วันเสาร์, สิงหาคม 22, 2558

รัฐธรรมนูญฉบับรัฐประหารอำพราง


วันนี้ (22 ส.ค.2558) คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญส่งมอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์ให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โดยหลังจากนี้สมาชิก สปช.จะศึกษารายละเอียดของร่างรัฐธรรมนูญเพื่อประกอบการพิจารณาตัดสินใจว่าจะลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 6 ก.ย.2558
ภาพจาก Thai PBS

โดย เหวง โตจิราการ
ที่มา FB

Weng Tojirakarn


รัฐธรรมนูญฉบับรัฐประหารอำพราง

วันนี้22สิงหาคม2558ตามฤกษ์ของฝ่ายแม่น้ำห้าสาย
จะมีพิธีกรรมส่งมอบรัฐธรรมนูญของ “36มหาปราชญ์” (แม่น้ำสายหนึ่ง)
ให้กับสปช.(แม่น้ำอีกสายหนึ่งของคมช.)
และดูเหมือนว่า ปรมาจารย์ใหญ่ทางด้านกฎหมายของคสช.จะพออกพอใจกับรัฐธรรมนูญฉบับที่จะส่งมอบให้นี้พอสมควร

ผมขอแสดงความเห็นส่วนตัวเพื่อประมวลภาพรวมของรัฐธรรมนูญที่แม่น้ำสองสายจะทำพิธีกรรมส่งมอบแก่กัน

โดยองค์รวมแล้ว ผม สรุปรวบยอดว่า
รัฐธรรมนูญฉบับของ “36มหาปราชญ์”นี้
เป็นรัฐธรรมนูญ “ฉบับรัฐประหารอำพราง”

แสดงออกอย่างชัดเจนที่ มาตรา 260 ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้
ที่กำหนดให้มี คณะรัฐประหาร เอาไว้ล่วงหน้าอย่างชัดเจน
และเป็นการ สถาปนาคณะรัฐประหารที่ ฉลาดแนบเนียน

กล่าวคือได้มาซึ่งอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ โดยไม่ต้องใช้กำลังทหารเข้ายึดอำนาจเพื่อโค่นล้มอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหารเดิมลงไป

เพียงแต่กล่าวอ้างว่า สถาบันทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญและคณะรัฐมนตรีไม่สามารถยุติกรณีความวุ่นวายได้ คณะกก.ยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติก็จะเข้ามาใช้อำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหารในทันทีและถือว่าชอบด้วยกฏหมายและเป็นที่สิ้นสุด(ลอกแบบมาจากมาตรา44ของคสช.)

ซึ่งเงื่อนไขที่กล่าวอ้างนั้นกลุ่มอำนาจนิยมจงใจสร้างให้เกิดขึ้นได้อย่างง่ายดาย
ดังเช่นที่เกิดขึ้นเมื่อ 19กันยายน2549 และ เมื่อ 22พฤษภาคม 2557

เพียงแต่ทั้งสองครั้งดังกล่าว ต้องยุ่งยากเดือดร้อนในการเคลื่อนกำลังกองทัพเข้ามาโค่นล้ม อำนาจอธิปไตยของประชาชนลงไปอย่าง “น่าอัปยศอดสูต่อชาวไทยและชาวโลก”เท่านั้น

นอกจากนั้น บทบัญญัติมาตราอื่นๆยังแสดงออกถึง
อำนาจที่เป็นไปตามอำเภอใจของพวกรัฐประหารนิยมโดยไม่จำต้องทำการรัฐประหาร

แต่อยู่ภายใต้ “ประชาธิปไตยระบบรัฐสภาที่มีการเลือกตั้งเป็นเพียงไม้ประดับ”

กล่าวคือ

1.นายกรัฐมนตรีมาจากคนนอกได้

2.ระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสมจงใจทำลายการแยกสส.เป็นสองระบบขาดจากกัน

3.สว.กว่าครึ่งมาจากการสรรหา(ในคราวแรกจำนวน123สรรหาโดยคณะรัฐประหารชุดปัจจุบัน)

4.ศาลรัฐธรรมนูญทรงไว้ซึ่งอำนาจในการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญได้

5.การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่สามารถทำได้โดยตรงจากประชาชน ต้องอยู่ภายใต้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่แทบจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย

6.สถาปนาองค์กรอิสระชื่อแปลกๆจำนวนมากซึ่งสรรหาหรือได้มาจากกลุ่มพวกของ “รัฐประหารนิยม”ที่ทรงไว้ซึ่งอำนาจในการบ่อนทำลายอำนาจอธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน

แม้กระทั่งการ แต่งตั้งข้าราชการระดับสูงทุกกระทรวงทบวงกรมของประเทศต้องมาจากกลุ่ม “อำนาจรัฐประหารนิยม”ทั้งสิ้น

