วันเสาร์, กุมภาพันธ์ 21, 2558

ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ :โต้ ปณิธาน วัฒนายากร ไทยไม่สามารถอยู่โดดเดี่ยว ในประชาคมโลกได้



ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

หมายเหตุ : รศ.ดร.ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต

วาทกรรมที่สร้างขึ้นในขณะนี้โดยรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ได้รับความร่วมมือจากนักวิชาการสาย "โปร-คสช." ส่วนหนึ่ง ที่ว่า ไทยเป็นประเทศเอกราชและสามารถยืนอยู่ด้วยตัวลำพัง หรือสามารถโดดเดี่ยวจากประชาคมโลกได้นั้น เป็นแค่เพียงวาทกรรมของการหลอกตัวเอง หรือเป็นแค่เพียงเครื่องมือสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐบาลชุดนี้เท่านั้น หลังจากที่ได้เกิดรัฐประหารขึ้นเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 รัฐบาลจากประเทศตะวันตกจำนวนหนึ่งได้แสดงความกังวลใจต่อสถานการณ์ทางการเมืองที่บานปลาย โดยเฉพาะการหดหายของพื้นที่ทางประชาธิปไตย จากนั้น ประเทศเหล่านั้นก็ได้ประกาศใช้มาตรการคว่ำบาตรกับไทยทันที

ในกรณีของสหรัฐอเมริกานั้น ในฐานะที่เป็นพันธมิตรที่แนบแน่นบนพื้นฐานของสนธิสัญญาทางการทหารกับไทย และเพื่อเป็นไปตามกฎหมายภายในของสหรัฐเอง สหรัฐจึงมีพันธกรณีในการลงโทษคณะรัฐประหารที่ได้เข้าแทรกแซงการเมืองและล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นความจริงที่ว่า ไม่ว่าประเทศใดก็ตามที่ได้รับความช่วยเหลือทางการทหารจากสหรัฐ สหรัฐจำเป็นต้องใช้มาตรการคว่ำบาตรเหล่านี้ต่อกองทัพของประเทศนั้นๆ ที่ได้ทำรัฐประหาร ไทยจึงไม่ได้เป็นประเทศเดียวที่สหรัฐ เลือกที่จะลงโทษ นายจอห์น เคอร์รี่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ได้กล่าวในวันที่เกิดรัฐประหารในไทยว่า "ผมรู้สึกผิดหวังต่อการตัดสินใจของกองทัพในการฉีกรัฐธรรมนูญและเข้าครอบครองอำนาจรัฐ ไม่มีเหตุผลใดๆ ทั้งสิ้นต่อการทำรัฐประหาร เราจึงต้องพิจารณาลดความสัมพันธ์กับกองทัพไทย และความช่วยเหลืออื่นๆ เพื่อเป็นไปตามกฎหมายภายในของเรา"

ดังนั้น รัฐบาลสหรัฐจึงได้ยุติความช่วยเหลือทางการเงินต่อกองทัพไทยเป็นมูลค่า 4.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ยุติโครงการความร่วมมือกับตำรวจไทย และการแลกเปลี่ยนการเยือนของเจ้าหน้าที่สองฝ่าย และแม้ว่า การฝึกซ้อมรบทางทหารประจำปีภายใต้ชื่อ "คอบร้าโกลด์" จะมีขึ้นในปีนี้ แต่ก็ได้ลดระดับการฝึกซ้อมรบไปมาก เพื่อสะท้อนถึงการคว่ำบาตรโดยรวมที่สหรัฐมีต่อไทย

สหภาพยุโรปก็ได้ประกาศใช้นโยบายการคว่ำบาตรต่อรัฐบาลไทยเช่นกันโดยการระงับความร่วมมือทวิภาคีทุกอย่าง รวมถึงการยุติการเยือนสองฝ่ายของเจ้าหน้าที่รัฐ หากมองลงไปในรายละเอียดกว่านั้น สหภาพยุโรปได้ระงับกิจกรรมในกรอบความตกลงหุ้นส่วนและความร่วมมือกับไทย (Partnership and Cooperation Agreement with Thailand) ซึ่งได้มีการเจรจาที่สิ้นสุดไปแล้วในเดือนพฤศจิกายน 2556 เพียงแต่ยังไม่มีการให้สัตยาบันเท่านั้น ข้อตกลงนี้มีขึ้นเพื่อกระชับความร่วมมือสองฝ่ายในหลายด้าน อาทิ การท่องเที่ยว การสร้างงาน การศึกษา การย้ายถิ่น การคมนาคมและสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการส่งเสริมการหารือในประเด็นการเมืองที่ต่างฝ่ายมีความสนใจร่วมด้วย

