วันจันทร์, กันยายน 21, 2558

บทสัมภาษณ์ประวิทย์ โรจนพฤกษ์ ที่ชี้ให้เห็นความไม่ปลอดภัยของการใช้โทรศัพท์ และการใช้อินเตอร์เน็ตในไทย และประเด็นอื่น ๆ


“ผมมารู้ภายหลังจากถูกคุมขังรอบ2 ว่าเขาก็รู้ด้วยว่าเราใช้โทรศัพท์ใช้อินเตอร์เน็ตจากจุดไหนบ้างในกรุงเทพฯ ... ทำให้เรารู้สึ...
Posted by Fahroong Srikhao ฟ้ารุ่ง ศรีขาว on Friday, September 18, 2015
https://www.facebook.com/300084093490011/videos/502896616542090/


“ผมมารู้ภายหลังจากถูกคุมขังรอบ2 ว่าเขาก็รู้ด้วยว่าเราใช้โทรศัพท์ใช้อินเตอร์เน็ตจากจุดไหนบ้างในกรุงเทพฯ ... ทำให้เรารู้สึกไม่ค่อยปลอดภัยนะครับพูดตามตรง อยากจะให้ คสช. ไม่ระแวงขนาดนั้น พยายามเข้าใจว่าความเห็นต่างในสังคม ไม่จำเป็นจะต้องเป็นศัตรู ผมไม่ใช่ศัตรูของ คสช.นะครับ ผมแค่เห็นต่างจากวิธีการทำรัฐประหารยึดอำนาจ ไม่คิดว่าเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ถูกต้องหรือเป็นประชาธิปไตย”

คุยกับประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโส The Nation*

-หลังเหตุการณ์รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2558 นอกจากถูกควบคุมตัวซึ่งเป็นการจำกัดเสรีภาพทางร่างกาย 2 ครั้งแล้ว เขาถูกปฏิบัติการอย่างไรในแง่ความคิด?


-ทัศนคติถูกปรับเปลี่ยนได้จริงหรือไม่หลังทหารไปเยี่ยมบ้านและถูกคุมตัวไป 2 ครั้ง?

-ระหว่างถูกคุมตัว ได้รับการปฏิบัติอย่างผู้ที่ไม่ได้กระทำความผิดหรือไม่?

-หากการทำหน้าที่สื่อมวลชน ขัดต่อความสงบเรียบร้อย คุณประวิตรคิดอย่างไร?

*ทั้งนี้ “ประวิตร โรจนพฤกษ์”จะสิ้นสุดการทำงานกับต้นสังกัดสิ้นเดือนก.ย.นี้


Fahroong Srikhao ฟ้ารุ่ง ศรีขาว


ooo

ปฏิบัติการกดดันและจำกัดเสรีภาพ ไม่เพียงร่างกาย (?) ในยุค คสช.




by Fahroong Srikhao
Voice TV
21 กันยายน 2558

ปฏิบัติการกดดันและจำกัดเสรีภาพ ไม่เพียงร่างกาย (?) ในยุค คสช.

หลายๆ คนอาจนึกภาพการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องการทารุณกรรมทางร่างกายหรือกักขังทางกายภาพ แต่ในความจริงแล้ว หลักการเรื่องสิทธิมนุษยชนนั้น คุ้มครองรวมความถึงการกระทำต่อความรู้สึกนึกคิดด้วย โดยเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอันแตกต่างหลากหลาย มีหลักการบัญญัติรับรองไว้ทั้งในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 4 และในส่วนหลักสากลมีรับรองไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) ข้อ 19 และ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights – ICCPR) ข้อ 17 และ ข้อ 19 ซึ่งประเทศไทยผูกพันต่อกติการะหว่างประเทศทั้ง 2 ฉบับนี้

รายงานชิ้นนี้ตั้งใจนำเสนอข้อเท็จจริงในช่วงหลังการเข้าควบคุมอำนาจการปกครองประเทศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ซึ่งเกิดกรณีฝ่ายที่แสดงความไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร ถูกปฏิบัติการต่อความรู้สึกนึกคิดจิตใจ เช่น กรณีมีเจ้าหน้าที่ไปเยี่ยมบ้านนักเคลื่อนไหว นักวิชาการและนักข่าว การโจมตีดิสเครดิตกันทางโซเชียลมีเดียโดยไม่ทราบว่าเป็นฝีมือของใครแต่เป็นผลเสียต่อฝ่ายต้านอำนาจรัฐ หรือกรณีฝ่ายรัฐขอความร่วมมือไปยังประชาชนและสื่อมวลชน ให้ระมัดระวังในการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลหรือ คสช.