ดังนั้น แม้จะมีการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนได้แต่ก็ไม่สามารถบริหารราชการแผ่นดินไปตามสัญญาประชาคมที่ให้กับประชาชนระหว่างหาเสียงเลือกตั้งได้เลย เพราะข้าราชการระดับสูงที่ตั้งมาดังกล่าวย่อมไม่เต็มใจที่จะสนองตอบ หรือจงใจที่จะทำให้ติดขัดไม่ราบรื่น

นี่เป็นเพียงกลุ่มเนื้อหาใหญ่ๆบางประการเท่านั้นเอง
แต่เพียงเท่านี้ก็มองเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ภายใต้เสื้อคลุมประชาธิปไตยนั้น
เนื้อแท้ที่เป็นจริงยังคงเป็น “ปีศาจแห่งการรัฐประหารที่คอยดำรงอยู่เพื่อกุมอำนาจเหนือประชาชนไทยอย่างไม่ยอมถอยห่างไปไหน”เช่นเดิม

ooo

เปิด ร่าง รธน. ม.280 เทียบ ม.44 อำนาจ ‘คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ’ กับ ‘คสช.’


Sat, 2015-08-22 21:20
ที่มา ประชาไท

หลังจากวันนี้ (22 ส.ค. 58) เว็บไซต์ของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้เปิดให้ประชาชนทั่วไปดาวน์โหลด ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หลังมอบฉบับพิมพ์ให้ สปช. อ่านเตรียมตัวลงมติ 6 ก.ย. นั้น (ดู : ดาวน์โหลดร่าง รธน. หลัง กมธ.ยกร่างส่งให้ สปช. แล้ว)

ทั้งนี้ มาตรา 280 ของร่าง รธน. ซึ่งอยู่ในบทเฉพาะกาล ดังกล่าว ให้อำนาจกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ ซึ่งระบุว่าภายใน 5 ปี นับตั้งแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ถ้ามีความจำเป็นเพื่อรักษาความเป็นเอกราชของชาติ บูรณภาพแห่งดินแดน หรือเพื่อป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติ ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือมีกรณีความขัดแย้งอันอาจจะนำไปสู่ความรุนแรงขึ้นในประเทศ ไม่ว่าจะเกิดภายในหรือภายนอกราชอาณาจักร ทั้งการดำเนินการตามปกติของสถาบันทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญและคณะรัฐมนตรีไม่อาจดำเนินการเพื่อยุติกรณีดังกล่าวได้ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ซึ่งมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของคณะกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ มีอำนาจใช้มาตรการที่จำเป็นสำหรับจัดการกับสถานการณ์ดังกล่าวแทนได้ ภายหลังจากที่ได้มีการปรึกษาหารือกับประธานศาลรัฐธรรมนูญและประธานศาลปกครองสูงสุดแล้ว โดยเมื่อดำเนินการดังกล่าวแล้วให้ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ มีอำนาจสั่งการ ระงับ ยับยั้ง หรือกระทำการใดๆ ได้ ไม่ว่าการกระทำนั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติหรือในทางบริหาร และให้ถือว่าคำสั่ง การกระทำ และการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้และกฎหมาย และเป็นที่สุด





ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับ มาตรา 44 ใน รธน. ฉบับชั่วคราว 2557 ที่ให้อำนาจกับหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดบระบุว่า ในกรณีที่หัวหน้า คสช. เห็นเป็นการจำเป็นเพื่อประโยชน์ ในการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ การส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ หรือเพื่อป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติ ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน ไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายในหรือภายนอกราชอาณาจักร ให้หัวหน้า คสช. โดยความเห็นชอบของ คสช. มีอำนาจสั่งการ ระงับยับยั้ง หรือกระทำการใด ๆ ได้ ไม่ว่าการกระทำนั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ และให้ถือว่าคำสั่งหรือการกระทำ รวมทั้งการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว เป็นคำสั่ง หรือการกระทำ หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญนี้และเป็นที่สุด ทั้งนี้เมื่อได้ดำเนินการดังกล่าวแล้ว ให้รายงานประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติและนายกรัฐมนตรีทราบโดยเร็ว

สำหรับคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ นั้น ระบุไว้ใน ม.260 ว่า ประกอบด้วยประธานกรรมการ 1 และกรรมการจำนวนไม่เกิน 22 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์แต่งตั้งจากบุคคลดังต่อไปนี้

1. กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ ประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภา นายกรัฐมนตรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

2. กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งแต่งตั้งจากผู้เคยดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภา นายกฯ ประธานศาลฎีกา ซึ่งเลือกกันเองในแต่ละประเภท ประเภทละ 1 คน และ

3. กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกิน 11 คน ซึ่งแต่งตั้งตามมติรัฐสภา จากผู้ซึ่งมีความเชียวชาญในการปฏิรูปด้านต่างๆ และสร้างความปรองดอง

และให้กรรมการเหล่านั้นเลือกผู้มีความเหมาะสมคนหนึ่งให้เป็นประธานกรรมการฯ