วันอังคาร, มกราคม 19, 2559

ยังจำบริษัทเหมืองทองทุ่งคำได้ไหม ที่ฟ้องร้องเด็กหญิงวัย ๑๕ ปี ข้อหาหมิ่นประมาท โทษฐานจัดรายการให้ความรู้แก่ชาวบ้านว่าเหมืองแร่ทำให้เกิดมลพิษเป็นภัยต่อสุขภาพ ‘กัดต่อ’ จองล้างชาวบ้าน ‘ฅนรักษ์บ้านเกิด’




เหมืองทุ่งคำจองล้างชาวบ้าน ‘กัดต่อ’ ยื่นกรรมการสิทธิสอบ ‘ฅนรักษ์บ้านเกิด’

ยังจำได้ไหม ย้อนไปเมื่อเดือนธันวาคมที่แล้ว บริษัทเหมืองทองทุ่งคำ ซึ่งถูกชาวบ้าน อ.วังสะพุง จ.เลยคัดค้านการขุดแร่ ได้ทำการฟ้องร้องเด็กหญิงวัย ๑๕ ปี ข้อหาหมิ่นประมาท โทษฐานที่จัดรายการให้ความรู้แก่ชาวบ้านว่าเหมืองแร่ทำให้เกิดมลพิษเป็นภัยต่อสุขภาพ

(ดูบทความไทยอีนิวส์ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๕๘http://thaienews.blogspot.com/searchฟ้องเด็กทำไม เด็กทำอะไรผิด)

สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม Greennews เปิดเผยว่า พนักงานบริษัททุ่งคำได้ไปยื่นคำร้องต่อกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๕๙ ให้ทำการตรวจสอบกลุ่มชาวบ้าน ‘ฅนรักษ์บ้านเกิด’

ยุยงและกล่าวหาบริษัทจนได้รับความเสียหาย ไม่สามารถจ่ายเงินเดือนค่าตอบแทนพนักงาน ๓๐๐ คนได้ เป็นผลกระทบให้เกิดความเดือดร้อนแก่ครอบครัวพนักงานรวมทั้งสิ้นกว่า ๑ พันคน

กรณีนี้มีรายงานข่าวของ น.ส.พ.ไทยรัฐ เมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๕๘ ว่า

“ที่หน้าศาลากลางจังหวัดเลย นายนนทวัตน์ สังข์สุรัชต์ แกนนำลูกจ้างเหมืองแร่ทองคำ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด อ.วังสะพุง จ.เลย ได้นำผู้ชุมนุมประมาณ ๓๐ คน ยื่นหนังสือเรียกร้องให้บริษัทฯ จ่ายเงินเดือนที่ติดค้างลูกจ้างกว่า ๓ ล้านบาท”

(http://www.thairath.co.th/content/496177)





แต่ปัญหาทางการเงินของบริษัททุ่งคำนั้น มีรายงานของ ‘สำนักข่าวพลเรือน’ เมื่อกลางเดือนเมษายนปีที่แล้ว แจ้งว่าตัวเลขในบัญชี ปี ๒๕๕๗ ของบริษัททุ่งคาฮาเบอร์ซึ่งถือหุ้นร้อยละ ๙๘.๐๓ ในบริษัททุ่งคำ

มีรายได้จากการขายทองคำและทองแดงของบริษัททุ่งคำราว ๑๗.๖๘ ล้านบาท หากแต่ต้นทุนอยู่ที่ประมาณ ๒๓.๑๖ ล้านบาท

ทำให้งบการเงินเฉพาะบริษัทในปีนั้นมีผลขาดทุนสะสม ๑๑๓.๑๑ ล้านบาท โดยที่บริษัทแม่ ‘ทุ่งคา’ มีอัตราขาดทุนสะสมอยู่ที่ ๑,๐๒๓.๘๓ ล้านบาท

คำฟ้อง กสม.ของทุ่งคำบอกว่า

“การรวมกลุ่มประท้วงปิดทางเข้า-ออกเหมือง ขัดขวางพนักงานไม่ให้เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ บริษัทฯ จึงไม่สามารถเดินเครื่องจักรได้ เครื่องจักรจึงถูกปล่อยทิ้งไว้เป็นเวลานานได้รับความเสียหายอย่างมาก...

การกีดขวางไม่ให้บริษัทฯ ขนส่งหัวแร่เพื่อการจำหน่ายได้ ทำให้ประเทศชาติเกิดความเสียหายในแง่รายได้ที่จะได้มาจากการส่งออกหัวแร่ รวมถึงค่าภาคหลวง...