นักเคลื่อนไหวรายหนึ่งซึ่งเคยถูกควบคุมตัวในเรือนจำตามอำนาจศาลทหาร เล่าว่า ก่อนเหตุการณ์รัฐประหารปี 2557 เคยมีทหารบุกไปที่บ้าน 1 ครั้งและหลังรัฐประหารอีก 1 ครั้ง มีการงัดประตูเข้าไป แต่เขาไม่อยู่บ้าน เหตุการณ์ดังกล่าวกลับไม่ได้ทำให้เขารู้สึกกดดันมากเท่ากับการกระทำต่อคนรอบข้างของเขาในช่วงหลังรัฐประหาร ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ไปเยี่ยมลูกที่โรงเรียน หรืออายัดเงินบัญชีที่เกี่ยวกับการทำงานของเขา

แม้จะลดบทบาทลงหลังถูกจับและได้รับการประกันตัวอย่างมีเงื่อนไข แต่นักเคลื่อนไหวรายนี้บอกว่า ทุกวันนี้ยังใช้ชีวิตให้ใกล้เคียงปกติที่สุด เพราะถ้าไม่ทำเช่นนั้นก็แสดงว่าตนเองควบคุมตัวเองมากเกินไปซึ่งจะส่งผลต่อการขับเคลื่อนหรือการแสดงออก

เขาตั้งข้อสังเกตด้วยว่า บางคนหวาดระแวงการถูกติดตามทั้งที่อาจจะไม่ได้ถูกติดตาม สาเหตุเป็นเพราะประเมินตัวเองสูงเกินไป คือคิดว่าอยู่ในฐานะที่รัฐต้องจับตาตลอดเวลา ขณะเดียวกันความประมาทไม่ระมัดระวังตัวมากเกินไปก็อาจนำมาสู่ผลร้ายได้ เช่น การโพสต์ข้อความท้าทายหรือแสดงความเกี่ยวข้องรู้เห็นกับเหตุการณ์ความรุนแรงทั้งที่ความจริงตัวเองอาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องรู้เห็นอะไรเลย

ส่วนการจัดการเมื่อถูกโจมตีดิสเครดิตในโซเชียลมีเดีย เขาบอกว่า ต้องใช้วิธีที่ไม่ทำให้แรงกดดันทั้งหมดตกอยู่กับตัวเอง แต่ต้องใช้แรงเหวี่ยงนี้เหวี่ยงกลับไปฝ่ายตรงข้าม “ทิศทางการเมืองเป็นเรื่องกระแสความคิดคน เมื่อเขาชี้เรา เราก็ต้องชี้เขา ให้เขาชะงักว่ากำลังจะถูกกำจับจ้อง” นักเคลื่อนไหวผู้นี้กล่าวและบอกว่า สาเหตุที่ยังยืนยันอุดมการณ์ความคิดตัวเองอยู่แม้จะถูกจำกัดเสรีภาพก็เพราะเชื่อว่า “มันเป็นสิ่งที่ต้องทำ เป็นคุณค่าที่ยึดกุมแล้วมีความหมายมากกว่าความเสี่ยงที่จะได้รับ”

นอกจากนักเคลื่อนไหวแล้ว สื่อมวลชนก็เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่ถูกควบคุมจับตา แต่บางกรณีมีกลไกการจัดการให้เกิดความกลัวโดยไม่ได้ใช้อำนาจรัฐต่อเป้าหมายโดยตรง ผู้สื่อข่าวรายหนึ่งบอกว่า เธอไม่เคยถูกเรียกไปรายงานตัวเพื่อปรับทัศนคติ ไม่เคยถูกควบคุมตัว แต่โดยบริบทของการทำงานบรรยากาศรอบๆ ทำให้จำเป็นต้องจำกัดการแสดงความคิดเห็นของตัวเอง ไม่เช่นนั้นอาจมีความเสี่ยงที่จะทำให้เพื่อนร่วมงาน “ตกงาน” ไปตามๆ กัน เป็นความกดดันที่เดิมพันด้วยความอยู่รอดทางเศรษฐกิจของคนรอบข้างมากกว่าการเดิมพันด้วยเสรีภาพทางร่างกายของตัวเธอเอง

นอกจากนั้นยังรู้สึกว่าถูกมอนิเตอร์เฟซบุคส่วนตัวกระทั่งต้องลดบทบาทไประยะหนึ่ง ซึ่งทั้งหมดเธอมองว่าตนเองถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น (freedom of speech) ทั้งในฐานะนักข่าวและฐานะพลเมืองผ่านการถูกจับจ้องไปยังเฟซบุคส่วนตัว นักข่าวผู้นี้มองว่าปัญหาสำคัญคือเส้นแบ่งระหว่างสิ่งที่ “ทำได้” กับสิ่งที่ “ทำไม่ได้” เมื่อรัฐไม่ได้กำหนดให้มีความชัดเจน ก็นับเป็นเรื่องที่ร้ายแรงยิ่งกว่าการกำหนดให้ชัดเจนว่าเสรีภาพอันมีจำกัดนั้นมีได้แค่ไหน เพราะเมื่อเส้นแบ่งไม่ชัดเจนแล้ว ส่งผลให้การทำงานกับเพื่อนร่วมงานซึ่งต้องทำกันเป็นทีม มีความกลัวที่ไม่เท่ากัน เกิดการแตกแยกกันเอง บางคนอาจเหมารวมให้ทุกเรื่องเป็นเรื่องต้องห้ามไปได้หมด

ขณะที่ผู้สื่อข่าวอีกสำนักอย่างนายประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโสหนังสือพิมพ์ The Nation ซึ่งลาออกจากต้นสังกัด(มีผลปลายเดือน ก.ย.58)หลังจากเขาถูกควบคุมตัวไปปรับทัศนคติครั้งที่ 2 เพื่อลดความกดดันที่เกิดขึ้นกับองค์กร เขาเล่าว่า นอกจากจะมีทหารไปหาที่บ้านตอนที่เขาไม่อยู่บ้านแล้ว ก็ยังถูกติดตามความเคลื่อนไหวทางทางทวิตเตอร์ เฟซบุค และยิ่งกว่านั้นคือถูกติดตามจากสัญญาณโทรศัพท์ด้วยว่าเขาใช้โทรศัพท์และใช้อินเตอร์เน็ตจากจุดไหน

