วันพุธ, สิงหาคม 20, 2557

ส่งออกป่วน...''อียู''เอาแน่ ยกเลิกการให้ GSP แก่สินค้าไทย รวมกว่า 700 รายการ รวมเป็นมูลค่ากว่า 400,000 ล้านบาท เริ่มตั้งแต่ 1 มค. 58


ที่มา FB James Walsky

จากข่าว.....
" นางดวงกมล เจียมบุตร รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า สหภาพยุโรป (อียู) ได้ระงับการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) แก่ไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา แต่ให้มีการปรับตัว 1 ปี ทำให้สินค้าไทยยังคงได้รับสิทธิจีเอสพีจนถึงสิ้นปี 2557 และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 เป็นต้นไป จะเสียภาษีอัตรานำเข้าปกติ ....

ทั้งนี้ ในไตรมาสแรกปี 2556 (ม.ค.-มี.ค.) มีการส่งออกสินค้าไทย(ที่ได้รับสิทธิจีเอสพีมีมูลค่า 2,789 ล้านเหรียญสหรัฐ)ไปยังอียู โดยมีการขอใช้สิทธิดังกล่าวมูลค่ารวมเพียง 2,170 ล้านเหรียญสหรัฐ "

http://www.thaichamber.org/scripts/detail.asp?nNEWSID=12300

http://trade.ec.europa.eu/doclib/docs/2012/december/tradoc_150166.pdf

เครดิต : เสธ.ประชาชน คณะราษฎร์ใหม่
ooo


ส่งออกป่วน-หาตลาดใหม่ตัดจีเอสพี ''อียู''เอาแน่1มกราฯซุปเปอร์บอร์ดถกตีกลับแผนฟื้นรสก.

ที่มา เวปไซต์ หอการค้าไทย
Source - มติชน (Th)

ขสมก.พร้อมเปิดประมูลเมล์เอ็นจีวี ตั้งเป้าเซ็นสัญญาได้ภายใน ต.ค.นี้ ''บิ๊กตู่''ประชุมซุปเปอร์บอร์ด แนะแยกรัฐวิสาหกิจกำไร-ขาดทุน

''บิ๊กตู่''ให้แยกรสก.กำไร-เจ๊ง

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 14 สิงหาคม ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (ซุปเปอร์บอร์ด) โดยมี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) ในฐานะรองหัวหน้า คสช. และหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ประเด็นสำคัญคือ รัฐวิสาหกิจต้องมุ่งสู่การบริการอย่างแท้จริง โดยการจัดระเบียบกลุ่มรัฐวิสาหกิจที่มีกำไร เพื่อนำไปสนับสนุนงานด้านอื่นๆ ให้มากขึ้น เพื่อให้กลุ่มรัฐวิสาหกิจที่มีรายได้น้อยหรือขาดทุนสามารถเลี้ยงตัวเองได้ ไม่ให้เกิดสภาวะการหยุดชะงัก สำหรับการให้บริการประชาชนนั้นจะต้องทันเหตุการณ์และสภาวะโลกที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน ทั้งนี้ในด้านเศรษฐกิจปลายปีหน้าเพื่อเชื่อมต่อกับการขนส่งการบริการสาธารณูปโภค ด้านพื้นฐาน พร้อมทั้งแผนการพัฒนาในทุกด้าน

ซุปเปอร์บอร์ดตีกลับแผน4รสก.

