วันเสาร์, ตุลาคม 25, 2557

กู อาย พม่า!


กู อาย พม่า
พม่าเฮ กกต.กำหนดวันเลือกตั้ง"เบื้องต้น"แล้ว แก้รธน.เปิดกว้างให้พรรคคู่แข่งกองทัพ เป็น"รบ."ได้
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1413964268

มาแล้ว! เจิมศักดิ์ นั่งสปช. ลั่นต้องร่างรธน.กันคนอย่างทักษิณ ชี้ทำประชามติก่อนใช้
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1412739990

Maysaanitto
ooo



โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์
มติชนออนไลน์ วันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2557

คําถามที่เริ่มมีคนถามกันแล้ว โดยเฉพาะนักข่าวหัวเห็ดทั้งหลายที่เริ่มจะตั้งหลักได้ และรู้แล้วว่าความสำคัญของการทำข่าวคือการ "ขายข่าว" มากกว่าการ "ถ่ายทอด" ความเห็นของบรรดาผู้นำในระบอบรัฐประหารในรอบนี้ นั่นก็คือ

"ท่านคะ จะมีการเลือกตั้งเมื่อไหร่?"

ในแง่คำตอบ ที่สามารถขายเป็นข่าวในวันนี้จึงเป็นเรื่องของการ "ไล่ล่า-ค้นหา" คำตอบว่า "เมื่อไหร่" น่ะเรื่องหนึ่ง

แต่ที่ขายเป็นข่าวได้และยิ่งดูยิ่งมันส์ก็คือ ผู้ตอบจะมีปฏิกิริยาอย่างไร?

แต่ช้าก่อน ถ้าเรื่องง่ายๆ แค่นี้ก็คงไม่สนุก ลองถามคำถามที่พิสดารต่อไปว่า ถ้าผู้ตอบมีปฏิกิริยาที่ก้าวร้าว อาละวาด เสียงดัง ตวาดแว้ดๆ หรือดูจะไม่พออกพอใจอย่างมาก เราจะเข้าใจสิ่งนี้ได้อย่างไร?

และถ้าเราจะตีความว่า หากคำถามแค่ว่าเลือกตั้งเมื่อไหร่ สร้างความหงุดหงิดให้คณะรัฐประหารยิ่งนัก ก็อาจเป็นเพราะคำถามนี้เป็นเสมือนคำถามที่สร้างความแตกแยกให้กับสังคม ซึ่งลึกๆ แล้วคำถามแค่ว่าจะมีการเลือกตั้งเมื่อไหร่นั้น เป็นคำถามบ้านๆ และแสนจะธรรมดา

ทำไมถามแล้วทั่นผู้นำถึงหงุดหงิด?

และทำไมทีมงานท่านผู้นำทั้งหลายจึงอ้อมๆ แอ้มๆ ว่ายังไม่สามารถกำหนดได้ว่าการเลือกตั้งจะมีเมื่อไหร่

คำตอบที่น่าสนใจน่าจะอยู่ที่ว่า คำถามว่าจะมีการเลือกตั้งเมื่อไหร่นั้นเป็นคำถามที่ไม่ใช่คำถามทั่วไป แต่เป็นคำถามที่สามารถถามอีกอย่างได้ว่า

"ท่านคะ การรัฐประหารครั้งนี้จะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่?"

นี่แหละครับ คือคำถามที่ (อาจ) ถูกแปลความได้ว่าเป็นคำถาม "จริงๆ" คืออาจจะไม่รู้ตัวทั้งคนถามหรือคนตอบ แต่เป็นอาการที่เรียกว่า ไปกระตุ้น "สำนึก" บางอย่างที่อาจจะเคยถูกกดทับไว้ และสำนึกนี้ไม่ใช่สำนึกในระดับบุคคลคนใดคนหนึ่ง

แต่เป็นสำนึกของสังคมทั้งสังคมที่ตื่นจาก

อาการหลับใหลและงัวเงียมึนเมากับความสุขอย่างทะลักล้นมาในช่วงหลายเดือนนี้

ทำไมคำถามที่ว่าจะมีการเลือกตั้งเมื่อไหร่จึงตอบไม่ได้และอาจถูกแปลความเป็นคำถามว่าการรัฐประหารจะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่จึงเป็นเรื่องที่ยากเย็นที่จะตอบแล้วอาจทำให้หงุดหงิดได้?

