วันพฤหัสบดี, กุมภาพันธ์ 26, 2558

สงสัยว่า ท่านอธิการบดี อาจจะมัวแต่ยุ่งทำงานให้ คสช จนหลงๆลืมๆเรื่องระเบียบของหน่วยงานตัวเองแน่ นศ.เตรียมเดินขบวนต้าน มธ.ไล่ "สมศักดิ์ เจียม"-"สมคิด"ย้ำไร้อคติ เป็นไปตามระเบียบ



Somsak Jeamteerasakul


อ่านสัมภาษณ์ท่านอธิการบดีสมคิด เรื่องไล่ผมออกแล้ว
http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1424868752

สงสัยว่า ท่านอธิการบดี อาจจะมัวแต่ยุ่งทำงานให้ คสช จนหลงๆลืมๆเรื่องระเบียบของหน่วยงานตัวเองแน่

ในคำสัมภาษณ์ (ภาพประกอบลำดับแรก) คุณสมคิดกล่าวว่า ความผิดเรื่องไม่มาสอนหนังสือของผม "มีโทษสถานเดียวคือไล่ออก" (ดูที่ผมขีดเส้นใต้แดงไว้) - นี่เป็นการพูดผิดความจริงโดยสิ้นเชิง

ในคำสั่งไล่ออก (ภาพประกอบลำดับ ๒) อ้างมาตรา ๕๑ ใน พรบ.ข้าราชการพลเรือนสถาบันอุดมศึกษา ๒๕๔๗ และข้อ ๕๔, ๕๗, ๖๑(๒)(๘) ของข้อบังคับว่าด้วยวินัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ๒๕๕๕

มาตรา ๕๑ พรบ.ข้าราชการฯ ไม่มีอะไร (ผมไม่ได้นำมาแสดงในภาพประกอบ) คือเพียงแต่ระบุว่า "เมื่อผลการสอบสวนปรากฏว่าผู้ถูกสอบสวนทำผิดวินัย ให้ผู้บังคับบัญชาลงโทษตามควรแก่กรณี" ตามข้อบังคับของหน่วยงาน ในทีนี้ ก็คือให้ลงโทษตาม "ข้อบังคับว่าด้วยวินัย" ของมหาวิทยาลัยที่อ้างตามมา

ทีนี้ ข้อ ๕๗ และ ๖๑(๒)(๘) ในข้อบังคับวินัยฯที่อ้าง ความจริงเป็นเพียงขยายความประกอบ นั่นคือ ข้อ ๕๗ ให้อธิการบดีเป็นคนสั่งลงโทษกรณีผิดวินัยร้ายแรง (ภาพประกอบลำดับสุดท้าย) และข้อ ๖๑(๒)(๘) (ซึ่งผมไม่ได้นำมาแสดงในภาพประกอบ) เป็นการให้อำนาจสั่งลงโทษที่มีผลย้อนหลังขึ้นไปจากวันที่ลงคำสั่งได้ (ดูเพิ่มเติมข้างล่าง)

ข้อสำคัญจริงๆของการลงโทษนี้ คือข้อ ๕๔ ของข้อบังคับวินัยฯ (ภาพประกอบลำดับที่ ๓)

จะเห็นว่า ข้อบังคับระบุชัดเจนว่า เรืองผิดวินัยร้ายแรงนั้น ให้ "ลงโทษปลดออกหรือไล่ออกจากราชการแล้วแต่กรณี" นันคือ ให้ "อ๊อพชั่น" มหาวิทยาลัย ทีจะปลดออก โดยมีบำเหน็จ หรือจะ ไล่ออกโดยไม่ให้บำเหน็จ ก็ได้ ไมใช่ "มีโทษสถานเดียวคือไล่ออก" อย่างทีคุณสมคิดพูดแต่่อย่างใด

มิหนำซ้ำ ถ้าดูในย่อหน้าถัดมาของข้อนี้ ยังระบุด้วยซ้ำว่า "การพิจารณาลงโทษไล่ออกนั้น ถ้ามีเหตุอันควรลดหย่อนจะนำมาประกอบการพิจารณาลดโทษก็ได้ แต่ห้ามมิให้ลดโทษลงต่ำกว่าปลดออก" พูดง่ายๆคือต่อให้โทษถึงไล่ออก ก็ลดเหลือปลดออกได้

แต่ประเด็นสำคัญคือ โทษไล่ออกน่ะ มาได้ยังไงแต่แรก? คือใช้อะไรเป็นเกณฑ์ว่าต้องไล่ออกแน่ๆ?

