วันพฤหัสบดี, มกราคม 28, 2559

ชีวิต ตัวตน และอุดมการณ์ ของสมยศ พฤกษาเกษมสุข หลังห้าปีที่ถูกจองจำ




iLaw

เกือบจะห้าปีแล้วที่สมยศ พฤกษาเกษมสุข อดีตบรรณาธิการวารสาร Voice Of Taksin และนักกิจกรรมทางสังคมต้องสิ้นอิสรภาพ เพราะปล่อยให้มีการเผยแพร่บทความที่เข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ สองชิ้นในวารสารที่เขาเป็นบรรณาธิการ

ระยะเวลาดังกล่าวอาจเป็นเวลาที่ยาวนาน ยิ่งหากต้องสิ้นอิสรภาพในกรงขังแล้วยิ่งยาวนานกว่าเดิมอีกหลายเท่า แต่สำหรับสมยศ ภาพของเขาขณะชูมือแจกรอยยิ้มกว้างในห้องสมุดเรือนจำ ที่ถูกเผยแพร่บนเว็บข่าวในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2558 น่าจะเป็นสิ่งยืนยันว่า ห้องขังที่พันธนาการไม่อาจทำลายจิตวิญญาณนักสู้ของเขาได้

ห้าปีในรั้วเรือนจำเกิดอะไรขึ้นกับสมยศบ้างชวนอ่าน 'ชีวิต ตัวตน และอุดมการณ์ ของสมยศ พฤกษาเกษมสุข หลังห้าปีที่ถูกจองจำ'

คลิก>>>http://freedom.ilaw.or.th/Forgottenprisoner/Somyot

ooo


ชีวิต ตัวตน และอุดมการณ์ ของสมยศ พฤกษาเกษมสุข หลังห้าปีที่ถูกจองจำ

ที่มา ILAW
22 มกราคม 2016

นับถึงเดือนมกราคม 2559 ก็จะเป็นเวลามากกว่าสี่ปีแล้ว ที่สมยศ พฤกษาเกษมสุข อดีตบรรณาธิการวารสาร Voice Of Taksin และนักกิจกรรมทางสังคมต้องสิ้นอิสรภาพ เพราะปล่อยให้มีการเผยแพร่บทความที่เข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯสองชิ้นในวารสารที่เขาทำหน้าที่บรรณาธิการ (ดูรายละเอียดคดีบนฐานข้อมูล ที่นี่)

สี่ปีอาจเป็นเวลาที่ยาวนานสำหรับคนที่คอยหวังอะไรบางอย่าง โดยเฉพาะหากสิ้นอิสรภาพในรั้วกรงขัง และสำหรับผู้ต้องโทษบางคน สี่ปีมันอาจนานเกินไป จนดวงตาไร้แววประกายชีวา แต่สำหรับสมยศ ภาพมัวพร่าของเขา ขณะชูมือแจกรอยยิ้มกว้างในห้องสมุดเรือนจำ ที่ถูกเผยแพร่บนเว็บข่าวในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2558 น่าจะเป็นสิ่งยืนยันว่า ห้องขังที่พันธนาการไม่อาจทำลายจิตวิญญาณนักสู้ของเขาได้

ภาพสมยศสมัยหนุ่มๆ (อนุเคราะห์โดยภรรยาของสมยศ)


สูญสิ้นอิสรภาพ

นอกจากงานประจำ เป็น บรรณาธิการ และนักกิจกรรมทางสังคมที่่เคยเคลื่อนไหวทั้งประเด็นสิทธิของผู้ใช้แรงงานและเสรีภาพในการแสดงออก สมยศเริ่มหารายได้เสริมโดยการทำทัวร์ประมาณปี 2549

