วันศุกร์, กันยายน 25, 2558

‘ยูเอ็นล้อมไทย’ ก่อน ‘ประยุทธ์’ เยือนนิวยอร์ก




ที่มา Voice TV
by Sathit M.
24 กันยายน 2558

ทบทวนปฏิกิริยาต่อประเทศไทย ก่อนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เยือนสหประชาชาติ พบยูเอ็นแสดงท่าทีครอบคลุมตั้งแต่รธน.มาตรา 44 กรณีจับน.ศ. กรณีส่งกลับอุยกูร์ จนถึงเรื่องกม. 112

หัวหน้าคณะรัฐประหารและหัวหน้ารัฐบาลของไทย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีกำหนดเดินทางไปปรากฏตัว ณ ที่ทำการสหประชาชาติ ในนิวยอร์ก ช่วงต้นสัปดาห์หน้า นับแต่อดีตผู้บัญชาการทหารบกเข้า “ควบคุมอำนาจ” เมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ยูเอ็นแสดงปฏิกิริยาต่อประเทศไทยหลายครั้ง

ท่าทีของนานาชาติอยู่ในความรับรู้ของผู้นำไทยมาโดยตลอด เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีพูดกับผู้สื่อข่าวว่า การรัฐประหารคงไม่มีอีก เพราะ “โลกล้อมประเทศ” (โพสต์ทูเดย์, 16 กันยายน 2558) การเมืองไทยจะเป็นอย่างที่พล.อ.ประยุทธ์คาดการณ์หรือไม่ นั่นเป็นเรื่องของอนาคต แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วจริงๆ ก็คือ ยูเอ็นล้อมไทย

‘หวนสู่รัฐบาลพลเรือน’

ทันทีที่กองทัพประกาศใช้กฎอัยการศึกในวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 หลังจากการเมืองไทยประสบความปั่นป่วนนานหลายเดือน เลขาธิการสหประชาชาติ บัน คีมูน เรียกร้องให้ทุกฝ่ายแก้ปัญหาด้วยการเจรจา และเคารพหลักการประชาธิปไตย (UN News Centre, 20 May 2014)




@ ทหารสกัดกั้นการชุมนุมต่อต้านรัฐประหาร ที่หน้าห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง บริเวณแยกอโศก-สุขุมวิท ในกรุงเทพฯ เมื่อ 1 มิถุนายน 2557

สองวันต่อมา กองทัพประกาศ “ควบคุมอำนาจการปกครอง” (Reuters ; New York Times, 22 May 2014) เลขาธิการยูเอ็นเรียกร้องประเทศไทยให้หวนคืนสู่การปกครองโดยรัฐบาลพลเรือนที่เป็นประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญในทันที (UN Secretary-General, 22 May 2014)

‘เสรีภาพสื่อมวลชน’

ผ่านไปราว 3 เดือน เมื่อการณ์ปรากฏว่า คณะรัฐประหารปิดกั้นการเสนอข่าว จำกัดการวิพากษ์วิจารณ์ของสื่อมวลชน และยับยั้งการแสดงออกที่ต่อต้านการรัฐประหาร สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชน ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แสดง “ความวิตกกังวลอย่างยิ่ง” พร้อมกับเรียกร้องให้ไทยยึดมั่นในพันธกรณีระหว่างประเทศในด้านสิทธิมนุษยชน (OHCHR, 3 Sepember 2014)

การลิดรอนเสรีภาพในการแสดงออก เป็นประเด็นที่ยูเอ็นยังคงแสดงท่าทีต่อระบอบทหารของไทยอย่างต่อเนื่อง หลังจากนักกิจกรรมกลุ่มหนึ่งแสดงการต่อต้านรัฐประหาร ด้วยการชูสามนิ้วที่หน้าโรงภาพยนตร์ซึ่งมีกำหนดฉายเรื่อง Hunger Games แล้วถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว มาทิลดา บ็อกเนอร์ ผู้แทนของสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวกับเอเอฟพี วิจารณ์รัฐบาลทหารของไทยว่า ละเมิดสิทธิมนุษยชน (AFP, 21 November 2014)

สหประชาชาติแสดงท่าทีต่อไทยอีกครั้ง หลังจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวกับบรรดานักข่าวว่า จะเล่นงานสื่อที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล หรือเสนอข่าวที่ “สร้างความแตกแยก” (มติชน, 25 มีนาคม 2558) เดวิด เคย์ ผู้รายงานพิเศษด้านเสรีภาพการแสดงออกของสหประชาชาติ เรียกร้องนายกรัฐมนตรีไทย ขอให้หยุดพูดจาข่มขู่สื่อมวลชน (UN News Centre, 1 April 2015)

‘อำนาจล้นพ้น ภายใต้มาตรา 44’

เมื่อรัฐบาลทหารของไทยยกเลิกกฎอัยการศึกในวันที่ 1 เมษายน 2558 ทว่านำบทบัญญัติมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราวมาใช้แทน ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ซาอิด อัลฮุสเซน แถลงวิจารณ์ว่า กฎหมายดังกล่าวมอบอำนาจอย่างกว้างขวางให้แก่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

“ผมรู้สึกตกใจที่มีการนำกฎหมายซึ่งให้อำนาจอย่างไม่จำกัดแก่นายกรัฐมนตรีมาใช้แทนกฎอัยการศึก โดยปราศจากการตรวจสอบจากฝ่ายตุลาการ นี่เป็นการเปิดประตูไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชน” ข้าหลวงใหญ่ฯ กล่าว (UN News Centre, 2 April 2015)

‘ปล่อยนักศึกษา’