“ผมมารู้ภายหลังจากถูกคุมขังรอบ 2 ว่าเขาก็รู้ด้วยว่าผมใช้โทรศัพท์ใช้อินเตอร์เน็ตจากจุดไหนบ้างในกรุงเทพฯ ... ทำให้ผมรู้สึกไม่ค่อยปลอดภัยนะครับพูดตามตรง อยากจะให้ คสช. ไม่ระแวงถึงขนาดนั้น ควรจะพยายามเข้าใจว่าความเห็นต่างในสังคม ไม่จำเป็นจะต้องเป็นศัตรู ผมไม่ใช่ศัตรูของ คสช.นะครับ ผมแค่เห็นต่างจากการทำรัฐประหารยึดอำนาจ ไม่คิดว่าเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ถูกต้องหรือเป็นประชาธิปไตย” นายประวิตรกล่าว

ผู้สื่อข่าวอาวุโสรายนี้บอกด้วยว่า ปัจจุบันทัศนคติยังไม่เปลี่ยนแปลงแต่คงจะเซนเซอร์ตัวเองมากขึ้น เพราะอาจถูกตีความว่าต่อต้าน คสช. ซึ่งเป็นสิ่งที่ดิ้นได้ เขาเล่าถึงการถูกคุมตัวไปปรับทัศนคติรอบที่ 2 ว่า

“มีบางช่วงที่ได้รับการปฏิบัติเหมือนอย่างผมเป็นนักโทษหรือเชลยศึก อย่างเช่นการปิดตา เพื่อพาไปสถานที่ที่ไหนไม่รู้ หรือขังผมอยู่ในห้องที่หน้าต่างปิดหมดแล้วอากาศไม่ถ่ายเท มองไม่เห็นเดือนไม่เห็นตะวัน แต่เปิดไฟปิดไฟได้นะ มีทีวี มีกล้องCCTV ตลอดเวลา ห้องน้ำถูกปิดช่องระบายอากาศ ผมรู้สึกว่าล้ำเส้นไป แม้ไม่ใช่การทรมานแต่ศักดิ์ศรีความเป็นคนถูกลดทอนไปพอสมควรครับ...สำหรับการถูกปิดตา แน่นอนเกิดความกลัว กลัวว่าเราจะปลอดภัยไหม กลัวว่าเราต้องอยู่นานแค่ไหน ไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร แล้วห้องถูกล็อคจากข้างนอก 20 ชั่วโมงแรกก็ไม่มีใครมาคุยด้วย หลังจากนั้นมีทหารที่แนะนำตัวว่าเป็นพันโทเข้ามาคุยด้วย... วันรุ่งขึ้นซึ่งเป็นเช้าวันที่ 2 ตอนที่ขอสูดอากาศนอกห้อง ผู้คุมซึ่งใส่หน้ากากปิดหน้า เขาใช้ผ้าปิดตาผมก่อนจะพาผมเดินออกไปนอกห้อง แล้วพาออกไปนั่งเก้าอี้ ทำอย่างนั้นทุก 2-3 ชั่วโมงประมาณ 6-7 ครั้ง”

ขณะที่ “วรวุฒิ บุตรมาตร” หรือ “โบ้” บัณฑิตใหม่จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งทำกิจกรรมในนามศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย (ศนปท.) และกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย (LLTD) ในช่วงที่เป็นนักศึกษาปริญญาตรี เล่าว่า เคยถูกควบคุมตัวครั้งเดียวไปที่สถานีตำรวจภูธรคลองหลวง ตอนเชิญ อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ มาเป็นวิทยากร "ห้องเรียนประชาธิปไตย: บทที่ 2 การล่มสลายของเผด็จการในต่างประเทศ" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และได้รับการปล่อยตัวในคืนนั้น เขามองว่ากรณีนี้ถูกละเมิดต่อเสรีภาพทางร่างกายและเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิด นอกจากนั้น เคยมีทหารไปหาคุณพ่อกับคุณแม่ที่บ้านซึ่งทั้ง2 ท่านเป็นข้าราชการและมีแนวคิดเดียวกับ กปปส. โดยทหารบอกกับคุณพ่อว่า ให้ดูแลลูกดีๆ รอให้สถานการณ์สงบก่อนจึงค่อยแสดงความคิดเห็นและควบคุมไม่ให้เคลื่อนไหวด้วย นอกจากนั้น ทหารเคยขับรถไปหาคุณพ่อถึงที่ทำงาน ส่วนคุณพ่อบอกกับทหารว่า “ผมเห็นด้วย รัฐประหารเพื่อให้สงบ แต่การจะมาควบคุมความคิดคนอื่นมันไม่เวิร์ค เราไม่สามารถห้ามคนอื่นได้ เราไม่สามารถจะบังคับให้คนอื่นคิดเหมือนเราได้” จากนั้นเมื่อเรียนจบในเดือนพฤษภาคม 2558 คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ได้มาเข้มงวดกับ “โบ้” เพราะก่อนนั้นท่านเคยบอกว่าเรียนให้จบก่อนแล้วอยากทำอะไรค่อยทำ

