วันเสาร์, สิงหาคม 30, 2557

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ตอบคำถามว่าด้วยเรื่อง "ทาสและไพร่"





On Slavery-Phrai-Conscription in Siam/Thailand........

วันนี้ 29 สิงหา ครบรอบ 109 ปี พรบ. เกณฑ์ทหารฉบับแรก รศ. 124 พศ. 2448
On King Chulalongkorn's Slavery and Phrai....
ต่อคำถามของ อ. พรเพ็ญ ฮั่นตระกูล
เรื่องของ "ทาสและไพร่" นั้น ขอตอบเป็น ภาษาไทย ดังนี้

หนึ่ง) "การเลิก"
รัชกาลที่ 5 ทรงเลิกทาส
เพื่อทำให้สยาม "ทันสมัย/สมัยใหม่"
ตามแบบฝรั่งตะวันตก อย่างช้าๆ จากต้นถึงปลายรัชกาล
ทาส มิได้เป็น "คน" จำนวนมากของประเทศ
จึงมิได้มีผลกระทบต่อ "นายทาส" นัก
ที่สำคัญ คือ "ทาส" ก็หาได้เป็น "แรงงาน" สำคัญในการผลิต ข้าว ยางพารา หรือ ไม้สัก
ดังนั้น การเลิกทาส จึงไม่ทำให้เกิดความขัดแย้ง รุนแรง อย่างเช่น "สงครามกลางเมือง"

สอง) "การแปลง"
รัชกาลที่ 5 ทรง "แปลงไพร่" หรือ "การเกณฑ์แรงงาน" ให้เป็น "การเกณฑ์ทหาร"
โดยออก พรบ. การเกณฑ์ทหาร (ฉบับแรก) เมื่อ 29 สิงหา 2448 คือเมื่อ 109 ปีมาแล้ว

สาม)
"ไพร่" หมายถึง "แรงงาน" ซึ่งส่วนใหญ่เป็น "ชาวบ้าน" ที่แบ่งออกเป็น
ไพร่หลวง คือ แรงงานของกษัตริย์ ต้องถูกเกณฑ์ปีละ 6-4-3 ต่อเดือน
ไพร่สม คือ แรงงานของเจ้านาย (ต้องถูกเกณฑ์ เช่นกัน)
ไพร่ส่วย คือ แรงงาน ที่ส่ง "ส่วย" แทน "แรงงาน" ให้กษัตริย์หรือเจ้านาย
สรุป "ระบบไพร่" คือ ระบบการเก็บภาษีในรูปแบบหนึ่ง ที่ไม่ใช้ "เงิน/money"
และในยามสงคราม
"ระบบไพร่" ก็คือ "การเกณฑ์ทหาร" ในแบบของสังคมสมัยเก่า นั่นเอง
(ซึ่งจะกระทบต่อ "ชาย" โดยตรง และต่อ "หญิง" โดยอ้อม)

สี่)
"ไพร่" จึงเท่ากับ "ชาวบ้าน" ทั่วๆ ไปเป็นส่วนใหญ่
และเป็น "คน" ส่วนใหญ่ของประเทศ
ส่วน "ชาวกรุง/ชาวเมือง" รวมทั้ง "คนจีน"
เสียภาษี ในรูปแบบของ "เงิน" ที่เรียกว่า "ผูกปี้"

ห้า)
การแปลงไพร่ ให้เป็นทหารเกณฑ์ นั้นมีผลกระทบต่อชาวบ้าน
(มากกว่าชาวกรุง/ชาวเมือง)
กล่าวคือ ชายยังต้องถูกเกณฑ์แรงงานอีกต่อไป คือ "เกณฑ์ทหาร"
แถมเมื่อมีการปฏิรูปการเงินการคลัง ยังมีภาระเพิ่มอีก คือ "ภาษีรัชชูปการ"