ต่อมาเวลา 17.25 น. ที่สโมสรทหารบก เทเวศร์ นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยผลการประชุมซุปเปอร์บอร์ด ครั้งที่ 2 มี พล.อ.ประยุทธ์เป็นประธานการประชุม ว่า คนร.พิจารณาแผนและแนวทางการแก้ไขปัญหาองค์กร หรือแผนฟื้นฟูของรัฐวิสาหกิจ 4 แห่ง ได้แก่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน), บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน), ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย เบื้องต้นทางคณะอนุกรรมการกลั่นกรองแผนการแก้ปัญหารัฐวิสาหกิจ ที่มี พล.ท.อนันตพร กาญจนรัตน์ ปลัดบัญชีทหารบก ได้รายงานความคืบหน้าและเห็นว่า การพิจารณาแผนแก้ไขปัญหาของรัฐวิสาหกิจทั้ง 4 แห่ง มีความจำเป็นต้องชัดเจนถึงข้อเท็จจริงต่างๆ ของข้อมูลทรัพย์สินและข้อพิพาททางกฎหมายของรัฐวิสาหกิจก่อน คนร.จึงมีมติให้รัฐวิสาหกิจทั้ง 4 แห่งไปดำเนินการตรวจสอบวิเคราะห์สถานะองค์กรและประเมินทรัพย์สินและหนี้สินขององค์กร รวมถึงข้อพิพาททางกฎหมายของรัฐวิสาหกิจว่ามีครบถ้วนและมีอยู่จริง ก่อนการพิจารณาแผนการแก้ไขปัญหาอีกครั้ง และให้ทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ประสานกับคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจในการปรับปรุงแผนต่อไป

" รัฐวิสาหกิจอีกทั้ง 2 แห่ง ที่ยังไม่ได้ยื่นแผนฟื้นฟูต่อ คนร.ในการประชุมครั้งนี้ คือ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ก็ต้องดำเนินการตรวจสอบเช่นกัน ทั้งนี้ ทาง คนร.ให้เวลาในการตรวจสอบสถานะเป็นเวลา 3 เดือน" นายรังสรรค์กล่าว

ปรับลดงบเบิกจ่าย7.7พันล.

นายรังสรรค์กล่าวว่า คนร.ได้พิจารณาการเปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมงบลงทุนระหว่างปี 2557 ของรัฐวิสาหกิจ 10 แห่ง โดย คนร.ได้กำหนดหลักการและแนวทางการพิจารณาการเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมงบลงทุนระหว่างปีของรัฐวิสาหกิจ ดังนี้ 1.การทำโครงการใหม่จะต้องสอดคล้องกับนโยบายและภารกิจหน้าที่ ความพร้อมในการดำเนินงาน และความจำเป็นเร่งด่วน 2.การปรับเพิ่มงบลงทุนจากรายการเดิม จะพิจารณากรณีผูกพันสัญญาแล้ว หรือเริ่มกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างแล้ว 3.การปรับลดงบประมาณ จะพิจารณาให้สำหรับการประหยัดงบประมาณ ผลกระทบจากปัจจัยภายนอก หรือไม่มีความจำเป็นแล้วหรือซ้ำซ้อนกับรายการอื่นๆ

" จากการพิจารณาข้อเสนอของรัฐวิสาหกิจ 10 แห่ง คนร.เห็นชอบให้ปรับลดวงเงินเบิกจ่ายจาก 54,100 ล้านบาท เป็น 46,333 บ้านบาท หรือปรับลดลง 7,767 ล้านบาท" นายรังสรรค์กล่าว

ยกเลิกสิทธิประโยชน์พิเศษ

นายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้อำนวยการ สคร. กล่าวว่า คนร.ได้เห็นชอบการตัดสิทธิประโยชน์ตามที่เสนอ ได้แก่ 1.ให้ยกเลิกสิทธิประโยชน์ในรูปแบบผลิตภัณฑ์หรือบริการของรัฐวิสาหกิจ และสิทธิประโยชน์พิเศษ เช่น ค่ารับรองต่างๆ ยกตัวอย่าง การบินไทยที่ทางบอร์ดบริหารได้ยกเลิกตั๋วบินฟรี เหลือไว้เฉพาะเบี้ยการประชุม และค่ารายเดือน 2.ให้คณะกรรมการรัฐวิสาหกิจพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายและวงเงินที่ ชัดเจนสำหรับสิทธิประโยชน์อื่นๆ โดยการให้สิทธิประโยชน์ เช่น ค่าเบี้ยเลี้ยง รถประจำตำแหน่ง

