นใจว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ยังเอาด้วยแบบไม่มีปัญหา

แต่อีกด้านหนึ่งก็ต้องเตือนสติกันบ้างเหมือนกันว่า การเมืองไทยจะวางแผนมั่นใจกันแบบยาวๆ ไม่ได้ ประเภทวันนี้ยังพุ่งสูงปรี๊ดติดลมบน แต่พอวันรุ่งขึ้นกลับสะดุดหัวทิ่มล้มคว่ำไม่เป็นท่าก็เห็นกันมานักต่อนักแล้ว โดยเฉพาะสถานะของความเป็น “เผด็จการ” ที่อาจมองว่าเป็นจุดแข็งที่สามารถควบคุมความเคลื่อนไหวและปิดปากฝ่ายตรงข้ามได้ แต่นั่นเป็นเพียงบางโอกาสเท่านั้น และตั้งอยู่บนพื้นฐานของความศรัทธาของชาวบ้านเท่านั้น ที่ผ่านมายังถือว่ารักษาระยะเอาไว้ได้ดีไม่น้อย

อย่างไรก็ดีเรื่องแบบนี้จะประมาทไม่ได้เป็นอันขาด โดยเฉพาะข่าวในเชิงลบ รวมไปถึงคำพูดของ “คณะผู้นำ” ต้องระวังไม่ให้กระทบต่อความรู้สึกของชาวบ้านมากเกินไปนัก

หากพิจารณาจากเหตุการณ์ในตอนนี้ก็ต้องบอกว่าเรื่องที่ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ปลัดกระทรวงกลาโหมใช้อำนาจอนุมัติให้ลูกชายของตัวเองเข้ารับราชการทหาร กำลังเป็นที่จับตาและวิพากษ์วิจารณ์ของสังคม แม้ว่าจะอ้างว่าทุกอย่างเป็นไปตามระเบียบตามขั้นตอน ซึ่งอาจจะมีจริงหรือไม่จริงไม่รู้ สำหรับสังคมวงนอกก็อาจตั้งข้อสังเกตไปต่างๆ นานา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคำพูดที่ว่า “เป็นเรื่องปกติคนอื่นเขาก็ทำกัน” ฟังดูแล้วไม่ค่อยรื่นหู

ที่สำคัญหากพิจารณาจากคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช.กำลังรณรงค์ในเรื่อง “ธรรมาภิบาล” แต่เรื่องที่เกิดขึ้นมันเสี่ยงต่อข้อครหามองแล้วดูไม่งาม ประเภทใช้ “อภิสิทธิชน” ยิ่งกรณีที่เกิดขึ้นมันเหมือนกับ “พ่อแต่งตั้งลูก” มันเป็นภาพที่อธิบายให้สังคมเข้าใจยาก

อีกเรื่องที่ต้องจับตามองก็คือ ข่าวคราวความเคลื่อนไหวในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชุดใหม่ ที่มี พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. ที่มีทั้งเตรียมแก้กฎหมายให้ ป.ป.ช.ดำเนินการพิจารณาความผิดเฉพาะนักการเมือง รวมไปถึงเรื่องที่กำลังถูกจับตาว่ากำลังจะมีการพิจารณาถอนฟ้องบางคน ซึ่งหนึ่งในนั้นมี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ที่ถูก ป.ป.ช.ฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จากความผิดจากการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 51 ซึ่งก็เป็นความพยายามเพื่อช่วยเหลือน้องชายของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเท่านั้น

ทั้งสองเรื่องมันเสี่ยงต่อความศรัทธาที่จะติดลบทำให้สถานการณ์ใหญ่ในวันหน้าพลิกผันไปในทางตรงกันข้ามได้แบบคาดไม่ถึง เพราะเวลานี้ไม่ใช่เฉพาะสองเรื่องนี้เท่านั้นยังมีอีกหลายเรื่องที่กำลังรอขยายผลจากฝ่ายการเมืองที่เสียประโยชน์ แต่หากยังดูเบา แม้ว่าเรื่องราวดังกล่าวจะมีที่มาที่ไปต่างกัน แต่หากไม่แก้ไขหรือ “ตัดไฟแต่ต้นลม” ดันทุรังคิดว่าตัวเองยังคุมทุกอย่างอยู่หมัดก็ต้องบอกว่าคิดผิด เพราะทั้งตัวผู้นำและรัฐบาลชุดนี้ยังอยู่ได้ อยู่ด้วยความศรัทธาเท่านั้น และชาวบ้านยังให้โอกาสมาทำภารกิจสำคัญให้เสร็จ ไม่ใช่ให้อยู่ในอำนาจไปเรื่อยๆ