คำตอบก็อาจจะเป็นเรื่องว่า เงื่อนไขการทำรัฐประหารครั้งนี้มีด้วยกันสองมิติ

หนึ่งมิติแบบเก่า ได้แก่ การทำรัฐประหารนั้นเป็นการกระทำในแบบที่ใช้ภาษาโบราณ น่าจะหมายความว่าเป็นการปราบดาภิเษก ในความหมายที่ว่า การทำรัฐประหารเป็นการกระทำในการยึดอำนาจเพื่อสิ้นสุดยุคเข็ญ ซึ่งเป็นเสมือนลักษณะการหนีไปจากสภาวะธรรมชาติที่เต็มไปด้วยความวุ่นวายต่างๆ ดังนั้น การทำรัฐประหาร

ก็คือการสร้างความสงบและสันติสุข

พูดภาษาตอนนี้ก็คือ ทั่นผู้นำเคยบอกอดีต

นายกฯมาแล้วว่าสถานการณ์ไม่ดี แต่ยังปล่อยให้เกิดสถานการณ์เหล่านั้น โดยเฉพาะความรุนแรงและความสูญเสีย การทำรัฐประหารจึงจำเป็นต้องเกิดขึ้น ทั้งที่ไม่อยากทำ ทำแล้วเครียด ทำแล้วเมียอาจจะเคือง

ดังนั้นคำถามว่าการเลือกตั้งจะมีขึ้นเมื่อไหร่ ก็หมายถึงว่าการรัฐประหารสิ้นสุดลง และหมายถึงไม่ใช่แค่คณะรัฐประหาร "คืนความสุข" ให้กับประชาชน แต่หมายถึงการ"คืนอำนาจ" ให้กับประชาชน นั้นย่อมตอบง่ายๆ ว่า จะคืนอำนาจโดยการเลือกตั้งก็เมื่อบ้านเมืองสงบสุข บ้านเมืองไม่มีการทะเลาะกันจนมีความสูญเสีย หรือไม่มีการต่อต้านการทำรัฐประหารแล้ว

อ้าว! สังเกตการเคลื่อนตัวโดยไม่ได้ตั้งใจ (slip) อีกครั้งหนึ่ง ในรอบนี้ เป็นเรื่องของการทำให้การทำรัฐประหารเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ถูกต้องชอบธรรมด้วยตัวเอง การทำรัฐประหารจึงไม่ใช่ผลของความวุ่นวายของสังคมที่จะมีขึ้นเพื่อปราบยุคเข็ญ แต่การรัฐประหารเป็นสิ่งจะมาขัดขวางไม่ได้ เพราะการทำรัฐประหารเป็นเส้นทางที่ถูกกำหนดและการเป็นเหตุผลของตัวเอง ไม่ใช่เป็นผลของปัจจัยอื่นๆ ต่อไป

ดังนั้น การทำรัฐประหารจึงมีชีวิตของมันเอง นั่นคือ การทำรัฐประหารมีเป้าหมายในตัวเอง อย่าได้สกัดขัดขวางการทำรัฐประหารอีกเลย และกลายเป็นว่าเป้าหมายสำคัญของการรัฐประหารคือการทำให้การทำรัฐประหารสำเร็จ ส่วนจะแก้ไขปัญหาได้หรือไม่ ประเด็นไม่ใช่อยู่ที่ความสามารถของการทำรัฐประหารเองหรือความสามารถของผู้บริหารที่ได้รับการแต่งตั้งจากการทำรัฐประหารแต่ความสำเร็จคือการเชื่อฟังและให้ความร่วมมือกับการทำรัฐประหาร

ดังนั้นหากการทำรัฐประหารไม่สำเร็จก็เพราะมีคนต่อต้าน...อ้าว?