ส่วนตัวนักกิจกรรมผู้นี้มองว่า การที่ทหารไปหาคุณพ่อคุณแม่ที่บ้านไม่ได้เป็นการละเมิดสิทธิ์เพราะไม่ได้รู้สึกเสียหาย ไม่ได้ทำให้เกิดความกลัว ไม่ได้ทำให้เกิดความกดดัน เพราะในแง่หนึ่งก็เข้าใจว่า เขาทำตามหน้าที่ แต่ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องผิดกาละเทศะ ทหารไม่ควรไปหาพ่อแม่ แต่ควรจะมาหาตนเองตรงๆ เพราะต้องการรับผิดชอบสิ่งที่ตัวเองทำ

ขณะที่ “รังสิมันต์ โรม” หรือ “โรม” สมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ นักศึกษาปริญญาโท คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าถึงเหตุการณ์ตอนที่เขายังเรียนปริญญาตรีและทำกิจกรรมในนามกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีฯ และ ศนปท. ว่า เขาเคยถูกควบคุมตัว 3 ครั้ง ครั้งแรกถูกคุมตัวตอนเย็นและปล่อยตัวกลางดึกพร้อมเพื่อนๆ หลังพยายามจัดกิจกรรมในวันครบรอบ 1 เดือนรัฐประหารปี 2557 ครั้งที่ 2 ถูกควบคุมตัวพร้อมเพื่อนๆ ไป สน.ปทุมวันและปล่อยตัวตอนเช้าหลังพยายามจัดกิจกรรมครบรอบ 1 ปี รัฐประหาร โดยครั้งนี้เขาระบุว่า ถูกชก รัดคอ ล็อคตัว ที่บริเวณหน้าหอศิลป์ กทม. และครั้งที่ 3 ถูกควบคุมตัวจากสวนเงินมีมาไป สน.สำราษราษฎร์ ขึ้นศาลทหารและอยู่ในเรือนจำพร้อมเพื่อนๆ ขบวนการประชาธิปไตยใหม่” 12 วัน จากกรณีเคลื่อนไหว หลังวันที่ 24 มิถุนายน 2557

เขาบอกว่า นอกจากการถูกควบคุมตัวแล้วยังเคยมีเจ้าหน้าที่ไปหาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต มาพูดคุยทำความเข้าใจ โดยส่วนใหญ่เป็นตำรวจสันติบาลซึ่งพยายามผูกมิตร มีครั้งเดียวที่ขอให้หยุดกิจกรรม คืองานครบรอบ 1 เดือนรัฐประหาร ซึ่งสันติบาลขอให้หยุดกินแซนด์วิช แล้วทหารก็ขอให้หยุดด้วย เมื่อไม่หยุดเขาก็ควบคุมตัว ส่วนที่ทหารนัดพูดคุยมีเพียงครั้งเดียวคือวันที่ถูกควบคุมตัวครั้งแรก

“โรม” บอกว่า กรณีที่สร้างความกดดันแก่เขาอย่างมาก คือการที่เจ้าหน้านอกเครื่องแบบไปหาคุณป้าที่บ้านซึ่งมีชื่อ “โรม” อยู่ในทะเบียนบ้าน โดยเจ้าหน้าที่ไปพบคุณป้าในยามวิกาลและมีลักษณะข่มขู่เพื่อให้เขาหยุดเคลื่อนไหว กรณีดังกล่าวทำให้เขาเกิดความกังวลใจไม่สามารถใช้เสรีภาพอย่างอิสระเพราะต้องนึกถึงครอบครัว นอกจากนั้นยังมีกรณีเจ้าหน้าที่คุกคามแฟนสาวของเขา โดยโทรไปหาคุณแม่แฟน บอกว่าแฟนขับรถมารับเขาที่เรือนจำและพยายามจะบอกให้ครอบครัวคิดว่าเป็นการทำสิ่งที่ไม่ดี

ส่วนคุณพ่อคุณแม่ของโรมอยู่บ้านต่างจังหวัด โดยคุณแม่ของเขามีแนวคิดไปในทางเดียวกับ กปปส. และเคยมีเจ้าหน้าที่โทรศัพท์ติดต่อพูดคุยกับคุณแม่เพื่อขอให้คุณแม่ห้าม “โรม” ไม่ให้เคลื่อนไหว ซึ่งส่วนตัวคุณแม่รู้สึกเฉยๆ และระบุว่าเจ้าหน้าที่พูดคุยด้วยท่าทีที่ดี

ส่วนการถูก “ล่าแม่มด” หรือถูกกล่าวหาทางโซเชียลมีเดียนั้น โรม บอกว่า เป็นสิ่งที่เขาต้องเผชิญมาตลอด เช่น มีผู้นำข้อมูลส่วนตัวของเขาไปเผยแพร่และกล่าวหาด้วยข้อความอันเป็นเท็จ แต่การกล่าวหาที่เขาคิดว่าสร้างความไม่ปลอดภัยมากที่สุด คือการแชร์ภาพและข้อความในโลกออนไลน์กล่าวหาว่าเขาเป็นคนวางระเบิดบริเวณแยกราชประสงค์เมื่อวันที่ 17 ส.ค.2558 ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเหตุการณ์ที่สะเทือนใจทั้งคนไทยและต่างชาติ อาจส่งผลให้มีคนมาทำร้ายร่างกายเขาด้วยความเข้าใจผิดเพราะไปเชื่อข้อมูลที่บิดเบือนได้

