วันพฤหัสบดี, มีนาคม 31, 2559

เรื่องของประจักษ์ชัย: จำเลยคดี 112 อีกคนที่แพทย์ เห็นว่ามีอาการทางจิต แต่ให้สู้คดีได้





เรื่องของประจักษ์ชัย: จำเลยคดี 112 อีกคนที่แพทย์ เห็นว่ามีอาการทางจิต แต่ให้สู้คดีได้

ที่มา ILAW


---ประจักษ์ชัย--- ยื่นคำร้องหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ

19 กุมภาพันธ์ 2558 ประจักษ์ชัยนั่งรถเมล์ไปที่ทำเนียบรัฐบาล เขาบอกกับรปภ.ว่าจะมายื่นหนังสือร้องเรียน เหมือนกับที่เขาเคยทำเป็นประจำ แต่วันนี้เป็นครั้งแรกที่เขาได้รับอนุญาตให้เข้าไปข้างใน เจ้าหน้าที่เอากระดาษให้เขาเขียนเรื่องร้องเรียนด้วยลายมือ ทันทีที่เขายื่นข้อความยาวหนึ่งบรรทัดนั้น ตำรวจกว่าสิบนายก็ล้อมเข้ามาจับกุม

ประจักษ์ชัยถูกนำตัวไปฝากขังต่อศาลทหารกรุงเทพในอีกสามวันต่อมาและถูกควบคุมตัวที่นั่นเรื่อยมาก่อนที่อัยการทหารยื่นคำฟ้องยาวครึ่งหน้ากระดาษต่อศาลทหารกรุงเทพในวันที่ 15 พฤษภาคม 2558 อัยการทหารขอให้ศาลลงโทษตามมาตรา 112 และขอให้ริบปากกา ซึ่งเป็นของกลางที่ใช้ในการกระทำความผิด

น้องสาวของประจักษ์ชัยเล่าว่า เวลาอยู่บ้านประจักษ์ชัยจะไม่ค่อยคุยกับใคร เข้าสังคมไม่ได้ นานๆครั้งจะเกิดอาการคุ้มคลั่ง เขาเคยคุ้มคลั่งไม่ได้สติจนคนในบ้านต้องช่วยกันจับตัวส่งโรงพยาบาล คนรอบข้างพยายามจะพาเขาไปรักษาอาการทางจิตหลายครั้ง แต่ด้วยฐานะทางบ้านยากจน และประจักษ์ชัยก็ไม่ยอมรับว่าตัวเองเป็นบ้า เขาจึงไม่ได้เข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง

ก่อนถูกจับ ประจักษ์ชัย อายุ 41 ปี ทำงานเป็นช่างขัดอลูมิเนียมอยู่ที่โรงงานของเพื่อนที่มาจากบ้านเกิดในจังหวัดศรีสะเกษด้วยกัน ประจักษ์ชัยเป็นชายรูปร่างผอมแห้ง ผิวคล้ำ ตาโต ขอบตาลึก แววตาเหม่อลอย พูดจาตะกุกตะกัก วกไปวนมา บางครั้งจับใจความไม่ได้ นอกจากอาการป่วยทางจิต ประจักษ์ชัยก็ป่วยด้วยโรคตับแข็งจากการดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป หากมีความเครียดอาการตับแข็งจะกำเริบ ท้องบวม หากไม่ได้รับการรักษาทันทีก็อาจเสียชีวิต

ประจักษ์ชัยไม่เคยฝักใฝ่กลุ่มการเมืองสีเสื้อ แต่เขามีความคิดเกี่ยวกับการเมืองในแบบของตัวเองที่รุนแรง และนอกกรอบ จนคนรอบข้างไม่ยอมรับฟัง

“คุณไม่รู้เหรอ แบงค์ร้อยตอนนี้ มันเป็นแบงค์ปลอม นี่คุณไม่รู้กันจริงๆ เหรอ?” ประจักษ์ชัยบอกคนที่ไปเยี่ยม
“คุณลองเอามาดูสิ แบงค์ร้อยมันต้องมีรูปช้างใช่ไหม ที่เป็นพระนเรศวร เดี๋ยวนี้มันเป็นรูปอะไร แต่เขาก็ยอมให้ใช้กัน”
“ปี 37 ผมเคยถูกจับครั้งนึง แต่ผมเล่าให้ฟังแล้วผู้กำกับสน.ประชาชื่นเขาบอกว่าผมพูดถูก เขาก็ไม่ทำอะไรผม”

“ผมไม่ได้บ้านะ ที่เขาบอกว่าผมบ้าเพราะตำรวจจะได้ไม่ดำเนินคดีผม”

“วันไหนว่างผมก็มา (มาทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นเรื่องร้องเรียน) เสร็จจากงานผมก็นั่งรถเมล์มา รปภ.ที่นี่จำผมได้แล้ว เจอกันประจำ ผมก็บอกกับเขาอย่างงี้ตลอด แต่เขาไม่เคยทำอะไรผม” ประจักษ์ชัยเล่าถึงพฤติกรรมในอดีตของตัวเอง เขาบอกว่าทำแบบนี้มากว่า 20 ครั้งแล้ว

