วันพฤหัสบดี, มีนาคม 26, 2558

เดินหน้าไปข้างหลัง โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์



ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2558

ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ข่าวสด ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ได้แสดงปาฐกถาในงาน 2015: The Year of AEC ความว่า ความแตกร้าวทางการเมืองของไทยเวลานี้เป็นอุปสรรคใหญ่ ที่ทำให้เราปรับตัวทางเศรษฐกิจเพื่อเปิดรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดในโลกไม่ได้ ฉะนั้น "ทุกคนต้องประคับประคอง ลดทิฐิส่วนตน เสียสละ ต้องอดทนอดกลั้น ให้ประเทศชาติเดินหน้าต่อไปได้"

นั่นหมายความว่าทุกคนต้องเห็นพ้องกับ ดร.สมคิดว่า เป้าหมายทางเศรษฐกิจคืออนาคตทั้งหมดของประเทศชาติ แต่ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ไม่ได้คิดว่า ชีวิตของตนเองก็ตาม ชีวิตของสังคมโดยรวมก็ตาม มีเป้าหมายเพียงอย่างเดียวคือเศรษฐกิจ ไม่อย่างนั้นเขาคงไม่แต่งงาน, ไม่ดูหนัง, ไม่โกรธเมื่อเห็นพระเป็นผู้นำม็อบ และไม่อะไรอีกหลายอย่างซึ่งมนุษย์ธรรมดาทำกันเป็นปกติ

ความแตกแยกทางการเมืองที่เกิดในประเทศไทยเวลานี้มาจากความเห็นต่ออนาคตทางการเมืองของสังคมไทยแตกต่างกันอย่างสุดขั้ว (อย่างน้อยก็ตามที่ทั้งสองฝ่ายอ้าง) ฝ่ายหนึ่งใฝ่ฝันจะเห็นอนาคตของบ้านเมืองพัฒนาไปในทางประชาธิปไตยมากขึ้น เสียงของประชาชนคือคำตัดสินเด็ดขาด ผ่านกระบวนการทางการเมืองที่ไม่มีอำนาจนอกระบบแทรกแซง และเพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ จำเป็นต้องทำให้สังคมไทยมีความเสมอภาคกันยิ่งขึ้น ไม่เฉพาะแต่ในทางการเมือง แต่ในทางอื่นๆ ด้วย ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งใฝ่ฝันถึงอนาคตของประเทศที่ปราศจากการฉ้อราษฎร์บังหลวงโดยสิ้นเชิง รัฐบาลหรือผู้นำมีความรู้ความสามารถและซื่อสัตย์ เพื่อนำประเทศไทยไปสู่ความไพบูลย์ในทุกด้าน ทั้งนี้ ความไม่เสมอภาคยังไม่ใช่เรื่องใหญ่ โดยเฉพาะความเสมอภาคทางการเมือง ซึ่งจะขัดขวางมิให้คนดีมีความสามารถเข้ามาถือตำแหน่งบริหารได้

ความเห็นต่างในเรื่องดังกล่าวไม่ใช่เรื่องเล็กในสายตาของคู่ขัดแย้ง หลายคนอ้างว่าพร้อมจะเสียสละถึงชีวิตเลือดเนื้อ หรือเสรีภาพส่วนบุคคล เพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการเมืองและสังคมที่แตกต่างกันนี้

ผมไม่ทราบว่าจะทำให้ ดร.สมคิดและนักเศรษฐศาสตร์อีกจำนวนมากเชื่อได้อย่างไรว่า มนุษย์มีมิติอื่นๆ อยู่นอกเหนือไปจากการแสวงหาผลประโยชน์ทางวัตถุ แน่นอนว่าผลประโยชน์ทางวัตถุก็มีความสำคัญในธรรมชาติของมนุษย์ แต่ไม่ใช่อย่างเดียว อย่างอื่นที่เป็นอีกส่วนหนึ่งของธรรมชาติมนุษย์ก็มีความสำคัญแก่เขา ในบางกรณีก็ไม่น้อยไปกว่าหรือมากกว่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเสียอีก ดร.สมคิดและนักเศรษฐศาสตร์อาจเชื่อว่า นั่นเป็นความโง่ของมนุษย์ก็ได้ แต่มนุษย์จริงๆ เป็นอย่างนั้นแหละครับ

ดังนั้น ข้อเสนอสำคัญของ ดร.สมคิดคือ "ลดทิฐิส่วนตน เสียสละ อดทนอดกลั้น" ซึ่งฟังดูเหมือนง่าย จึงไม่ได้ง่ายเลย หลายคนคงถามว่าเสียสละให้อะไร อดทนอดกลั้นต่ออะไร ให้อำนาจเผด็จการและต่ออำนาจเผด็จการกระนั้นหรือ เหตุใดเผด็จการและสมุนจึงไม่รู้จักเสียสละและอดทนอดกลั้นต่อความขัดแย้งในระบอบประชาธิปไตยบ้าง