หลังจากตำรวจจับกุมกลุ่มนักศึกษาที่รวมตัวทำกิจกรรมในวาระครบรอบ 1 ปีของการรัฐประหาร ที่บริเวณหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สี่แยกปทุมวัน (ไทยรัฐ, 23 พฤษภาคม 2558) และต่อมาทางการไทยดำเนินคดีแกนนำนักศึกษา 14 คน

สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนฯ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลไทยยุติการดำเนินคดีอาญา และขอให้ปล่อยตัวนักศึกษาโดยทันที พร้อมกันนั้น ยังเรียกร้องให้รัฐบาลไทยทบทวนการใช้กฎหมายที่จำกัดเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุม (OHCHR, 30 June 2015)

‘หยุดส่งกลับชาวอุยกูร์’

การปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลทหารของไทย ไม่เพียงถูกวิจารณ์ด้วยประเด็นภายในประเทศ หากยังรวมถึงประเด็นระหว่างประเทศอย่างกรณีการส่งผู้แสวงหาที่พักพิงชาวอุยกูร์กลับไปให้รัฐบาลจีนด้วย

หลังมีข่าวว่า ไทยส่งตัวชาวอุยกูร์จำนวน 109 คนให้แก่จีนเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2558 ในวันต่อมา โฆษกข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ รูเพิร์ต โคลวิลล์ แถลงที่กรุงเจนีวา แสดงความวิตกกังวลอย่างยิ่งต่อการดำเนินการดังกล่าวของไทย พร้อมกับขอให้ไทยให้ความคุ้มครอง และยุติการส่งกลับชาวอุยกูร์ที่ยังคงถูกควบคุมตัวอยู่ในประเทศไทย (UN News Centre, 10 July 2015)

‘แก้ไข ม.112’

ปฏิกิริยาจากสหประชาชาติครั้งหลังสุด มีขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม 2558 หลังจากองค์กรตุลาการของไทยใช้กฎหมายอาญา มาตรา 112 ว่าด้วยการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ รวมถึงกฎหมายคอมพิวเตอร์ สั่งจำคุกผู้ต้องหาในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหลายราย เป็นเวลานานคนละหลายสิบปี

ในวันที่ 11 สิงหาคม โฆษกข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ราวินา ชัมดาซานี แถลงที่กรุงเจนีวา ระบุว่า ข้าหลวงใหญ่ฯรู้สึก “ตระหนก” ต่อการลงโทษตามกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของไทย พร้อมกับเรียกร้องให้แก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล

ถ้อยแถลงของข้าหลวงใหญ่ฯ อ้างถึงการพิพากษาลงโทษของศาลทหารและศาลยุติธรรมของไทยใน 5 คดี คือ

๏ 7 ส.ค. 2558 ศาลทหารกรุงเทพฯ ตัดสินจำคุกนายพงษ์ศักดิ์ (ขอสงวนนามสกุล) ชาวจังหวัดกาญจนบุรี อายุ 48 ปี อาชีพตัวแทนบริษัทนำเที่ยว เป็นเวลา 60 ปี ด้วยข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ เนื่องจากแชร์ข้อความ 6 ข้อความทางเฟซบุ๊ค จำเลยรับสารภาพ ลดโทษเหลือ 30 ปี

๏ 7 ส.ค. 2558 ศาลทหารจังหวัดเชียงใหม่ ตัดสินจำคุกน.ส.ศศิวิมล (ขอสงวนนามสกุล) ชาวจังหวัดเชียงใหม่ อายุ 34 ปี อาชีพพนักงานโรงแรม เป็นเวลา 58 ปี ด้วยข้อหาเดียวกัน เนื่องจากโพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊ค จำนวน 8 ข้อความ จำเลยรับสารภาพ ลดโทษเหลือ 28 ปี

๏ 6 ส.ค. 2558 ศาลทหารจังหวัดเชียงราย ตัดสินจำคุกนายสมัคร (ขอสงวนนามสกุล) เป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ แพทย์วินิจฉัยว่านายสมัครป่วยทางจิต และกำลังรักษาอาการประสาทหลอน

๏ 25 มิ.ย. 2558 ศาลอาญากรุงเทพฯ ตัดสินจำคุกนายทะเนช (ขอสงวนนามสกุล) เป็นเวลา 3 ปีกับ 4 เดือน จากการส่งลิงค์ (URLs) ที่เชื่อมโยงไปยังเพจที่มีเนื้อหาหมิ่นสถาบันฯ

๏ 31 มี.ค. 2558 2558 ศาลทหารกรุงเทพฯ ตัดสินจำคุกนายเธียรสุธรรม (ขอสงวนนามสกุล) เป็นเวลา 50 ปี จากการโพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊ค จำเลยรับสารภาพ ลดโทษเหลือ 25 ปี

แถลงการณ์ของข้าหลวงใหญ่ฯ กล่าวว่า คำตัดสินลงโทษเหล่านี้นับว่าหนักที่สุดนับแต่เราเริ่มบันทึกคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ตั้งแต่ปี 2549 และว่า การดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหารนั้นไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล จำเลยไม่มีโอกาสร้องอุทธรณ์

ข้าหลวงใหญ่ฯกล่าวด้วยว่า ขอเรียกร้องให้ทางการไทยปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาที่ถูกคุมขังระหว่างการไต่สวนในคดีเช่นนี้ และเรียกร้องให้รัฐบาลทหารแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพให้เป็นไปตามมาตรฐานระหว่างประเทศในด้านสิทธิมนุษยชน (UN OHCHR, 11 August 2015)

Photos: AFP