ตุลาคม 2558 ประจักษ์ชัยได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำ และน้องสาวรับตัวไปอยู่ในความดูแลหลังศาลมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีชั่วคราวตามที่ทนายยื่นคำร้องขอให้จำเลยอยู่ในความดูแลของญาติระหว่างการรักษาตัว โดยแพทย์ลงความเห็นว่า
(http://freedom.ilaw.or.th/th/case/666) ประจักษ์ชัย "มีอาการหลงผิดชัดเจน มีความเชื่อที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ซึ่งถือว่าเป็นโรคจิตเภท เรียบเรียงความคิดไม่ต่อเนื่อง" โดยคำสั่งศาลระบุว่า ประจักษ์ชัยมีอาการวิกลจริตจริงและไม่สามารถต่อสู้คดีได้ จึงให้งดการพิจารณาคดีไว้และให้จำหน่ายคดีชั่วคราว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 14 ให้จำเลยรักษาตัวในความดูแลของจิตแพทย์ต่อไป เมื่อหายวิกลจริตหรือสามารถต่อสู้คดีได้ ให้สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์รายงานให้ศาลทหารกรุงเทพทราบ

29 มีนาคม 2559 ประจักษ์ชัยเดินทางมาที่ศาลทหารพร้อมน้องสาว ศาลนัดไต่สวนแพทย์ถึงความคืบหน้าอาการทางจิตและความสามารถต่อสู้คดีของประจักษ์ชัย แพทย์เบิกความว่า ประจักษ์ชัยยังมีอาการหลงผิดอยู่ อาการหลงผิดนี้คือผู้ป่วยมีความเชื่อในเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้แม้ว่าจะมีบุคคลอื่นหรือหลักฐานมาแสดง ขณะนี้ประจักษ์ชัยได้รับยาต้านโรคจิตอยู่และสามารถรักษาหายโดยต้องรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าจะหายเมื่อไหร่ ขณะนี้ประจักษ์ชัยอาการดีขึ้น ไม่มีอาการหูแว่ว สามารถควบคุมตนเองได้ และสามารถใช้ชีวิตขั้นพื้นฐานเองได้ และสามารถรับรู้ขั้นตอนคดี เล่าเรื่องเกี่ยวกับคดี และสามารถต่อสู้คดีได้ แต่ทนายประจักษ์ชัยมีคำร้องขอเลื่อนฟั่งคำสั่งรายงานผลตรวจวินิจฉัยและประเมินความสามารถในการสู้คดีออกไปเนื่องจากเห็นว่า ผลตรวจอาการทางจิตของประจักษ์ชัยไม่เป็นปัจจุบันและเขายังป่วยด้วยโรคตับแข็งอีกด้วย แต่ศาลเห็นว่าผลตรวจวินิจฉัยของแพทย์มีเอกสารราชการยืนยัน อีกทั้งประจักษ์ชัยยังได้รับการประกันตัวจึงสามารถเข้ารับการรักษาได้ ศาลจึงมีคำสั่งให้ยกคดีนี้ขึ้นมาพิจารณาต่อและนัดจำเลยสอบคำให้การวันที่ 30 พฤษภาคม 2559
นอกจากประจักษ์ชัยเเล้ว กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา บัณฑิต อานียา จำเลยคดี 112 ที่มีประวัติอาการทางจิตศาลทหารไต่สวนแพทย์เเล้วสรุปว่า อาการของบัณฑิต ยึดติดกับความคิดซ้ำๆ เข้าข่ายลักษณะบุคลวิกลจริต มีโอกาสก่อคดีเพิ่มอีก แต่ยังสามารถสู้คดีต่อไปได้ จึงให้นัดสืบพยานต่อ( http://freedom.ilaw.or.th/th/case/640)

ดูรายละเอียดของคดีประจักษ์ชัย-->http://freedom.ilaw.or.th/th/case/666
อ่านความเรียง หลังลูกกรงมีคนบ้า เมื่อคนไม่บ้าเดืนหน้า กระบวนการยุติธรรม--> http://freedom.ilaw.or.th/blog/112Pyhcoperson


ooo


หลังลูกกรงมี ‘คนบ้า’ เมื่อ ‘คนไม่บ้า’ เดินหน้า ‘กระบวนการยุติธรรม’


โดย ilaw-freedom 
เมื่อ 23 กันยายน 2015

“ผมไม่ได้บ้านะ ที่เขาบอกว่าผมบ้าเพราะตำรวจจะได้ไม่ดำเนินคดีผม”
ประจักษ์ชัย กล่าวผ่านลูกกรงซ้ำแล้วซ้ำเล่า เขายังไม่เข้าใจว่า “บ้า” ไม่ใช่คำด่า แต่อาจเป็นเหตุผลเดียวให้เขาออกจากหลังลูกกรงนั่น

“ผมไม่ได้บ้าครับ ผมไปหาหมอมาแล้ว หมอเขาก็ไม่ได้ว่าผมเป็นอะไร”
“ธเนศ” นักโทษอีกคนเล่า หลังไปหาหมอในเรือนจำแล้ว แต่ไม่ได้รับการวินิจฉัยใดๆ

“ผมจำไม่ได้จริงๆ ตอนรู้ตัวก็คือผมนั่งอยู่ มีคนมายืนเต็มไปหมด”
สมัคร เล่าถึงเหตุการณ์วันที่เขาก่อคดีที่อ่อนไหวที่สุดของยุคสมัย อันเป็นความผิดต่อ “ความมั่นคงของราชอาณาจักร” คดีมาตรา 112 ฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ

...................................