“โรม” ยืนยันว่า ยังไม่คิดหยุดเคลื่อนไหวแม้จะเคยถูกจำกัดเสรีภาพทั้งทางร่างกายและกดดันทางความคิด “ยอมรับว่ามีความรู้สึกกดดัน ไม่ใช่ไม่รู้สึกอะไร มีความไม่สบายใจแต่ไม่มากพอที่จะหยุดผมได้เพราะทั้งหมดผมยังรับมือได้... ถ้าผมหยุด ก็จะทำให้เขา(ฝ่ายตรงข้าม)ประสบความสำเร็จได้ในสิ่งที่เขาต้องการ ผมไม่หยุดเคลื่อนไหวเพราะผมไม่จะไม่ให้ในสิ่งที่เขาต้องการ ผมจะไม่ยอมให้เขาทำสำเร็จ”

นอกจากนักศึกษาแล้ว ประชาชนที่เคลื่อนไหวก็ถูกตามไปถึงบ้านด้วย “วรรณเกียรติ ชูสุวรรณ” หรือ “พี่กึ๋ย” นักกิจกรรมผู้มีอาชีพขับรถแท็กซี่และเป็น 1 ใน 4 กลุ่มพลเมืองโต้กลับซึ่งต้องขึ้นศาลทหาร ในคดี “เลือกตั้งที่(ลัก)รัก” จากการทำกิจกรรมวันที่ 14 ก.พ.58 เพื่อรำลึก 1 ปีการเลือกตั้งทั่วไปในเดือน ก.พ.2557

“พี่กึ๋ย” เล่าว่า ในช่วงที่ต้องขึ้นศาลทหารไม่เคยถูกเจ้าหน้าที่ตามไปที่บ้านไม่ว่าจะกรุงเทพฯ หรือต่างจังหวัด แต่มีคนตามไปที่บ้านต่างจังหวัดซึ่งมีชื่อเขาอยู่ในทะเบียนบ้าน ตอนปลายเดือนมิถุนายน 2558 ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่ 14 นักศึกษา ”ขบวนการประชาธิปไตยใหม่” ถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำตามคำสั่งฝากขังของศาลทหาร จังหวะเดียวกันนั้นเขาได้รับการแจ้งเตือนว่า อาจถูกดำเนินคดีเนื่องจากกรณีขับรถแท็กซี่รับ-ส่งนักศึกษา ไปสถานีตำรวจนครบาลปทุมวันเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2558

นักกิจกรรมผู้นี้ บอกว่า ตอนมีคนไปหาที่บ้านต่างจังหวัด ญาติที่บ้านเข้าใจว่าเป็นตำรวจนอกเครื่องแบบ มีการไปสอบถามข้อมูลพักอาศัย ว่าเขาพักอยู่ในบ้านหลังนี้หรือไม่ มีการติดต่อกับทางบ้านอย่างไร และด้วยความที่เขาเป็นนักกิจกรรมตั้งแต่สมัยยังเป็นนักศึกษาเมื่อ10 กว่าปีที่แล้ว จนถึงชีวิตปัจจุบันยังอยู่ในเส้นทางเพื่อประชาธิปไตย ก่อนหน้านี้จึงเคยบอกกับญาติที่บ้านว่า หากเจ้าหน้าที่มาถามข้อมูลอะไร ก็ให้ความร่วมมือเท่าที่จะทำได้ ถ้าเจ้าหน้าที่มาขอตรวจค้น ก็ต้องขอดูหมายค้นก่อน

แต่ส่วนตัวไม่ได้นึกมาก่อนว่าเจ้าหน้าที่จะไปบ้านในลักษณะที่ไม่แสดงตัวคือไปแบบ “นอกเครื่องแบบ” ซึ่งการกระทำเช่นนี้ “พี่กึ๋ย” มองว่าอาจเกิดอันตรายต่อประชาชนได้ เพราะมีความเสี่ยงที่จะมีมิจฉาชีพแอบอ้างเพื่อสอบถามข้อมูลนำไปสู่การก่ออาชญากรรมได้ “หากไม่มีการแสดงตัวก็แยกไม่ออกว่าเป็นเจ้าหน้าที่จริงๆ หรือเป็นโจร”

“พี่กึ๋ย” มองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการละเมิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เพราะโดยทั่วๆ ไป การที่มีเจ้าหน้าที่ไปหาที่บ้านก็สร้างความตกใจให้ประชาชนอยู่แล้ว ถ้าเป็นเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบก็เป็นเรื่องกระทบภาพลักษณ์ครอบครัวทำให้ถูกมองว่าไปทำอะไรผิดมาหรือเปล่า ส่วนกรณีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบยิ่งแยกไม่ออกว่า ภารกิจคืออะไรกันแน่ แม้จะบอกว่าไปเยี่ยมบ้านแต่ก็ไม่มีใครอยากให้ไปเยี่ยมเพราะทำให้ดูไม่ดีเหมือนมีคดีขึ้นโรงขึ้นศาล “ความกลัวความกดดันมีบ้างเป็นธรรมดาแต่เมื่ิ้อเราเชื่อในสิ่งที่ทำว่าเป็นความถูกต้องเป็นประโยชน์กับประชาชนทุกคนเราก็ต้องแลก แต่ผมคิดว่าเจ้าหน้าที่ ไม่แฟร์ที่ใช้นอกเครื่องแบบและไม่แสดงตัวแบบเปิดเผยชัดเจน” นักกิจกรรมผู้นี้กล่าว