นายกุลิศกล่าวว่า สำหรับการแก้ไขปัญหาองค์กรของ ขสมก. ที่มีแผนการจัดซื้อรถโดยสารใหม่ 3,183 คัน ทดแทนรถเดิม ประกอบกับการประสบปัญหาขาดทุนอย่างต่อเนื่อง คนร.จึงมีมติให้ ขสมก.จัดทำแผนการแก้ไขปัญหาองค์กรให้คณะอนุกรรมการกลั่นกรองพิจารณาภายใน 15 วัน เพื่อนำเสนอ คนร.พิจารณาต่อไป ทำให้รัฐวิสาหกิจที่ยื่นขอแผนฟื้นฟูขณะนี้เพิ่มเป็น 7 แห่ง

''บิ๊กจิน''ไฟเขียวงบ6.7หมื่นล.

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) รองหัวหน้า คสช. และหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คสช. เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับกระทรวงคมนาคม เกี่ยวกับโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ.2558-2565 ว่า ที่ประชุมได้อนุมัติงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการเร่งด่วนปี 2558 จำนวน 67,110.11 ล้านบาท โดยครอบคลุมทุกโครงการทั้งทางถนน ทางบก ทางน้ำ และอากาศ

" โครงการเร่งด่วน มีทั้งของกรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) การก่อสร้างท่าเรือ การขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ปรับปรุงท่าอากาศยานดอนเมือง และท่าอากาศยานภูมิภาค" พล.อ.อ.ประจินกล่าว

อนุมัติรถไฟทางคู่2เส้น

พล.อ.อ.ประจินกล่าวว่า ส่วนงบประมาณเร่งด่วนที่กระทรวงคมนาคมเสนอขอเพิ่มเติม 5,000 ล้านบาท เพื่อเชื่อมต่อเขตเศรษฐกิจพิเศษตามด่านชายแดนนั้นต้องขอแปรญัตติ เนื่องจากมีงบประมาณจำกัด หากได้มาจะใช้ในงบประมาณปี 2558 ส่วนการพิจารณารายละเอียดยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทยระยะ 8 ปี ให้ไปทบทวนแผนแม่บท (มาสเตอร์แพลน) ใหม่ เพราะต้องมีการปรับโครงข่ายคมนาคมใหม่ เพื่อให้เชื่อมต่อกันได้ครอบคลุมมากขึ้น

" สำหรับรถไฟทางคู่รางมาตรฐาน 1.435 เมตร เส้นทางหนองคาย-นครราชสีมา-มาบตาพุดนั้น ให้ไปศึกษาผลกระทบเรื่องการเวนคืนที่ดินเพิ่มเติม โดยอาจจะต้องปรับที่ตั้งสถานีใหม่ โดยจะใช้แนวเส้นทางเดิม และนำผลการศึกษาเดิมมาประกอบการพิจารณาด้วย" พล.อ.อ.ประจินกล่าว

นายประเสริฐ อัตตะนันทน์ รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า ที่ประชุมได้อนุมัติให้ ร.ฟ.ท.ดำเนินโครงการรถไฟทางคู่ 2 เส้น คือ 1.เส้นทางชุมทางจิระ-ขอนแก่น และ 2.เส้นทางประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ส่วนที่อีก 3 เส้นทางเร่งด่วนยังไม่ได้จะต้องเสนอในครั้งต่อไป ส่วนอีก 1 เส้นทาง ใหม่ คือ ประจวบคีรีขันธ์-หัวหิน จะเสนอของบศึกษาและออกแบบในปี 2558