เรื่องจริงของพวกเขา ชีวิต-เรื่องราว-ความเชื่อ

---“ธเนศ”---

2 กรกฎาคม 2558 ช่วงเช้ามืด “ธเนศ” ถูกทหารบุกไปจับที่บ้านในจังหวัดเพชรบูรณ์ และถูกพาตัวเข้ากรุงเทพเพื่อดำเนินคดีตามมาตรา 112 ข้อกล่าวหาของเขา คือ การส่งอีเมล์ให้ชาวต่างชาติซึ่งมีลิงก์ไปยังบล็อกที่มีเนื้อหาผิดกฎหมาย หลังถูกตั้งข้อหา เขาถูกฝากขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพเรื่อยมา

“ธเนศ” เป็นชื่อสมมติ ของชายร่างเล็ก สูงประมาณ 160 เซนติเมตร ใบหน้าซูบตอบ ยาวเรียว พูดจาสุภาพอ่อนน้อม อ่อนหวานตุ้งติ้งเล็กน้อย ก่อนถูกจับ “ธเนศ” อายุ 45 ปี มีอาชีพขายสินค้าเกษตรผ่านเว็บไซต์ MisterOtwo.com เขาไม่เคยเข้าร่วมการเคลื่อนไหวทางการเมืองใดๆ แต่เขามีความเชื่อว่าเขามีใบหน้าคล้ายสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เนื่องจากตอนอายุ 18 ปี แม่ค้าขายอาหารเคยเรียกเขาว่า “องค์ชาย”

ตลอดระยะเวลา 20-30 ปี ที่ผ่านมา “ธเนศ” เชื่อว่า จากการที่มีใบหน้าเช่นนี้ ทำให้ถูกคนที่เขาไม่รู้ว่าเป็นใคร คอยติดตามไปทุกหนแห่ง และกลั่นแกล้งเพื่อให้เขาไม่ได้มีชีวิตที่ดี เช่น ถูกขโมยรองเท้า ถูกคนเอาก้อนหินมาวางขวางทางตอนขี่จักรยาน เมื่อย้ายที่อยู่ใหม่ข้างห้องก็จะทำเสียงดังรบกวน เมื่อขึ้นรถเมล์คนขับก็จะขับไม่ดี และเคยถูกคนวางยาพิษใส่ไว้ในยาสีฟัน ฯลฯ

“ธเนศ” นับถือศาสนาคริสต์และยึดถือคำพยากรณ์ทางเว็บไซต์เป็นหลักของชีวิต ตามคำบอกเล่าของพี่สาว เวลา “ธเนศ” เดินทางไปไหนจะเอาตุ๊กตายางรูปไก่มัดกับไม้เป็นรูปไม้กางเขนติดไว้หน้ารถจักรยาน พร้อมแผ่นกระดาษเขียนว่า “องค์ชาย 20 ปี” บันทึกรายละเอียดเรื่องที่เขาถูกกลั่นแกล้งเอาไว้เพื่ออ้อนวอนต่อพระผู้เป็นเจ้า

“ธเนศ” ยังมีอาการได้ยินเสียงแว่วในหูเป็นพักๆ ซึ่งเสียงเหล่านั้นบางครั้งก็คุยกับเขา สั่งให้เขาทำสิ่งต่างๆ รวมทั้งฆ่าตัวตาย “ธเนศ” ชอบใส่ที่อุดหู เขาบอกว่าช่วยให้เขาไม่ต้องทนฟังเสียงเหล่านั้นได้ เสียงเหล่านั้นมารบกวนเขาครั้งหนึ่งในช่วงเดือนมิถุนายน 2553 บอกให้เขาส่งอีเมล์เพื่อ “ช่วยคนเสื้อแดง” เขาเชื่อและทำไปตามนั้น จึงเป็นเหตุนำมาสู่การจับกุมดำเนินคดี

ผลการตรวจของสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ระบุว่า “ธเนศ” ป่วยเป็นโรคจิตหวาดระแวง (F20.0 Paranoid Schizophrenia) และมีอารมณ์เศร้าร่วมด้วย ปัจจุบันสามารถต่อสู้คดีได้

“ถ้าไม่มีเสียงแว่ว ก็คงไม่ก่อเหตุ” เอกสารรายงานการวินิจฉัยโรคระบุ

…………………………………





---สมัคร---

8 กรกฎาคม 2557 สำนักข่าวหลายแห่งรายงานการจับกุมสมัคร ชายสติไม่สมประกอบที่อ.เทิง จ.เชียงราย เหตุจากการทำลายซุ้มพระบรมฉายาลักษณ์ที่ตั้งอยู่ริมถนน สี่แยกอ.เทิง ตำรวจในพื้นที่พร้อมผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ร่วมกันเข้าจับกุม เนื่องจากการกระทำของคดีเกิดขึ้นหลังการประกาศให้คดีมาตรา 112 พิจารณาที่ศาลทหาร สมัครถูกฝากขังต่อศาลทหารเชียงราย