ดังทีผมเขียนอธิบายไปแล้วว่า ผมทำงานติดต่อกันมาโดยปกติตลอดกว่า ๒๐ ปี ต่อให้สมมุติยอมรับว่า ตอนนี้ผม(เพิ่ง)ทำผิด คือไม่มาสอน (ด้วยสาเหตุอะไร ทั้งคุณสมคิดและมหาวิทยาลัยย่อมรู้ดีอยู่) ต้องลงโทษ อะไรคือเหตุผลว่า จะต้องถึงกับตัดสิทธิ์ของผมที่จะได้รับค่าตอบแทนจากน้ำพักน้ำแรงกว่า ๒๐ ปีของผม คือเงินบำเหน็จซึงเป็นการตอบแทนสะสมของการทำงานติดต่อกันมานั้น? การเพิ่งไม่มาสอนในตอนนี้ หลังจากสอนมากว่า ๒๐ ปี เป็นโทษขนาดต้องตัดสิทธิ์ขนาดนั้นเลยหรือ? บอกตรงๆว่า ผมนึกอย่างไรก็นึกไม่ออกว่า มีเหตุผลถึงขนาดนั้นได้อย่างไร

ก็กลับมาที่ประเด็นทีมีหลายท่านตั้งข้อสังเกตไว้ว่า ตกลงทีต้องถึงขั้นไล่ออก นี่เพราะมีคนกดดันมา (คสช นั่นแหละ) หรือว่าคุณสมคิดและมหาวิทยาลัย "ทำเอง" คือต้องการ "โชว์อ๊อฟ" ประจบเอาใจ คสช ว่า "นี่ไง ไล่สมศักดิ์ ออกให้แล้วนะ" อะไรแบบนั้น?

(ข้างต้นผมพูดถึง ข้อ ๖๑ ของข้อบังคับวินัยฯ ซึ่งเป็นเพียงข้อที่มาขยายว่า สามารถลงโทษให้ย้อนขึ้นไปก่อนวันลงชื่อคำสั่งได้ ความจริง ในข้อนี้ ซึ่งมีรายละเอียดกรณีต่างๆ ในวงเล็บ ๘ ข้อ ทุกข้อก็เขียนเหมือนกันหมดว่า "ปลดออกหรือไล่ออก" คือ แม้แต่ข้อนี้ ก็บอกว่า โทษผิดวินัยร้ายแรงนั้น มีทั้งปลดออกหรือไล่ออก ไม่ใช่ "มีโทษสถานเดียวคือไล่ออก" อย่างทีคุณสมคิดพูดแต่อย่างใด)


ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดี มธ. กล่าวว่า หนังสือไล่ออกจากราชการเป็นไปตามระเบียบของราชการ หากละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อกันเป็นเวลาเกินกว่า 15 วันในคราวเดียวโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรและมีพฤติการณ์อันแสดงถึงความจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการ ให้มีโทษสถานเดียวคือไล่ออก โดยนายสมศักดิ์ไม่มาปฏิบัติงานสอนตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคม 2557 ยื่นหนังสือลาออกในช่วงเดือนธันวาคม 2557 ขณะนั้น คณะศิลปศาสตร์ต้นสังกัดได้ส่งจดหมายเรียกให้นายสมศักดิ์กลับมาปฏิบัติหน้าที่แล้ว แต่นายสมศักดิ์ไม่ได้กลับเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ มหาวิทยาลัยก็ต้องตั้งกรรมการสอบสวน ข้อเท็จจริง มีความเห็นมาว่านายสมศักดิ์ละทิ้งการปฏิบัติราชการจริง มหาวิทยาลัยจึงต้องตั้งกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง มีผลให้มีคำสั่งไล่ออกจากราชการในเวลาต่อมา นายสมศักดิ์สามารถยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ของมหาวิทยาลัยได้ภายใน 30 วันตามกฎหมาย