''บิ๊กโด่ง''ถกกองทุนฯพลังงาน

พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร เลขาธิการ คสช. ในฐานะประธานคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการกองทุนฯ ที่ บก.ทบ.ว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้ใช้งบประมาณจากการขอจบการดำเนินโครงการในปี 2557 มาให้กับกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ดำเนินโครงการพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานที่เร่งด่วน ก่อให้เกิดประโยชน์และเป็นรูปธรรม จำนวน 6 ชุดโครงการ จำนวน 2,687 ล้านบาท อาทิ โครงการต้นแบบการบริหารจัดการโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซชีวภาพจากหลุมฝังกลบขยะขนาดเล็ก ในพื้นที่หน่วยงานของกองทัพบก และกองทัพอากาศ โดยจัดทำโครงการนำร่อง และการบริหารจัดการขยะในชุมชน

พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่า จากการสำรวจพบว่า มีหน่วยงานภายในกองทัพบกและกองทัพอากาศที่เหมาะสม มีความพร้อมทางด้านพื้นที่ และกำลังพลในการบริหารจัดการและศักยภาพด้านปริมาณของขยะ จำนวน 8 หน่วยงาน รวมกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนใช้ในชุมชนได้ไม่น้อยกว่า 4 เมกะวัตต์

ส่งเสริมพลังงานแสงอาทิตย์

พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีโครงการอนุรักษ์พลังงานและใช้พลังงานทดแทนพื้นที่เสี่ยงภัยในพื้นทื่3 จังหวัดชายแดนใต้ ประกอบไปด้วย 3 โครงการย่อย คือ

1.โครงการส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานแสงอาทิตย์แบบรถเคลื่อนที่ในฐานปฏิบัติการที่ไฟฟ้าเข้าไม่ถึง

2.โครงการพัฒนาระบบแสงสว่างด้วยชุดโคมส่องสว่างแบบแอลอีดี (LED) ประหยัดพลังงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพความสว่างในเส้นทางเพื่อความปลอดภัย

3.โครงการติดตั้งเสาไฟพร้อมโคมส่องสว่างแบบโซลาร์เซลล์

" ที่ประชุมยังอนุมัติโครงการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์และใช้ในหน่วยงานด้านความมั่นคง ได้แก่ กองทัพบก กองทัพอากาศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร โดยได้ของบประมาณจากกองทุนอนุรักษ์พลังงานเพื่อจัดซื้ออุปกรณ์พร้อมติดตั้งระบบผลิตและการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ที่จะนำ ไปใช้เสริมความมั่นคงในพื้นที่ 4 หน่วยงานหลัก จำนวน 33 ระบบ ขนาดกำลังการผลิตรวมไม่น้อยกว่า 10 เมกะวัตต์ คาดว่าจะช่วยลดค่าใช้จ่ายไฟฟ้าที่ใช้ในหน่วยได้ประมาณ 30-70% ของค่าใช้จ่ายปัจจุบัน เป็นต้น" พล.อ.อุดมเดชกล่าว

ขสมก.ขายซองประมูลเอ็นจีวี

นายนเรศ บุญเปี่ยม รักษาการผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ขสมก.ที่มี พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รอง ผบ.ตร. เป็นประธานว่า ขสมก.เตรียมขายซองประกวดราคาโครงการจัดซื้อรถโดยสารใช้ก๊าซธรรมชาติ (เอ็นจีวี) จำนวน 3,183 คัน วงเงิน 13,162 ล้านบาท ต้นเดือนกันยายนนี้ ภายหลัง คสช.ได้อนุมัติให้ ขสมก.ดำเนินโครงการดังกล่าวแล้ว โดยคาดว่าจะได้บริษัทที่ชนะการประกวดราคาและลงนามในสัญญาได้เดือนตุลาคม 2557

" รถเมล์เอ็นจีวีใหม่ที่จะจัดซื้อแบ่งเป็นรถปรับอากาศ 1,524 คัน กำหนดราคากลางไว้ที่ประมาณ 4.5 ล้านบาทต่อคัน และรถธรรมดา 1,659 คัน กำหนดราคากลางไว้ที่ประมาณ 3.8 ล้านบาทต่อคัน กำหนดเงื่อนไขให้ผู้เข้าร่วมประกวดราคาต้องเสนอราคาที่ต่ำกว่าราคากลาง หากเสนอเท่าราคากลางหรือสูงกว่า จะถือว่าผิดเงื่อนไข ต้องถูกริบเงินที่วางค้ำประกันไว้ทันที" นายนเรศกล่าว