ตามที่สมัครเล่า วันเกิดเหตุ ช่วงเย็น เขาขี่จักรยานจากบ้านไปตลาดซื้อมีดทำกับข้าวมาสองเล่ม พกใส่กระเป๋าย่ามไว้ ขากลับแวะนั่งกินเหล้าหน้าร้านขายของที่อยู่ห่างจากบ้านของเขาเพียงคนละฟากถนน เขาดื่มไปไม่น้อย จนประมาณสองทุ่มเขาก็จะเดินกลับบ้าน

พอจำได้อีกทีเขาก็นั่งอยู่ที่พื้นริมถนน มีตำรวจ ผู้ใหญ่บ้าน นักข่าว ยืนรุมอยู่ มีดเล่มหนึ่งอยู่ในมือ อีกเล่มไม่รู้อยู่ที่ไหน ส่วนจักรยานไม่ได้ขี่กลับมาด้วย

“ผมจำไม่ได้จริงๆ”
“จำได้ว่าดื่มเหล้านะ ตอนรู้ตัวก็คือผมนั่งอยู่ มีคนมายืนเต็มไปหมด” สมัครเล่า

เมื่อถามว่าได้ทำลายซุ้มเฉลิมพระเกียรติหรือไม่ เขาตอบว่าจำไม่ได้ เมื่อถามว่าทำไมนั่งอยู่ให้ถูกจับไม่เดินกลับบ้านหรือหนีไป เขาตอบว่า “ก็ยังไม่อยากลุกไปไหน”

ก่อนถูกจับสมัคร อายุ 49 ปี เป็นชายผิวดำแดง ผู้มีรอยยิ้มกว้างเต็มใบหน้า รูปร่างเล็กแต่ดูแข็งแรง มีอาชีพเป็นชาวนา มีที่นาเป็นของตัวเองที่ตกทอดมาจากพ่อแม่ 5 ไร่ อาศัยอยู่ตัวคนเดียว ไม่มีหนี้สิน ช่วงที่ไม่ต้องทำนาก็จะเข้าไปรับจ้างในเมืองเชียงใหม่ เช่น ทำงานก่อสร้าง จัดสวน สมัครไม่สนใจการเมือง ไม่เคยไปร่วมกิจกรรมทางการเมือง แม้คนแถวบ้านจะชวนกันไปชุมนุมอยู่บ้างแต่ก็ไม่มีใครมาชวนเขา เพราะรู้ว่าเขาจะไม่ไป หลังถูกจับสมัครไม่มีทรัพย์สินพอที่จะยื่นประกันตัว ที่นาที่มีอยู่ก็เป็นชื่อของแม่ ซึ่งตายไปกว่าสิบปีแล้วแต่ยังไม่เคยไปทำเรื่องจัดการมรดก เขาถูกคุมขังตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา

สมัครเคยมีประวัติรักษาอาการทางจิตที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ระบุว่า สมัครป่วยเป็นโรคจิตเภท (Schizophrenia) และมีสติปัญญาอยู่ในระดับต่ำ IQ=63 เพื่อนบ้านรู้ดีว่าอาการของสมัคร คือ จะโมโหร้ายเป็นพักๆ เคยทำลายข้าวของและเคยเผารถมอเตอร์ไซค์ของตัวเอง

………………………………………

---ประจักษ์ชัย---

19 กุมภาพันธ์ 2558 ประจักษ์ชัยนั่งรถเมล์ไปที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อบอกกับรปภ.ว่าจะมายื่นหนังสือร้องเรียน เหมือนกับที่เขาเคยทำเป็นประจำ แต่วันนี้เป็นครั้งแรกที่เขาได้รับอนุญาตให้เข้าไปข้างใน เจ้าหน้าที่เอากระดาษให้เขาเขียนเรื่องร้องเรียนด้วยลายมือ ทันทีที่เขายื่นข้อความยาวหนึ่งบรรทัดนั้น ตำรวจกว่าสิบนายก็ล้อมเข้ามาจับกุม

ประจักษ์ชัย ถูกฝากขังต่อศาลทหารกรุงเทพ และถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพเรื่อยมา จนกระทั่ง 15 พฤษภาคม 2558 อัยการทหารยื่นคำฟ้องยาวครึ่งหน้ากระดาษต่อศาลทหารกรุงเทพ ขอให้ลงโทษตามมาตรา 112 และขอให้ริบปากกา ซึ่งเป็นของกลางที่ใช้ในการกระทำความผิด
น้องสาวของประจักษ์ชัย เล่าว่า เวลาอยู่บ้านประจักษ์ชัยจะไม่ค่อยคุยกับใคร เข้าสังคมไม่ได้ นานๆ ครั้งจะเกิดอาการคุ้มคลั่ง เคยคุ้มคลั่งไม่ได้สติจนคนในบ้านต้องช่วยกันจับตัวส่งโรงพยาบาล คนรอบข้างจะพยายามพาเขาไปรักษาอาการทางจิตหลายครั้ง แต่ด้วยฐานะยากจน และเขาก็ไม่ยอมรับว่าตัวเองเป็นบ้า จึงไม่ได้เข้ารับการตรวจรักษาอย่างต่อเนื่อง