หก)
การแปลงไพร่ กับการเก็บภาษีเป็นตัวเงินตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5
มีผลกระทบต่อสังคมอย่างรุนแรง ดังจะเห็นได้จาก
"กบถ ร.ศ. 121" คือ กบฎพระยาแขกเจ็ดหัวเมือง กบฎผู้มีบุญภาคอีสาน กบฎเงี้ยวเมืองแพร่ 

หก)
งานเขียนที่ดี ที่สุดเรื่องนี้ คือ "ไพร่สมัยชัชกาลที่ 5..." ของอัญชลี สุสายัณห์
วิทยานิพนธ์ ป โท อักษร จุฬาฯ
ผมเป็นหนึ่งในที่ปรึกษา ที่อยากให้ ป เอก เธอไปเลย
งานนี้ พิมพ์หลายครั้งแล้ว (แต่คงไม่ค่อยมีคนอ่าน)

เจ็ด)
อัญชลี มีข้อสมมุติฐานว่า
แม้สังคมสยามสมัยปฏิรูป ร. 5 จะทำให้ประเทศดูทันสมัย/สมัยใหม่
แต่ระบบไพร่เก่า ก็ยังอยู่ และถูก "แปลง" เป็นการเกณฑ์ทหาร
ที่รัฐ/กษัตริย์/เจ้านาย ยังมี "แรงงาน" จาก "ชาวบ้าน" มารับใช้อยู่อีกต่อไป
แม้จะมาในนามของความทันสมัย/สมัยใหม่ของ "การรับใช้ชาติ" ก็ตาม

แปด)
สำหรับ ชาวกรุง/ชาวเมือง แม้โดยทางทฤษฏี
ต้อง "เสมอภาค" ต้องถูก "เกณฑ์ทหาร" เหมือนๆ ชาวบ้าน ในระบบใหม่
แต่ก็จะมีทางออกอื่นๆ ทั้งที่เป็นทางการ
เช่น เรียน รด. หรือ ได้รับการยกเว้นในฐานะ "ปริญญาชน"
หรือ โดยไม่เป็นทางการ โดยวิธีและปัจจัยต่างๆ นานา
ที่จะไม่ต้องถูกเกณฑ์ทหาร นั่นเอง
และดังนั้น เราจะเห็นชาวบ้าน เป็นส่วนใหญ่ โดนเกณฑ์ทหาร
ในขณะที่เราๆ ท่านๆ ชาวกรุง/ชาวเมือง จะรอดมาได้
แม้มีกรณียกเว้น และการเป็นการ"ฮือฮา" ก็อย่างบรรดา "ดารา" นั่นแหละ ครับ

เก้า)
ในความรับรู้ และความเชื่อของชนชั้นนำไทย (ปัจจุบัน)
ที่ขาดความรู้ทาง ปวศ จะเชื่อว่า "ไพร่" นั้น ไม่มีแล้วในประเทศไทย
ซึ่งก็ถูกส่วนหนึ่ง คือ โดยทางการ "ไม่มี"
แต่โดยไม่เป็นทางการ "มรดก" สังคมไพร่ พฤติกรรมไพร่ จิตใต้สำนึกไพร่ ก็ยังอยู่กับเราๆ ท่านๆ
ทั้งที่รู้ตัว และไม่รู้ตัว ครับ
กล่าวโดยย่อ เรื่องนี้ยาว ยอกย้อน ต้องศึกษา ต้องทำความเข้าใจ
ทั้งระบบไพร่โบราณ กับระบบการเกณฑ์ทหาร/การใช้ทหารเกณฑ์ น ปัจจุบันนี้ ครับ
"ปวศ.นั้น ไม่รู้เสียเลย ก็ ตาบอดข้างหนึ่ง
แต่ ปวศ. นั้น หากเชื่อเสียหมดเลย ก็ ตาบอดสองข้าง" ครับ

cK@ปวศ.ต้องศึกษา.ต้องมองจากหลายๆด้าน