ขณะที่นักวิชาการก็ถูกจับตาไม่แพ้กัน ผู้ช่วยศาสตราจารย์สาวตรี สุขศรี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือ “อาจารย์ป้าน” ผู้เคยถูกควบคุมตัวในค่ายทหาร 3 วัน 2 คืนหลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 โดยหลังจากนั้นอาจารย์ป้านยังถูกติดตามความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด ทั้งที่การควบคุมตัวครั้งแรกไม่ถูกตั้งข้อหาในความผิดฐานใด

นักวิชาการผู้นี้ เล่าว่า รวมแล้วนับตั้งแต่รัฐประหารปี 2557 มีทหาร ไปหาที่บ้าน 5 ครั้ง ไปพบที่มหาวิทยาลัย 3 ครั้ง โดยไปพบที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ 1 ครั้ง ไปพบที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต 2 ครั้ง และโทรมาพูดคุย 3 ครั้ง ไม่นับรวมการโทรมาคุยเพื่อนัดหมายในแต่ละครั้งที่จะมาพบ ทหารจะมาทีละ 3-4 คน ในเครื่องแบบ ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณว่า คุณถูกพวกเราดูอยู่ ฉันรู้ความเคลื่อนไหวของแกนะ รู้ว่าบ้านอยู่ที่ไหน ปกติมักขอมาพบที่บ้านก่อน ถ้าไม่อยู่ก็พบที่อื่นได้ หากทหารรู้สึกว่าการเมืองไม่นิ่งแล้ว เริ่มไม่มีเสถียรภาพ ก็เป็นไปได้ที่จะควบคุมตัวทุกคนที่เขาติดตามอยู่ได้ตลอดเวลา มันเป็นปฏิบัติการทางจิตวิทยา เป็นการกระทำต่อความคิดต่อจิตใจ

“ประเด็นปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่า ทหารมาดี สุภาพ หรือมีลักษณะเป็นมิตรหรือเปล่า แต่ประเด็นปัญหาคือ ทำไมคุณต้องมา ? และเราทำอะไรผิด ? เดี๋ยวนี้เวลาจะทำอะไร หรือจะไปไหนยังไม่ต้องบอกพ่อแม่เลย แล้วคุณเป็นใคร ทำไมเราต้องบอกคุณด้วย” อาจารย์ป้านกล่าวและบอกด้วยว่าทุกวันนี้ เว้นแต่เฉพาะวันที่ถูกทหารนัดพบ ก็ยังใช้ชีวิตตามปกติ และยังคงเขียนความรู้สึก ความคิดเห็นต่อบ้านต่อเมืองลงในเฟซบุคอยู่เหมือนเดิม สำหรับความรู้สึกต่อสิ่งที่เกิดขึ้นมองว่าแม้จะไม่ได้ทำให้ตนเองหวาดกลัวอันตรายที่จะเกิดต่อชีวิตหรือร่างกาย แต่ก็ต้องนับเป็นการคุกคามและละเมิดสิทธิ เสรีภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เพราะมีการติดต่อสอบถามข้อมูลส่วนตัวและการเดินทางรวมถึงกิจกรรมที่ทำ ย่อมทำให้ผู้ถูกถามรู้สึกถึงความไม่มีอิสรภาพ

นักวิชาการผู้นี้มองว่า รู้สึกเหมือนตัวเองถูก “คุมประพฤติ” ทั้งที่ในระบบกฎหมายนั้น คนที่จะถูกคุมประพฤติต้องทำอะไรผิดมาก่อน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเองคือไม่เคยถูกตั้งข้อหา ไม่มีพฤติกรรมที่เข้าเกณฑ์ความผิดทั้ง (รัฐธรรมนูญชั่วคราว)มาตรา 44 และกฎอัยการศึก แต่กลับถูกคุมประพฤติ จนบางครั้ง ก็สงสัยว่า “หน่วยข่าว” ทำงานกันอย่างไร ใช้อะไรมาชี้วัดว่าคนไหนต้องถูกคุม คนไหนไม่ต้องถูกควบคุม “เราไม่ได้มีบทบาทอะไรมากเลย หากเทียบกับอีกหลายคนที่เขาไม่ถูกตาม แต่พูดแบบนี้ก็ไม่ได้อยากให้หันไปตามคนอื่นนะคะ เพราะถ้าจะให้ถูกต้องที่สุด คือ เจ้าหน้าที่ไม่มีสิทธิติดตาม หรือคุมประพฤติใครได้เลย หากคน ๆ นั้นไม่ได้ทำผิด หรือไม่มีหลักฐานตามสมควรว่าเขาจะไปกระทำความผิดตามกฎหมาย ทุกคนควรมีเสรีภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น”

ด้าน พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงจุดประสงค์ที่ทหารไปเยี่ยมบ้านผู้ที่ใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นว่า มาตรการที่ทหารเชิญมาพบหรือไปพบ เป็นวิถีทางหนึ่งในการไปแลกเปลี่ยน ปรับความเข้าใจกัน และขอความร่วมมือ คือขอให้การแสดงออกนั้น เป็นไปในเชิงสร้างสรรค์ ไม่อยากให้มีการไปพาดพิงบุคคลหรือองค์กร ซึ่งถ้าไม่ได้ระมัดระวังก็จะเป็นที่มาของความขัดแย้ง ตอบโต้กันไปมา โดยเฉพาะเมื่อบุคคลภายนอกเชื่อไปตามนั้นแล้วหยิบไปขยายประเด็น ก็เป็นการส่งเสริมความไม่สามัคคี นำไปสู่ความขัดแย้ง