อีกทั้งชักนำให้ชาวบ้านและเยาวชนต่อต้านเกลียดชังเหมือง รวมถึงพนักงานบริษัทฯ ดังเช่น การเบี่ยงเบนประเด็นการปนเปื้อนของโลหะหนักในพื้นที่ ว่าเป็นสาเหตุมาจากกิจกรรมการทำเหมืองแร่ ซึ่งแท้ที่จริงในพื้นที่ที่มีศักยภาพแหล่งแร่โลหะ ย่อมเป็นเรื่องปกติที่จะมีแร่โลหะหนักเป็นส่วนประกอบตามธรรมชาติอยู่แล้ว”

(http://www.greennewstv.com/?p=7866)





ประเด็นปนเปื้อนนี้มีข้อสังเกตุว่า แหล่งแร่ทรัพยากรใต้ดินมีอยู่ทั่วโลก โดยทั่วไปจะไม่ซึมหรือไหลออกไปเที่ยวปนเปื้อนสภาพธรรมชาติบนดิน เว้นแต่จะมีการขุดเจาะนำแร่นั้นขึ้นมา บางกรณีการปนเปื้อนมาจากสารเคมีที่ใช้ในกรรมวิธีการขุดเจาะด้วย




หน้าเฟชบุ๊คของ 'เหมืองแร่ เมืองเลย V2' (ที่ถูกใช้อ้างในคำร้องของทุ่งคำ) เปิดเผยเมื่อต้นเดือนมกราคมนี้ว่า ชาวบ้านวังสะพุงเพิ่งได้เห็นจดหมายเตือนจากสาธารณสุขจังหวัดเลย กว่า ๕ เดือนหลังจากที่ส่งถึงผู้ใหญ่บ้าน ๖ หมู่บ้าน แจ้งว่า

“ห้ามรับประทานปูจากลำน้ำห้วยเหล็ก” อันเป็นทางน้ำสาขาของลำน้ำฮวยที่ชาวบ้านใช้เป็นหลักในชีวิตประจำวัน

เมื่อชาวบ้านร้องเรียนขอทราบผลการตรวจเลือดชาวบ้าน ๔๒๐ คน เปรียบเทียบกับที่มีการตรวจไปแล้ว ๑๘๐ คนก่อนหน้า ทางสาธารณสุขกลับส่งแพทย์ไปแนะนำการบำบัดด้วยหลักการแพทย์ผสมผสาน เช่น

“ผักชีบดแห้ง รับประทานปริมาณ ๔๐๐ มิลลิกรัมต่อวัน จนกว่าจะย้ายออกจากพื้นที่”
“น้ำใบย่านางคั้น ดื่มทุกวันจนกว่าจะย้ายออกจากพื้นที่”
“มะขามป้อม รับประทานสดวันละ ๔-๗ ผล ทุกวันจนกว่าจะย้ายออกจากพื้นที่”

(https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=580538735429869&id=509085482575195)

เอ๊ะ เน้นการ 'ย้ายออกจากพื้นที่' เสียจริง

อย่างไรก็ดี ตามรายงานของสำนักข่าวพลเมือง ปัญหาทางการเงินของบริษัททุ่งคาฮาเบอร์เกิดจากหลายปัจจัย ได้แก่

เรื่องค่าตอบแทนในการใช้ที่ดินในเขตปฏิรูป ที่เหมืองทุ่งคำมีพันธะต้องจ่ายเป็นค่าภาคหลวง ก็ยังติดค้างอยู่ ๑๔.๕ ล้านบาท

อีกทั้งสำนักงานปฏิรูปที่ดิน (สปก.) ได้มีคำสั่งให้เหมืองทุ่งคำยุติการใช้พื้นที่ในเขตปฏิรูปตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๕๔ บรัษัททุ่งคำต่อสู้ด้วยการยื่นฟ้องศาลปกครองเพื่อระงับคำสั่ง

แต่ศาลปกครองอุดรวินิจฉัยให้บริษัททุ่งคำขนย้ายสิ่งปลูกสร้างและพนักงานออกจากเขตปฏิรูปที่ดิน ทุ่งคำอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดอีกเมื่อเดือนเมษายน ๒๕๕๖ คดียังไม่สิ้นสุด

นอกเหนือจากนั้นบริษัทเหมืองทุ่งคำยังถูกด๊อยซ์แบ๊งค์ เอจี ฟ้องต่อศาลอังกฤษเพื่อเรียกเก็บหนี้เงินกู้จำนวน ๕๑.๔๔ ล้านเหรียญสหรัฐ ตั้งแต่ปี ๒๕๕๔ บริษัททุ่งคำต่อสู้ด้วยการไปยื่นฟ้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ศาลสั่งจำหน่ายคดี ทุ่งคำอุทธรณ์ต่อ ยังรอการวินิจฉัย

ทางด๊อยซ์แบ๊งค์ซึ่งได้รับชัยชนะในคดีที่ฟ้องไว้ที่อังกฤษก็นำความไปแจ้งต่อศาลอนุญาโตตุลาการ ยื่นฟ้องล้มละลายต่อบริษัททุ่งคำ อนุญาโตตุลาการนัดสืบพยานเมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว ยังไม่ทราบผล