อียูตัดจีเอสพีกระทบส่งออก

นางดวงกมล เจียมบุตร รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า สหภาพยุโรป (อียู) ได้ระงับการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) แก่ไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา แต่ให้มีการปรับตัว 1 ปี ทำให้สินค้าไทยยังคงได้รับสิทธิจีเอสพีจนถึงสิ้นปี 2557 และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 เป็นต้นไป จะเสียภาษีอัตรานำเข้าปกติ ทำให้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไปตลาดอียูสูงขึ้น ทั้งนี้ กรมได้เตรียมแนวทางในการรับมือ โดยจะผลักดันให้ผู้ประกอบการหันไปส่งออกตลาดอื่นทดแทน เช่น จีน เกาหลีใต้ ตะวันออกกลาง แอฟริกา และอาเซียนให้มากขึ้น ผ่านกิจกรรมส่งเสริมการทำตลาดต่อเนื่อง และแนะนำให้ผู้ประกอบการยังต้องพึ่งพาตลาดอียู เพิ่มการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน ที่ยังคงได้รับสิทธิจีเอสพีอยู่ แล้วใช้ประโยชน์ในการส่งออก

ทั้งนี้ สินค้าไทยที่จะยังคงได้รับสิทธิจีเอสพี ปี 2557 อาทิ กุ้ง จักรยาน รองเท้า ปลาหมึก เม็ดพลาสติก มอเตอร์ไฟฟ้า บอลแบริ่ง น้ำมันปาล์มดิบ ล้อรถยนต์ ทูน่ากระป๋อง โดยไตรมาสแรกปี 2556 (ม.ค.-มี.ค.) การส่งออกสินค้าไทยที่ได้รับสิทธิจีเอสพีมีมูลค่า 2,789 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ไทยมีการขอใช้สิทธิดังกล่าวมูลค่ารวมเพียง 2,170 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิ 77.83% ของมูลค่าสินค้าที่ได้รับสิทธิทั้งหมด ส่วนสินค้าที่ใช้สิทธิจีเอสพีสูง ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ ยานยนต์ขนส่ง เลนส์แว่นตา ยางนอกรถยนต์ ถุงมือยาง และรถจักรยานยนต์ ทั้งนี้ ประเทศที่ถูกตัดสิทธิจีเอสพีเหมือนไทย ได้แก่ จีน เอกวาดอร์ และมัลดีฟส์

สหรัฐหมดอายุแล้วยังไม่ต่อ

อนึ่ง โครงการจีเอสพีของสหรัฐได้หมดอายุลงเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2556 และสหรัฐยังไม่ได้ดำเนินการต่ออายุจนถึงปัจจุบัน แต่รายงานล่าสุดทราบว่าสหรัฐจะมีการพิจารณาร่างกฎหมายการต่ออายุจีเอสพีในเดือนพฤศจิกายน 2557 ซึ่งหน่วยงานภาครัฐของไทย ได้แก่ กรมการค้าต่างประเทศ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้จัดทำข้อมูลส่งให้สำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงวอชิงตัน เพื่อชี้แจงข้อสงสัยต่างๆ ที่สหรัฐมีต่อไทยแล้ว โดยเฉพาะเรื่องการคุ้มครองแรงงาน

ข่าวแจ้งว่า สินค้าสำคัญของไทยที่ได้รับการยกเว้นภาษีภายใต้โครงการจีเอสพีสหรัฐ เช่น ส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศ ถุงมือยาง อาหารปรุงแต่ง เครื่องดื่มอื่นๆ เลนส์แว่นตา ชุดสายไฟ และผลไม้ปรุงรส โดยในไตรมาสแรกปี 2557 ไทยมีมูลค่าส่งออกภายใต้สิทธิจีเอสพีไปสหรัฐรวม 871 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ปี 2556 ที่ผ่านมามีมูลค่ารวม 3.34 พันล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 9.9% จากปีก่อนหน้า แต่ยังถือว่าเป็นประเทศที่ใช้สิทธิจีเอสพีสูงเป็นอันดับ 2 รองจากอินเดีย