30 เมษายน 2554 สมยศ พฤกษาเกษมสุข เดินทางพร้อมลูกทัวร์สู่ชายแดนไทย-กัมพูชา เมื่อคณะทัวร์มาถึงด่านอรัญประเทศ สมยศเข้าพิธีตรวจลงตราออกนอกประเทศเช่นเดียวกับลูกทัวร์ของเขา เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองพบว่าสมยศเป็นบุคคลตามหมายจับของศาลอาญา จึงควบคุมตัวและประสานเจ้าพนักงานจากส่วนกลางให้คุมตัวเขากลับไปดำเนินคดีต่อที่กรุงเทพฯ ก่อนที่จะถูกแจ้งข้อหาข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ข้อหาที่ร้ายแรงข้อหาหนึ่งแห่งยุคสมัยจากการเผยแพร่บทความหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ 2 บทความในนิตยสาร Voice of Taksin ที่เขาเริ่มรับหน้าที่บรรณาธิการในปี 2553

'จุ๊บ' ภรรยาของสมยศเล่าว่า สมยศเป็นคนที่มองโลกในแง่ดีและเชื่อว่าแม้ในสถานการณ์ที่เลวร้าย ความหวังยังมีอยู่เสมอ

อาจจะเป็นด้วยตลอดชีวิตการทำงาน สมยศขลุกอยู่กับประเด็นที่ยากจะชนะมาโดยตลอด เช่นประเด็นสิทธิแรงงาน สมยศจึงเชื่อมั่นว่า การสู้คดีจะได้รับความเป็นธรรมอย่างเต็มที่ซึ่งรวมถึงสิทธิให้ประกันตัว ตลอดระยะเวลาสี่ปีกว่าสมยศยื่นคำร้องขอประกันตัวรวม 16 ครั้ง ด้วยความหวังว่าวันหนึ่ง จะได้รับความเป็นธรรม น่าเสียดายที่เขาต้องพบเจอกับความผิดหวังทุกครั้งเพราะเหตุว่า คดีนี้เป็นคดีร้ายแรง มีโทษสูงและผู้ต้องหาอาจหลบหนี แม้จะไม่ได้ประกันตัวระหว่างสู้คดี แต่สมยศก็เลือกที่จะสู้คดีให้ถึงที่สุด

ชีวิตในรั้วเรือนจำ

สมยศที่ศาลจังหวัดเพชรบูรณ์

การปรับตัวให้เข้ากับชีวิตในเรือนจำไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะนอกจากจะถูกจำกัดอิสรภาพแล้ว ยังต้องใช้ชีวิตภายใต้กฎระเบียบที่เคร่งครัดทั้งกินอยู่อย่างจำกัด เมื่อเข้าไปอยู่ในเรือนจำแรกๆ สมยศบ่นเรื่องอาหารอยู่บ่อยๆ แต่หลังๆเขาก็ปรับตัวได้ และไม่บ่นเรื่องอาหารอีก

รองจากอาหาร ความน่าเบื่อหน่าย ว้าเหว่ จากกิจวัตรจำเจ เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สมยศและนักโทษหลายคนต้องเผชิญ เขาเลือกใช้หนังสือเป็นเครื่องมือคลายเหงา แต่ในห้องสมุดเรือนจำมีหนังสืออยู่อย่างจำกัด โดยมากเป็นหนังสือธรรมะ หรือนิยาย สมยศจึงต้องอาศัยอ่านหนังสือด้านสังคมหรือประวัติศาสตร์ที่เพื่อนๆหรือญาติส่งเข้าไปให้เช่น ชีวประวัติและการต่อสู้เพื่ออุดมกาณ์ ของ มหาตะมะ คานธีและ เนลสัน แมนเดลลา การอ่านชีวประวัตินักต่อสู้ที่เคยติดคุกอาจเป็นกำลังใจให้สมยศได้ระดับหนึ่ง แต่สิ่งที่น่าจะทำให้เขามีกำลังใจมากจนยืนหยัดอยู่ได้แม้ถูกจองจำ น่าจะเป็นกำลังใจจากคนจำนวนมากที่แวะเวียนมาเยี่ยม

หลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 มีคนถูกจับกุมในคดีการเมือง กระทั่งต้องโทษ ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพเป็นจำนวนมาก ทางเรือนจำผ่อนผันกฎระเบียบการเยี่ยม อนุโลมให้นักโทษการเมืองออกมาพบญาติในรอบและห้องเยี่ยมเดียวกันครั้งละหลายคน ขณะที่ญาติและเพื่อนร่วมอุดมการณ์ทางการเมืองก็สามารถเข้าไปเยี่ยมผู้ต้องขังการเมือง

พร้อมๆกันซึ่งบางครั้งจำนวนคนไปเยี่ยมก็มากจนล้นห้อง สมยศจึงไม่ได้มีแค่ญาติมาดูแลความเป็นอยู่ แต่มีเพื่อนร่วมอุดมการณ์ทั้งที่เคยรู้จักและไม่เคยรู้จักโดย มาคอยอัพเดทสถานการณ์บ้านเมือง รวมถึงขอคำแนะนำเรื่องแนวทางการทำกิจกรรมทางการเมืองรวมอยู่ด้วย บท
สนทนาและกำลังใจจากผู้มาเยือนจึงเป็นเสมือนหยดน้ำที่หล่อเลี้ยงไม่ให้กำลังใจของสมยศแห้งเหือด

รัฐประหารที่เปลี่ยนวิถี "คนห้องกรง"

22 พฤษภาคม 2557 กลุ่มทหารในนามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ทำรัฐประหาร ประกาศใช้กฎหมายและออกกฎระเบียบหลายฉบับที่มีเนื้อหา ที่กระทบสิทธิเสรีภาพการแสดงออกของคนในประเทศ กระทั่งคนที่เป็นผู้ต้องขังในเรือนจำเองก็ได้รับผลกระทบไปด้วย ช่วงหนึ่งถึง
สองเดือนแรกหลังการรัฐประหาร เรือนจำพิเศษกรุงเทพยังคงเปิดให้เพื่อนร่วมอุดมการณ์ มาเยี่ยมนักโทษการเมืองได้เช่นเดิม แต่มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมาตั้งกล้องถ่ายภาพผู้มาเยี่ยมและยืนสังเกตการณ์บริเวณจุดพักญาติของเรือนจำด้วย ต่อมาในเดือนกรกฎาคม 2557 คสช.ออกคำสั่งฉบับที่ 84/2557 เปลี่ยนตัวอธิบดีกรมราชทัณฑ์

อธิบดีคนใหม่มาพร้อมกับนโยบายที่เข้มงวดขึ้น ระเบียบที่กำหนดให้ผู้ต้องขังระบุรายชื่อผู้มีสิทธิเข้าเยี่ยมไม่เกิน 10 คน ถูกบังคับใช้อย่างเข้มงวด คนที่ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 ถูกกำหนดให้เยี่ยมในห้องพิเศษที่ติดกระจกกั้นรูระบายอากาศทำให้ผู้ต้องขังและญาติต้องสื่อสาร
ผ่านเครื่องโทรศัพท์ไม่สามารถตะโกนคุยกันได้ ด้านการรับรู้ข่าวสาร ก่อนมีรัฐประหารผู้ต้องขังยังได้อ่านหนังสือพิมพ์ฉบับเก่าๆบ้าง แต่หลังจากนั้น แม้แต่หนังสือพิมพ์ฉบับเก่าๆผู้ต้องขังก็ไม่มีอ่าน

สำหรับสมยศ การรัฐประหารทำให้ชีวิตของเขาที่ไร้อิสรภาพอยู่แล้วต้องเลวร้ายลงไปอีก หลัง 'กฎ10คน' ถูกบังคับใช้ ผู้มาเยี่ยมสมยศจึงเหลือแค่ญาติกับเพื่อนสนิทไม่กี่คน บทสนทนาจึงเน้นไปที่ชีวิตความเป็นอยู่มากกว่าสถานการณ์ทางการเมือง ทำให้คนที่ตื่นตัวทางการ
เมืองอย่างสมยศรู้สึกอึดอัด ความน่าสงสัยว่าเจ้าหน้าที่ราชฑัณฑ์ ติดเครื่องดักฟังโทรศัพท์ในห้องที่ผู้ต้องขังคดี112และญาติใช้สนทนากัน ทำให้เขาและคู่สนทนาไม่สามารถสื่อสารกันได้อย่างอิสระ