ส่วนหากจะมองว่าการทำรัฐประหารสำเร็จ ก็เป็นการให้เหตุผลอย่างตรงไปตรงมาว่า การทำรัฐประหารสำเร็จเพราะการใช้ความรุนแรงที่เคยมีอยู่ลดลง หรือไม่มีเลย ดังนั้น ถ้ามีการใช้ความรุนแรงหรือการต่อต้านรัฐบาล ก็ไม่สามารถจะวางไว้ตรงเหตุหรือผลกันแน่ ความสำคัญจึงไม่ได้เกี่ยวกับเหตุผล หรือการถกเถียงว่าเหมาะสมจะทำรัฐประหารหรือไม่

แต่วัดกันง่ายๆ ว่า หากการใช้กำลังทหารและงบประมาณมหาศาลในการไม่ทำให้มีการต่อต้าน "รัฐบาล" หรือ "ระบอบการปกครองใหม่" (ไม่ใช่การปกป้องรัฐบาลเดิมที่ทหารควรเป็นส่วนหนึ่ง) นั้นเกิดขึ้นแล้ว นั่นคือความสำเร็จในการทำรัฐประหารเอง ซึ่งหมายถึงการยอมให้มีการทำรัฐประหาร และปล่อยให้มีการปกครองโดยคณะรัฐประหารต่อไป

สอง คือในมิติใหม่ การทำรัฐประหารครั้งนี้เป็นเรื่องที่ผูกโยงกับสภาวะอันไม่มีที่สิ้นสุด เพราะคณะรัฐประหารไม่ได้บอกว่าจะสิ้นสุดลงได้อย่างไร ด้วยรู้ว่าการทำรัฐประหารครั้งนี้จะหาความสำเร็จไม่ได้ เพราะความสำเร็จในการทำรัฐประหารในอดีตคือ "การเข้าเร็วออกเร็ว" คือการสร้างสภาวะชั่วคราว

เพราะเรียนรู้แล้วว่าก่อนหน้านั้นหากจะอยู่ยาวๆ จะยิ่งเสื่อมถอย ไร้ความสามารถ และการทำรัฐประหารจะนำไปสู่ความแตกแยกของสังคมในท้ายที่สุด เพราะความเสียหายและสูญเสียนั้นเกิดจากการที่คณะผู้ปกครองที่มาจากการทำรัฐประหารนั้นพยายามสืบสานอำนาจต่อไปและเมื่อแรงต้านมากเขาอาจจะถูกขับไล่หรือถูกกระซิบไล่และอาจเกิดการเสียเอกภาพในหมู่กองทัพ

ดังนั้นคำมั่นสัญญาจึงมีลักษณะที่ชัดเจน ไม่ต้องอ้างว่าจะทำตามสัญญา และขอเวลาอีกไม่นาน เพราะเรื่องสำคัญก็คือความโปร่งใสของการทำรัฐประหารเองที่จะบอกได้ว่าต้องการทำอะไร และจะคืนอำนาจสู่ประชาชนในแง่ของการเลือกตั้งอย่างไร

แต่ในรอบนี้ การทำรัฐประหารอยู่ในสภาวะที่ไม่มีความสิ้นสุดในเรื่องเวลาและไม่สามารถถูกกดดันได้ หรือกดดันตัวเองได้

ที่สำคัญ ในเวลาที่ไม่มีที่สิ้นสุดนี้ การบริหารราชการแผ่นดินกลับอยู่ในสภาวะปกติและมีการแก้ไขสิ่งต่างๆ มากมาย โดยไม่ต้องกลับไปยึดโยงกับรัฐธรรมนูญ (เพราะรัฐธรรมนูญยังไม่ร่างและไม่รีบ) และการเลือกตั้งที่จะนำมาซึ่งการบัญญัติกฎหมายใหม่ๆ และนโยบายไม่มีสัญญาณในเรื่องนี้