หอค้าชี้เอกชนปรับตัวแล้ว

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า เอกชนได้รับรู้และเตรียมพร้อมรับการถูกตัดสิทธิจีเอสพีแล้ว มีการปรับตัวกันมาตลอด ไม่น่าจะมีอะไรน่ากังวล ส่วนสหรัฐยังไม่ได้รับการถูกตัดสิทธิแต่อย่างไร

" ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร ผู้ประกอบการรับทราบมากว่า 2 ปีแล้ว ต่างปรับตัวกันตลอด เพื่อรักษาฐานลูกค้าและตลาดส่งออกไทย ซึ่งไทยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันและพัฒนาสินค้าที่เหมาะสมกับตลาดยุโรปหรือแม้แต่สหรัฐมาตลอด มีการเปิดตลาดใหม่ๆ" นายพรศิลป์กล่าว

เว็บไซต์''พาณิชย์''แจงตัดสิทธิ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้เว็บไซต์ของกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ได้เผยแพร่ข้อมูลประชาสัมพันธ์ กรณีสหภาพยุโรปตัดสิทธิจีเอสพีสินค้าไทย ความว่า เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2556 สหภาพยุโรปได้ออกระเบียบเลขที่ 1421/2012 ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 ประเทศไทยจะไม่อยู่ในรายชื่อประเทศผู้รับสิทธิทางภาษีและศุลกากรเป็นการทั่วไป (จีเอสพี) จากสหภาพยุโรปอีกต่อไป ส่งผลให้ผู้ประกอบการที่จะส่งออกสินค้าไปยังสหภาพยุโรปและตุรกีไม่สามารถขอหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (แบบฟอร์มเอ) ได้ทุกรายการ เนื่องจากตุรกีใช้หลักเกณฑ์การพิจารณาให้หรือระงับสิทธิเช่นเดียวกับสหภาพยุโรป

เพื่อให้ผู้ประกอบการของไทยยังคงสามารถใช้สิทธิพิเศษทางภาษีภายใต้กรอบจีเอสพีสหภาพยุโรปในช่วงก่อนการถูกระงับสิทธิ โดยผู้ส่งออกจะต้องยื่นหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (แบบฟอร์มเอ) พร้อมเอกสารสำคัญอื่นๆ ที่ใช้ประกอบการผ่านพิธีการศุลกากรภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2557 เท่านั้น รวมทั้งศุลกากรจะต้องตรวจปล่อยสินค้าดังกล่าวภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2557 สินค้านั้นจึงจะได้รับสิทธิจีเอสพี ทั้งนี้ หากมีการยื่นเอกสารเพื่อผ่านพิธีการศุลกากรก่อนวันที่ 31 ธันวาคม 2557 แต่ศุลกากรไม่ได้ตรวจปล่อยสินค้าได้ทันภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2557 สินค้านั้นจะไม่สามารถใช้สิทธิพิเศษทางภาษีภายใต้กรอบจีเอสพีได้


คลังสั่งแบงก์ช่วยลำไย-ยาง

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยถึงการช่วยเหลือยางพาราที่ประสบปัญหาราคาตกต่ำในขณะนี้ว่า ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ประกอบด้วย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน เตรียมให้ความช่วยเหลือด้วยการปล่อยสินเชื่อแก่สหกรณ์การเกษตร โรงงานแปรรูปยาง และอุตสาหกรรมที่ใช้ยางเป็นวัตถุดิบหลักวงเงินรวม 30,000 ล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ย 4% หากเป็นสหกรณ์จะเสียดอกเบี้ยเพียง 1% ส่วนอีก 3% รัฐบาลช่วยจ่ายดอกเบี้ย โดยคาดว่าจะเริ่มปล่อยกู้ได้ในช่วงต้นเดือนกันยายนนี้