ก่อนถูกจับ ประจักษ์ชัย อายุ 41 ปี ทำงานเป็นช่างขัดอลูมิเนียมอยู่ที่โรงงานของเพื่อน ที่มาจากบ้านเกิดในจ.ศรีสะเกษด้วยกัน ประจักษ์ชัยเป็นชายรูปร่างผอมแห้ง ผิวคล้ำ ตาโต ขอบตาลึก แววตาเหม่อลอย พูดจาตะกุกตะกัก วกไปวนมา บางครั้งจับใจความไม่ได้ ประจักษ์ชัยยังมีโรคประจำตัว คือ ตับแข็ง จากการดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป โรคนี้หากเครียดอาการจะกำเริบ ท้องบวม และถ้าไม่ได้รับการรักษาทันทีเขาอาจเสียชีวิต
เขาไม่เคยฝักใฝ่กลุ่มการเมืองสีเสื้อ แต่เขามีความคิดเกี่ยวกับการเมืองในแบบของตัวเองที่รุนแรง และนอกกรอบ จนคนรอบข้างไม่ยอมรับฟัง

“คุณไม่รู้เหรอ แบงค์ร้อยตอนนี้ มันเป็นแบงค์ปลอม นี่คุณไม่รู้กันจริงๆ เหรอ?” ประจักษ์ชัยบอกคนที่ไปเยี่ยม
“คุณลองเอามาดูสิ แบงค์ร้อยมันต้องมีรูปช้างใช่ไหม ที่เป็นพระนเรศวร เดี๋ยวนี้มันเป็นรูปอะไร แต่เขาก็ยอมให้ใช้กัน”
“ปี 37 ผมเคยถูกจับครั้งนึง แต่ผมเล่าให้ฟังแล้วผู้กำกับสน.ประชาชื่นเขาบอกว่าผมพูดถูก เขาก็ไม่ทำอะไรผม”

“ผมไม่ได้บ้านะ ที่เขาบอกว่าผมบ้าเพราะตำรวจจะได้ไม่ดำเนินคดีผม”

“วันไหนว่างผมก็มา (มาทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นเรื่องร้องเรียน) เสร็จจากงานผมก็นั่งรถเมล์มา รปภ.ที่นี่จำผมได้แล้ว เจอกันประจำ ผมก็บอกกับเขาอย่างงี้ตลอด แต่เขาไม่เคยทำอะไรผม” ประจักษ์ชัยเล่าถึงพฤติกรรมในอดีตของตัวเอง เขาบอกว่าทำแบบนี้มากว่า 20 ครั้งแล้ว




กฎหมายคุ้มครองคนจิตไม่ปกติอย่างไร

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิ.อาญา) มาตรา 14 กำหนดว่า "ถ้ามีเหตุควรเชื่อว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้วิกลจริตและไม่สามารถต่อสู้คดีได้ ให้ส่งให้แพทย์ตรวจ ให้งดการดำเนินคดีไว้จนกว่าผู้นั้นหายวิกลจริตหรือสามารถจะต่อสู้คดีได้ และให้มีอำนาจส่งตัวผู้นั้นไปยังโรงพยาบาล หรือส่งให้ผู้ดูแล"

ดังนั้น หากตำรวจ หรือศาล เห็นว่าคนที่ถูกดำเนินคดีมีอาการทางจิต ก็มีอำนาจ ที่จะส่งให้แพทย์ตรวจ หากแพทย์วินิจฉัยว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยสู้คดีไม่ได้ ศาลก็มีอำนาจสั่งงดการพิจารณาคดีและส่งตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยไปรักษาได้

ขณะที่ประมวลกฎหมายอาญา (ป.อาญา) มาตรา 65 เปิดช่องสำหรับการไม่ลงโทษหรือลดโทษให้ผู้ที่กระทำความผิดเพราะมีจิตไม่ปกติ โดยมีหลักว่า ผู้ใดกระทำความผิด ในขณะที่ไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้เพราะมีจิตบกพร่อง ไม่ต้องรับโทษ แต่ถ้าผู้กระทำความผิดยังรู้ผิดชอบอยู่บ้าง หรือบังคับตนเองได้บ้าง ศาลจะลงโทษน้อยเพียงใดก็ได้

ในกรณีของความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่มีโทษจำคุกระหว่าง 3-15 ปี หากจำเลยมีอาการป่วยทางจิต ศาลก็อาจสั่งให้ลงโทษน้อยเพียงใดก็ได้ หรือจะรอลงอาญาก็ได้ แต่ท่ามกลางบรรยากาศทางการเมืองที่ตึงเครียดมาตั้งแต่หลังการรัฐประหารปี 2557 การคุ้มครองผู้ป่วยทางจิต ในทางปฏิบัติอาจไม่ง่ายเช่นนั้น


ภายใต้บรรยากาศการเมืองที่อ่อนไหว พวกเขาตกร่องกระบวนการยุติธรรม

19 กุมภาพันธ์ 2558 หลังประจักษ์ชัยถูกจับกุมจากการยื่นหนังสือที่ทำเนียบรัฐบาล เขาอยู่ที่สน.ดุสิตเพียง 20 นาที ก่อนที่ตำรวจจะปล่อยตัว โดยไม่ได้ตั้งข้อกล่าวหา แต่ด้วยเหตุผลบางประการ เจ้าหน้าที่กลับเปลี่ยนใจและกลับไปจับกุมตัวประจักษ์ชัยในช่วงค่ำวันเดียวกันระหว่างที่เขากำลังไปทำงานที่โรงงาน ประจักษ์ชัยถูกนำตัวกลับไปทำประวัติที่สน.ดุสิตอีกครั้ง และถูกตั้งข้อหาตามมาตรา 112