นี่จึงเป็นการรัฐประหารที่ไม่ใช่สภาวะชั่วคราว ในแบบที่เคยเรียกว่า caretaker government หรือรัฐบาลชั่วคราว แต่เป็นเรื่องของรัฐบาลชั่วกัลปาวสาน และเปิดให้เห็นว่ามีกลุ่มก้อนบางกลุ่มที่สามารถเข้าถึงและต่อสายกับรัฐบาลได้ และทำให้การดำเนินนโยบายสามารถดำเนินต่อไปได้ และทำให้ถูกตั้งคำถามในเรื่องของประชานิยมของนโยบายอยู่เนืองๆ

พูดง่ายๆ ก็คือ ถ้าคำถามว่าเมื่อไหร่จะเลือกตั้งนั้นตอบยากและทำให้หงุดหงิด นั้นเป็นเรื่องเงื่อนไขแรก เพราะถูกมองว่าคำถามจริงคือ จะลงจากอำนาจเมื่อไหร่ เงื่อนไขที่สองก็คือ จะลงจากอำนาจได้ก็ต่อเมื่อคนที่อยู่ในอำนาจนั้นจะต้องมีความมั่นใจว่าสามารถคุมสถานการณ์ได้ ซึ่งไม่ได้หมายถึงอะไรง่ายๆ ว่าฉันจะร่างทุกอย่างเอง แต่อาจจะหมายถึงความเชื่อมั่นว่าการเมืองจะเดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง หรือยินยอมที่จะลงจากอำนาจ เพราะรู้ว่าตนจะไม่ได้รับผลกระทบหลังจากที่ลงจากอำนาจ

ตรงนี้คำถามที่เป็นคำถามแท้ๆ น่าจะหมายถึง คำถามที่ลึกกว่าเมื่อไหร่จะคืนอำนาจ แต่อยู่ที่คำถามว่า เมื่อไหร่ท่านจะคุมสถานการณ์ได้และตัดสินใจลงจากตำแหน่งและคืนอำนาจให้กับประชาชน

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่หากคำถามแบบนี้เป็นคำถามหลักความมันส์จะมาตรงที่ว่าคำถามนี้เป็นคำถามที่คนตอบต้องบอกเองไม่ใช่คำถามที่มีสิทธิถามนั่นคือ "จังหวะ" ว่าใครจะถาม หรือควรถามเมื่อไหร่นั้นสำคัญ เพราะเมื่อถามนั้นย่อมแสดงว่าความไม่สำเร็จนั้นรออยู่ข้างหน้า เพราะสื่อไม่สามารถถามในเวลาที่ควรถาม (ซึ่งแปลว่าถามเมื่อคนถูกถามพร้อมจะตอบ) ซึ่งเรามองว่าเรื่องนี้เป็น บทบาทที่เหมาะสมของสื่อที่ไม่ควรถามเพื่อสร้างความแตกแยก)

ดังนั้น เมื่อความลักลั่นว่าใครเป็นผู้ถูกถามนั้นเกิดขึ้น เพราะเป็นคำถามที่ทุบลงที่หัวใจของการทำรัฐประหารและชี้ให้เห็นว่าไม่พร้อมที่จะตอบ ไม่ใช่เวลาที่จะตอบ ไม่ใช่เพราะรู้ว่าจะกำหนดจังหวะย่างก้าวอย่างไร

แต่เพราะไม่รู้ว่าจะไปอย่างไร และทางไหนมากกว่า

นั่นแหละครับคือเรื่องที่ซับซ้อนมากว่า ทำไมคำถามง่ายๆ เช่นว่าเมื่อไหร่จะมีการเลือกตั้ง จึงเป็นคำถามที่ซับซ้อนและเกิดการรื่นไหลของความหมายได้อย่างน่ามหัศจรรย์

ไม่เชื่อลองถามพวกเขาดูสิครับ