โฆษกคสช. บอกว่าแม้เสียงสะท้อนส่วนใหญ่จะบอกว่าดูเป็นภาพที่รุนแรงหรือก้าวร้าว แต่ถ้าสังเกตุดูดีๆ กรณีนักศึกษา ก็ไม่ได้บังคับใช้กฎหมายเลยทีเดียว ทั้งที่บังคับใช้ได้ แต่ทหารใช้วิธีการเตือนบ้าง ห้ามปรามบ้าง ให้มารายงานตัว ใช้วิธีอื่นที่ไม่ใช่บังคับและตั้งข้อกล่าวหา เพราะรู้อยู่คำว่า “นักศึกษา” เป็นคำที่มีคนไปแสวงหาประโยชน์ใช้ในทางมิชอบได้ บางคนไม่อยู่ในสถานะนักศึกษาแล้ว แต่ยังใช้คำนี้ ซึ่งตรงนี้ ในเชิงสื่อสารมวลชนเป็นเรื่องอ่อนไหว ทหารก็ระวังมาตลอด แต่เราก็ไม่ถึงขั้นละเว้นเสียทีเดียว เพราะยุคนี้เราจะต้องทำให้กฎหมายเป็นกฎหมาย

เมื่อถามว่าการไปพบนักเคลื่อนไหวหรือญาติบุคคลเหล่านี้ เป็นความตั้งใจสร้างบรรยากาศแห่งความกลัวหรือกดดันหรือไม่ พ.อ.วินธัย กล่าวว่า ความกลัวเป็นเรื่องความรู้สึก ซึ่งต้องถามว่า บุคคลที่เจ้าหน้าที่ไปพูดคุย มีใครถูกรังแกไหม “ถ้าถูกรังแกโดยเจ้าหน้าที่คนไหน ท่านสามารถบันทึกภาพมา อะไรที่ท่านคิดว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ท่านสามารถร้องเรียนได้ ผมเชื่อว่า ท่านนายกฯ และหัวหน้า คสช. ดำเนินการอย่างแน่นอน เพราะเราบอกชัดเจนอยู่แล้วว่าสิ่งที่เราทำเพื่ออะไร เพียงแต่จะมีการบิดเบือนข่าวสารหรือเปล่า หรือไปรู้สึกอะไรที่ทำให้ภาพลักษณ์ของเจ้าหน้าที่รัฐดูไม่เหมาะสมมากกว่า น่าจะเป็นในเชิงความรู้สึก เป็นการลือซึ่งจะต้องชี้แจงทำความเข้าใจเพราะดูแล้วไม่เป็นธรรม... ไม่มีความจำเป็นที่เจ้าหน้าที่จะทำเพื่อให้เกิดแรงกดดันอะไร เพราะไม่ได้มาซึ่งวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของภาครัฐ จะไปขู่ทำไม ไม่ได้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมสังคมประเทศชาติ แต่เป็นการขอความร่วมมือ” พ.อ.วินธัยกล่าวยืนยัน

สำหรับสาเหตุที่ทหารเข้าไปพบปะผู้ปกครองหรือครูบาอาจารย์นักกิจกรรมบางคนนั้น โฆษก คสช. อธิบายว่า เป็นมาตรการสังคมไม่ใช่มาตรการทางกฎหมาย “สังคมเราครูบาอาจารย์มีบทบาท ถ้าเป็นนักศึกษาจะมีครูบาอาจารย์ เปรียบเทียบกับถ้าเป็นกำลังพล ก็จะเป็นผู้บังคับบัญชา ผู้บังคับบัญชาต้องถูกเรียกสอบ เตือนห้ามปราม ไม่ใช่เรียกไปเพื่อล็อคกุญแจมือหรือทำมิดีมิร้าย เพราะไม่ได้เกิดประโยชน์กับส่วนรวม ไม่ได้เป็นผลดีต่อเจ้าหน้าที่ ไม่ได้เกิดการยอมรับกันอย่างจริงจัง”

เมื่อถามถึงกรณีที่เจ้าหน้าที่ปรากฏตัวทั้งในเครื่องแบบและนอกเครื่องแบบในการไปเยี่ยมบ้านแต่ละกรณีมีความแตกต่างกันอย่างไร โฆษก คสช. บอกว่า เจ้าหน้าที่ไปใน 2 ลักษณะ ถ้าไปในเครื่องแบบก็ถูกมองว่ามันดูรุนแรง แต่พอไปนอกเครื่องแบบก็จะมองได้อีกมุมหนึ่ง ฉะนั้นจาก 2 กรณีนี้ แต่ละหน่วยจึงใช้ดุลยพินิจตามความเหมาะสมเอง บางครั้งเจ้าหน้าที่ทหารไปลักษณะพลเรือนเหมือนญาติพี่น้อง การไปพบปะมีทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการอาจจะไปในลักษณะเพื่อนร่วมสังคม แต่ถ้านอกเครื่องแบบไปดำเนินการจับกุมแต่ไม่แสดงตัว ท่านก็สามารถจะขัดขืนได้เลย เพราะส่งสัญญาณความบริสุทธิ์ไม่ได้