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ก็เข้มงวดเรื่องส่งหนังสือเข้าไปเรือนจำมากขึ้น หนังสือที่ญาติฝากเข้าไปให้สมยศในช่วงหลังมักถูกตีกลับ ขณะที่หนังสือที่เขาได้รับและนำไปไว้ในห้องสมุดก่อนหน้านี้ก็ถูกตีกลับมาให้ญาติทั้งหมด แต่สิ่งที่เอ่ยมาทั้งหมดคงไม่ร้ายแรงเท่าถูก"ติดตาม" เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จะคอยติดตามดูว่าสมยศคุยกับใครคุยเรื่องอะไรแล้วคอยรายงานผู้บังคับบัญชา ซึ่งเรื่องนี้น่าจะเป็นเรื่องร้ายแรงที่สมยศยากจะรับได้

ตัวตน- อุดมการณ์

ภาพสมยศขณะอยู่ในเรือนจำ จากเฟซบุ๊กของ สงวน คุ้มรุ่งโรจน์ 

ภาพสมยศชูมือพร้อมรอยยิ้มกว้างที่ถูกเผยแพร่ในช่วงปลายปี 2558 น่าจะเป็นสิ่งที่แสดงว่า ท่ามกลางสถานการณ์อันหดหู่ ที่ต้องสิ้นอิสรภาพมากว่า 4 ปี และบรรยากาศที่บีบคั้นหลังรัฐประหาร 2557 กำลังใจของสมยศยังไม่เลือนหาย เป็นไปได้ว่า ตลอดระยะที่ผ่านมา สมยศทำงานในประเด็นที่ยากจะเป็นผู้ชนะมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นสิทธิแรงงาน หรือการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

สิ่งหนึ่งที่น่าจะทำให้สมยศยังมีกำลังใจดีแม้ในสถานการณ์ที่ดูจะมืดมน คงเป็นความรู้สึกว่าตัวเขาเองยังทำอะไรให้คนอื่นได้อยู่บ้าง ครั้งหนึ่งเพื่อนของสมยศมาเยี่ยมเขาที่เรือนจำ สมยศขอให้ซื้อแปรงสีฟันยาสีฟัน เมื่อเพื่อนคนเดิมมาเยี่ยมเขาในอีกไม่กี่วันให้หลัง สมยศก็ขอให้เพื่อนซื้อแปรงสีฟันกับยาสีฟันให้อีก เมื่อเพื่อนของเขาติงว่าเพิ่งซื้อให้ทำไมถึงให้ซื้ออีก สมยศก็บอกว่า ของที่ซื้อให้คราวก่อนเอาให้ผู้ต้องขังเข้าใหม่ไปแล้ว เพื่อนของสมยศเล่าให้ฟังว่า สมยศมักจะมีขันสบู่ยาสีฟันสำรองเอาไว้ต้อนรับผู้ต้องขังคนใหม่ที่ญาติอยู่ไกลไม่สามารถมาซื้อของใช้ได้ นอกจากนี้สมยศก็มักเป็นเพื่อนคุยและให้คำแนะนำกับผู้ต้องขังคนอื่นๆ เรื่องการปรับตัวให้เข้ากับชีวิตในเรือนจำ