นอกจากนั้น สหภาพยุโรปยังยุติการเจรจาข้อตกลงจัดตั้งเขตการค้าเสรีกับไทย หากมองในแง่การค้าสองฝ่ายระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปนั้น ตัวเลขในปี 2555 อยู่ที่ 3.2 หมื่นล้านยูโร หรือ 4.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ การยุติการเจรจาเขตการค้าเสรีจึงส่งผลกระทบต่อโอกาสทางธุรกิจของไทยในยุโรปอย่างแน่นอน นอกจากนี้ สหภาพยุโรปยังได้คว่ำบาตรการเดินทางของผู้นำรัฐบาลไทยไปยังยุโรป (ยกเว้นหากการเดินทางเพื่อการประชุมในกรอบพหุภาคี)

อาทิ การที่พลเอกประยุทธ์เดินทางไปอิตาลีเพื่อเข้าร่วมการประชุมอาเซ็ม ในเดือนตุลาคมปีที่แล้ว) สภาสหภาพยุโรปได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2557 ขอให้กองทัพคืนอำนาจให้ประชาชนเพื่อฟื้นฟูกระบวนการประชาธิปไตยที่มีความชอบธรรม และขอให้มีการเคารพสิทธิมนุษยชนของประชาชนโดยการปล่อยนักโทษการเมืองทั้งหมด หากรัฐบาลทหารไทยปฏิเสธที่จะดำเนินตาม สหภาพยุโรปอาจมีการยกระดับการคว่ำบาตรให้เข้มข้นขึ้น

ขณะเดียวกัน รัฐบาลออสเตรเลียก็ได้ออกแถลงการณ์คล้ายๆ กันเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2557 เพื่อยืนยันการยุติกิจกรรมทางทหารร่วมกับกองทัพไทย โดยระบุว่า "ออสเตรเลียขอเลื่อนกิจกรรมที่มีกับไทยออกไป ที่รวมถึงการจัดอบรมทางกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิบัติการทหารร่วม การแลกเปลี่ยนการเยือนของเจ้าหน้าที่ไทยที่จะเดินทางมาอบรมเรื่องการอาวุธระเบิด และการเยือนของเจ้าหน้าที่ไทยในโครงการการต่อต้านการก่อการร้าย" รัฐบาลออสเตรเลียได้ประกาศคว่ำบาตรการเดินทางมาออสเตรเลียของผู้นำระดับสูงของรัฐบาลไทยด้วย

ภายใต้แรงกดดันจากตะวันตกนี้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ได้ปรับนโยบายต่างประเทศแบบใหม่เพื่อสร้างตัวเลือกในการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่หลากหลายมากขึ้นแทนที่จะต้องพึ่งประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการขอรับความชอบธรรมจากรัฐบาลตะวันตกอย่างเดียว ดังนั้น หลังจากที่ต้องประสบปัญหาการคว่ำบาตร ไทยได้มีนโยบายกระชับความสัมพันธ์กับประเทศหลักๆ ในภูมิภาค อาทิ จีนและญี่ปุ่น และประเทศเพื่อนบ้านบางประเทศในอาเซียน รัฐบาลไทยได้ใช้นโยบายใหม่ที่จะพึ่งพันธมิตรใหม่เหล่านี้ในการลดทอนอิทธิพลของประเทศตะวันตก

ในระยะเริ่มแรกกลยุทธ์นี้ดูเหมือนว่าจะประสบผลสำเร็จดี จีนยินดีที่จะค้ากับไทย โดยเฉพาะการเข้ามาลงทุนในโครงการปรับระดับการคมนาคมขนาดใหญ่ ขณะที่ญี่ปุ่นก็ต้องการค้ากับไทยเช่นกัน ถึงกับมีการปูพรมแดงต้อนรับพลเอกประยุทธ์ ในการเดินทางไปเยือนญี่ปุ่นระหว่างวันที่ 8-10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และหวังที่จะให้ญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในการสร้างรถไฟความเร็วสูงในไทยด้วย ในความสัมพันธ์ที่ไทยมีกับประเทศเพื่อนบ้านนั้น โดยเฉพาะกับพม่าและกัมพูชา แม้ว่าจะมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่อยู่ในระดับที่น่าพอใจ แต่การยอมรับรัฐบาลพลเอกประยุทธ์จากประเทศเหล่านั้นมีความหมายทางการเมืองมากกว่ามาก