พ.อ.วินธัย ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 14 ก.ย.58 ระหว่างที่นายประวิตร โรจนพฤกษ์ ถูกควบคุมตัวว่า สาเหตุที่ไม่เปิดเผยสถานที่ควบคุมตัวเพราะไม่ต้องการให้ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเดินทางไปแล้วอาจเกิดเหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ส่วนการควบคุมตัวมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็น ทำความเข้าใจและขอความร่วมมือ โดยไม่ได้ปฏิบัติต่อผู้ถูกควบคุมตัวในลักษณะผู้กระทำความผิด

ทั้งหมดนี้ ผู้เขียนได้รวบรวมคำให้สัมภาษณ์เพื่อนำเสนอแง่มุมของผู้ที่รู้สึกว่าตนเองถูกละเมิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นหรือถูกกดดันเพื่อให้ยุติบทบาทการเคลื่อนไหว ซึ่งเป็นเรื่องนอกเหนือจากการกระทำต่อเสรีภาพทางร่างกายแต่เป็นการกระทำต่อเสรีภาพทางความคิดการแสดงออก ซึ่งบางรายที่ให้สัมภาษณ์ ก็เคยถูกจำกัดเสรีภาพทางร่างกายด้วย แม้ผลลัพธ์ของปฏิบัติการดังกล่าวจะส่งผลแตกต่างกัน เช่น บางรายรู้สึกไม่มีอิสรภาพ บางรายรู้สึกว่าตนไม่ได้รับความเสียหายอะไร แต่ไม่ว่าผลลัพธ์นั้นจะเป็นอย่างไร การกระทำต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นก็ได้เกิดขึ้นแล้ว ขณะเดียวกัน ผู้เขียนได้เรียบเรียงคำให้สัมภาษณ์ของโฆษก คสช. เพื่อทำความเข้าใจจุดประสงค์การปฏิบัติการในมุมของกองทัพด้วย

จากการที่ผู้เขียนได้ประมวลคำบอกเล่าในมุมมองของฝ่ายประชาชนและคำชี้แจงจากฝ่ายรัฐ จะเห็นได้ว่า
การอธิบายความหมายต่อปฏิบัติการเดียวกันของเจ้าหน้าที่นั้น แต่ละฝ่ายให้ความหมายที่แตกต่างกันในขณะที่ช่องว่างหนึ่งซึ่งนำไปสู่วิถีปฏิบัติและแนวคิดอันแตกต่างกันมาตลอดคือ ความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกบุคคลกับปัจเจกบุคคลในสังคมภายนอกกองทัพซึ่งบุคคลย่อมเป็นผู้ทรงสิทธิในสิทธิขั้นพื้นฐาน ขณะที่ความสัมพันธ์ตามสายบังคับบัญชาภายในกองทัพ มีความจำเป็นจะต้องมีลำดับชั้นระหว่างผู้บังคับบัญชาและผู้ใต้บังคับบัญชา

ข้อสังเกตของผู้เขียนจึงมีว่า หากนำระบบบังคับบัญชาแบบในกองทัพซึ่งต้องการความเป็นเอกภาพและสั่งการจากบนลงล่างมาใช้ปกครองประเทศในสังคมวงกว้างที่มีความแตกต่างหลากหลาย มีความเป็นปัจเจกบุคคลสูง จะสอดคล้องกับหลักการประกันสิทธิ เสรีภาพ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ที่มีรับรองทั้งในรัฐธรรมนูญไทยและกติการะหว่างประเทศหรือไม่

................................................


*รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 4 ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้

ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights)
ข้อ 19 ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งความเห็นและการแสดงออก ทั้งนี้ สิทธินี้รวมถึงอิสรภาพที่จะถือเอาความเห็นโดยปราศจากการแทรกแซงและที่จะแสวงหา รับ และส่งข้อมูลข่าวสารและข้อคิดผ่านสื่อใด และโดยไม่คำนึงถึงพรมแดน

กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights – ICCPR) ข้อ 17
1 บุคคลจะถูกแทรกแซงความเป็นส่วนตัว ครอบครัว เคหสถาน หรือการติดต่อสื่อสารโดยพลการหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายมิได้และจะถูกลบหลู่เกียรติและชื่อเสียงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายมิได้
2 บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายมิให้ถูกแทรกแซงหรือลบหลู่เช่นว่านั้น

และ ข้อ 19
1 บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะมีความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง
2 บุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพแห่งการแสดงออก สิทธินี้รวมถึงเสรีภาพที่จะแสวงหา รับและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและความคิดทุกประเภท โดยไม่คำนึงถึงพรมแดน ทั้งนี้ไม่ว่าด้วยวาจาเป็นลายลักษณ์อักษรหรือการตีพิมพ์ในรูปของศิลปะ หรือโดยอาศัยสื่อประการอื่นตามที่ตนเลือก
3 การใช้สิทธิตามที่บัญญัติในวรรค 2ของข้อนี้ต้องมีหน้าที่และความรับผิดชอบพิเศษควบคู่ไปด้วย การใช้สิทธิดังกล่าวอาจมีข้อจำกัดในบางเรื่องแต่ทั้งนี้ข้อจำกัดต้องบัญญัติไว้ในกฎหมายและจำเป็นต่อ
(ก)การเคารพในสิทธิหรือชื่อเสียงของบุคคลอื่น
(ข)การรักษาความมั่นคงของชาติ หรือความสงบเรียบร้อย หรือการสาธารณสุข หรือศีลธรรมของ
ประชาชน

รายงานโดย ฟ้ารุ่ง ศรีขาว