ความมีน้ำใจ ทำให้เขาเป็นที่รู้จักในหมู่ผู้ต้องขังแดนหนึ่งเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ซึ่งถือเป็นแดนแรกรับ ทั้งผู้ต้องขังคดีการเมืองและผู้ต้องขังคดีอื่นๆ เพื่อนของสมยศเล่าว่า เคยมีผู้ต้องขังที่ออกจากเรือนจำโทรมาถามสารทุกข์สุขดิบของสมยศ โดยบอกว่า ช่วงที่อยู่ในเรือนจำเคยได้คำแนะนำและความช่วยเหลือจากสมยศ จึงมีความระลึกถึง ก่อนหน้าที่เรือนจำจะบังคับใช้กฎ 10 คน ก็มีอดีตผู้ต้องขังที่เคยได้รับความช่วยเหลือจากสมยศแวะเวียนไปเยี่ยมเขาอยู่บ้าง ไม่เพียงแต่ผู้ต้องขัง ผู้คุมเรือนจำจังหวัดเพชรบูรณ์ที่สมยศเคยไปอยู่ช่วงสั้นๆระหว่างรอการสืบพยานก็ เคยโทรมาถามสารทุกข์สุขดิบของเขาเช่นกัน เพราะช่วงที่สมยศไปอยู่ที่นั่นเคยขอให้ญาติและเพื่อนๆช่วยกันระดมบริจาคเสื้อหนาวให้ห้องพยาบาลของเรือนจำเพื่อแจกจ่ายให้ผู้ต้องขังที่ไม่มีใช้

'ม่านฉากหลัง'การต่อสู้

ตลอดเวลาที่ถูกจองจำ 'พี่จุ๊บ' ภรรยาของสมยศคือผู้ที่คอยมาเยี่ยมส่งข้าวปลาอาหารและของใช้จำเป็นอื่นๆให้รวมทั้ง กำลังใจ พี่จุ๊บเล่าว่า โชคดีที่งานของเธอมีความยืดหยุ่นเรื่องเวลาจึงสามารถมาเยี่ยมสามีได้เฉลี่ยอาทิตย์ละครั้ง สมยศเองก็ไม่ได้ห่วงทางบ้านมากนัก เพราะ พี่จุ๊บเอง ก็มีงานที่มั่นคงขณะที่ลูกชายก็เรียนจบและมีงานทำแล้ว จะห่วงก็แต่ลูกสาวที่ยังเรียนอยู่ แม้ว่าสมยศจะไม่ค่อยส่งจดหมายกลับบ้านเพราะเจอภรรยาเกือบทุกสัปดาห์อยู่แล้วแต่ก็เคยส่งจดหมายถึงลูกสาวอยู่บ้างด้วยความเป็นห่วง

การถูกจองจำของสมยศกระทบกับครอบครัวบ้างแต่อาจจะไม่มากเกินกว่าครอบครัวเขาจะรับได้ สมยศทำงานในองค์กรพัฒนาเอกชนหรือองค์กรภาคสังคมอื่นๆมาโดยตลอด รายได้ของเขาจึงไม่ใช่รายได้หลักของครอบครัว ภรรยาของสมยศเล่าว่า นับตั้งแต่เริ่มสร้างครอบครัว
เธอเป็นกำลังหลักในการหารายได้เข้ามาบ้านโดยตลอด การที่สมยศติดคุกจึงอาจไม่กระทบกับครอบครัวมากนัก อาจจะกระทบบ้างในเรื่องการจัดสรรเวลามาเยี่ยมสมยศแต่งานของเธอเป็นงานที่มีความยืดหยุ่นเรื่องเวลา จึงพอจะจัดสรรเวลามาเยี่ยมได้ นอกจากนี้ลูกทั้งสองก็โตและเข้าใจถึงสิ่งที่เกิดขึ้น