ทางออกทางเดียวที่จะทำให้ทุกคนลดทิฐิส่วนตนเสียสละ และอดทนอดกลั้นต่อกันคือความสัมพันธ์เชิงอำนาจในระบอบประชาธิปไตย ใครเป็นคนทำให้ประชาธิปไตยในสังคมไทยทำงานไม่ได้ ขัดขวางการใช้กฎหมายต่อผู้ละเมิดด้วยการใช้กำลังคนติดอาวุธไปปกป้องผู้ล่วงละเมิดกฎหมาย ความจลาจลเกิดขึ้นท่ามกลางความรู้เห็น (และอาจเป็นใจ หากดูพฤติกรรมประกอบ) ของกองทัพ เปิดทางให้ทหารทำรัฐประหารยึดบ้านเมือง แล้วพยายามสถาปนาอำนาจคณาธิปไตยของชนชั้นสูงไว้ให้สถิตสถาพรตลอดไป

นี่เรื่องเพิ่งเกิดขึ้นหยกๆ ซึ่งใครๆ ก็รู้เห็นทั้งนั้น ดร.สมคิดเป็นเทวดาเพิ่งจุติลงมาในวิกฤตเมื่อวานนี้หรืออย่างไร จึงมองเห็นแต่วิกฤต แต่มองไม่เห็นประวัติศาสตร์ของวิกฤต เทวดาคือผู้ไม่มีประวัติศาสตร์ เพราะมีฤทธิ์บันดาลให้เกิดอะไรขึ้นก็ได้โดยไม่ต้องสัมพันธ์กับอดีต แต่สังคมไทยเป็นสังคมของมนุษย์ซึ่งกว่าจะต้องเผชิญกับวิกฤตรอบนี้ ก็ได้ผ่านอะไรต่อมิอะไรมามากมาย อันจะตัดทิ้งไปอย่างหน้าตาเฉยไม่ได้

แต่ ดร.สมคิดก็ไม่ใช่เทวดา เพราะไม่มีฤทธิ์เดชอะไรเลย หลายอย่างในข้อเสนอน่าสนใจและควรทำ แต่ 10 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลคณะรัฐประหารไม่ได้ทำอะไรไปในแนวที่ ดร.สมคิดเสนอเลย เช่นรัฐบาลได้ทำอะไรเพื่อ "วางรากฐานให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพื่อรองรับสิ่งที่จะเกิดในอนาคต" บ้าง คำตอบคือไม่ได้ทำอะไรในการศึกษามากไปกว่าบังคับให้เด็กท่องจำค่านิยมสิบสองประการ จะทำเศรษฐกิจดิจิตอล แต่ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าเปลี่ยนชื่อกระทรวง และสร้างระบบที่รัฐสามารถควบคุมการสื่อสารทางอินเตอร์เน็ตได้สะดวกเท่านั้น ไม่มีส่วนใดที่จะทำให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้ซื้อและผู้ขายบนอินเตอร์เน็ต ธุรกรรมทางการเงินบนอินเตอร์เน็ตที่วางใจได้คืออะไร เป้าหมายของนวัตกรรมทางดิจิตอลที่เหมาะกับไทยคืออะไร ฯลฯ ไม่มีแผนเชิงรุกในเรื่องขนส่งคมนาคม ได้แต่เพ้อว่าจะเป็นศูนย์กลางของอาเซียน

แสดงว่า ดร.สมคิดไม่มีแม้แต่ฤทธิ์เดชที่จะทำให้ คสช.ทำตาม ทั้งๆ ที่ ดร.สมคิดก็ร่วมคณะรัฐประหารมาแต่ระยะแรก (หรืออาจก่อนหน้าทำรัฐประหารโดยเปิดเผยด้วยซ้ำ)

ซ้ำร้ายกว่าไม่ทำตามข้อเสนอแนะของ ดร.สมคิด ผมคิดว่า คสช.ทำตรงกันข้ามด้วยซ้ำ เช่นใช้กฎอัยการศึกเที่ยวคุกคามผู้คนไปทั่ว จนยากที่จะให้ทุกคน "ประคับประคอง" เผด็จการ คสช.ไว้ได้ สถานการณ์ยิ่งห่างไกลจากการก้าวให้พ้นความขัดแย้งอย่างที่ ดร.สมคิดมุ่งหวัง ดังนั้น นอกจาก ดร.สมคิดมองไม่เห็นประวัติศาสตร์แล้ว ยังมองไม่เห็นบริบทอีกด้วย แม้แต่บริบทของ คสช.ซึ่งตนเองร่วมอยู่ด้วยอย่างคึกคัก