รวมความว่าบริษัทเหมืองทุ่งคำนั้นฝืนทำธุรกิจขาดทุนในพื้นที่เขตปฏิรูปทางการเกษตร แล้วแก้ต่างด้วยการไล่ฟ้องชาวบ้านที่ต่อต้านกิจการ รวมทั้งเด็กหญิงวัย ๑๕ ปี เพราะพวกเขากังวลในสวัสดิภาพทางความเป็นอยู่

ครั้นเมื่อเป็นข่าวอื้อฉาวขึ้นมา ก็มีการกดดันให้เด็กไปขอโทษเพื่อที่จะถอนฟ้อง แต่เด็กหญิงคนนั้นประกาศอย่างแน่วแน่ “พลอยไม่ผิด จะไปขอโทษทำไม”

(http://www.citizenthaipbs.net/node/7373)

ทั้งนี้ผู้อำนวยการโรงเรียนสตรีสงครามวิทยาของน้องพลอยเป็นผู้ดำเนินการติดต่อจะให้มีการขอโทษขอโพยดังกล่าว

ปรากฏว่าชาวบ้านตำบลเขาหลวง อ.วังสะพุงราว ๕๐ คนพากันไปให้กำลังใจน้องพลอย พร้อมยกป้าย ‘I am Ploy’ หรือ ‘ฉันคือพลอย’ สนับสนุนการตัดสินใจไม่ยอมขออภัยของ น.ส.วิรดา แซ่ลิ่ม อย่างพร้อมเพรียง

การที่บริษัททุ่งคำมอบให้พนักงานไปยื่นหนังสือร้องเรียนต่อ กสม. กล่าวหาชาวบ้านวังสะพุงอีกนี้ ถือได้ว่าเป็นการบีบคั้นกดดันไม่เลิกลา ต่อชาวบ้านผู้ได้รับความเสียหายจากผลกระทบทางสภาพแวดล้อม

คำร้องที่ว่า “ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงทั้งในแง่ผลประโยชน์ที่จะเป็นรายได้ต่อประชาชน องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น และประเทศชาติ รวมถึงก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคม” เป็นเพียงถ้อยวาทกรรมปรักปรำชาวบ้านที่ต่อสู้เพื่อสิทธิและสวัสดิภาพของตน

อีกทั้งการประท้วงปิดกั้นของชาวบ้านใช่ว่าจะสามารถทำได้เต็มที่อย่างที่กล่าวหา เหมืองทุ่งคำตอบโต้ด้วยการใช้กำลังคน กำลังเครื่องจักรทำลายสิ่งกีดขวาง

ซ้ำยังมีการทำร้ายชาวบ้านผู้ประท้วง ทุบตีด้วยไม้และท่อเหล็ก ถึงขั้นใช้มีดแทงบาดเจ็บสาหัสด้วย (http://e-shann.com/?p=7017)

จากกรณีที่บริษัททุ่งคำกระทำธุรกิจขาดทุน มีปัญหาทางการเงินหมักหมม แต่พยายามหาทางออกด้วยการค้าความ ดังปรากฏในพฤติกรรมต่างๆ ที่เราเสนอไว้ข้างต้น

ทำให้สันนิษฐานได้ว่าการฟ้องร้องคดีหมิ่นประมาทและการร้องเรียนต่อ กสม. โดยอ้างชาวบ้านเป็น ‘ผู้ร้าย’ นั้น

น่าจะเป็นกลเม็ดหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบทางหนี้สินที่ก่อไว้แต่ครั้งแรกเริ่มกิจการ มากกว่าได้รับความเสียหายจากการประท้วงโดยตรง

ดังข้อเท็จจริงจากการที่พนักงานบริษัทไปร้องเรียนให้ “คสช.ช่วยพวกเราด้วย” พบว่า

“บริษัทลงนามในข้อตกลงว่า เมื่อบริษัทฯ ขายแร่ได้และได้เงินค่าขายแร่แล้ว จะนำมาจ่ายให้กับลูกจ้าง ซึ่งบริษัทสามารถจำหน่ายแร่ได้แล้ว เป็นเงินกว่า ๓๒๓,๐๐๐,๐๐๐. บาท แต่เวลาผ่านไปเกือบสี่เดือนแล้ว บริษัทฯ ยังไม่ยอมจ่ายค่าจ้างและค่าชดเชยต่างๆ”

ทั้งที่ค่าตอบแทนลูกจ้างค้างอยู่เพียง ๓ ล้านกว่าบาท และค่าภาคหลวงค้างจ่ายอีก ๑๔ ล้านครึ่ง

เป็นการบิดพริ้วกล่าวหา สร้างแพะรับบาปหรือไม่

หากบริษัททุ่งคำและทุ่งคาสามารถดิ้นรอดเงื่อนงำนี้ไปได้ น่าจะเปลี่ยนชื่อใหม่ทั้งสองให้เป็น ‘ทุ่งความ’ เสียเลยรู้แล้วรู้รอดไป