นอกจากนี้ ครอบครัว"พฤกษาเกษมสุข" เป็นครอบครัวที่เปิดกว้าง ภรรยาของสมยศรู้ดีว่างานที่สมยศทำไม่สามารถเป็นรายได้หลักของครอบครัวได้ แต่เธอก็เคารพในสิ่งที่เขาทำและเลือกที่จะใช้ชีวิตกับเขา เช่นเดียวกับครั้งที่เขาเลือกจะสู้คดีถึงที่สุดแทนการรับสารภาพให้คดีจบเพื่อขอพระราชทานอภัยโทษออกมา ภรรยาและลูกของสมยศก็เคารพการตัดสินใจและคอยช่วยเหลือเป็นกำลังใจให้ ซึ่งการสนับสนุนของครอบครัวก็น่าจะเป็นอีกเหตุผลหนึ่ง ที่ทำให้สมยศยังมีกำลังใจยืนหยัดอยู่ได้แม้จะไร้อิสรภาพมาเกือบห้าปี

ห้าปีที่ผ่านพ้นไป กับอีกหกปีที่จะผ่านเข้ามา


ภาพสมยศ ผลงานของ อ้าย เหว่ย เหว่ย

23 มกราคม 2556 ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกสมยศเป็นเวลาสิบปี ด้วยมาตรา 112 และให้นำโทษจำคุกหนึ่งปีในคดีหมิ่นประมาทพล.อ.สพรั่ง กัลยานมิตร ที่รอลงอาญาไว้มาบวกเพิ่ม ทำให้สมยศถูกลงโทษจับคุกรวม 11 ปี ต่อมาในเดือนกันยายน 2557 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น หากคำพิพากษาศาลฎีกาที่จะออกมาในอนาคตอันใกล้เป็นไปในแนวทางเดียวกับศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ สมยศก็จะเหลือโทษจำคุกอีกประมาณหกปีสี่เดือน

ความหวังที่ศาลฎีกาจะพิพากษาเป็นอื่นโดยเฉพาะภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันดูจะเลือนรางแต่สมยศก็ยังพอมีหวังอยู่บ้าง ประมาณเดือนตุลาคม 2558 ศาลฎีกาลดโทษเอกชัย นักโทษคดี 112 อีกคนหนึ่งที่ถูกจำคุกมาตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม 2556 จากโทษจำคุกสามปีสี่เดือนเหลือสองปีแปดเดือน สมยศจึงมีความหวังว่าศาลฎีกาอาจลดโทษให้เขาอยู่บ้าง แต่หากศาลฎีกาไม่ลดโทษให้ สมยศก็พร้อมจะอยู่ในเรือนจำจนครบกำหนดโทษโดยจะไม่ขอพระราชทานอภัยโทษ

แม้การขอพระราชทานอภัยโทษจะเป็นทางหนึ่งที่ทำให้สมยศพ้นโทษกลับมาอยู่ครอบครัวได้เร็วขึ้น แต่เขาตั้งใจแน่วแน่ว่าจะไม่เลือกเดินทางนั้น เพราะสมยศเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่าเขาไม่ได้ทำอะไรผิด หากจะขอพระราชทานอภัยโทษ สมยศจะต้องเขียนฎีกาซึ่งมีเนื้อหาเป็นการสำนึกในความผิดและเสียใจกับการกระทำของตัวเองอย่างสุดซึ้ง ซึ่งนั่นก็จะขัดต่อความเชื่อที่แท้จริงของเขา แม้จะทำให้ได้อิสรภาพเร็วขึ้น แต่มันก็จะทำให้เขาถูกจองจำด้วยความรู้สึกผิดไปตลอดชีวิต สมยศจึงเลือกที่จะสู้คดีให้ถึงที่สุด หากแม้ศาลฎีกาจะพิพากษาเป็นที่ สุดว่าเขามีความผิด สมยศก็พร้อมจะยอมรับโทษจนครบกำหนด ซึ่งครอบครัวของสมยศก็พร้อมจะเดินไปข้างๆเขาตลอดช่วงเวลายากลำบากและรอวันที่จะได้รับเขา...กลับบ้าน

อ่าน 112 The Series สมยศ: Give my Dad the Right to Justice เรื่องเล่าของสมยศผ่านการต่อสู้ของลูกชาย ที่นี่