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้รับแจ้งเรื่องราวของประจักษ์ชัยจากนักโทษคนอื่นในเรือนจำและเข้าช่วยเหลือ แต่ก็ไม่ง่ายนักเมื่อญาติของเขาแจ้งว่าไม่เคยมีใบรับรองแพทย์เรื่องอาการทางจิต ทนายความและญาติจึงเข้ายื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อพนักงานสอบสวน ให้ใช้อำนาจตามป.วิ.อาญา มาตรา 14 แต่พนักงานสอบสวนปฏิเสธ เพราะใช้ดุลพินิจแล้ว เห็นว่า ผู้ต้องหายังตอบคำถามได้ จึงไม่เข้าข่ายวิกลจริตถึงขั้นต่อสู้คดีไม่ได้

ต่อมาทนายความส่งหนังสือขอให้เรือนจำส่งตัวไปตรวจรักษา แต่ก็ถูกปฏิเสธ เพราะเรือนจำไม่มีอำนาจตามป.วิ.อาญา มาตรา 14 จึงต้องรอให้อัยการยื่นฟ้องและยื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลสั่งให้ส่งตัวไปรักษา หลังเข้าเรือนจำได้ไม่นาน ประจักษ์ชัยต้องถูกย้ายไปคุมขังที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ เพราะอาการโรคตับแข็งกำเริบ

ประจักษ์ชัยได้รับการตรวจอาการทางจิตครั้งแรกในเดือนกรกฎาคม 2558 หลังถูกคุมขังมา 5 เดือน และจนถึงเดือนกันยายน 2558 ก็ยังไม่ทราบผลการวินิจฉัย ญาติถอดใจไม่ขอยื่นประกันตัวเพราะไม่รู้จะหาหลักทรัพย์จากที่ไหน

“นานเกินไปแล้ว ให้อยู่นานขนาดนี้ไม่ไหว” ประจักษ์ชัยเปรยกับทนายความ หลังถูกคุมขังนานกว่า 6 เดือน ศาลทหารก็ยังไม่กำหนดวันนัดพิจารณาคดี

…………………………………………….

กรณีของ “ธเนศ” ก็ลำบากคล้ายๆ กับประจักษ์ชัย เพราะไม่มีใบรับรองแพทย์มาก่อนถูกจับ ช่วงแรกเจ้าตัวไม่ยอมรับว่าตัวเองป่วย ญาติและทนายความพยายามเกลี้ยกล่อมให้เขาไปพบพยาบาลที่สถานพยาบาลในเรือนจำ ซึ่ง “ธเนศ” ก็ยอมไป แต่เมื่อไปถึงก็ไม่เล่าเรื่องอะไรให้พยาบาลฟัง

“ผมไม่ได้บ้าครับ ผมไปหาหมอมาแล้ว หมอเขาก็ไม่ได้ว่าผมเป็นอะไร” “ธเนศ” บอก หลังพยาบาลในเรือนจำยังไม่ส่งเขาไปตรวจรักษากับผู้เชี่ยวชาญ

“ธเนศ” อาจโชคดีกว่าประจักษ์ชัยอยู่บ้าง เพราะทางเรือนจำส่งตัวเขาตรวจอาการทางจิต หลังญาติและทนายความพยายามส่งหนังสือเข้าไป ประกอบกับเรือนจำเองก็สังเกตเห็นอาการ ขั้นตอนการส่งตัวและการตรวจใช้เวลาไม่น้อย สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ออกใบรับรองว่า "ธเนศ" คือผู้ป่วยหลังเขาถูกคุมขังไปแล้ว 5 เดือน

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเคยติดต่อยืมเงินจากผู้ใจบุญ เพื่อยื่นขอประกันตัวแต่ศาลไม่อนุญาต เพราะเหตุว่า “ความผิดตามฟ้องเป็นการเผยแพร่ข้อความเท็จ ซึ่งกระทบต่อความรู้สึกของประชาชนและมุ่งให้เกิดความเสียหายแก่สถาบันอันเป็นที่เคารพยิ่งของประชาชน ทั้งเป็นการกระทำที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร พฤติการณ์แห่งคดีมีความร้ายแรง มีเหตุควรเชื่อว่า หากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว จำเลยอาจหลบหนี”

หลังได้ใบรับรองแพทย์ จึงยื่นขอประกันตัวอีกครั้ง ศาลไม่อนุญาต ให้เหตุผลว่า “หากการเจ็บป่วยดังกล่าวทวีความรุนแรงถึงขั้นที่สถานคุมขังจะดูแลความปลอดภัยแก่ชีวิตของจำเลยไม่ได้แล้ว ย่อมต้องดำเนินการส่งตัวจำเลยให้แพทย์ทำการรักษา...”

