วันเสาร์, พฤศจิกายน 29, 2557

'สถาบันสูงสุด' กับการปฏิรูป


โดย ไชยันต์ ไชยพร
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์

ในประเด็นเกี่ยวกับสถาบันสูงสุด นักวิชาการจำนวนหนึ่งและอดีตวุฒิสมาชิกต่างมีข้อคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวแตกต่างกันไป

ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ เห็นว่า ปัญหาสำคัญเกี่ยวกับบทบาทและสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ในการเมืองไทยคือ การเมืองไทย “ติดอยู่ในวังวนแห่งเผด็จการอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขกับประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” วังวันดังกล่าวนี้ “เป็นอันตรายต่อสถาบันกษัตริย์เอง” จำเป็นที่การเมืองไทยจะ “ต้องก้าวเดินไปข้างหน้าสู่ระบอบเสรีประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข นั่นแปลว่า หลักความชอบธรรมพื้นฐานของบ้านเมืองมาจากฉันทาคติของประชาชน มาจากเสียงเลือกตั้งของประชาชน นั่นแปลว่า อย่าใช้สถาบันกษัตริย์ในทางการเมืองไปรองรับระบอบที่ไม่ชอบธรรม แต่การจะหลุดจากตรงนี้ได้จะต้องเป็นการ ‘กระโดดทางมโนทัศน์’.......ตอนนี้มีทางเลือกเดียวคือเป็นประชาธิปไตยที่ normal หรือไม่ก็ไม่มีประชาธิปไตยเลย เพราะมันไม่มีหรอกประชาธิปไตยแบบไทยๆ”

ในขณะที่ ศ. ดร. วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ชี้ว่า “สถาบันกษัตริย์ที่อยู่รอดปลอดภัยมาได้คือ ปรับตัวและกลายเป็นสัญลักษณ์ของรัฐ อยู่เหนือความรักและความชังในทางการเมืองของบุคคล” หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ สถาบันพระมหากษัตริย์ต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ อันเป็น “สิ่งซึ่งคณะราษฎรทำ” แปดสิบกว่าปีที่ผ่านมา การทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญนี้ยังเป็น “ภารกิจที่คณะราษฎรทำยังไม่ประสบความสำเร็จ” ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ นอกเหนือไปจากสถาบันการเมืองอื่นๆ ซึ่งหนึ่งในข้อเสนอเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญนั้นก็คือ การแก้ไขมาตรา 112 อันเป็นประเด็นที่ก่อให้เกิดกระแสความขัดแย้งขึ้นอย่างรุนแรงในสังคมไทยระหว่างฝ่ายที่สนับสนุนและฝ่ายที่ต่อต้าน

ด้าน ดร. สมศักดิ์ เจียรธีรสกุล ได้วิเคราะห์วิกฤติการเมืองไทยที่เกิดขึ้นไว้ว่า “ปัญหาใจกลางของวิกฤตินี้ ตั้งแต่จุดเริ่มต้นนี้ และไม่เคยเปลี่ยนเลยมาจนขณะนี้ อาจสรุปได้เป็นประโยคเดียวคือ ‘จะจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันกษัตริย์ในสังคมการเมืองไทยอย่างไร ?’” และ “ฝ่ายที่ต้องการเปลี่ยนแปลง ต้องการสู้เพื่อ ‘ประชาธิปไตย’ ซึ่งย่อมหมายถึงการปรับเปลี่ยนสถานะและบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในด้านต่างๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ (องคมนตรี ถึง ตุลาการ ถึง “ทหารของพระราชา” และอื่นๆ)” และการปรับเปลี่ยนสถานะและบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ควรจะครอบคลุม “ตั้งแต่ประเด็นทางกฎหมาย-การเมือง ระดับรัฐธรรมนูญ และกฎหมายย่อย ไปถึงประเด็นเชิงวัฒนธรรม จิตสำนึก ตั้งแต่เรื่ององคมนตรี ไปถึงตุลาการภิวัฒน์ (ที่มีจุดเริ่มต้นจากพระราชดำรัสสาธารณะของกษัตริย์) ตั้งแต่ปัญหากองทัพ ‘ของพระราชา’ ไปถึงประเด็น องค์กรรัฐใด ควรเป็นผู้ที่ set agenda ของสังคมและทิศทางประเทศ (คณะรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง หรือ พระมหากษัตริย์)”