"การลงโทษนายสมศักดิ์ไม่เกี่ยวข้องกับกรณีนายสมศักดิ์ออกไปแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เพราะถือเป็นเสรีภาพทางวิชาการ และไม่เกี่ยวข้องกับคดีหมิ่นสถาบันเพราะนายสมศักดิ์ถูกแจ้งความดำเนินคดีทางอาญาไปแล้ว ต้องเป็นหน้าที่ของตำรวจตามกฎหมาย ยืนยันว่าคำสั่งตั้งกรรมการทั้ง 2 ชุด และสำนวนการสอบสวนทั้งหมดเป็นเรื่องของการขาดราชการไม่มาทำงาน 100% คณะกรรมการทั้งสองชุดก็ได้เชิญนายสมศักดิ์มา สอบถามข้อเท็จจริง แต่นายสมศักดิ์ก็ไม่ได้ เดินทางมาให้ข้อมูล" นายสมคิดกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี อาคารบรรยายเรียนรวม ได้มีการขึ้นบอร์ดแสดงความคิดเห็นของนักศึกษา จากกรณีมีการเผยแพร่เอกสารคำสั่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ 356/2558 ลงนามโดย ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2558 ลงโทษ ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ออกจากราชการ เนื่องจากกระทำผิดข้อบังคับมหาวิทยาลัย บอร์ดข้อความต่างๆ มีอาทิ "ธรรมศาสตร์ตายแล้ว" "อาจารย์ไม่ได้โดน 112 ไล่ออก อธิการนั้นแหละไล่อาจารย์"

นายศิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ ปี 4 และสมาชิกกลุ่มสภาหน้าโดม กล่าวว่า นักศึกษาส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยต่อกรณีดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าเป็นเรื่องที่รุนแรงมากเกินไป ทั้งที่นายสมศักดิ์ยื่นลาพักเพื่อไปศึกษาต่อต่างประเทศ 1 ปี ทางมหาวิทยาลัยก็ไม่เซ็นอนุมัติ อีกทั้งยังยื่นหนังสือลาออกแล้วมหาวิทยาลัยก็ไม่อนุมัติอีก ที่ผ่านมาธรรมศาสตร์มีขบวนการผ่อนผันกับคนอื่น แต่กับนายสมศักดิ์ไม่มีการพิจารณา แต่ดันมาเข้มงวดและเด็ดขาดจนน่าสงสัย ทราบว่านายสมศักดิ์ชี้แจงมาโดยตลอดว่าขณะนี้สถานการณ์บ้านเมือง ไม่ปกติ ทางมหาวิทยาลัยน่าจะยืดหยุ่นบ้าง ธรรมศาสตร์เองก็น่าจะมีวิธีการช่วย ไม่ใช่มาทับถมกันอย่างนี้ ที่ผ่านมานายสมศักดิ์เองก็อยู่อย่างหวาดกลัวจนกระทั่งต้องหลบหนีไปอยู่ต่างประเทศ เนื่องจากถูกลอบยิงลอบทำร้าย หลังจากรัฐประหารแล้ว จนนักศึกษาส่วนใหญ่เห็นว่าธรรมศาสตร์ตกต่ำไปมาก

"มองว่านายสมศักดิ์ถูกไล่ออกน่าจะมาจากการเมืองเข้ามาแทรกแซงอย่างแน่นอน การ ที่ ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ เป็นข้าราชการประจำแต่ไปรับตำแหน่งทางการเมือง (สนช.) ดูไม่เหมาะสม ตัวเองยังมีข้อพิพาทกับนักศึกษามาโดยตลอดไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเมืองใหญ่หรือเล็ก หลังจากนี้กลุ่มนักศึกษาแต่ละกลุ่มได้พูดคุยกันแล้วว่าจะต้องเดินขบวนเชิงสัญลักษณ์ที่ไม่เห็นด้วยอย่างแน่นอน" นายศิรวิชญ์กล่าว