บริบทที่กว้างกว่า คสช.ซึ่ง ดร.สมคิดคงไม่มีทางเห็นได้ก็คือ สังคมไทยได้เปลี่ยนไปแล้ว คำปลอบประโลมว่าเมืองไทยกำลังก้าวทะยานไปสู่ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ซึ่งพูดกันมานานแล้วโดยนักเศรษฐศาสตร์แบบคุณสมคิดนี้ ไม่อาจเกลี้ยกล่อมให้คนไทยซึ่งไม่เคยได้ส่วนแบ่งของกำไรอย่างสมน้ำสมเนื้อ สยบยอมให้นักเศรษฐศาสตร์จัดการไปตามประโยชน์ของผู้มีอำนาจฝ่ายเดียวอีกแล้ว สิ่งสำคัญที่ต้องพูดควบคู่กันไปกับข้อเสนอทางเศรษฐกิจก็คือ แล้วประชาชนจะได้อะไรจากความมั่งคั่งนี้

มันสายเกินไปมานานแล้ว ที่จะย้อนกลับไปสู่เผด็จการแบบสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งยอมรับฟังเสียงของเทคโนแครตที่คอยให้คำแนะนำการสร้างความมั่งคั่งแก่คนจำนวนน้อย (ซึ่งเชื่อมโยงกับเผด็จการผ่านเงิน) โดยที่ประชาชนไม่รู้สึกแหนงใจแต่อย่างไร สมัยปัจจุบัน ประชาชนรู้แล้วว่าคำแนะนำของเทคโนแครตคือหนทางที่จะริบเอาทรัพยากรที่ประชาชนใช้อยู่ไปบำเรอนายทุนซึ่งเป็นคนส่วนน้อยเท่านั้นและด้วยเหตุดังนั้นเขาจึงไม่ยอม เวลานี้อาจต้องก้มกราบทหารที่มาคุมรถขุดเจาะก๊าซธรรมชาติ แต่ทหารจะอยู่ให้ก้มกราบไปอีกนานเท่าไร สภาวะเช่นนี้เกิดขึ้นชั่วกัลปาวสานไม่ได้

เทคโนแครตมีแนวโน้มจะสนับสนุนเผด็จการ เพราะเชื่อว่าเผด็จการจะสามารถทำสิ่งที่ตัวเชื่อหรือเสนอได้ง่ายกว่าประชาธิปไตย ไม่ว่า ดร.สมคิดจะมองเห็นบริบทอันนี้หรือไม่ก็ตาม หากทว่าเมืองไทยได้ก้าวพ้นสภาวะนั้นไปแล้ว ในระบบราชการเองก็เหลือเทคโนแครตอยู่น้อยนิดเดียว ส่วนใหญ่โดยเฉพาะนักเศรษฐศาสตร์หลุดไปอยู่ในภาคธุรกิจเอกชน อีกส่วนหนึ่งกระจายอยู่ตามมหาวิทยาลัย และอีกส่วนหนึ่งลอยเคว้งคว้างเหมือนผีไม่มีศาล จึงวิ่งไปซุกอำนาจนอกระบบทั้งหลาย และพากันยินดีกับเผด็จการที่ผิดยุคผิดสมัย

เทคโนแครตไทยทำงานกับระบอบประชาธิปไตยไม่เป็น เช่นไม่มีเทคโนแครตคนใดสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองอย่างเปิดเผยสักคนเดียวกระมัง ในทำนองตรงกันข้าม พรรคการเมืองหรือสถาบันการเมืองประชาธิปไตยก็ใช้เทคโนแครตไม่เป็น

ผมไม่ได้หมายความว่า การทำงานกับระบอบประชาธิปไตยของเทคโนแครตคือการเข้าสังกัดพรรคการเมือง หรือเข้าร่วมรัฐบาล ตรงกันข้ามด้วยซ้ำ เทคโนแครตที่ทำหน้าที่ของตนในราชการ, วงการธุรกิจหรือวิชาการ โดยไม่ฝักใฝ่ทางการเมือง กลับจะเป็นผู้ถ่วงดุลตรวจสอบฝ่ายการเมืองได้ดี แต่ต้องเข้าใจด้วยว่า อำนาจการตรวจสอบถ่วงดุลของเทคโนแครตเกิดขึ้นจากความไว้วางใจของประชาชน หากเทคโนแครตทำอะไรที่บั่นทอนความไว้วางใจนี้ เช่นไปช่วยเขาล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง อำนาจนั้นของเทคโนแครตก็หายไป เพราะประชาชนจำนวนหนึ่งไม่ไว้วางใจกับความเห็นของเทคโนแครตนั้นๆ เสียแล้ว

ประชาชนจำนวนมากบอกว่า การรัฐประหารดึงประเทศชาติให้ถอยหลังไปสุดกู่ แต่น่าอัศจรรย์ที่เทคโนแครตของคณะรัฐประหารมาบอกประชาชนว่าให้อดทนอดกลั้น เพื่อ "ให้ประเทศชาติเดินหน้าต่อไป"

(ที่มา:มติชนรายวัน 23 มีนาคม 2558)