8 พฤษภาคม 2558 วันนัดสืบพยาน พ.ญ.ดวงตา จากสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ เบิกความว่า อาการของจำเลยไม่ถึงขั้นวิกลจริต ตามป.วิ.อาญามาตรา 14 จำเลยมีอาการป่วยจริง ผลการทดสอบทางจิตวิทยาไม่ปรากฏว่า จำเลยแกล้งป่วย จำเลยกล่าวอ้างว่าขณะที่ส่งลิงก์นั้นมีการฟอร์เวิร์ดเมล์ เหตุที่ทำไปเพราะจะเป็นการช่วยประชาชน ไม่ทราบว่าสิ่งที่ทำเป็นความผิด พี่ชายของจำเลยก็มีอาการแบบเดียวกัน อาการของจำเลยจึงน่าจะมีสาเหตุมาจากกรรมพันธุ์ โรคนี้หากเป็นแล้วต้องรักษาตลอดชีวิต สามารถรักษาให้ทุเลาลงได้ แต่ไม่สามารถหายขาด หากจำเลยได้รับการรักษาอย่างเต็มที่น่าจะมีอาการดีกว่าที่เป็นอยู่

คดีของ “ธเนศ” ดูมีความหวังอยู่บ้าง เพราะประเด็นอาการทางจิตของจำเลยถูกนำเสนอสู่การพิจารณาของศาลอย่างครบถ้วน ในคดีนี้ ศาลอาจใช้อำนาจตามป.อาญา มาตรา 56 ลงโทษจำเลยน้อยเพียงใดก็ได้

…………………………………………….

คดีของสมัครอาจจะเริ่มต้นง่ายกว่าบ้าง เพราะเขามีใบรับรองแพทย์เรื่องอาการทางจิตติดตัวมาก่อนอยู่แล้ว

แม้ว่าเขาจะจำเหตุการณ์ไม่ได้ แต่ในทางคดีสมัครก็ยอมรับว่าเขาเป็นคนทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ เมื่อในคดีมีการกล่าวอ้างเรื่องอาการทางจิต ศาลจึงไม่อาจลงโทษทันที ต้องหาข้อเท็จจริงมาประกอบก่อน ในกระบวนการพิจารณาคดีปกติกรณีเช่นนี้ศาลอาจใช้กระบวนการ “สืบเสาะ” ให้กรมคุมประพฤติไปตรวจสอบประวัติพฤติกรรมของจำเลย รวมทั้งอาการเจ็บป่วยต่างๆ และส่งข้อเท็จจริงให้ศาลใช้ดุลพินิจว่าควรจะลงโทษหนักเบาเพียงใด ซึ่งกระบวนการเช่นนี้อาจใช้เวลา 1-2 เดือน ศาลก็มีคำพิพากษาได้

แต่เนื่องจากในศาลทหารไม่มีกระบวนการสืบเสาะ ดังนั้น คดีของสมัครจึงต้องดำเนินการสืบพยานทุกปาก

12 มกราคม 2558 และ 10 กุมภาพันธ์ 2558 วันนัดสืบพยาน อัยการทหารไม่ได้มุ่งสืบพยานให้เป็นผลร้ายกับจำเลยนัก เขาเบิกตัวพยานที่เป็นผู้ใหญ่บ้าน และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านมาขึ้นศาล ซึ่งล้วนยืนยันถึงเรื่องอาการทางจิตของจำเลย

อีกแง่มุมหนึ่ง ศาลทหารไม่ใช้ระบบนัดพิจารณาคดีแบบต่อเนื่อง หากวันไหนนัดแล้วสืบพยานปากนั้นไม่เสร็จ หรือพยานไม่มาศาล วันนัดก็จะเลื่อนออกไปอีกประมาณ 1-2 เดือน หากสืบพยานคนหนึ่งเสร็จ ก็จะหาวันนัดสืบพยานคนต่อไปในอีก 1-2 เดือนข้างหน้า ทำให้กระบวนการใช้เวลานาน
10 กรกฎาคม 2558 หลังถูกคุมขังมาครบหนึ่งปีพอดี อัยการบอกว่ายังเหลือพยานอีก 7 ปาก สมัครแจ้งกับทนายความว่าไม่ต้องการจะต่อสู้คดีต่อไปแล้ว ต้องการขอรับสารภาพต่อศาลเลย เพื่อให้ทุกอย่างจบ เพราะกระบวนการใช้เวลานานเกินไป รู้สึกเครียดตลอดเวลาที่ถูกคุมขังอยู่

“ถ้ารับแล้วศาลลงโทษห้าปี ลดเหลือสองปีครึ่ง จะไหวไหม” ทนายทดลองถาม
สมัครก้มหน้ายิ้ม ไม่มีคำตอบกลับมา

ทนายของสมัครยื่นคำแถลงปิดคดีขอให้ศาลลงโทษจำเลยสถานเบา และรอการลงโทษจำคุก เพื่อให้โอกาสจำเลยไปรักษาอาการทางจิต และเนื่องจากสมัครกลับคำให้การเป็นรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา ข้อเท็จจริงเรื่องอาการป่วยจึงไม่ถูกนำสืบต่อศาลอย่างเป็นทางการ