ดังนั้น ถ้าวันใดชาวบ้านเห็นว่า “ผิดท่า” หรือ “ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง” มันก็ไม่เกิดประโยชน์ เขาก็ไม่เอาไว้ให้เสียเวลา เพราะเชื่อว่าหากชาวบ้านส่วนใหญ่เหลืออดเชื่อว่า “อำนาจพิเศษ” แค่นี้เอาไม่อยู่หรอก!

ooo


“วิษณุ” ชี้ ถอนฟ้องสลายชุมนุมปี’51ทำได้ แต่มีความเสี่ยง ระวังถูกด่า-สอบ7ชั่วโคตร





“วิษณุ” แจงเหตุหาก ป.ป.ช.ถอนฟ้อง คดีสลายชุมนุม 51 ทำได้ แต่ถือว่ามีความเสี่ยง

ที่มา มติชนออนไลน์
20 เม.ย. 59

เมื่อเวลา 18.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึง กรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กำลังพิจารณาข้อกฎหมายว่ามีอำนาจในการถอนฟ้องคดีหรือไม่ ภายหลังนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และพล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) จำเลยในคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 51 ที่ ป.ป.ช.ชี้มูลและยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ยื่นขอความเป็นธรรมต่อป.ป.ช.ว่ามีหลักฐานใหม่ว่า ถ้าถามในแง่กฎหมายหรือให้ความรู้ ตอบว่าสามารถถอนได้ ขนาดคดีที่เกี่ยวข้องกับวัดพระธรรมกายอัยการสูงสุด (อสส.) ยังเคยถอนฟ้องมาแล้ว แต่ควรถอนหรือไม่ต้องมีเหตุผลอธิบายให้ศาลฟัง และอธิบายให้สังคมรับฟังได้ แต่เมื่อศาลพิจารณาแล้วอาจจะไม่อนุญาตให้ถอนฟ้องก็ได้ อย่างไรก็ตาม กรณีที่เกี่ยวข้องกับป.ป.ช.นี้ กฎหมายของป.ป.ช.ไม่ได้เขียนว่าถอนได้และไม่ได้เขียนว่าถอนไม่ได้ แต่เมื่อป.ป.ช.เป็นผู้ฟ้องคดีนี้เองย่อมสามารถถอนได้

“แต่ถือเป็นความเสี่ยงมากกรณีฟ้องและถอน เพราะจะเกิดความสงสัย ใครทำอาจโดนสอบกัน 7 ชั่วโคตร เนื่องจากตอนฟ้องก็คิดว่าคุณพิจารณาดีที่สุดแล้ว เมื่ออยู่ๆ มาคุณมาถอนก็ต้องอธิบายให้ศาลเข้าใจได้ อธิบายให้สังคมเข้าใจได้ ไม่อย่างนั้นเขาจะเข้าใจว่าคุณไปกินสินบนมาหรือเปล่า มวยล้มต้มคนดูหรือเปล่า ขัดกับหลักที่บอกว่าจะดำเนินคดีอย่างจริงจังหรือเปล่า เล่นละครตบตาคนหรือเปล่า อะไรเหล่านี้มีเหตุผลเยอะแยะ แต่ถ้ามีเหตุผลที่ดีสามารถถอนได้ มันก็จบ แต่ที่พูดไม่ได้หมายความว่าผมบอกให้ทำเถอะ เป็นการให้ความรู้เท่านั้น ซึ่งเรื่องการถอนฟ้องบางครั้งมันก็เป็นนโยบายที่จะให้ถอนเพื่อความสงบเรียบร้อย มีหลายคดีที่อสส.สั่งไม่ฟ้อง ไม่ใช่ไม่มีความผิด แต่เพื่อเห็นแก่ความสงบเรียบร้อย อย่างเช่นคดีโรฮีนจาเข้าเมืองผิดกฎหมาย ที่เป็นเรื่องมนุษยธรรม”นายวิษณุ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่จำเลยอ้างว่ามีหลักฐานใหม่จึงขอให้ถอนฟ้องนั้น นายวิษณุ กล่าวว่า เป็นเรื่องของจำเลยที่ต้องเอาไว้สู้ แต่ถ้าป.ป.ช.เชื่อในเหตุผลและหลักฐานนั้นก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะเดินหน้าฟ้องคดีต่อไป เมื่อถามว่า ตามกฎหมายคนที่ถอนฟ้องสามารถถูกฟ้องกลับได้ในความผิดประพฤติมิชอบได้ด้วยหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า แน่นอน พอดีพอร้ายคนที่เคยเป็นจำเลยจะกลับมาฟ้องเอง แต่ต้องรอให้ถอนฟ้องเสียก่อน เพราะการที่เขาถูกฟ้องเขาต้องทนทุกข์ทรมานอยู่พักนึง ดังนั้น เมื่อมีการถอนก็แปลว่าเขาไม่ผิดใช่หรือไม่ แล้วตอนนั้นทำไมถึงฟ้องเขา มันโดนได้ทุกอย่าง จึงต้องอธิบายให้ได้