แหล่งข่าวกล่าวว่า ส่วนการช่วยเหลือลำไยนั้น ธ.ก.ส.ร่วมกับธนาคารกรุงไทย ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) สนับสนุนสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการ สถาบันเกษตรกร และผู้ค้ารายย่อย วงเงิน 1,184 ล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ย 4% สำหรับผู้ประกอบการและผู้ค้ารายย่อย และอัตราดอกเบี้ย 2% สำหรับสถาบันเกษตรกร เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนและเสริมสภาพคล่องในการรวบรวมและแปรรูปเพื่อการส่งออก โดยได้เริ่มปล่อยมาตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกรกฎาคม ล่าสุดปล่อยกู้ไปแล้วประมาณ 400 ล้านบาท

พณ.อ้างปัญหาอยู่ที่ลำไยร่วง

นายสุชาติ สินรัตน์ รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบสถานการณ์ราคาลำไยที่ตกต่ำขณะนี้ พบว่าเป็นลำไยลูกร่วงที่เกษตรกรไม่ได้มีการเก็บเกี่ยวผลผลิตเพื่อจำหน่ายเป็นลำไยช่อ รวมทั้งผลผลิตมีขนาดเล็ก คุณภาพไม่ได้ตรงกับความต้องการของตลาด จึงเป็นเหตุหนึ่งทำให้ราคาตกต่ำ ส่วนลำไยช่อไม่มีปัญหาในด้านราคา เพราะยังเป็นที่ต้องการของตลาด

" การแก้ไขปัญหาราคาลำไยร่วงตกต่ำนั้น ได้กำหนดมาตรการให้ล้งหรือที่รับซื้อลำไยร่วงเพื่อนำไปทำลำไยอบแห้งปิดป้ายแสดงราคารับซื้อ เพื่อให้เกษตรกรสามารถเห็นและเปรียบเทียบราคารับซื้อแต่ละล้งได้ อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการให้ค้าภายในจังหวัดลงพื้นที่ตรวจสอบแล้ว" นายสุชาติกล่าว

พ่อค้าชาวจีนกดราคาลำไย

นายศักดิ์ชัย ถนัดวณิชย์ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึงมาตรการช่วยเหลือชาวสวนลำไยว่า จ.เชียงใหม่ มีผลผลิต 480,000 ตัน ออกสู่ตลาดและเข้าโรงอบลำไยแห้งแล้ว 80 เปอร์เซ็นต์ คงเหลือ 30,000 ตัน หรือ 20 เปอร์เซ็นต์ ผลผลิตทั้งหมดให้ล้งรายใหญ่รับซื้อ เกรดเอเอ 17 บาท เกรดเอ 7 บาท เกรดบี 4 บาท ต่อกิโลกรัม (กก.) ส่วนล้งทั่วไปรับซื้อลำไยสดทุกเกรดต่ำกว่าล้งใหญ่ กก.ละ 1 บาท พร้อมติดป้ายแสดงราคารับซื้อหน้าโรงงาน หากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท โดยให้รับซื้อจนถึงสิ้นสุดฤดูลำไยภายในสิงหาคมนี้

" ราคาดังกล่าวจะใช้รับซื้อลำไยสดพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือ เพื่อเป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งเกษตรกรชาวสวนลำไยส่วนใหญ่ยอมรับและพอใจราคาดังกล่าว แต่ปีนี้ราคาลำไยตกต่ำ เพราะมีผลผลิตเพิ่มขึ้น 90,000 ตัน ทำให้พ่อค้าจีนเข้ามาควบคุมกลไกตลาด รับซื้อลำไยสด 3.50-4 บาทต่อ กก.เท่านั้น ดังนั้น รัฐบาลควรออกกฎหมายควบคุมนายทุนต่างชาติที่เข้ามาประกอบกิจการด้านผลผลิตเกษตรของประเทศ เพื่อไม่ให้กระทบเกษตรกรหรือชาวสวนลำไยภาคเหนือ" นายศักดิ์ชัยกล่าว