แล้วศาลก็ชี้ชะตากรรม

6 สิงหาคม 2558 ศาลทหารเชียงราย อ่านคำพิพากษาคดีของสมัคร จากการใช้มีดทำกับข้าวทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ ให้จำคุก 10 ปี ตามมาตรา 112 และให้ปรับ 100 บาท ฐานพกพาอาวุธในที่สาธารณะ เนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพ จึงลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 5 ปี ปรับ 50 บาท ศาลอ่านคำพิพากษาโดยไม่เอ่ยถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอาการทางจิตของจำเลย

“มันนานเกินไป...” สมัครกล่าว แต่ก็ก้มหน้ายอมรับชะตากรรม

25 มิถุนายน 2558 ศาลอาญาอ่านคำพิพากษาคดีของ “ธเนศ” จากการส่งอีเมล์ตามเสียงกระซิบในหู ให้ลงโทษจำคุก 5 ปี ตามมาตรา 112, 116 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ลดโทษให้เนื่องจากให้การเป็นประโยชน์เหลือจำคุก 3 ปี 4 เดือน

ศาลระบุเหตุผลว่า จำเลยให้การได้ตามปกติ มีอาการปกติเหมือนคนทั่วไป จำเลยให้การไว้โดยละเอียดเกี่ยวกับการกระทำความผิด เป็นขั้นเป็นตอน จำเลยสามารถประกอบการค้าขายบนอินเทอร์เน็ตได้ ไม่เชื่อว่าขณะกระทำความผิดจำเลยไม่รู้ผิดชอบหรือไม่สามารถบังคับตัวเองได้ จำเลยไม่สามารถยกข้ออ้างดังกล่าวขึ้นมาให้ตัวเองพ้นผิดได้

“ที่ผ่านมาขอบคุณทุกคนมาก ผมอยากให้เรื่องมันจบแล้ว ผมไม่ต้องการอุทธรณ์แล้วครับ” “ธเนศ” กล่าวกับทนายด้วยความสิ้นหวังหลังทราบผลคำพิพากษา

ส่วนคดีของประจักษ์ชัย ยังไม่เริ่มการพิจารณา ยังต้องเฝ้ารอคอยการชี้ชะตากรรมต่อไป

…………………………………………….

เท่าที่ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพบันทึกข้อมูลไว้ ในรอบ 5 ปีก่อนการรัฐประหาร มีผู้ป่วยทางจิตที่ถูกจับกุมและดำเนินคดีมาตรา 112 อย่างน้อย 3 คน หลังการรัฐประหารมีคนถูกจับกุมและตั้งข้อหามาตรา 112 อย่างน้อย 53 คน ซึ่งอย่างน้อย 5 คนมีอาการทางจิต และมีอีกหลายต่อหลายคนที่การพูดจา “ขาดๆ เกินๆ” แต่สติปัญญายังสมบูรณ์พร้อม

คนที่สนใจเรื่องสังคมการเมืองแม้เพียงเล็กน้อยย่อมทราบดีว่า ในบรรยากาศทางการเมืองปัจจุบัน การกล่าวถึงพระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักของปวงชนชาวไทยเป็นเรื่องอ่อนไหวที่สุด โดยมีมาตรา 112 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักคอยกำกับไว้ คนที่จะฝ่าฝืนกฎเกณฑ์นี้ ถ้าไม่เชื่อมั่นอย่างมากจริงๆ ก็คงต้องมี “บ้า” แถมด้วย

“ผมไม่เข้าใจครับ ผมรับสารภาพมาตลอด ทำไมเมื่อผมมีใบรับรองแพทย์เรื่องโรคจิต ศาลถึงลงโทษเยอะกว่า” เสียงตะโกนถามดังออกมาจากหลังลูกกรง “ธเนศ” ยังไม่เข้าใจผลคดีของตัวเอง เขาไม่เข้าใจว่าศาลไม่เชื่อผลการตรวจตามใบรับรองแพทย์แผ่นนั้น

ปัจจุบันคดีของ “ธเนศ” เลยระยะเวลาตามกฎหมายที่จะยื่นอุทธรณ์ คดีถึงที่สุดแล้ว

ที่ศาลทหารเชียงราย บรรยากาศค่อนข้างผ่อนคลาย ทั้งวันมีคดีของสมัครเพียงคนเดียว หลังออกจากห้องพิจารณาคดี เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ชี้มือให้สมัครเดินเข้าไปในห้องขัง ขณะที่โซ่ตรวนสนิมเขรอะพันอยู่รอบขา ชาวนา IQ ต่ำ เดินเข้าไปอย่างช้าๆ เขาหันหลังกลับมาผลักประตูลูกกรงปิดขังตัวเองไว้ด้านใน แล้วเดินเข้าไปนั่งอย่างสงบอยู่คนเดียวที่มุมหนึ่งของห้องนั้น ต้องใช้เวลาอีกเกือบ 4 ปี จึงจะถึงวันที่เขาได้กลับออกมาเห็นโลกภายนอกอีกครั้ง

คดีของสมัครสิ้นสุดแล้ว การพิจารณาในศาลทหารไม่มีชั้นอุทธรณ์ฎีกา

อ่านข้อมูลคดีของ "ธเนศ" ได้ที่ http://freedom.ilaw.or.th/case/614
อ่านข้อมูลคดีของสมัคร ได้ที่ http://freedom.ilaw.or.th/case/584
อ่านข้อมูลคดีของประจักษ์ชัย ได้ที่ http://freedom.ilaw.or.th/case/666