แต่ผลประโยชน์ที่ได้รับจากมิตรใหม่เหล่านี้ไม่ใช่เป็นผลประโยชน์ที่ได้มาฟรีๆการลงทุนของจีนในโครงการสร้างรถไฟนั้นสะท้อนเอกสิทธิ์ทางการค้าของจีนที่เอาเปรียบไทย ไม่นับรวมถึงการที่ไทยต้องกู้เงินจากจีนในโครงการนี้ในอัตราดอกเบี้ยที่สูง ส่วนญี่ปุ่นนั้น นายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะ ได้ประกาศชัดว่า การลงทุนของญี่ปุ่นในไทยขึ้นกับพัฒนาการทางการเมืองไทยไปสู่วิถีทางประชาธิปไตย หรืออีกนัยหนึ่ง ญี่ปุ่นจะลงทุนในไทยเพิ่มขึ้นก็ต่อเมื่อไทยมีรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย

เงื่อนไขทางการค้าเหล่านี้กับจีนและญี่ปุ่นเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ประจวบเหมาะกับการตอบโต้ที่รุนแรงขึ้นจากรัฐบาลตะวันตกสหรัฐได้ส่งนายแดเนียล รัสเซลผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศด้านเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก มาหารือร่วมกับไทยเพื่อขอให้มีการยกเลิกการใช้กฎอัยการศึกในเร็ววัน ขณะที่สหภาพยุโรปได้แสดงความวิตกกังวลอย่างมากต่อสถานการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนของไทย และขอให้ยกเลิกกฎอัยการศึกเช่นกัน

ท่ามกลางสิ่งท้าทายเหล่านี้ รัฐบาลได้ใช้นักวิชาการอย่างนายปณิธาน วัฒนายากร ในการเป็นกระบอกเสียงเพื่อลดความน่าเชื่อถือของตะวันตก นายปณิธานได้กล่าวว่า "วันนี้สำหรับรัฐบาลและ คสช.มองว่า คดีความต่างๆ ในการออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง ต้องมีกฎอัยการศึกควบคุมอยู่ และรัฐบาลต้องการให้กรณีเหล่านี้ถูกควบคุมด้วยการใช้กฎอัยการศึกเพื่อขับเคลื่อนประเทศ แต่เมื่อองค์กรต่างประเทศเหมารวมถึงกระบวนการยุติธรรมของไทย จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องชี้แจงทำความเข้าใจ อย่างไรก็ตาม การที่องค์กรต่างประเทศออกมาเรียกร้องนั้น เราไม่รู้สึกกดดัน เพราะเหมือนกับประเทศอื่นๆ ในหลายประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องภายในแต่ละประเทศ เพราะแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันไป ไทยจึงไม่ได้รู้สึกโดดเดี่ยว เนื่องจากการที่จะกดดันให้ประเทศต่างๆ เปลี่ยนแปลงกติกาภายในจะสามารถทำได้ก็ต่อเมื่อมีผลประโยชน์ร่วมกัน และแต่ละประเทศก็จะตัดสินใจเอง" หรือหมายความว่า ไทยยังมีความเชื่อมั่นว่าจะสามารถยืนอยู่ได้ด้วยตัวเองในสังคมโลก โดยไม่ง้อตะวันตก

คำกล่าวของนายปณิธานไม่สะท้อนถึงความเป็นจริงของสังคมการเมืองระหว่างประเทศ ไทยเป็นประเทศขนาดกลางที่มีความสำคัญอย่างมากต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะความเกี่ยวโยงที่แนบแน่นทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจต่อภูมิภาค หรือต่อโลกด้วยซ้ำ จึงไม่สามารถอยู่ได้อย่างโดดเดี่ยว แทนที่จะเปิดรับฟังคำวิจารณ์จากต่างชาติ นายปณิธานกลับแนะให้ไทยถอยหลังเข้าไปอยู่ในโลกของตัวเอง

ซึ่งการแนะนำที่ไม่อยู่บนหลักตรรกะนี้ สะท้อนถึงเจตนาของนายปณิธานในการลดค่าการแทรกแซงของต่างชาติ และเสริมความชอบธรรมของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์เป็นหลักในเวลาเดียวกัน

ที่มา : มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 20 ก.พ. 2558