คุณคำนูณ สิทธิสมาน อดีต ส.ว. เห็นว่า “เมื่อพูดถึงสถาบันกษัตริย์ เราต้องพูดถึงสถานการณ์ในแต่ละช่วงเวลา สภาพการณ์ในแต่ละช่วงเวลากำหนดบทบาทของสถาบันกษัตริย์ให้ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย คนที่ทำให้บทบาทของสถาบันกษัตริย์เปลี่ยนไปในแต่ละยุคสมัยคือนักการเมือง เพราะนักการเมืองคือผู้เขียนโครงสร้างกฎหมายรัฐธรรมนูญขึ้นมา นักการเมืองบางยุคสมัยต่อสู้กันทางการเมืองก็นำประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์มาพ่วงเข้าไปด้วย เราจะเห็นชัดเจนตั้งแต่จุดเปลี่ยนเมื่อปี 2490”

และ “ไม่เชื่อว่าถ้ามีการปรับเปลี่ยนสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยแล้วจะทำให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ขึ้นมาในทันที หากเราไม่ปรับเปลี่ยนบทบาทของนักการเมืองควบคู่กันไปด้วยกัน โดยเฉพาะปี 2540 เป็นต้นมาที่นักการเมืองหรือพรรคการเมืองผนวกเป็นกลุ่มเดียวกับกลุ่มทุน ไม่ว่ากลุ่มทุนใหญ่ที่สุดของประเทศ หรือกลุ่มทุนใหญ่ที่สุดของประเทศที่เชื่อมโยงกับกลุ่มทุนข้ามชาติ ถ้าเรามองแต่ด้านที่ว่าสถาบันพระมหากษัตริย์จะต้องปรับเปลี่ยนให้เป็นเหมือนประเทศประชาธิปไตยตะวันตก แล้วเราไม่มองด้านนักการเมืองหรือด้านอื่น ก็เหมือนว่าเราไปลดบทบาทการถ่วงดุลโดยธรรมชาติลงด้านหนึ่ง แล้วไปเสริมบทบาทครอบงำให้แก่อีกด้านหนึ่งการพูดถึงการลดบทบาทของทหารหรือการลดบทบาทของสถาบันกษัตริย์ สิ่งหนึ่งที่ควรจะต้องกล่าวควบคู่กันคือเราจะลดบทบาทหรือควบคุมกำกับบทบาทของนักการเมืองโดยเฉพาะนักการเมืองที่ผนวกรวมเป็นร่างเดียวกับกลุ่มทุนทั้งไทยและต่างประเทศอย่างไร การที่เราพูดทุกด้านควบคู่กันไปก็เหมือนเรากำลังพูดถึงการปฏิรูปประเทศโดยรวม”

ที่ผ่านมาสถาบันพระมหากษัตริย์มีบทบาทและสถานะของการถ่วงดุลทางการเมืองโดยธรรมชาติและเป็นสิ่งที่ยังมีความจำเป็นในการเมืองไทยอยู่ กระนั้น คุณคำนูณก็ยอมรับว่า “ไม่คิดว่าบทบาทหรือสถานภาพของสถาบันกษัตริย์จะดำรงคงอยู่อย่างที่ดำรงมา 50 ปี การปรับเปลี่ยนต้องเกิดขึ้นเพราะโลกเปลี่ยน เทคโนโลยีเปลี่ยน แต่อีกด้านหนึ่งที่ก้าวกระโดดขึ้นมามีอำนาจนำ อำนาจครอบงำสูง เราจะมีสิ่งที่ต้องกำกับหรือควบคุมอย่างไร” เราควรนำข้อสังเกตข้างต้นมาพิจารณาในการปฏิรูปการเมืองหรือไม่ ?

ข้อเขียนข้างต้นนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 7 พฤศจิกายน 2557 ผู้เขียนเห็นว่าขณะนี้จำเป็นที่จะเผยแพร่ให้กว้างขวางมากขึ้น จึงขอนำเสนอในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจนี้อีกครั้งหนึ่ง

(ส่วนหนึ่งของโครงการวิจัย “สถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของไทย : ปัญหาในการเปรียบเทียบอ้างอิงกับระบอบการปกครองที่เป็นตัวแบบในต่างประเทศ” [RDG5710023] สกว. ฝ่ายนโยบายชาติและความสัมพันธ์ข้ามชาติ [ฝ่าย 1])