อ้างออกตรงกัน-ต้นทุนถูก

นายพงษ์พล บุญโภคา หรือนายหยาง ซี เต๋อ เจ้าของล้งใหญ่ที่สุดจากบริษัท ซี.ที.ผลิตผลการเกษตร จำกัด กล่าวว่า ผลผลิตลำไยปีนี้ออกตรงกับจีน ทำให้ราคาตกต่ำ เพราะจีนไม่ซื้อและต้นทุนของจีนถูกกว่า ปกติจีนจะรับซื้อ 8,000-10,000 ตู้ แต่ปีนี้ผลผลิตเกินเท่าตัว จึงไม่ซื้อราคาสูง แต่ตั้งเกณฑ์รับซื้อลำไยอบแห้ง 95 บาท และ 90 บาท เลิกซื้อ จนกระทั่งราคา 79 บาท เริ่มซื้อใหม่ แต่ตอนนี้งดหมด

" ผมจึงอยากบอกว่าให้ปล่อยราคาเป็นไปตามกลไกตลาด เพราะคนจีนเขารู้ว่าผลผลิตล้นเขา ก็ไม่ลงทุน หน้าที่เราคือทำอย่างไรให้เขาซื้อและขนออกไปให้มากที่สุด จึงอยากให้หารือกันว่าทำอย่างไรให้ได้และไม่มีขาดทุนทั้งคู่ ตอนนี้ไม่มีตู้อบเพราะเราซื้อลำไยสดไว้เต็มหมดแล้ว เราจะอยู่ไม่ได้ จึงขอให้เป็นไปตามกลไกตลาดดีที่สุด และไม่เห็นด้วยที่จะมีการกำหนดราคากลางเท่ากันหมด เพราะไม่มีหน่วยงานใดรองรับ" นายพงษ์พลกล่าว

ราคายางร่วงอีกทั้ง3ตลาด

ที่ จ.สุราษฎร์ธานี ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประมูลซื้อขายยางพาราแผ่นดิบและยางแผ่นรมควันในพื้นที่ภาคใต้ ปรากฏว่าราคาร่วงหมดทั้ง 3 ตลาด โดยที่ตลาดกลางยางพาราหาดใหญ่ จ.สงขลา ยางแผ่นดิบ มีราคาต่ำที่สุด กก.ละ 52.40 บาท ลดลง 1.29 บาท ยางแผ่นรมควันชั้น 3 ราคาลดลง กก. 1.44 บาท เหลือ 54.85 บาท น้ำยางสดลดลง 1 บาท เหลือ กก.ละ 54 บาท ซึ่งราคาน้ำยางสดยังมีราคาดีกว่ายางแผ่นดิบ และเศษยางลด 1 บาท เหลือ 44.50 บาท

ส่วนที่ตลาดกลางยางพารานครศรีธรรมราช ยางแผ่นดิบราคา กก.ละ 53.90 บาท ลดลง 1.09 บาท และที่ตลาดกลางสุราษฎร์ธานี ยางแผ่นดิบ กก.ละ 54.15 บาท ลดลง 1.20 บาท น้ำยางสดลดลง 1.65 บาท เหลือ กก.ละ 52.50 บาท เศษยาง กก.ละ 22 บาท

ด้านเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการ ตลาดกลางยางพาราสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ราคายางลดลง 1.20 บาท มาจากการแข็งค่าเงินบาทและนักลงทุนวิตกกังวลมีการเทขายยางออกเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการขาดทุน เนื่องจากจีนและสหรัฐซึ่งเป็นผู้ใช้ยางรายใหญ่ของโลกได้ส่งสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจ จึงควรติดตามอย่างใกล้ชิด